[CR] เบิ่งตะวัน หาดทราย แก่งหิน ชมแผ่นดินริมโขง ที่อุบลราชธานี

smile อุบลราชธานี haha

ดินแดนแห่งอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ 
ดินแดนที่ธรรมชาติได้มอบมรดกแห่งความสวยงามไว้อย่างลงตัว
ดินแดนที่มีแม่น้ำนานาชาติเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสองประเทศ
ไม่เพียงแต่เป็นเส้นเขตแดนเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีอารยธรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดดึงดูดให้หลายๆคนอยากมาเยือน “อุบลราชธานี” สักครั้งในชีวิต



ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ทริปนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดระลอกใหม่ ในช่วงหยุดยาว 4 วัน (10-13 ธันวาคม 2563) ผมกับน้องชายจากกาญจนบุรี จึงนัดกันมาเที่ยวอุบลฯโดยออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวตามริมแม่น้ำโขงเป็นหลัก (แต่ก็มีออกนอกเส้นทางบ้าง แพลบๆ)

เพราะริมโขงที่อุบลราชธานี ไม่เหมือนริมโขงที่อื่นๆ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ ร่องรอยอารยธรรม และประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ทำให้ริมโขงอุบลฯ แตกต่างจากที่อื่นๆ
 
น้องชายผมนั่งรถไฟจากหัวลำโพงมาลงที่สถานีอุบลราชธานี ส่วนผมขับรถเก๋งจากร้อยเอ็ดมาเจอกันที่ในเมืองอุบล และใช้รถผมเป็นพาหนะหลักในการเดินทางตลอดทริปนี้

ทริปนี้ 4 วัน 3 คืน รายละเอียดตามนี้ครับ
วันแรก : พัทยาน้อย - เขื่อนสิรินธร – วัดสิรินธรวราราม (ภูพร้าว) 
วันที่ 2 : อุทยานแห่งชาติผาแต้ม – น้ำตกแสงจันทร์ - ผาชะนะได
วันที่ 3 : สามพันโบก – หาดทรายสูง  - ถนนคนเดินเขมราฐ
วันที่ 4 : พระเจ้าใหญ่องค์แสน – ลานพระขาว(วัดบุ่งขี้เหล็ก) – พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง (วัดมหาวนาราม) – วัดหนองป่าพง

เส้นทางตลอดทริปนี้ รวมๆประมาณ 500 กว่ากิโลเมตร หมดค่าน้ำมันไปเยอะพอสมควร แต่ก็ถือว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่ามากๆ

(ปล.ทริปนี้ ใช้กล้อง GoPro HERO 9 ครับ)

จุดแรกที่เราไป คือ พัทยาน้อย หรือทะเลอีสานใต้จากตัวเมือง 60 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ภูทอง ต.คันไร่ อ.สิรินธร บริเวณริมเขื่อนสิรินธร ตามทางหลวงหมายเลข 217 ก่อนถึงช่องเม็ก

ที่นี่มีบานานาโบ๊ท และโซฟาน้ำ ให้เล่นด้วย
ช่วงบ่าย ขับรถต่อไปอีก 5 กม. ก็ถึงเขื่อนสิรินธร 

เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อย (สาขาของแม่น้ำมูล) ที่บริเวณแก่งแซน้อย  ต.นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กักเก็บน้ำได้ 1,966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร



พอเวลาใกล้ค่ำ เราเดินทางต่อไปยังวัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) หรือนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ วัดเรืองแสง

วันที่ไปนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ต้องพยายามหามุมดีๆ จึงจะได้ภาพสวยๆ

จบทริปวันแรก เราเข้ามาพักที่โรงแรมในตัวเมืองอุบลครับ 
(จริงๆแล้ว ที่พักแถวเขื่อนสิรินธรเยอะมาก แต่บังเอิญนัดเจอเพื่อนที่อุบลฯ เลยต้องมาพักในเมืองอุบลฯ ครับ)

 
วันที่ 2 ของทริป
เรามุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จากตัวเมืองอุบล วิ่งตามถนนหมายเลข 217 ถึง อ.พิบูลมังสาหารเลี้ยวซ้ายข้ามแม่น้ำมูล แล้ววิ่งไปตามถนนหมายเลข 2222 รวมระยะทางประมาณ 92 กม.

