"หอคำ"
หรือปัจจุบันรู้จักกันในนามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
เดิมเป็นที่ประทับของ เจ้าผู้ครองนครน่าน เรียกว่า "หอคำ" ภายในจัดแสดง ศิลปะ โบราณวัตถุ ต่างๆ ประวัติศาสตร์ และชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวพื้นเมืองภาคเหนือ และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ "งาช้างดำ" ซึ่งไม่ทราบประวัติความเป็นมา สันนิษฐานว่า เป็นงาข้างซ้าย มีสีน้ำตาลเข้มไปทางดำ มีรูปลักษณะเป็นงาปลียาว ๙๔ เซนติเมตร หนัก ๔๘ กิโลกรัม งาช้างดำนี้ ถือเป็นของคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ มี ซุ้มต้นลีลาวดี ที่ขึ้นเป็นแถวเรียงรายแผ่ขยายกิ่งก้านโค้งโน้มเอียงเข้าหากันกลายเป็นอุโมงค์ต้นไม้ยิ่งใหญ่สวยงาม เรียกได้ว่า เป็นซิกเนอเจอร์อีก ๑ จุดของ จังหวัดน่านที่เมื่อมาถึงแล้วต้องมาถ่ายภาพ
ลักษณะตัวอาคารโอ่โถงงดงามก่ออิฐถือปูนแข็งแรง แต่ตกแต่งให้อ่อนช้อยสวยงามด้วยลายลูกไม้ นับเป็น สถาปัตยกรรมก่อสร้างที่ดีเด่นแห่งหนึ่งของ เมืองไทย ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย กรมศิลปากรได้รับมอบอาคารหอคำเพื่อใช้เป็น พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติจังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้วจึงนำโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์ วิทยาประจำท้องถิ่นมาจัดแสดงให้ชม อย่างมีระบบและ ระเบียบสวยงาม
คุ้มเจ้าเทพมาลา
เจ้าเทพมาลาเป็นหนึ่งในพระธิดาของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ตำนานเล่าขานกันว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เดิมเคยมีคุ้มเป็นเรือนไม้สักใหญ่ถึง ๗ หลัง ต่อมาได้โปรดให้รื้อเรือนไม้สักใหญ่ทั้ง ๗ หลังออก เพื่อที่จะสร้างคุ้มหลวงขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน นอกจากนั้นยังนำมาปลูกสร้างเป็นคุ้มของพระธิดาของท่านอีก ๔ พระองค์ และก็ยังไปสร้างเป็นวัด (วิหารขนาดใหญ่) อีก ๒ วัด หนึ่งในนั้นคือคุ้มของเจ้าเทพมาลา
คุ้มนี้ถ้าเราพิจารณาดูแล้วจากสถาปัตยกรรมจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตร์ ซึ่งก็จะจัดอยู่ในกลุ่มประเภทอาคารที่เรียกกันว่าอาคารขนมปังขิง มีมุขเป็นหกเหลี่ยมซ้ายขวา บันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลาง ลักษณะของเรือนที่เป็นหกเหลี่ยมแบบนี้ก็เพราะว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชท่านได้เคยเสด็จไปที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งทำเป็นหกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม เมื่อเสด็จกลับมาแล้วก็เลยทำเลียนแบบพระที่นั่งวิมานเมฆ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ารูปแบบศิลปะมันมีที่มาที่ไป พระที่นั่งวิมานเมฆ รัชกาลที่ ๕ เองก็ทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาคารจากยุโรปในการสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆเช่นกัน
คุ้มเจ้าบัวเขียว
ปัจจุบันรู้จักกันในนามบ้านหลวงธนานุสร (ช่วง โลหะโชติ) อยู่ด้านทิศใต้คนละฝั่งถนนกับวัดภูมินทร์ หลังจากที่เจ้าหญิงบัวเขียวสิ้นแล้ว ทายาทจึงได้ขายเรือนหลังนี้กับหลายบุคคล หนึ่งในนั้นคือหลวงธนานุสร ปัจจุบันเรือนหลังนี้จึงตกเป็นของทายาทของหลวงธนานุสรมาตามลำดับ
คุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน)
เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ บางท่านกล่าวว่าถ้ามาเมืองน่านแล้วไม่ได้ไปชมคุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) อาจบอกได้ว่ายังมาไม่ถึงเมืองน่าน
