การทดสอบ "Pod" ขนส่งผู้โดยสารสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

(VIRGIN HYPERLOOP / อุโมงค์ทดสอบของเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป ในทะเลทรายรัฐเนวาดา ของสหรัฐฯ)


เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป (Virgin Hyperloop) บริษัทด้านเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่งในสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบการขนส่งแคปซู]โดยสาร
หรือ "พ็อด" (Pod) ของระบบขนส่งความเร็วสูง "ไฮเปอร์ลูป" โดยที่มีคนโดยสารไปด้วยเป็นครั้งแรกของโลก

เทคโนโลยีการขนส่งแห่งอนาคตนี้เป็นการใช้ "พ็อด" วิ่งไปในอุโมงค์สุญญากาศด้วยความเร็วสูง ซึ่งในการทดสอบครั้งล่าสุดในทะเลทรายรัฐเนวาดา พ็อดที่มีผู้โดยสารสองคน ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท สามารถเดินทางไปตามทางวิ่งยาว 500 เมตร โดยใช้เวลา 15 วินาที ด้วยความเร็วสูงสุด 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (107 ไมล์ต่อชั่วโมง)

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีเป้าหมายที่จะทำความเร็วในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีนี้ให้ได้กว่า 1,000 กม.ต่อชั่วโมง โดย น.ส.ซารา ลุคยัน ผู้อำนวยการฝ่ายประสบการณ์ลูกค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่เข้าร่วมการทดสอบครั้งนี้ บรรยายความรู้สึกการได้ลองใช้เทคโนโลยีการขนส่งแห่งอนาคตนี้ว่าทำให้เธอ "ตื่นเต้นทั้งทางกายและใจ"



(VIRGIN HYPERLOOP/HANDOUT VIA REUTERS / ที่นั่งผู้โดยสารภายใน "พ็อด")


(VIRGIN HYPERLOOP / ซารา ลุคยัน (ขวา) และ จอช เกียเกล ผู้โดยสารคู่แรกของการทดสอบระบบไฮเปอร์ลูป)


การทดสอบมีขึ้นในเขตทะเลทรายนอกเมืองลาสเวกัส เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2020 โดยทั้งเธอ และนายจอช เกียเกล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ต่างสวมเสื้อแขนยาวผ้าฟลีซและกางเกงยีนส์แบบธรรมดาในการทดสอบครั้งนี้ มากกว่าจะสวมชุดแบบนักบิน

น.ส.ลุคยัน ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวบีบีซีว่า การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น และ "ไม่รู้สึกเหมือนการนั่งรถไฟเหาะตีลังกาเลย" แม้ในช่วงการเร่งความเร็วจะรู้สึกถึง "พลัง" มากกว่าการเดินทางไปตามทางวิ่งที่ยาวกว่า แต่ทั้งสองก็ไม่ได้รู้สึกไม่สบายหรือคลื่นไส้แต่อย่างใด  เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป ไม่ใช่บริษัทเดียวที่พัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทดสอบระบบโดยที่มีคนโดยสารไปด้วย

ไฮเปอร์ลูป เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เวลาในการพัฒนาหลายปี โดยสร้างขึ้นจากแนวคิดของนายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา ซึ่งในช่วงแรกกลุ่มนักวิจารณ์เปรียบแนวคิดนี้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์  โดย มัสก์ ได้เสนอแนวคิดระบบขนส่งนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยตั้งเป้าว่าจะพัฒนาระบบนี้ให้มีความเร็วสูงสุดที่ 1,000 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางในอนาคต

ไฮเปอร์ลูป มีแนวคิดมาจากรถไฟแม็กเลฟ (maglev) ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างแรงยกตัวให้รถไฟวิ่งไปโดยที่ลอยอยู่เหนือรางแทนการใช้ล้อ จากนั้นใช้การเร่งความเร็วไปตามอุโมงค์สุญญากาศเพื่อทำให้ไฮเปอร์ลูปทำความเร็วได้มากขึ้น ซึ่งรถไฟ แม็กเลฟของญี่ปุ่นได้สร้างสถิติโลก ด้วยการทำความเร็วสูงสุดราว 601 กม.ต่อชั่วโมง (374 ไมล์ต่อชั่วโมง) ในการทดสอบวิ่งใกล้กับภูเขาไฟฟูจิ เมื่อปี 2015


(ALAMY / เวอร์จินระบุว่า พ็อด ของไฮเปอร์ลูป สามารถทำความเร็วสูงสุดที่ 1,000 กม./ชม.)


เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 จากนั้นกลุ่มบริษัทเวอร์จิน กรุ๊ป ได้เข้าไปลงทุนในปี 2017 โดยก่อนหน้านี้บริษัทเป็นที่รู้จักในนาม ไฮเปอร์ลูป วัน (Hyperloop One) และ เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน (Virgin Hyperloop One)

ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อปี 2018 นายร็อบ ลอยด์ ผู้บริหาร เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน ในขณะนั้นระบุว่า ในทางทฤษฎีเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางระหว่างสนามบินฮีทโธรว์ และสนามบินแกตวิคในกรุงลอนดอน ซึ่งมีระยะทาง 72.42 กม. (45 ไมล์) ได้ภายในเวลาเพียง 4 นาที

นอกจากนี้ เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป ยังสำรวจความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีนี้ในประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น การตั้งสมมุติฐานเรื่องการเดินทางระหว่างนครดูไบ กับกรุงอาบูดาบี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยใช้เวลาเพียง 12 นาที เมื่อเทียบกับการขนส่งมวลชนที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางกว่า 1 ชั่วโมง  โดยนักวิจารณ์ชี้ว่า การสร้างระบบขนส่งไฮเปอร์ลูปมีเรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงหลายอย่าง ทั้งการขออนุญาตก่อสร้าง และการก่อสร้างเครือข่ายอุโมงค์สุญญากาศขนาดใหญ่สำหรับเส้นทางสายต่าง ๆ

น.ส.ลุคยัน ยอมรับถึงอุปสรรคความยากลำบากในการก่อสร้างระบบขนส่งแห่งอนาคตนี้ แต่ชี้ว่า "ระบบสาธารณูปโภคเป็นเรื่องสำคัญที่คนในรัฐบาลหลายคนให้ความสนใจ เรารู้ว่าผู้คนกำลังมองหาทางแก้ปัญหา พวกเขากำลังมองหาการคมนาคมขนส่งแห่งอนาคต เราสามารถสร้างระบบขนส่งแบบของทุกวันนี้หรือของวันวานได้ และต้องเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดขึ้น หรือเราควรจะมองหาการสร้างอะไรที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้"



รถไฟความเร็วสูง Maglev ของญี่ปุ่น


Maglev ย่อมาจาก Magnetic Levitation คือ การใช้สนามแม่เหล็กมายกให้รถไฟลอยอยู่บนราง รวมทั้งใช้รถไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เป็นสนามแม่เหล็ก เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนและหยุดรถ  รถไฟแม็กเลฟ เป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็ก ซึ่งทำให้มันลอยอยู่เหนือรางตลอดเวลา และสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วมากกว่า 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลอยอยู่เหนือรางประมาณ 1-10 เซนติเมตร และไม่มีคนขับ

การกำหนดความเร็วทั้งหมดทำโดยคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้า เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กให้รถเคลื่อนที่ไปในเวลาที่ต้องการ ระบบสับเปลี่ยนรางควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน แบตเตอรี่ที่ติดตั้งไว้ในตัวรถจะทำการจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อบังคับให้รถหยุดอย่างแม่นยำที่ความสูงเหนือราง 10 มิลลิเมตร

โดยรถไฟความเร็วสูง Maglev ของญี่ปุ่นทดสอบวิ่งทำลายสถิติความเร็วสูงสุด 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟรุ่นนี้พัฒนาโดย Central Japan Railway (JR Central) รถไฟขบวนนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Chuo Shinkansen Maglev (Cr.https://www.nextwider.com/japan-maglev-train/)


(ขอเพิ่มเนื้อหาให้อ่านกันกับ  "Hyperloop" ของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ ทดสอบความเร็ว 1,000 กม./ชม.



(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลและขออนุญาตนำมา)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่