JJNY : สภา-สมาพันธ์โวยรัฐปล่อย SMEs ตาย/พิชัยทวงสัญญาที่พปชร หาเสียงไว้/ตร.ป่าไม้ส่งสำนวนคดี'ปารีณา'/บินไทยร่วมใจออก5พัน

จี้ตั้งกองทุนกู้ชีพ NPLไซซ์เล็ก สภา-สมาพันธ์โวยรัฐปล่อย SMEs ตาย
https://www.prachachat.net/economy/news-546642
 

 
ประสานเสียงหนุนรัฐ กู้ชีพ “NPL” สภาเอสเอ็มอีชี้ยืดพักหนี้ช่วยรายย่อยได้แค่ 10% ราว 3.1 แสนราย กลุ่มท่องเที่ยว organizer ผู้ผลิตส่งออก ค้าชายแดนทยอยตาย เตรียมชงรัฐออก พ.ร.ก.ยืดพักหนี้ยาว 1 ปี พร้อมดึงเงินกองทุนประกันสังคม 1 ล้านล้านบาทช่วยแก้วิกฤต เข้าใจแบงก์พาณิชย์ไม่กล้ารับเสี่ยงมาก ด้วยหวั่นเครดิตเรตติ้งร่วง ด้าน “สมาพันธ์ SME” หนุนตั้งกองทุน NPL ให้ได้ ห่วงกลุ่มค้างชำระ 1-3 เดือน หนี้ 750,000 ล้านบาท ยังไม่มีทางออก
 
นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่สถาบันการเงินเอกชนได้ขยายเวลาพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการจากเดิมสิ้นสุดในเดือนตุลาคม ไปสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน2564 และสถาบันการเงินภาครัฐได้ขยายออกไปถึงสิ้นปี 2563 ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ควรจำกัดแค่บางรายหรือแค่บางกลุ่ม ควรขยายเวลาพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการทุกราย เพื่อให้ทุกรายสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้
 
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการขยายเวลาพักชำระหนี้ล่าสุดจะสามารถช่วยSMEs ได้เพียง 10% จากจำนวน SMEs ทั้งหมด 3.1 ล้านราย หรือ 3.1 แสนรายเท่านั้น โดยรัฐควรออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพิ่มเติมให้พักชำระหนี้ไปเลยจาก พ.ร.ก.เงินกู้ต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ควรพักหนี้ให้เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ เขาเดินต่อไปได้
 
“ก่อนหน้านี้ทางสภาได้เสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการพักชำระหนี้ยาว 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดปลายปี 2564 เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่อาจประเมินได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดจนที่เหล่า SMEs จะสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ”
 
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการที่ธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือลูกค้าก่อน เพราะเขามีฐานลูกค้าในมือจำนวนมากแต่ก็เข้าใจว่าจะให้ช่วยทุกรายก็หวั่นที่จะเกิดหนี้ NPL ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลต่อเงินสำรองตามกฎหมายที่แบงก์จะต้องปฏิบัติ และอาจยังมีผลต่อเครดิตเรตติ้งที่จะถูกปรับลดลง ซึ่งคือตัวการันตีสถานะของเขาเอง
 
ส่วนทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่สามารถขยายเวลาการพักชำระหนี้ได้ไปถึงปี 2564 โดยให้เหตุผลที่ว่าต้องใช้เวลาในการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ที่ออกมาช่วย 3 ฉบับก่อนหน้านี้ คือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท ที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม, พ.ร.ก.สินเชื่อ Soft Loanวงเงิน 500,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000ล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องหลักเกณฑ์
 
นอกจากนี้ สภายังเสนอให้ภาครัฐดึงเงินจากเงินที่ภาคเอกชนส่งเข้าประกันสังคม 1 ล้านล้านบาท จากที่ปัจจุบันมีอยู่ 2.12 ล้านล้านบาท ออกมาช่วยเหลือ SMEs ซึ่งถือเป็นเจ้าของเงิน เพราะทุกอุตสาหกรรมขณะนี้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพราะถึงต่อให้จะมีการยืดพักชำระหนี้แต่การช่วยเหลือที่ต้องเข้ามาตรการกู้เงินจากสินเชื่อต่าง ๆ ก็ยังไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้
 
“ผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันทำภูเก็ตโมเดลกับทางภาคเอกชน และผู้ประกอบการ SMEs ด้วยกัน แต่ก็ยังไม่ผ่าน แล้วธุรกิจท่องเที่ยวจะอยู่รอดไปต่อได้อย่างไร มันมีอีกหลายโมเดลที่เราช่วยกันคิด และต้องพยายามช่วยเหลือกันเอง อย่างที่พูดมาตลอดคือการเอาสินค้าเด่นของวิสาหกิจชุมชนของแต่ละจังหวัดดึงออกมาชูจุดขาย ขายข้ามจังหวัดกันได้ ล่าสุดเราคุยกับผู้ว่าฯ จ.พระนครศรีอยุธยา จะจัดงานนำสินค้าเด่นมาขายกระตุ้นท่องเที่ยวและกำลังซื้อ ในวันที่ 7 พ.ย. 2563 นี้ เรารอรัฐอย่างเดียวไม่ได้ เอกชนก็ต้องช่วยกันเองด้วย นอกจากนี้วันที่ 28 ต.ค. หากสถานการณ์ปกติ เรามีแผนจะจัดสัมมนาถึงแนวทางช่วย SMEs อีกด้วย”
 
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสมาพันธ์ SME ไทยส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า การยืดเวลาพักชำระหนี้ให้ SMEs เป็นไปตามที่สมาพันธ์ SME ไทยได้เคยเสนอให้กับทางนายกรัฐมนตรีไปแล้วก่อนหน้านี้ แม้จะยืดไม่นานแต่ดีกว่าไม่ยืดแน่นอน และได้พบปัญหาที่ยังซ่อนอยู่อย่าง 
  
1.กลุ่มที่เป็น NPL ไปแล้ว รวมทั้งคนว่างงานที่เป็น NPL ไปแล้วจะทำอย่างไร จึงเสนอให้ออกมาตรการช่วยเหลือ โดยตั้งกองทุนฟื้นฟู NPL เพื่อไม่ให้หลักประกันผู้กู้ถูกยึด 
 
2.กลุ่มที่เดินต่อได้แต่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน เติมเงินไม่ได้จะทำอย่างไร ควรมีกองทุนเพิ่มสภาพคล่อง SMEs แยกต่างหากจากระบบธนาคารทั่วไป เพื่อให้การเข้าถึงเป็นไปได้โดยง่าย และมีกระบวนการตรวจสอบติดตามอย่างเป็นระบบ
 
3. กองทุน 30,000 ล้านบาท ของสำนักงานประกันสังคม ต้องปรับเปลี่ยนมาช่วยผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระบบและต้องการรักษาการจ้างงาน แบบให้วงเงินตามประวัติการส่งเงินสมทบ ไม่ใช่แค่ออกใบรับรองสถานะและไปขอกับธนาคารเอง ซึ่งยากมาก รวมทั้งควรนำเงินไปดูแลผู้ตกงานที่สามารถประกอบอาชีพอิสระ หรือธุรกิจเริ่มต้นให้มีการบ่มเพาะอย่างเป็นระบบบูรณาการ ไม่ใช่ให้เงินดำรงชีพ แต่ให้ทุนความรู้ ทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
 
และปัญหาที่ควรต้องรีบทำคือภาครัฐต้องมีการประชาสัมพันธ์ความช่วยเหลือให้ได้รับทราบอย่างกว้างขวางถึงนโยบาย เกณฑ์ ขณะที่ภาคธนาคารต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยลูกค้าอย่างจริงจัง และยืดหยุ่นให้มากที่สุดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
สำหรับผู้ประกอบการที่น่าเป็นห่วงอย่างมากอย่างกลุ่มท่องเที่ยว ทัวร์ โรงแรม, กลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคารที่ไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากสภาพตลาดทรุด กำลังซื้อหด แรงงานนำเข้าไม่ได้, กลุ่มผู้ผลิต ผู้ค้าที่พึ่งพาการส่งออก และการค้าชายแดน, กลุ่มผู้ประกอบการ organizer และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบว่าลูกหนี้พักชำระหนี้ทั้งหมด ประมาณ 7.2ล้านล้านบาท 12.5 ล้านบัญชี หรือประมาณ 30% ของหนี้ทั้งหมด มีความคาดหวังน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้กว่าครึ่งและที่น่าจับตาคือกลุ่ม SMEs หนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน มีมูลค่ากว่า 370,000 ล้านบาท รวมถึงกลุ่มค้างชำระ 1-3 เดือน มีมูลค้าถึง 750,000 ล้านบาทจะทำอย่างไรถ้าไม่มีระบบ รูปแบบการบริหารจัดการวิกฤตนี้
 

 
“พิชัย” ทวง “ประยุทธ์” สัญญาที่ พปชร หาเสียงไว้ แนะต้องลาออกเพราะอยู่ไปจะถ่วงความเจริญ
https://www.matichon.co.th/politics/news_2419203
 
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ประชานิยมกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทย” ที่จัดโดย กกต. ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ถ้าพูดถึงนโบายประชานิยม ทุกคนจะต้องนึกถึงพรรคไทยรักไทย ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้แม้หลังรัฐบาลครบเทอมสมัยแรกแล้ว พรรคยังกลับมาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 377 เสียง จนกระทั่งมาถูกปฏิวัติในปี 2549 และ เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการเมืองไทยนับแต่นั้นมา
 
