JJNY : 4in1 ธุรกิจแห่เปิดเออร์ลี่-ปิดบ.ลูก/รายย่อยเลิกกิจการสูงสุด/พท.ยังไม่ตัดสินใจร่วมคกก./ก.ก.เคาะ3พ.ย.ร่วมวงหรือไม่

ธุรกิจเร่งจัดทัพลดค่าใช้จ่าย แห่เปิดเออร์ลี่ลดคน-ปิดบริษัทลูก
https://www.prachachat.net/prachachat-top-story/news-547834
 

 
บจ.เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ เดินหน้าลดค่าใช้จ่ายปัดกวาด “ปิดบริษัทลูก” ไม่ทำเงิน ลดคน-ลดขนาดองค์กร “เมย์แบงก์ฯชี้เทรนด์ปีหน้ามีอีกเพียบ “ปตท.-บางจาก” เคลียร์พอร์ตปิดบริษัทลูก ตปท. BDMS ปิด 2 บริษัท แสนสิริปิดธุรกิจอีเวนต์ กลุ่มโลจิสติกส์-บันเทิงไม่รอด ทั้งสายการบิน-แบงก์-อสังหาฯ-โรงแรม แห่เปิด “เออร์ลี่”
 
ธุรกิจเดินแผน “ลดต้นทุน”
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องเข้ามาตรการ “พักหนี้” เพื่อต่อลมหายใจ และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการถาวรนี้ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่แม้จะไม่ถึงขั้นล้มหายตายจาก หรือเจ็บตัวเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แต่ด้วยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งผลจากเทคโนโลยีดิสรัปต์ ที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค จนถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อจากลูกค้าต่างประเทศหดหาย
 
ทำให้ขณะนี้ธุรกิจใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบิน โรงแรม ร้านอาหาร การแพทย์ อสังหาริมทรัพย์ จนถึงธนาคารพาณิชย์ มีการปรับตัว ทั้งการปรับโครงสร้างการเงิน ปรับโมเดลธุรกิจ และที่สำคัญคือการปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการลดพนักงาน รวมถึงการปิดการปัดกวาดหลังบ้านปิดกิจการบริษัทลูก บริษัทย่อย
 
สายการบินเจ็บหนัก
 
สำหรับปรากฏการณ์ปรับลดพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ก็มีให้เห็นในหลากหลายวงการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่นล่าสุดที่ บมจ.การบินไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลาง ได้เปิดโครงการสมัครใจลาออกและลาหยุดตั้งแต่ 19-28 ตุลาคมที่ผ่านมา พนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์รวม 4,977 คน โดยเป็นการสมัครเข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP A) 1,918 คน และโครงการลาหยุดระยะยาว 6 เดือน (LW20) จำนวน 2,699 คนและเลือกสมัครทั้ง 2 โครงการอีก 360 คน
 
โดยพนักงานที่ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการจะมีผลให้ลาออกในวันที่ 1 ธันวาคม 2563
 
โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย ประกาศเมื่อ 16 ต.ค. 2563 เรื่อง โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร ระบุว่าบริษัทประสบปัญหาขาดทุนยาวนานจนทำให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย
 
แต่ปัจจุบันยังไม่ทำการบินได้ตามปกติ ทำให้บริษัทไม่มีรายได้ ขณะที่ยังคงมีรายจ่ายมากมาย รวมถึงรายจ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่เงินสดที่บริษัทมีอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้จ่ายเงินเดือนพนักงานไปจนถึงเวลาที่ที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางจะให้ความเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูกิจการ จึงต้องเปิดโครงการสมัครใจลาออกดังกล่าว
 
ขณะที่ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) แจงว่า เมื่อ 26 มิ.ย. 2563 คณะกรรมการบริษัทมีมติยกเลิกกิจการและชำระบัญชี บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด เนื่องจากมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
 
แบงก์-อสังหาฯซุ่มเปิดเออร์ลี่
 
ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็ถือว่าได้รับผลกระทบจากโควิดทางตรง เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นการขายลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะลูกค้าจีน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติก็ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวอย่างมาก และที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวการปรับลดพนักงานของ บมจ.แสนสิริ มีการปรับลดพนักงานราว 600 คนหรือประมาณ 5% ของพนักงานทั้งหมด 4,000 คน รวมทั้งได้รับการยืนยันว่า บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ก็มีการปรับลดพนักงานไปหลายร้อยคนเช่นกัน
 
