[CR] กว่าจะเป็นแพทย์

สวัสดีครับ แน่นอนครับ ตามชื่อเรื่องผมคือแพทย์คนนึง ตอนนี้เป็นแพทย์จบใหม่ เดิมทำงานที่โรงพยาบาลรัฐบาลในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานในฐานะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่ปัจจุบันลาออกจากตำแหน่งข้าราชการตำแหน่งนายแพทย์ปฏิบัติการเป็นที่เรียบร้อย เหตุผลหนะหรอครับ... อาจจะฟังดูแย่หน่อยสำหรับเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกัน แต่ถ้ามองในมุมของอาชีพอื่นๆทั่วไป คงเป็นเหตุผลทั่วไปที่ใครๆ เค้าก็ใช้กันครับ ใช่ครับ มันคือการทำงานที่หนักหน่วง และไม่มีเวลาพักผ่อนเอาซะเลย
            เรามาอธิบายคำว่า หนักหน่วงในที่นี้กันดีกว่านะครับ
            อาชีพแพทย์ เดิมเคยถูกมองว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ในสังคมไทยมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันนี้ถ้าหากคุณผู้อ่านได้ติดตามสถานะการณ์ หรือข่าวสารบ้านเมือง จะเห็นว่า อาชีพแพทย์นั้น อาจจะกลายเป็นอาชีพอีกอาชีพหนึ่งที่ใช้แรงงาน และรับแรงกดดันจากในทุกหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากตัวโรคของผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ ไหนจะแรงกดดันจากญาติที่คาดหวังว่าการมาโรงพยาบาลหรือมาพบแพทย์ในครั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องหายดี และไหนจะกดดันจากเพื่อนร่วมวิชาชีพและสหวิชาชีพต่างๆ รอบด้าน และแน่นอน แรงกดดันอันใหญ่หลวงก็คือเวลาครับ เวลาที่จะต้องรีบเร่งในการตรวจให้ทัน เพื่อที่จะได้ไปตรวจรักษาผู้ป่วยคนอื่นๆต่อไป
            เข้าเรื่องกันดีกว่านะครับ เกริ่นก่อนว่าโรงพยาบาลที่ผมประจำอยู่นี้เป็นโรงพยาบาลไม่ใหญ่มาก ซึ่งในบริบทของโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลระดับทั่วไป มีแพทย์เฉพาะทางเกือบทุกสาขา และรับส่งต่อผู้ป่วย จากโรงพยาบาลชุมชน (โรงพยาบาลประจำอำเภอ) แต่ไม่ใช่โรงพยาบาลประจำจังหวัดนะครับ เป็นเพียงโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยที่ไม่หนักมากเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยไปกองรวมกันที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดหนะครับ ซึ่งลักษณะงานไม่หนักมาก มีจำนวนผู้ป่วยให้ตรวจไม่ค่อยเยอะ เมื่อเทียบกับสมัยเรียนชั้นคลินิก (ปี 4-6 เป็นการเรียนภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีร่วมกันที่โรงพยาบาลต่างๆ) คำว่าหนักหน่วงของผมในที่นี้ก็คือ ชีวิตประจำวันจันทร์ถึงอาทิตย์จะต้องเข้าโรงพยาบาลทุกวัน ย้ำนะครับว่าทุกวัน ยกเว้นกรณี ลา หรือ ตาย นะครับ แล้วแต่ละวันทำอะไรบ้างหละ? นั่นแหละครับ ผมกำลังจะเล่า ใจเย็นๆ นะครับ ฮ่าๆๆ
            สำหรับ จันทร์ถึงศุกร์นะครับ ผมจะตื่นตอน 06.00 น. ทุกวัน เพื่อมาล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ และแต่งตัวดีๆ(รึป่าว) เพื่อออกไปทำงานที่เรารัก
            07.00 น. จะต้องถึงตึกผู้ป่วยใน เพื่อที่จะตรวจผู้ป่วยในที่นอนโรงพยาบาลทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นผมอยู่แผนกกุมารเวชกรรม หรือหอผู้ป่วยในเด็กนั่นแหละครับ จำนวนผู้ป่วยในก็ไม่ได้เยอะนะครับ วันนึงตรวจประมาณ 20-30 คน ในผู้ป่วยจำนวนนี้ก็จะแบ่งเป็น เด็กโต เด็กแรกคลอดที่ป่วย และเด็กแรกคลอดที่ปกติ ซึ่งการตรวจนี้ก็มีเวลาจำกัดนะครับ ผมมีเวลาตรวจประมาณ 90-120 นาที ก่อนที่อาจารย์จะมาเพื่อตรวจซ้ำและดูว่าที่เราตรวจและสั่งการรักษาไปนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าเฉลี่ยเวลาตรวจแล้วก็ 3-6 นาทีต่อคน ตรวจแต่ละวันดูอะไรบ้างหรอครับ อันดับแรกคือถามตัวเองก่อนเลยว่าคนนี้ป่วยเป็นอะไร ทำไมถึงต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งบางคนผมยอมรับเลยครับว่าจำไม่ได้ มันเลยต้องเปิดดูประวัติบ้าง หลังจากนั้นก็ดูว่าตอนนี้รักษาถึงไหนแล้ว แผนการรักษาต่อไปคืออะไร และดูว่าคนนี้มีผลแลปที่ต้องส่งตรวจหรือตามอีกหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องไปเปิดดูว่าผลแลปที่ส่งตรวจไปนั้นออกหรือยัง และเอาทั้งหมดทั้งมวลนี้มาประเมินจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาว่าจะทำอะไรต่อดี สามารถกลับบ้านได้หรือป่าว หรือหนักถึงขั้นจะต้องส่งต่อไปโรงพยาบอื่นหรือไม่ ยอมรับเลยครับ ว่าที่ตรวจอยู่มีโรคหรืออาการที่เราไม่รู้บ้าง แต่ไม่มีการรักษามั่วๆแน่นอนนะครับ อย่างน้อยต้องรักษาตามอาการ แล้วหลังจากนั้นค่อยไปเปิดตำราดูอีกครั้ง
