JJNY : 4in1 หนี้ครัวเรือนพุ่ง กดดันศ.ก.ฟื้น/หญิงหน่อยทำบุญสารคาม/ธนาธรหวังพัฒนาอุบลฯ/เสนอตั้งคณะทำงานตรวจสอบการลงทุนสปส.

หนี้ครัวเรือนพุ่ง กดดันเศรษฐกิจฟื้น
https://www.thansettakij.com/content/columnist/451508


หนี้ครัวเรือนพุ่ง กดดันเศรษฐกิจฟื้น : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3615 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-7 ต.ค.2563
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2563 มียอดคงค้าง 13.58 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดคงค้างอยู่ที่ 13.08 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้น 0.68% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มีอยู่คงค้างอยู่ที่ 13.49 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบกับสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของประเทศในไตรมาส 2 ปีนี้ ปรับขึ้นไปที่ 83.8% สูงสุดในรอบ 18 ปี จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 80.2% ถือเป็นสถานการณ์ที่สวนทางกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในขณะที่ปี 2552 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่เพียง 50.4%  เท่านั้น
 
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน  เป็นการสะท้อนให้เห็น 2 ด้าน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มแรก เป็นกลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ และยังมีความสามารถในการชำระหนี้ อีกกลุ่มเป็นครัวเรือนที่เผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ทำให้ต้องกู้เงินมาเพื่อการดำรงชีพและสำรองค่าใช้จ่าย
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้ จะมีแนวโน้มสูงมากขึ้นมาอยู่ในกรอบ 88-90% ต่อจีดีพี ของประเทศในสิ้นปี 2563 จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังหดตัว และมาจากกลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ซึ่งจะเป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ที่มาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง
 
หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนี้ มีการมองว่า จะเป็นตัวฉุดให้การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจพลิกกับมาฟื้นตัวได้ช้า เพราะเมื่อครัวเรือนมีรายได้เท่าเดิมหรือมีรายได้ลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  แต่ต้องกันเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ หรือหากถูกเลิกจ้าง รายได้จะหายไปไม่มีเงินไปชำระหนี้ เพราะต้องกันไว้สำหรับการดำรงชีพ จากเหตุผลดังกล่าวนี้ จะทำให้เม็ดเงินที่เคยใช้จ่ายในระบบลดลง หรือไม่มีกำลังซื้อมากพอที่จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้
 
เห็นได้จากรัฐบาล มีมาตรการต่างๆ ออกมา ทั้งเยียวยาแจกเงินคนละ 5 พันบาท การพักชำระหนี้ เป็นเวลา 6 เดือน และจะขยายเวลาเพิ่มขึ้นอีก หรือโครงการคนละครึ่ง เพื่อที่จะลดภาระของลูกหนี้ หรือให้ลูกหนี้มีเงินนำไปใช้จ่ายเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพราะรัฐบาลหวังที่จะให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินต่อไปได้
 
ทางออกของหนี้ครัวเรือนนี้ จึงเป็นสิ่งท้าทายของรัฐบาลอีกปัญหาหนึ่งว่า จะทำให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลงได้อย่างไร หรือช่วยแบ่งบาภาระหนี้ต่อไปในอนาคตได้  ซึ่งก็มีผลสำรวจออกมา เสียงส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาล ออกมาตรการปรับลดดอกเบี้ยลงมา รองลงมาขยายระยะเวลาโครงการพักชำระหนี้ หยุดคิดดอกเบี้ยในช่วงมาตรการ พักชำระเงินต้น เป็นต้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะหยิบยกมาตรการใดไปใช้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นทางหนึ่งในการช่วยเหลือสถาบันการเงินไม่ให้เกิดหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลในอนาคตสูงขึ้น และลูกหนี้มีเงินเหลือหรือมีกำลังซื้อพอ ที่จะมากระตุ้นการบริโภคในระบบได้
 

 
'หญิงหน่อย'ทำบุญสารคาม ชาวบ้านสะท้อนปัญหาภัยแล้ง-ตกงาน
https://www.dailynews.co.th/politics/799141
 
"หญิงหน่อย" ควงส.ส.อีสาน ทำบุญจ.มหาสารคาม พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อน ด้านชาวบ้าน โอด น้ำไม่พอใช้ทำการเกษตร หวั่นกระทบทนาปรัง บอกตกงานอื้อ ขอหน่วยงานรัฐเร่งแก้ไข
 
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่วัดธัญญาวาส ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่จ.มหาสารคาม เป็นประธานพิธียกช่อฟ้าศาลาการเปรียญกลางน้ำ และงานกฐินสามัคคี ร่วมกับส.ส.และอดีต ส.ส.มหาสารคาม และพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม นางบุญรื่น ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ นายบัลลังก์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น รวมถึง นายเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ และ พงศกร อรรณนพพร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวมถึงประชาชนนับร้อยคน ที่เข้าร่วมงานทำบุญในครั้งนี้
 