ก่อนถึงทางเข้าอุทยาน จะมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผู้เข้าชม เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาทและค่าธรรมเนียมรถยนต์ส่วนบุคคล 30 บาท

ผาแต้ม เป็นหน้าผาหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทย กับ สปป.ลาว คำว่า “แต้ม” เป็นภาษาอีสาน หมายถึง การขีดเขียน หรือทาสี เพราะที่นี่มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี ที่บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาเจ็ก ผาเมย

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และเส้นทางเดินศึกษาภาพเขียนสีโบราณ ประมาณ 2-3 กม. แนะนำว่าค่อยๆเดินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ ระหว่างทางมีจุดแวะพักเป็นระยะๆ ครับ

แหงนมองขึ้นไปด้านบน ก็จะเห็นหน้าผาหินขนาดมหึมา บางจุดมีรังผึ้งด้วยครับ


จากผาแต้ม เราแวะพักทานข้าวเที่ยงที่ร้านค้าชุมชน และไปต่อที่น้ำตกแสงจันทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากผาแต้มประมาณ 40 กม.

เสียดายช่วงที่เราไป น้ำค่อนข้างน้อย สอบถามชาวบ้านทราบว่า ควรมาเที่ยวช่วงฤดูฝนน้ำตกจะสวยกว่านี้ เพราะจะมีกระแสน้ำไหลทะลุผ่านรูแผ่นหิน กระทบกับแสงอาทิตย์ เสมือนแสงจันทร์ที่สาดส่องลงมาบนพื้นดิน จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า “น้ำตกแสงจันทร์”


เมื่อผิดหวังจากน้ำตกแสงจันทร์ เราไม่รอช้า รีบไปที่ผาชะนะได ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกันกับทางไปน้ำตกแสงจันทร์ 

ผาชะนะได ตั้งอยู่ในผืนป่าดงนาทาม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เดิมการเข้าไปสู่ผาชะนะไดนั้นค่อนข้างลำบาก ทุกลักทุเล เนื่องจากมีถนนลาดยางที่รถทุกชนิดจะเข้าไปได้ก็มาแค่ทางแยกไปวัดถ้ำปาฏิหาริย์เท่านั้น นอกนั้นในระยะทางเกือบ 13 กิโลเมตรที่เหลือจะเป็นทางที่แล่นเข้าไปบนทางลำลองที่เป็นลูกรัง แนวหิน บางช่วงทางต้องลัดเลาะไปตามช่องหินแคบ ๆ
 

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้เปิดผาชะนะได ให้ท่องเที่ยวอีกครั้ง พร้อมกับเส้นทางสู่ผาชะนะได ป่าดงนาทาม โฉมใหม่ที่ลาดยางตลอดสาย แต่เส้นทางที่ลาดยางปรับปรุงใหม่นั้น เป็นถนนเลนเดียว ทางแคบจนรถสวนกันแทบไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทาง อช.ผาแต้ม จึงต้องจัดระเบียบ จัดคิว รถขึ้น-ลง เพื่อความปลอดภัย แบ่งเป็น 2 รอบ เช้าและบ่าย
 
ช่วงเช้า : รถรอบขาขึ้น จะเริ่มตั้งแต่เวลา 04.30-07.00 น. (เก็บค่าธรรมเนียมที่แยกวัดถ้ำปาฏิหาริย์) เพื่อไปดูทะเลหมอกและรับแสงยามเช้าที่ผาชะนะได หลังจากนั้นจะเป็นขาลงในช่วงเวลา 08.30-10.30 น. จากศูนย์บริการฯดงนาทาม

ช่วงบ่าย : รถรอบขาขึ้น จะเปิดให้ขึ้นในเวลา 13.00-15.30 น. แล้วขาลงจะอยู่ในช่วงเวลา 16.30-17.30 น.

