อำเภอลอง
สถานีรถไฟบ้านปิน พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ และวัดศรีดอนคำ
.
เราเคยเดินทางไปเชียงใหม่ด้วยรถไฟเมื่อราวปี พ.ศ. 2539 ครั้งนั้นคือครั้งแรกของการเดินทางไกล ไปเชียงใหม่ และการขึ้นรถไฟตู้นอน จำได้ว่ารถออกจากกรุงเทพฯ ประมาณ 4-5 โมงเย็น และพนักงานรถไฟจะเริ่มปูเตียงให้สักตอนที่รถถึงแถวๆ พระนครศรีอยุธยาเป็นต้นไป แต่ถ้าบางคนยังไม่อยากนอนเขาก็ยังไม่ปูเตียงให้ เราถูกสอนว่าการเดินทางด้วยรถไฟนั้นปลอดภัยที่สุดในบรรดายานพาหนะขนาดใหญ่ทั้งหลาย การนอนบนรถไฟตู้นอนถึงแม้จะเป็นตู้พัดลมก็แสนจะสบายกว่าการนั่งรถบัสเป็นไหนๆ และรถไฟประเภทรถเร็วที่เราเลือกใช้ก็ประหยัดกว่ารถไฟชนิดอื่น เหมาะกับเราที่สุดในขณะนั้นที่เราเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 รถผ่านพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ ... เราจำได้เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นก็หลับๆตื่นๆ ซึ่งถ้ามาถามเราตอนนี้ว่ารถไฟไทยปลายทางเชียงใหม่ผ่านแพร่หรือไม่ ก็คงต้องขอไปเปิด google ก่อน
.
คำตอบก็คือ รถไฟไทยขึ้นเชียงใหม่เข้าเขตจังหวัดแพร่แต่ไม่ได้เข้าเมืองแพร่ และบางขบวนจะจอดที่อำเภอลอง นั่นคือที่สถานีบ้านปิน และเมื่อโปรเจคการท่องเที่ยวเมืองรองถูกยกเป็นวาระหลัก เมืองลองก็เป็นเมืองหนึ่งที่จัดว่าเป็นเมืองรองเหล่านั้น
สถานีบ้านปิน
จากแพร่มาถึงอำเภอลองใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 40 นาที เส้นทางลัดเลาะตามไหล่เขาที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ที่ขนาดไม่ใหญ่นัก และส่วนใหญ่จะเป็นต้นสัก ซึ่งไม้สักก็ถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อของเมืองไทยเมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้ว ในช่วงที่มีการให้สัมปทานป่าไม้ของราชสำนักสยาม โดยผู้รับสัมปทานจะมีทั้งบริษัทของคนไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมนี
.
และเยอรมนีนี่เองที่เขาว่าเป็นผู้ที่สร้างอาคารหลักของสถานีบ้านปิน โดยอาคารนั้นยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นจนถึงปัจจุบัน (แต่วัสดุคงจะมีการเปลี่ยนทดแทนที่ชำรุดไปบ้างตามกาลเวลา) โดยว่ากันว่าบริษัทผู้ได้รับสัมปทานจะลำเลียงไม้ซุงมาที่นี่เพื่อลำเลียงด้วยรถไฟลงไปกรุงเทพฯ ทำให้ใครๆ ก็บอกว่าสถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้หน้าตาเหมือนกับที่เราจะเห็นที่แคว้นบาวาเรียในประเทศเยอรมนี นั่นคือเหตุการณ์ในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 5
.
ปัจจุบันสถานีบ้านปินได้รับการบูรณะซ่อมแซม และดูแลให้คงสภาพให้คล้ายเมื่อแรกสร้างมากที่สุด เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งถ่ายรูป แหล่งท่องเที่ยวของผู้ที่แวะมาที่อำเภอลอง รวมทั้งสถานีบ้านปินก็ยังคงเป็นสถานีรถไฟที่ยังใช้งานในปัจจุบันถึงแม้จะมีจำนวนรอบรถที่มาจอดรับส่งผู้โดยสารไม่ได้ถี่เหมือนสถานีใหญ่ๆแห่งอื่นก็ตาม และเราว่ารถไฟไทยยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะและมีเสน่ห์อยู่ไม่เสื่อมคลาย
สถานีรถไฟบ้านปินก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 และเปิดเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2457 โดยเส้นทางช่วงห้วยแม่ต้า-บ้านปิน ซึ่งมีระยะทาง 13 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายเหนือ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมัน เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง อาคารสถานีรถไฟบ้านปินมีสถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียนทิมเบอร์เฟรมเฮาส์หรือแบบโครงไม้ ซึ่งได้รับความนิยมในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างเรือนปั้นหยา สีของอาคารเป็นสีเหลืองส้ม
.
พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ
เหมือนยกอาคารของสถานีรถไฟบ้านปินมาอยู่ที่นี่ แค่ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นและด้านในแอร์เย็นฉ่ำครับ คงเป็นความตั้งใจของอาจารย์โกมลท่านที่จะทำให้ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมผ้าทอแบบและลวดลายต่างๆ ในสภาวะการจัดเก็บแบบมาตรฐานที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นเพื่อทำให้ผ้า ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ให้มีสภาพเหมือนดั่งผ้าใหม่ให้นานที่สุด ตรงนี้นอกจากพิพิธภัณฑ์ผ้าแล้ว ยังมีส่วนของพิพิธภัณฑ์ผ้าในแบบของชุดตุ๊กตา และร้านค้า
.