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มาร่วมงานได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่ จ.มหาสารคาม และพื้นที่ในภาคอีสานให้คุณหญิงสุดารัตน์ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยรับฟัง โดยเฉพาะปัญหาน้ำ ที่เป็นเรื่องหลักของคนในพื้นที่ เนื่องจากเกิดการขาดแคลนและมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ทำเกษตรกรรม ประกอบกับปริมาณในลำน้ำชีมีน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา รวมถึงน้ำจากระบบชลประทานไม่ได้ปล่อยน้ำมาอย่างเพียงพอ จึงอาจทำให้ข้าวนาปี ได้รับผลกระทบ และไม่มั่นใจว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้หรือไม่ หรือหากสามารถเก็บเกี่ยวได้ก็ไม่ได้ผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะมีผลสืบเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปรังด้วยอีกด้วย
 
ขณะที่ภาพรวมของการจ้างงานก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงวิกฤติ ประชาชนในต่างอำเภอที่เคยเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ทั้งแรงงานฝีมือและแรงงานในภาคการก่อสร้าง ไม่ได้รับการจ้างงาน ปัญหาการว่างงานจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ กระทบถึงการเลี้ยงปากท้อง เมื่อสถานะทางการเงินขาดรายได้จึงอยู่ในช่วงฝืดเคือง ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐต้องเร่งดำเนินการหาทางแก้ไข เพราะการขาดรายได้จะกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยและเป็นปัญหาในภาพรวม ที่ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่.
 

  
ธนาธร หวังพัฒนา อุบลฯ ผุด 3 เส้นทางเที่ยววันเดย์ทริป เชื่อมริมโขง  
https://www.khaosod.co.th/politics/news_5044914
 
ธนาธร หวังพัฒนา อุบลฯ ผุด 3 เส้นทางเที่ยววันเดย์ทริป เชื่อมริมโขง
 
วันที่ 4 ต.ค.2563 ที่ จ.อุบลราชธานี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายไกลก้อง ไวทยการ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยทีมผู้สมัครองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี นำโดย นายเชษฐา ไชยสัตย์ ผู้สมัครนายก อบจ. อุบลราชธานี เดินทางไปยังอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก เพื่อศึกษาเส้นทางและพัฒนานโยบายต่อยอดเส้นทางการท่องเที่ยว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก มีสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังอย่าง ‘สามพันโบก’ หลุม แอ่ง โขดหิน ที่เกิดจากการกัดเซาะชายฝั่งของแม่น้ำโขงที่กั้นระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว สามพันโบก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก
 
แต่เนื่องจากปัญหาการเดินทางระหว่างอำเภอ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการเดินทางไปยังอุทยาน ทำให้เกิดความยากลำบากในการพัฒนาพื้นที่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวหลักของอุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันเส้นทางจากอำเภอเมืองอุบลราชธานี มายังสามพันโบก ใช้ระยะทางมากถึง 100 กว่ากิโลเมตร
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเยี่ยมชมพื่นที่ดังกล่าว นายธนาธร ได้เสนอแนวคิดเชื่อมโยงพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ระหว่างเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังริมฝั่งโขง ตั้งแต่สามพันโบก ผาชนะได ผาแต้ม ฯลฯ ผ่านเส้นทางสามเส้น ได้แก่ สายที่หนึ่ง เขมราฐ- สามพันโบก - ผาชนะได - ผาแต้ม - โขงเจียม, สายที่สอง ภายในอุทยานธรณี เช่น ถ้ำมืด - ถ้ำปาฏิหารย์ เป็นต้น
 
เพื่อทำเป็น one day trip และเส้นทางที่สาม อำเภอเมืองอุบล - ตระการพืชผล - ศรีเมืองใหม่ เพื่อเป็นจุดต่อรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนที่อยากจะเดินทางเที่ยวเส้นทางธรรมชาติริมฝั่งโขงและอุทยานธรณี
 
ด้าน นายเชษฐา กล่าวว่า พร้อมนำเสนอนโยบายการพัฒนาแบบฉบับคณะก้าวหน้า โดยเฉพาะแนวคิดการปรับปรุงเส้นทาง 3 เส้นทางหลักดังกล่าว เพื่อดึงเอาศักยภาพและสร้างเม็ดเงินให้กับท้องถิ่นในอนาคต และนอกจากเส้นทาง 3 เส้นที่ต้องการพัฒนาและปรับปรุง ตนยังมีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก เป็นอุทยานธรณีระดับโลก ภายใต้การรับรองของ UNESCO
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายธนาธรและคณะ ได้เดินทางต่อไปยังสถานีขนส่งเพื่อสอบถาม พูดคุยกับพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการที่ผ่านไปผ่านมา พบว่า ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดยังมีปัญหาอยู่มาก การเดินทางระหว่างอำเภอ การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว ก็ยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก
 
ถัดจากนั้นธนาธรได้แวะไปดูปัญหา ศูนย์ OTOP ประจำจังหวัด พบว่ายังมีช่องโหว่ในการพัฒนาอีกหลายด้าน ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยโดยใช้งบประมาณไม่มาก ปรับเปลี่ยนจากศูนย์ OTOP ที่ซบเซา ให้กลายเป็นร้านค้าคึกคัก สร้าง working space และปรับปรุงภูมิทัศน์ ดึงพี่น้องประชาชนและนักเรียน นักศึกษาบริเวณใกล้เคียงมาใช้บริการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของพ่อค้าแม่ขายในศูนย์ OTOP
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่