รวมทั้งในอุตสาหกรรมการเงิน ที่เผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีดิสรัปต์ ทำให้แนวทางของธนาคารเน้นการปรับลดสาขา-ลดคน และโยกบริการขึ้นไปอยู่บนโมบายแบงกิ้ง เช่นกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ ก็อยู่ระหว่างเปิดโครงการ “จากด้วยใจ” ครั้งที่ 2 สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เปิดโครงการตั้งแต่ 5 ต.ค.-6 พ.ย.นี้ หลังจากได้มีการเปิดโครงการสมัครลาออกรอบแรก ซึ่งมีผลไปเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
 
ไมเนอร์จ่อลดคนอีกระลอก
 
ขณะที่เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นายบิล ไฮเนคกี้ ประธาน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของโรงแรมมากกว่า 500 แห่งใน 55 ประเทศ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยอมรับว่า อาจต้องมีการเลิกจ้างพนักงานอีกระลอก หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการปรับลดพนักงานไปแล้ว รวมถึงอาจต้องปิดโรงแรมบางส่วนในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากขณะที่ยังมีโรงแรมหลายแห่งที่ยังไม่สามารถจ่ายรายได้ให้พนักงาน หรือค่าไฟฟ้า เพราะโรงแรมไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพักหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
 
แหล่งข่าวสถาบันการเงินกล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มไมเนอร์เนื่องจากมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงกว่า 2 แสนล้านบาทเท่าที่ทราบขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดภาระเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งหนึ่งในแนวทางก็คือการตัดขายโรงแรมต่างประเทศบางส่วนที่ได้ซื้อเข้าพอร์ตในช่วงที่ผ่านมา
 
บจ.เร่งจัดทัพปัดกวาดบ้าน
 
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการมอนิเตอร์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เห็นสัญญาณบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวนมากหันมาลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด ซึ่งจะมีหลากหลายวิธี บางบริษัทลดค่าใช้จ่ายพนักงาน หรือลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นอย่างการปิดบริษัทลูกหรือบริษัทย่อย จากที่เปิดไว้แต่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจ หรือใช้วิธีการควบรวมกิจการทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนต่อไปได้
 
“แน่นอนว่าการบาลานซ์ค่าใช้จ่ายลักษณะนี้จะมีมากขึ้นในปีหน้า เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายคงที่ เพราะจะทำให้ภาระหายไปทันที ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะกลางและระยะยาวของบริษัทจดทะเบียน”
 
ขณะนี้เซ็กเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคงเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศหดหายไป นอกจากนี้เซ็กเตอร์กลุ่มเฮลท์แคร์ก็น่าจะฟื้นยาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากต่างชาติ ขณะที่กลุ่มส่งออกอาจจะดีถ้าอิงเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะฟื้น โดยเฉพาะจากสัญญาณจากจีนที่กลับมาแข็งแกร่ง
 
รพ.กรุงเทพปิด 2 บริษัท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังการระบาดของโควิด-19 มีบริษัทจดทะเบียนที่แจ้งปิดกิจการบริษัทลูกบริษัทย่อยจำนวนมากในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ผู้บริหาร รพ.กรุงเทพ แจ้งเมื่อ 24 ส.ค. 2563 ในการยกเลิกกิจการ 2 แห่งคือ บริษัท บีดีเอ็มเอส อินเตอร์ พีทีอี จำกัด (สิงคโปร์) ทุนจดทะเบียน 200,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา 2.บริษัท คูล แอนด์ จอย จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนถือหุ้น 30% ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 5 ล้านบาท
 
บมจ.แสนสิริ แจ้งปิดกิจการ บริษัท คิวอีดับเบิ้ลยู (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทางอ้อม 100% ประกอบธุรกิจให้บริการจัดการกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ และงานวิวาห์ครบวงจร ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์แล้วเมื่อ 11 ส.ค. 2563
 
รวมทั้งบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 มีมติอนุมัติให้เลิกบริษัท เทวารัณย์ สปา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 99.99% เนื่องจากธุรกิจของเทวารัณย์ สปา ได้ดำเนินการภายใต้กลุ่มโรงแรมดุสิตธานี
 
ปตท.-บางจากปิดบริษัท ตปท.
 