การเข้าชมไม่เสียค่าเข้าชม แต่อาจต้องติดต่อขอเข้าชมมาก่อน แต่จริงๆแล้วเราก็เข้าไปแบบไม่ได้ติดต่อล่วงหน้า ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่ช่วงนั้นไม่มีผู้เข้าชมท่านอื่น จึงทำให้เราได้เข้าชมแบบไม่ต้องรอและไม่เสียเที่ยวที่เข้ามา พิพิธภัณฑ์อยู่ไม่ห่างจากสถานีบ้านปินและตัวอำเภอลอง จอดรถริมถนนด้านหน้าได้ครับ
พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ริเริ่มโดยนายโกมล พานิชพันธ์ นักสะสมผ้าโบราณชาวอำเภอลอง ซึ่งได้สะสมผ้าโบราณชนิดต่างๆของ "เมืองลอง" และผ้าโบราณของชุมชนใกล้เคียง จนกระทั่งร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพื้นบ้านสาขาสิ่งทอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2535 จากนั้นจึงได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณให้บุคคลทั่วไปชมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535
.
วัดศรีดอนคำ
วิหารทรงสูงแบบภาคกลาง หลังคาซ้อนกันสองชั้น ด้านหลังเป็นเจดีย์ระฆังคว่ำแบบล้านนาสีทอง นั่นคือสิ่งแรกที่เราได้เห็นเมื่อเลี้ยวรถเข้ามาในเขตวัดแล้วและกำลังหาที่จอดที่ร่มสักหน่อย แต่นั่นไม่ใช่จุดสนใจแรกของนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาที่นี่ และสิ่งที่เป็นจุดสนใจที่ว่าน่าสนใจกว่าวิหารและเจดีย์องค์นั้นคือ เรื่องที่เกี่ยวกับตำนาน “เมืองแพร่แห่ระเบิด” และพระเจ้าพล้าโต้ที่ประดิษฐานอยู่ในอาคารอีกหลังใกล้ๆนั้นเอง
.
มีคนเล่าว่า ... ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเครื่องบินทิ้งระเบิดตกลงมาที่แพร่ แล้วคนแพร่ก็ไม่รู้ว่าเป็นระเบิดเลยเอามาแห่นึกวาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ตกจากสวรรค์ พากันนำมาแห่รอบเมืองแห่ไปแห่มาก็ดันระเบิดทำให้คนตายทั้งเมือง
.
บางคนก็เล่าว่า ... มีลูกระเบิดตกมาจากฟ้า ชาวแพร่คิดว่าเป็นระเบิดจากเทวดา นำไปแห่จนระเบิดตายทั้งเมือง เลยกลายเป็นที่มาของเมืองแพร่แห่ระเบิด
.
หรือบางคนก็ว่า ... มีชาวบ้านเมืองแพร่เข้าป่าไปหาหน่อไม้ไปเจอลูกไข่เหล็กเกิดแตกตื่น จึงนำลูกไข่เหล็กไปแห่รอบบ้านบอกเป็นไข่เทวดาเพราะไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ปรากฏว่าระเบิดแตกตายไปครึ่งเมือง
.
และ ... มีระเบิดตกลงมาจากท้องฟ้า ชาวบ้านนึกว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาจากสวรรค์ก็เลยเอามาแห่ แล้วระเบิดตายทั้งหมู่บ้าน ตายทั้งบ้านทั้งเมือง รวมทั้งเจ้าเมืองด้วย ก็เลยไม่มีนามสกุล ณ แพร่ ... แบบนี้ก็มีคนเล่า
แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คือ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในบริเวณจังหวัดแพร่มีการพบลูกระเบิดขนาดใหญ่ที่ถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินในยุคสงครามและลูกระเบิดเหล่านั้นถูกนำดินระเบิดที่บรรจุอยู่ภายในออกจนหมดแล้ว เปลือกของลูกระเบิดที่ว่าซึ่งเป็นโลหะหนาพอควร จึงถูกชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ จนสุดท้ายถูกทำให้เป็นระฆังแล้วนำไปถวายวัด โดยในขั้นตอนของการนำไปถวายวัดนั้นชาวบ้านได้จัดขบวนแห่แหนอย่างเอิกเริก และเหล่านี้เองจึงเป็นที่มาของคำว่า “แพร่แห่ระเบิด”
------------------------
คุณหมูยอ
ออกเดินทาง 15-17 ตุลาคม 2563
บันทึกไว้เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563
-----------------------
อ่านย้อนหลังในเรื่อง แพร่ #บ้านวัดวังเวียง และเมืองหลวงแห่งไม้สัก
-----------------
[CR] แพร่ #บ้านวัดวังเวียงและเมืองหลวงแห่งไม้สัก ตอน 4 อำเภอลอง (สถานีบ้านปิน โกมลผ้าโบราณ วัดศรีดอนคำ)
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้