นโยบายที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนกระทั่งปัจจุบันคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) SMEs , SML ซึ่งหลักคิดของนโยบายประชานิยมในช่วงนั้นคือการคิดให้ครบทุกกรอบคือ ให้คนต้องมีสุขภาพดี เข้าถึงแหล่งทุน และสามารถทำธุรกิจสร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ผลคือรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นสูงทุกปี และยังมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเพราะคนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ไม่เหมือนขณะนี้ที่ความเหลื่อมล้ำของไทยสูงที่สุดในโลก
 
ที่สำคัญจากการสำรวจของนักลงทุนและบุคลากรในตลาดหลักทรัพย์พบว่า รัฐบาลไทยรักไทย 1 เป็นรัฐบาลที่ได้รับความนิยมสูงสุด เมื่อเทียบกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเพราะมีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งเป็นเรื่องจริง
 
นอกจากนี้ รัฐบาลในสมัยนั้นยังคิดเรื่อง เศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track Economy) ซึ่งหมายถึง การต้องช่วยเหลือบริษัทใหญ่ๆของไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ในขณะที่ช่วยเหลือประชาชนระดับล่างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว โดยมี เมกกะโปรเจกต์ ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสนามสุวรรณภูมิ ที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวและธุรกิจไทยอย่างมาก ซึ่งหมดลองคิดดูว่าถ้าหากไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทยคงย่ำแย่กว่านี้มาก
 
ความสำเร็จของนโยบายประชานิยมในขณะนั้นเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลกถึงกับมี่ผู้นำฟิลิปปินส์ในขณะนั้นขนานนามว่าเป็น “ทักษิโนมิกส์” ซึ่งเป็นการยกย่องอย่างมาก
 
อีกแนวคิดหลักที่ยังไม่ได้ทำคือ โมเดิร์นไนซ์ไทยแลนด์ ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด คล้ายกับประเทศเอสโตเนียที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพิ่มรายได้ให้กันประชาชนอย่างมหาศาลแต่มาถูกปฏิวัติเสียก่อนเลยอดทำ
 
และเรื่องที่สำคัญมาก แต่กลับไม่มีคนพูดถึงคือการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดของระบบข้าราชการให้มารับใช้ประชาชน ไม่ใช่ทำตัวเป็นเจ้านายของประชาชน ซึ่งทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพ แต่พอมาถูกปฏิวัติ ข้าราชการก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ขนาดสลายม็อบทำร้าย นักเรียน นักศึกษายังไม่รู้สึกสำนึกผิดกันเลย
 
ประชานิยมสมัยนั้นถูกโจมตีตั้งแต่เปิดตัวและถูกดูถูกว่าจะทำไม่ได้จริง แต่สุดท้ายก็ทำได้หมด และต่อมาเมิ่อทำสำเร็จแล้วก็ยังถูกโจมตีซึ่งถูกหาว่าจะทำให้ชาติล่มจม เพื่อทำให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่เมื่อดูหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีตลอดหลายปีที่ผ่านพบว่ามีเพียงประมาณ 40% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้ชาติล่มจมอย่างแน่นอน
 
ต่อมาในสมัยพลังประชาชน ก็มีนโยบาย น้ำฟรี ไฟฟ้าฟรี (แต่ต้องใช้แบบประหยัด) รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งก็ได้ความนิยมอย่างมาก และ ใช้เงินไม่มากเลย
 
พอมาสมัยพรรคประชาธิปัตย์ มีการแจกเงิน 2,000 บาท มีโครงการไทยเข้มแข็งที่ใช้เงินนอกงบประมาณสูงถึง 4 แสนล้านบาทแต่คนจำไม่ได้เลยว่าใช้เงินทำอะไรบ้าง อีกทั้ง มีไข่ชั่งกิโลขาย และมีโรงพักที่สร้างไม่เสร็จ ซึ่งไม่ได้สร้างความนิยมจึงแพ้การเลือกตั้ง
 
ต่อมาในสมัยในเพื่อไทย มีนโยบายเครดิตการ์ดชาวนาเพื่อช่วยเหลือชาวนาในการซื้อปัจจัยการผลิต นโยบายจำนำข้าวแม้จะเป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ชาวนาก็ได้ประโยชน์ ค่าแแรงขั้นต่ำ 300 บาท/ วัน รถคันแรก บ้านหลังแรก ส่วนนโยบายที่ให้ประโยชน์อย่างมากคือโครงการแจกแท็บเล็ด ที่ผมเป็นผู้เสนอเอง ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอล และเป็นการแสดงวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนเพราะคิดมาก่อนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ก่อนที่เศรษฐกิจดิจิตอลจะรุ่งเรื่องอย่างมากทั่วโลกในปัจจุบัน แต่มาถูกยกเลิกหลังการปฏิวัติ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่