น่านเคยมีเจ้าผู้ครองนคร เดิมเป็นเหมือนประเทศประเทศหนึ่ง ทายาทสืบมาจนปัจจุบันยังคงรักษาคุ้มนี้เอาไว้ ซึ่งสายสกุล ณ น่าน ถือว่าเป็นเจ้าผู้ครองนครที่มีความสำคัญมากตั้งแต่ครั้งอยุธยาไล่ลงมาจนถึงรัตนโกสินทร์ เมืองต่างๆ ในภาคเหนือล้วนแล้วแต่เป็นเอกราช มีกษัตริย์ปกครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเมืองเชียงใหม่ ลำพูน น่าน แต่เมื่อได้รวบรวมเข้ามาอยู่ในขอบขันธสีมา เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันเป็นสยามประเทศแล้ว เจ้าผู้ครองนครแต่ละพระองค์ก็ได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ที่แตกต่างกัน มีอยู่แค่ ๒ เมืองเท่านั้น คือเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่กับเจ้าผู้ครองนครน่านที่ได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นถึงพระเจ้า ใช้คำว่าพระเจ้า ก็คือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ของเชียงใหม่ และพระเจ้าสุรยพงษ์ผริตเดชของน่าน อันนี้เป็นบทที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เห็นว่าเมืองน่านในอดีตนั้นเป็นเมืองที่มีความเจริญมาก และมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับราชสำนักของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดอันนี้ก็ได้สืบทอดตั้งแต่ตัวองค์พระมหากษัตริย์จนถึงทายาทในปัจจุบัน
โฮงเจ้าฟองคำ
โฮงเจ้าฟองคำ เดิมเป็นคุ้มของเจ้าศรีตุมมา (หลานเจ้ามหาวงศ์เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่๖) ตั้งอยู่ติดกับคุ้มแก้วซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือเมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ย้ายกลับมายังเมืองน่าน ปัจจุบันคุ้มแก้วถูกทิ้งร้างไป หลังจากนั้นเป็นเจ้าบุญยืน (ธิดาองค์สุดท้ายของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามโน (เจ้ามโนเป็นหลานของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ) ได้ย้ายตัวโฮงลงมาสร้างในที่ปัจจุบันและตกทอดมายังเจ้าฟองคำ (ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ) นางวาสิฐศรี (ธิดาคนสุดท้ายของเจ้าฟองคำ) และนายมณฑล คงกระจ่างตามลำดับ
โฮงเจ้าฟองคำเป็นอาคารเรือนไม้ใต้ถุนสูง เดิมหลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (ไม้เกล็ด) หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ลักษณะสถาปัตยกรรมล้านนาแบบเรือนคู่ มีนอกชนและหลังคาคลุมบันไดทางขึ้นบ้าน บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้ พื้นทีชั้นบนเป็นที่พักอาศัย และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจัดแสดงวิถีชีวิตในอดีต และแสดงของโบราณที่มีคุณค่า อาทิ เครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องเงิน ผ้าทอ พื้นที่ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง
ยกเว้นแต่เฉพาะโฮงเจ้าฟองคำเท่านั้นที่อยู่นอกเขตใจกลางเมืองและอยู่ห่างออกไปในระยะประมาณ ๔ กิโลเมตร โดยเราสามารถเดินทางไปได้เองด้วยรถส่วนตัวหรือแม้แต่จะเดินทางโดยอาศัยรถท่องเที่ยวที่จัดโดยการท่องเที่ยวฯ น่านก็ได้
นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นหอคำ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) คุ้มเจ้าเทพมาลา คุ้มเจ้าบัวเขียว (บ้านหลวงธนานุสร(ช่วง โลหะโชติ)) คุ้มเจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า ณ น่าน) ล้วนแต่อยู่ในเขตใจกลางเมือง ในเส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวเดียวกับวันภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างล้อมวรวิหาร และอีกหลายๆ วัด
--------------------
note:
๑. คืนสุดท้ายที่น่านเราพักโรงแรมน่านตรึงใจ อยู่ย่านสนามบินน่าน มีสระว่ายน้ำและเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันนับว่าคุ้มค่าครับ
๒. อาหารเย็นมื้อก่อนกลับที่ร้านอาหารสไตร์สวนอาหารริมแม่น้ำน่าน "สุริยาการ์เด้น" อาหารรสชาติกลางๆ บริการดี มีเด็กเชียร์เบียร์และดนตรีสด ร้านนี้เข้าร่วมโครการเราเที่ยวด้วยกัน
-------------------
คุณหมูยอ
ออกเดินทาง ๑๗-๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๓
บันทึกไว้เมื่อ ๗ กันยายน ๒๕๖๓
-----------------
อ่านตอนอื่นๆ ทริปน่าน
[CR] น่าน #กรีนซีซั่น EP4 คุ้มเมืองน่าน - หอคำ/คุ้มเจ้าเทพมาลา/คุ้มเจ้าบัวเขียว/คุ้มเจ้าราชบุตร/โฮงเจ้าฟองคำ
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้