“น้ำแร่” เป็นแค่ชื่อทางการตลาดหรือเป็นน้ำแร่จริงๆครับ

น้ำแร่ ของยี่ห้อตามท้องตลาดเป็นน้ำแร่จริงๆ(น้ำที่มาจากธรรมชาติแท้ๆ) หรือเป็นแค่ชื่อทางการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าเฉยๆครับ มันต่างจากน้ำธรรมดาตรงไหน แล้วน้ำธรรมดาไม่ได้ทำจากธรรมชาติหรอครับ ทำไมบางทีซื้อกินรู้สึกว่ารสชาติก็เหมือนน้ำปกติ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
ความจริงของน้ำแร่ ที่แท้ต่างจากน้ำเปล่าธรรมดาตรงไหน

          เขาว่ากันว่าถ้าอยากมีสุขภาพดีให้ดื่มน้ำแร่ ฟังต่อกันมาเลยอดสงสัยไม่ได้ว่า น้ำแร่กับน้ำเปล่าปกติที่เราดื่มทุกวัน จริง ๆ แล้วมีอะไรไม่เหมือนกันหรือ
         
          เวลาเปิดตู้แช่จะซื้อน้ำเปล่าสักขวด เราจะเห็นราคาของน้ำแร่ที่วางขายอยู่แพงกว่าน้ำเปล่าธรรมดา ๆ อยู่หลายบาท ด้วยคำโฆษณาที่ทำให้คนเข้าใจกันว่า น้ำแร่ เป็นน้ำที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำเปล่าทั่ว ๆ ไป แถมเวลาดื่มก็มักรู้สึกว่ารสชาติของน้ำแร่ต่างจากน้ำเปล่าด้วย แต่ความจริงเป็นเช่นไร น้ำแร่กับน้ำธรรมดาต่างกันตรงไหน จำเป็นต้องดื่มไหม สงสัยต้องไปหาคำตอบกับกระปุกดอทคอมกันดู

น้ำแร่คืออะไรกันแน่

          น้ำแร่ก็คือน้ำบาดาลที่มาจากแหล่งธรรมชาติ อย่างน้ำพุธรรมชาติ น้ำพุร้อน ซึ่งที่มีแร่ธาตุละลายอยู่ในน้ำแล้ว ไม่ใช่การนำแร่ธาตุมาเติมในน้ำเอง โดยหลัก ๆ จะมีแร่ธาตุอยู่ 5 ชนิด คือ แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และกำมะถัน แต่จะมีแร่ชนิดไหนมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับแหล่งของน้ำที่นำมา และรสชาติที่แตกต่างกันก็ขึ้นอยู่กับว่าน้ำนั้นมีแร่ธาตุอะไรมากกว่าเช่นกัน ถ้ามีรสเค็มก็เป็นเพราะมีโซเดียมมากกว่าแร่ธาตุอื่น ๆ

รู้ไหม น้ำแร่ก็แบ่งได้เป็นหลายชนิด

          น้ำแร่แบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามผลที่มีต่อร่างกายและฤทธิ์ในการบำบัดโรค คือ

- น้ำแร่ไบคาร์บอเนต

          มีปริมาณไบคาร์บอเนตมากกว่า 600 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนของอาหารจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้เล็กให้เร็วขึ้น, กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนในกระเพาะอาหาร, ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและเกลือแร่ให้แก่ร่างกาย ดังนั้นใครที่กำลังจะไปออกกำลังกาย หรือไปทำงานที่ต้องเสียเหงื่อ สามารถดื่มน้ำแร่นี้ได้ 500-700 มิลลิลิตร จะช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรด

- น้ำแร่ซัลเฟต

          มีปริมาณ ซัลเฟตมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะในคนที่ท้องผู้กเรื้อรัง

- น้ำแร่ซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต

          ใช้รักษาภาวะที่การทำงานของถุงน้ำดีผิดปกติ, นิ่วในถุงน้ำดี, อาการหลังผ่าตัดถุงน้ำดี

- น้ำแร่ซัลเฟอร์, เกลือ-ไอโอดีน, เกลือ-โบรมีน-ไอโอดีน

          ไม่นิยมดื่ม มักใช้กับอวัยวะภายนอกร่างกาย ใช้อาบ หรือสูดพ่นทางเดินหายใจ มีฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง และบรรเทาอาการทางผิวหนังบางชนิด

- น้ำแร่ซัลเฟอร์และไบคาร์บอเนต

          ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน โดยจะลดระดับน้ำตาล อาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และช่วยลดความต้องการอินซูลิน นอกจากนี้น้ำแร่ไบคาร์บอเนต ยังช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยเบาหวานได้

- น้ำแร่คลอรีน (น้ำเกลือ)

          มีปริมาณคลอไรด์มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้และการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับน้ำและอิเล็กโตรไลท์, กระตุ้นการหลั่งน้ำดี, บรรเทาอาการท้องผูก