“ผาชะนะได” เป็นสถานที่ที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้อ้างอิงถึงตำแหน่งที่เห็นแสงอาทิตย์ขึ้นเป็นจุดแรกของเมืองไทย ณ เส้นแวง (ลองจิจูด) ที่ 105 องศา 37 ลิปดา 17 ฟิลิปดา

มุมยอดฮิต ที่ผาชะนะได

ที่ผาชะนะได สามารถนำเต็นท์มากางนอนได้ หรือหากไม่มีเต็นท์มาด้วย ทางอุทยานฯมีเต็นท์ให้เช่าด้วยครับ แต่ต้องหาจุดกางเต็นท์ดีๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นลานหิน บางจุดเป็นเนิน ไม่ค่อยเรียบ



วันที่ 3 ของทริป
ช่วงเช้าตรู่ของวันใหม่ เจ้าหน้าที่อุทยานฯส่งสัญญาณว่าถึงเวลาที่จะออกไปเตรียมตัวดูพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว นักท่องเที่ยวทุกคนจึงรีบเดินมุ่งไปที่ริมหน้าผา เพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้น

แสงแรกของวันใหม่เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว แต่ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น

และแล้วเราก็ได้เห็นดวงอาทิตย์ค่อยๆโผล่พ้นเทือกเขาฝั่ง สปป.ลาว 



เวลา 8.30 น. เป็นช่วงที่ทางอุทยานฯอนุญาตให้รถออกจากจุดกางเต็นท์ผาชะนะได เราก็มุ่งหน้าไปอีกจุดหมายหนึ่ง นั่นคือ “สามพันโบก” ซึ่งอยู่ห่างจากผาชะนะได ประมาณ 64 กม.

การเที่ยวที่สามพันโบก จำเป็นต้องใช้รถโดยสารนำเที่ยวของท้องถิ่น ซึ่งเป็นรถเหมาคันละ 200 บาท

นั่งรถโดยสารไปสักพัก พร้อมกับการโยกตัวตามจังหวะรถวิ่ง ในที่สุดรถก็มาส่งที่หาดทรายและโขดหินกลางแม่น้ำโขง 

“สามพันโบก” เป็นชื่อที่ท้องถิ่นเรียกเกาะแก่ง และโขดหินกลางแม่น้ำโขง คำว่า “โบก” ภาษาอีสาน หมายถึง หลุม หรือร่อง ดังนั้นคำว่าสามพันโบก จึงเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นว่า สถานที่แห่งนี้มีหลุมหินจำนวนกว่าสามพันหลุม (จริงๆผมคิดว่าอาจจะมากกว่านั้นก็ได้ อิอิ)

คำถามยอดฮิตของนักท่องเที่ยว คือ หลุมหินเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?? 

ชาวบ้านที่เป็นไกด์อธิบายอย่างง่ายๆว่า เกิดจากกระแสน้ำโขง พัดพาเศษหินกรวดจากที่อื่น มาปะทะกับแนวหินใต้น้ำ การพัดของกระแสน้ำบางครั้งก็หมุนวนจนเกิดการเสียดสีของหิน กลายเป็นหลุม ร่อง ขนาดต่างๆ ตามความแรงของกระแสน้ำและระยะเวลาการเสียดสีของหิน ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายพันหลายหมื่นปีแล้ว แนวหินเหล่านี้ในฤดูน้ำหลากก็จะอยู่ใต้น้ำ เมื่อแม่น้ำโขงลดระดับ (ประมาณเดือน พ.ย.-เม.ย.) หินเหล่านี้จะโผล่พ้นน้ำ เป็นประติมากรรมทางธรรมชาติที่ชวนให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเที่ยวที่นี่ปีละหลายแสนคน



และแล้วเราก็เจอไฮไลท์ของสามพันโบก >> หลุมมิกกี้เม้าส์

และ หินหัวสุนัข

และ หินรูปหัวใจ

สามพันโบก มีจุดที่ให้ถ่ายรูปเยอะมาก แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้เราอยู่ที่นั่นได้ไม่นาน ไกด์ท้องถิ่นและนำว่าให้มาช่วงเย็นๆ อากาศจะไม่ค่อยร้อน และถ่ายภาพออกมาได้สวยงามครับ



พื้นที่หมดแล้ว รอติดตามต่อที่โพสต์ด้านล่าง ครับ เพี้ยนขำหนักมาก
ชื่อสินค้า:   อุบลราชธานี
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่