นอกจากนี้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำมันอย่างบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR แจ้งเมื่อ 23 ก.ย. 2563 เรื่องการปิดบริษัท พีทีที ออยล์ เมียนมาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนอยู่ในเมียนมา โดยระบุว่าเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม OR เพื่อดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ผ่านการร่วมค้ากับพันธมิตรทางธุรกิจในประเทศเมียนมาทั้งหมด ขณะที่นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อ 28 ตุลาคม 2563 ได้มีมติให้ปิดบริษัท บางจาก เวนเจอร์ส พีทีอี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ที่บริษัทถือหุ้น 100%
 
เมเจอร์-MONO ล้างพอร์ต
 
ด้านธุรกิจบันเทิงอย่างบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) แจ้งยกเลิกการจดทะเบียน บริษัท เมเจอร์ รีวอร์ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% ประกอบธุรกิจให้บริการลูกค้าสัมพันธ์ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และเครือข่ายเครื่องพิมพ์คูปองอัตโนมัติ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการดำเนินงานใด ๆ ในบริษัทย่อยแห่งนี้
 
บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) MONO แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 14 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เลิกกิจการบริษัทย่อย 8 แห่ง ที่ไม่ได้ดำเนินกิจการและให้สิ้นสภาพการเป็นบริษัทย่อย เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บริษัทจึงเห็นควรมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจหลักที่มีอยู่ให้เกิดรายได้และมีผลกำไร โดยคาดว่าวันที่จะจดทะเบียนเลิกกิจการภายในไตรมาส 4/2563
 
รวมถึงในช่วงที่ผ่านมา บริษัท อสมท จำกัด แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากโควิดโดยตรง ก็มีการประกาศเออร์ลี่รีไทร์ซึ่งมีเป้าหมายลดคนประมาณ 600 คน แต่ที่มีการแจ้งลาสุดพบว่ามีพนักงานเข้าร่วมโครงการราว 300 คนเท่านั้น
 
JWD-NCL-ดูโฮม ปลดภาระ
 
นายกิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ (NCL) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อ 13 พ.ค.ว่า บริษัทมีมติปิดบริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์ โลจิสติกส์ เวียดนาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ NCL เข้าร่วมทุน 49% เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก ซึ่งฝ่ายบริหารและผู้ร่วมทุนจึงมีความเห็นตรงกันว่า หากบริษัทดำเนินธุรกิจต่อจะส่งผลกระทบขาดทุนในระยะยาว
 
ขณะที่ทาง บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ได้ปิดบริษัทย่อยได้แก่ บริษัท โกโกเฟรช เทคโนโลยี จำกัด ทำธุรกิจจําหน่ายอุปกรณ์จัดเก็บสินค้าควบคุมอุณหภูมิ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ รวมทั้ง บมจ.ดูโฮม (DOHOME) แจ้งยกเลิกบริษัท คิดดีโลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ดูโฮม ออโตเมชั่น จำกัด โดยได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและชําระบัญชีต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 27 พ.ค. 2563
 
TOA-TVI ลดค่าบริหารจัดการ
 
รายงานข่าวจาก บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (TOA) แจ้งมติบอร์ดให้เลิกกิจการบริษัท อิมเมจิกา จำกัด มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ขณะที่นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ (TVI) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 บริษัทได้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยให้บริษัท มาแฟม จำกัด เข้าถือหุ้นสัดส่วน 48.07% ซึ่งเป็นการโอนจากผู้ถือหุ้นเดิม 2 ราย คือ บริษัท เอ็ม.เอ.อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท ตั้งใจมั่น จำกัด ซึ่งเป็นการควบรวมกิจการของครอบครัว เพื่อลดต้นทุนทางการเงินในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของผู้ตรวจสอบบัญชีที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประหยัดลงมากพอสมควร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่