วัดในเมืองในกระทู้นี้มี 3 วัดนะครับ
1.วัดพงษ์สุนันท์
2.วัดหลวง
3.วัดจอมสวรรค์
.
เช้าวันรุ่งขึ้นของวันที่เรามาถึงแพร่ คือวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เราวางแผนเพื่อไปวัดพงษ์สุนันท์และวัดหลวง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน และอยู่ภายในเมืองเก่าแพร่นั่นเอง ส่วนวัดจอมสวรรค์ เราเข้าไปในเช้าของวันที่ 17 ตุลาคม ครับ ทั้งหมดสามารถอาศัย google map และการนำทางไปได้ การเดินทางค่อนข้างสะดวก รวมทั้งถ้าไม่ได้ขับรถส่วนตัวไป จะนั่งรถบริการท่องเที่ยวของทางจังหวัด วัดเหล่านี้ก็อยู่ในเส้นทางของรถ (เรื่องรถท่องเที่ยวของทางจังหวัด ถ้าจะใช้บริการอาจต้องคอนเฟิร์มเรื่องเวลาเดินรถและจุดจอดก่อนอีกครั้ง เพราะที่เราบอกแบบนั้นเนื่องจากเราเห็นป้ายจอดรถบริเวณหน้าวัด จึงคิดว่าคงจะมีบริการรถนำเที่ยวมาถึง)
วัดจอมสวรรค์
ทั้ง 3 วัด จะมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมต่างกันเล็กน้อย ทั้งอาคารหลักและอาคารรองของวัด แต่ที่เป็นที่น่าสังเกตและแตกต่างกันอย่างชัดเจนซึ่งทำให้เราคาดเดากลุ่มผู้สร้างตั้งแต่เริ่มแรกได้ คือลักษณะของเจดีย์
วัดพงษ์สุนันท์ - เจดีย์ทรงระฆังคว่ำสีทองทั้งองค์แบบล้านนา
วัดหลวง – เจดีย์ทรงระฆังคว่ำสีทองครึ่งองค์แบบล้านนา
สองวัดนี้ลักษณะคล้ายกัน ทั้งอาคารหลัก อาคารรอง และองค์เจดีย์ ส่วนวัดจอมสวรรค์จะแตกต่างออกไปมากจากสองวัดแรก อาคารหลักและอาคารรองของวัดจอมสวรรค์ทำให้เรานึกถึงอาคารในศิลปะพม่าที่พบในเมืองมัณฑเลย์ รวมทั้งเจดีย์ของวัดจอมสวรรค์ก็มีกลิ่นอายของศิลปะพม่าอย่างชัดเจน และจากประวัติของวัดที่ระบุว่าวัดนี้เคยร้างมาก่อน จนถึงสมัยที่มีการเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ (ไม้สัก) ของชาวอังกฤษ จึงได้มีการบูรณะวัดขึ้นใหม่และอาคารหลักที่เราเห็นก็ทำจากไม้สัก จึงทำให้อาคารหลังนี้ก็เป็นอาคารอีกหลังที่ทำจากไม้สักที่มีอายุยาวนานตั้งแต่ยุคสัมปทานป่าไม้และมีอายุยืนยาวมาจวบจนปัจจุบัน
วัดจอมสวรรค์เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นประดับประดาด้วยลวดลายฉลุ อารามเป็นไม้สักใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ภายในอารามแสดงหเห็นฝีมือการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เพดานและเสาฉลุไม้ประดับกระจกสีงดงาม โบราณวัตถุ มีพิพิธภัณฑ์รวบรวมโบราณวัตถุ ได้แก่ หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้าง เป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้างหรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดแล้วอัดเป็นแผ่นบางๆ เขียนลงรักแดงจารึกเป็นอักษรพม่าและยังมีบุษบก ลวดลายวิจิตรงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน วัดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2437 โดยชาวเงี้ยวซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในพม่าและเดินทางมาค้าขายที่แพร่ ต่อมาได้รับการบูรณะจากชาวไทยใหญ่รวมถึงคณะศรัทธาชาวแพร่ตลอดมา
(ข้อมูลบางส่วนจากป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณทางเข้าวัด)
วัดพงษ์สุนันท์
เราจะเห็นวิหารหลวงเป็นอาคารหลังแรกหลังเราผ่านประตูหน้าวัด เป็นอาคารทรงสูงขนาดใหญ่ หลังคาทำซ้อนสามชั้น หน้าบันประดับด้วยลวดลายก้านไม้ม้วนและดอกไม้สีทอง ด้านในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ผนังของวิหารเขียนจิตรกรรมฝาผนังโดยด้านหลังพระประธานเขียนเป็นรูปต้นโพธิ์ใหญ่ ด้านหลังของวิหารหลวงเป็นเจดีย์สถาปัตยกรรมล้านนาสีทองทั้งองค์
ด้านขวาของวิหารหลวงเป็นอาคารที่มีหลังคาเป็นเจดีย์องค์เล็กหลายองค์เรียงรายชิดกันแน่นจนแทบไม่มีช่องว่าง เจดีย์เหล่านี้มีสีขาวสะอาดตา บนยอดเจดีย์องค์เล็กเหล่านี้ประดับด้วยฉัตรทุกองค์ ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพรไว้ ผนังด้านในอาคารเขียนจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ ด้านหน้าด้านตรงข้ามกับวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ไว้
วัดพงษ์สุนันท์เป็นวัดที่สร้างอยู่ในพื้นที่บ้านวงศ์บุรีในเขตกำแพงเมืองเก่า เดิมเป็นวัดร้างชื่อ "วัดปงสนุก" ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าสร้างในสมัยใด แต่พบบันทึกว่าเมื่อปี พ.ศ. 2472 ผนังวิหารได้พังทลายลงเพราะเกิดน้ำท่วม ทำสังฆกรรมไม่ได้หลายปี ในปี พ.ศ. 2472 จึงได้มีการบูรณะวัด และสร้างวิหารใหม่ โดยหลวงพงษ์พิบูลย์และเจ้าสุนันตามหายศปัญญา พระมหาโกศล อคฺคธีโรจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพงษ์สุนันท์” ตามชื่อหลวงพงษ์พิบูลย์ และ เจ้าแม่สุนันตา วัดพงษ์สุนันท์ จนถึงปัจจุบัน และตั้งเป็นวัดประจำตระกูลวงศ์บุรีแต่นั้นมา
.
พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชื่อว่า "พระเจ้าแสนสุข" มีอายุราว 568 ปี มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปเก่าแก่สวยงาม วิหารแก้วองค์พระธาตุเจดีย์ 108 ยอด ที่ตั้งเด่นตระหง่าน เป็นวิหารสีขาวทั้งหลัง มีความหมายทางพุทธศาสนา คือ บูชาพระพุทธคูณ โดยวิหารหลังนี้มี พระธาตุเจดีย์ทั้งหมด 108 องค์ ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงลูกแก้วทั้งหมด 108 ลูก เมื่อมองลูกแก้วสามารถเห็นวิหารแก้วองค์พระธาตุ เจดีย์ 108 ยอดกลับหัวสวยงามและน่าอัศจรรย์มาก ภายในวิหารมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ นามว่า "พระสุรัสวดีประทานพร" และองค์เล็กที่ทำจากไม้ขนุนทั้งองค์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธรูปในจังหวัดแพร่ ปีนักษัตร เป็นต้น ส่วนในองค์พระธาตุเจดีย์ บรรจุ "พระสกุลดำคูณ เป็นแสน ๆ องค์" เจดีย์พระธาตุพงษ์สุนันมงคล บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระบรมสารีริกธาตุ มาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา
วัดหลวง
วัดหลวงมีวิหารสองหลัง หลังแรกขนาดเล็กด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัยไว้ ด้านหลังวิหารหลังนี้เป็นหอพระธรรมลงรักปิดทองสวยงาม ส่วนข้างๆ กันเป็นวิหารหลังใหญ่กว่า (อาจเรียกว่าวิหารหลวง) ที่ด้านหลังเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบล้านนาที่ตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไปเป็นสีทองโดยส่วนฐานเป็นสีขาว ด้านในวิหารหลังใหญ่นี้ประดิษฐานพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ขัดสมาธิราบปางมารวิชัยเช่นกัน วิหารหลวงหลังนี้ติดชื่อไว้ด้านหน้าว่า “วิหารพระเจ้าแสนหลวง”
วัดหลวงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแพร่ มีอายุกว่า 1,000 ปี ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเก่า จารึกใบลานที่อยู่ในวัดบอกถึงประวัติของวัดว่า เมื่อราว พ.ศ. 1317 พ่อขุนหลวงพลได้อพยพมาจากอาณาจักรน่านเจ้า พบที่ราบริมฝั่งน้ำยมมีชัยภูมิที่ดีและอุดมสมบูรณ์ จึงป่าวประกาศให้ชาวบ้านที่อพยพมาด้วยแยกย้ายกันจับจองที่ดิน ปลูกสร้างบ้านเรือน อีก 3 ปีต่อมาจึงได้เริ่มก่อสร้างวัดบริเวณข่วงบ้านหลวง พ่อขุนหลวงพลนำช่างฝีมือมาจากเมืองเชียงแสน ไชยบุรีและช่างเวียงพางคำ สร้างพระประธานองค์ใหญ่หน้าตัก 7 ศอกมีนามว่า “พระจ้าแสนหลวง” พ่อขุนหลวงพลได้ตั้งชื่อวัดนี้ตามชื่อของท่านว่า “วัดหลวง”
(ข้อมูลบางส่วนจากป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณวัด)
ด้านตรงข้ามกับวิหารพระเจ้าแสนหลวงยังเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอีกองค์อยู่ด้านใน แต่เจดีย์องค์นี้ด้านบนพังลงมาเกือบทั้งหมดแล้วเหลือแต่ส่วนฐานและยอดบางส่วนเท่านั้น
----------------
คุณหมูยอ
ออกเดินทาง 15-17 ตุลาคม 2563
บันทึกไว้เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2563
---------------
อ่านย้อนหลังในเรื่อง แพร่ #บ้านวัดวังเวียง และเมืองหลวงแห่งไม้สัก
-----------------
[CR] แพร่ #บ้านวัดวังเวียงและเมืองหลวงแห่งไม้สัก ตอน 3 วัดในเมือง (วัดพงษ์สุนันท์ วัดหลวง วัดจอมสวรรค์)
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้