- น้ำแร่แคลเซียม

          มีปริมาณแคลเซียมมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อลิตร เหมาะกับผู้ที่ต้องการแคลเซียมในปริมาณมากกว่าคนปกติ เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ สตรีวัยหมดประจำเดือน ผู้สูงอายุ

- น้ำแร่แมกนีเซียม

          มีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี

          นอกจากนี้ยังมี น้ำแร่ฟลูออเรด, น้ำแร่เหล็ก, น้ำแร่โซเดียม, น้ำแร่เกลือต่ำ และน้ำแร่คาร์บอร์นิก

น้ำแร่ VS น้ำเปล่า ความเหมือนที่แตกต่าง

          ต้องบอกว่า "น้ำเปล่า" กับ "น้ำแร่" ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากมาย เพราะน้ำเปล่าก็มีแร่ธาตุอยู่เหมือนกันค่ะ แต่มีในปริมาณน้อยกว่าน้ำแร่แค่นั้นเอง นี่คือความแตกต่าง

เราจำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ไหม ?

          ด้วยความที่น้ำแร่มีปริมาณแร่ธาตุมากกว่าน้ำเปล่าธรรมดา ๆ ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ถ้าอย่างนั้นดื่มน้ำแร่ก็น่าจะดีกับสุขภาพมากกว่าดื่มน้ำเปลาธรรมดาแน่ ๆ เลย เพราะจะได้รับแร่ธาตุมากกว่า

          แต่ความจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ก็ได้ หากเราไม่ได้เจ็บป่วยหรือร่างกายขาดแร่ธาตุตัวใด เพราะร่างกายของเราได้รับแร่ธาตุวิตามินมาจากอาหารที่เราทานทุกวันอยู่แล้ว

ใครบ้าง ? ต้องระวังเมื่อจะดื่มน้ำแร่

          ไม่ใช่ว่าทุกคนจะดื่มน้ำแร่ได้ เพราะยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ต้องระวังให้มาก ทางที่ดีหลีกเลี่ยงไปเลยดีกว่า เพื่อไม่ให้ได้รับแร่ธาตุบางอย่างมากเกินไป จนอาจเป็นอันตรายกับร่างกายได้ คือ

          - คนที่มีความดันโลหิตสูง เพราะในน้ำแร่มีธาตุโซเดียมมาก จะทำให้ความดันโลหิตยิ่งสูงขึ้น
          - หญิงตั้งครรภ์ เพราะทำให้แร่ธาตุโลหะหนักไปสะสมในตัวทารกได้
          - ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต หรือทางเดินปัสสาวะไม่ดี เพราะน้ำแร่อาจไปตกตะกอน ทำให้เกิดตะกรันนิ่วอุดท่อปัสสาวะ
          - ผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะในน้ำแร่มีโพแทสเซียมสูง อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ
          - เด็กเล็ก หากดื่มน้ำแร่มากเกินไป จะทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุบางชนิดเกินปริมาณที่เหมาะสม และอาจมีปัญหาสุขภาพตามมา
          - ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก
          - ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง

รู้ไว้...ก่อนซื้อน้ำแร่มาดื่ม

          แม้ว่าเราจะไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่ต้องระวังเมื่อจะดื่มน้ำแร่ แต่ก่อนซื้อน้ำแร่ก็ต้องหยิบขวดขึ้นมาพลิกฉลากข้างขวดอ่านดูเสียหน่อยว่า น้ำแร่ขวดนั้นมีแร่ธาตุอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง แร่ธาตุเหล่านั้นเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เพราะถ้าเกินมาตรฐาน อาจทำให้ร่างกายมีแร่ธาตุนั้น ๆ ตกค้างอยู่มากเกินไปและเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเราต้องจำค่ามาตรฐานของแร่ธาตุที่ร่างกายควรได้รับไว้บ้างค่ะ

          - ธาตุเหล็ก ไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
          - แมงกานีส ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร
          - ทองแดง ไม่ควรเกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
          - สังกะสี ไม่ควรเกิน 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
          - ซัลเฟต ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร
          - ฟลูออไรด์ ไม่ควรเกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร
          - ไนเตรท ไม่ควรเกิน 45 มิลลิกรัมต่อลิตร
          - คลอไรด์ ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร

          สรุปได้ว่า น้ำแร่ก็คือน้ำที่มีแร่ธาตุมากกว่าน้ำเปล่าธรรมดาที่เราดื่มกันทุกวัน เราจะดื่มน้ำแร่หรือไม่ดื่มก็ได้ เพราะร่างกายของเราก็ได้รับแร่ธาตุจากการทานอาหารปกติอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าใครจะดื่มน้ำแร่ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่ต้องระวังว่าอย่าดื่มทุกวัน และอย่าดื่มมากเกินไป เพราะแร่ธาตุอาจไปสะสมในร่างกายจนเสียสมดุลได้ แบบนี้แทนที่จะไปบำรุงสุขภาพกลับไปกระตุ้นให้เกิดโรคแทน

ที่มา : https://health.kapook.com/view115501.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่