            08.30, 09.00 ก็จะมีอาจารย์ที่ท่านจบแพทย์เฉพาะทางมาตรวจซ้ำด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง หน้าที่ของผมหนะหรอครับ เหล้าครับ... เอ้ย เล่าครับ เล่าเคสให้อาจารย์ฟังครับ ว่าผู้ป่วยคนนี้เป็นอะไรมา วินิจฉัยอะไร การรักษาถึงไหนแล้ว ผลการรักษาตอนนี้เป็นอย่างไร และเรามีแผนการรักษาต่อไปอย่างไร อันไหนที่โอเคแล้วอาจารย์ก็จะชม และก็บอกตามนั้นแหละ (ผมก็แอบดีใจ หัวใจพองโตนะครับ ฮ่าๆๆ) ส่วนอันไหนที่อาจารย์เห็นไม่ตรง ก็จะใช้เหตุผลมาสู้กันว่าน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า และอาจะต้องรักษาแบบนี้นะ เราก็เก็บครับ เก็บข้อมูลและจำ นี่แหละครับ วิธีการเรียนรู้ของอาชีพแพทย์ในการเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เสร็จแล้วครับ สำหรับตรวจผู้ป่วยใน 
แต่เดี๋ยวก่อนครับ งานภาคเช้ายังไม่จบแค่นี้ครับ ยังมีผู้ป่วยนอกอีกครับ ผู้ป่วยนอกที่มารอตรวจ บางคนจองคิวไว้ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รับบัตรคิวยังไม่มา และเราชอบบ่นๆกันว่า ทำไมหมอถึงมาตรวจช้าจังนั่นแหละครับ ผมไม่ได้ว่าการบ่นของผู้ป่วยไม่ดีนะครับ แต่ผมกำลังจะบอกว่า หมอไม่ได้มาตรวจช้าหรอกครับ แต่หมอไปตรวจที่อื่นมาก่อน โดยใช้เหตุผลว่าจำนวนหมอไม่เพียงพอ ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับเหตุผลนี้เท่าไหร่ครับ
10.30 ไม่เกินนี้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนผู้ป่วยใน ในวันนั้นมากน้อยเพียงใด และเราจะจัดการเวลาสำหรับตรวจผู้ป่วยในได้เร็วแค่ไหน ถ้าไม่ทันจริงๆ อาจารย์ก็จะให้เรามาตรวจรอก่อน เคสไหนที่ไม่มั่นใจก็ให้รอปรึกษาอาจารย์ แต่ถ้าเคสไหนที่ป่วยธรรมดาแล้วเราคิดว่ารักษาได้เองก็สั่งยาไปได้เลยครับ ตรวจผู้ป่วยนอกนี้ทำอะไรหรอครับ? ก็ซักประวัติครับ ว่าเป็นอะไรมา มีอาการอย่างไรบ้าง เป็นมานานเท่าไหร่ อาการอื่นๆ และก็ตรวจร่างกาย แล้วเอาทั้งประวัติและการตรวจร่างกายผู้ป่วยมาคิด คิด คิด แล้วก็คิดครับ ว่าจากอาการที่เราได้นั้นเรานึกถึงโรคอะไร ใช่ครับ เราอาศัยประสบการณ์และการคาดเดาครับ ไม่มีโรคไหนที่เราฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นครับ พอเรานึกถึงโรคอะไรแล้วเราก็ต้องมาคิดว่าเราจะรักษาเลย หรือจะต้องอาศัยการตรวจทางห้องแล็บเพิ่มเติมดี ซึ่งสำหรับตัวผม ถ้าไม่จำเป็นผมจะไม่ส่งแล็บเลยครับหากไม่เปลี่ยนการรักษา เพราะคิดว่าการส่งแล็บนั้น ผู้ป่วยจะต้องนั่งรอผลแล็บอีกนานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และอีกอย่างก็สิ้นเปลืองทรัพยากร แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจนะครับว่าโอกาสที่เราจะรักษาถูกโรคนั้นสูง และได้มากกว่าเสีย  สำหรับการตรวจผู้ป่วยนอกนี้ใช้เวลาเท่าไหร่หรอครับ อันนี้บอกไม่ได้เลยครับ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยให้ความร่วมมือหรือไม่ การเล่าประวัติกระชับรึป่าว หมอที่ตรวจจัดการเวลาได้มากน้อยเพียงใด ส่วนจำนวนผู้ป่วนอกที่มาแต่ละวันก็จะประมาณ 20-40 คนครับ 
12.00 – 13.00 ก็พักเที่ยงครับ ถ้าจัดเวลาได้ดีนะครับ บางวันคนไข้เยอะจนไม่ได้พักเที่ยงก็มีครับ พูดแล้วเศร้า... พักก่อนครับ ตอนนี้ผมนั่งพิมพ์ก็เหนื่อยเหมือนกัน นี่ขนาดวันนี้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอแล้ว แค่นั่งคิดถึงวันที่ทำงานตอนนั้นยังเหนื่อยเลยครับ
ชื่อสินค้า:   การใช้ชีวิตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐบาล
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่