JJNY : ครช.จี้รัฐหยุดยัดเยียดข้อหา/เทียบคดีบอส-ม็อบสะท้อนบังคับใช้กม./ฟู้ดแพนด้าถอนโฆษณาเนชั่น/สรรพสามิตรับรายได้ต่ำเป้า

'ครช.' จี้รัฐหยุดคุกคามนักกิจกรรม ยัดเยียดข้อหารุนแรง
https://www.dailynews.co.th/politics/791239


 
“ครช.”ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐเคารพสิทธิเปิดพื้นที่สาธารณะ อย่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งนักกิจกรรม
 
เมื่อวันที่ 22 ส.ค.คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐยุติการใช้อำนาจคุกคามนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และกลุ่มนักกิจกรรมรณรงค์ เพื่อประชาธิปไตยและเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยมีใจความระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและภาคประชาชนที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้นักกิจกรรม และผู้เข้าร่วม ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีการสอดแนม ข่มขู่ว่าจะดำเนิดดี ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ขัดขวางการดำเนินกิจกรรมและการปราศรัย
  
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 -20 ส.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม และพยายามดำเนินคดีกับนักกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยหลายคน โดยยัดเยียดข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา116 ก่อความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นข้อหาหลัก ซึ่งครช.เห็นว่า ในสังคมที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย การแสดงความเห็นทางการเมืองที่อยู่ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธเป็นสิทธิในเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ในระดับรัฐธรรมนูญ รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครอง รับฟัง และส่งเสริมการใช้สิทธิในเสรีภาพนั้น มิใช่ทำตนเป็นผู้คุกคาม ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนเสียเอง
  
ในฐานะที่ ครช. สนับสนุนให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 อันมีที่มาจากกลุ่มอำนาจมิชอบ และสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสอดรับกับทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง ขอยืนหยัดเคียงข้างประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกท่าน และเรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้แสดงออกย่างสันติ หยุดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งนักกิจกรรม ยุติการคุกคาม ขัดขวาง นักเรียน นักศึกษา ภาคประชาชน ทุกรูปแบบทันที.


 
นักอาชญาวิทยา เทียบคดีบอส-ม็อบ สะท้อนกลไกบังคับใช้กม. ถูกแทรกแซงจากการเมือง
https://www.matichon.co.th/local/news_2317524
 
นักอาชญาวิทยา ให้ความเห็นคดีบอส เทียบคดีจับผู้ชุมนุม สะท้อนกลไกบังคับใช้กฎหมายในไทย ถูกแทรกแซงจากการเมือง
 
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต ให้ความเห็นกรณีการบังคับใช้กฎหมายในคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส เปรียบเทียบการดำเนินคดีแกนนำที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้คนในสังคมมองว่า คดีของนายวรยุทธ ทำไม 5 ปี จึงเพิ่งออกหมายจับ จนกระทั่งบอส หนีไปต่างประเทศ ขณะที่การออกหมายจับแกนนำ กลับใช้เวลาไม่นาน ทำให้สังคมมองว่า กลไกบังคับใช้กฎหมายอาจมีความแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งตามหลักสากลการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเสมอภาค โปร่งใส และเป็นธรรม
 
ทั้งนี้จาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ทำให้องค์กรตำรวจยังขึ้นอยู่กับการเมือง กล่าวคือ ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ควบคุมกลไกการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกลไกในการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย
 
การบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ยังเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง อยู่ที่การสั่งการของ ผบ.ตร. แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อ ผบ.ตร. ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้กลไกการบังคับใช้กฎหมายจึงขึ้นอยู่กับการเมือง แต่ตามหลักสากลในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ไม่เป็นในลักษณะแบบนี้ เพราะเขามองว่า หากการบริหารงานขององค์กรตำรวจเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ และขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี หรือการเมือง จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายถูกแทรกแซง การเมืองสามารถสั่งตำรวจได้ สะท้อนให้เห็นถึงที่มาที่ไปของคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา และเหตุใดจึงยังไม่สามารถนำตัวมาฟ้องต่อศาลได้
 
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า มีข้อสังเกตอีกว่า ทำไมประเทศไทยจึงพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจทุกครั้งหลังรัฐประหาร แต่ไม่มีการปฏิรูปจริงๆ ก็เพราะกลุ่มการเมืองที่บริหารประเทศมีอำนาจโดยกฎหมาย ที่จะคุมกลไกตำรวจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถดำรงไว้เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป เมื่อดูผลการศึกษาวิจัยของคณะกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจโดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรายงานปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทุกชุดเห็นตรงกันว่า กลไกการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะองค์กรตำรวจถูกแทรกแซง ขาดความโปร่งใส ความเสมอภาค และเป็นธรรม นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศเกี่ยวกับระบบงานตำรวจโดยเฉพาะระบบงานสอบสวน พนักงานสอบสวนขาดความเป็นอิสระในการใช้ดุลยพินิจ การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกแทรกแซงจากทั้งภายในและภายนอกองค์กรตำรวจ และต้องทำงานภายใต้ความกดดันทั้งจากผู้บังคับบัญชาและระบบงาน

ทั้งนี้คดีนายวรยุทธ กับคดีจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม มีความแตกต่างกันในกระบวนการสอบสวน คดีนายวรยุทธ ประเด็นการตรวจพบโคเคนในเลือด แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แม้กระทั่งเรื่องความเร็วรถที่มีการสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ต่อมาพนักงานอัยการสั่งให้สอบเพิ่ม จนกระทั่งปรากฏพยานผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ มีการสอบสวนจนพยานผู้เชี่ยวชาญจากกองพิสูจน์หลักฐานกลับคำให้การ จนพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจมีการยื่นขอเพิกถอนหมายจับกับตำรวจสากล จนกระทั่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคม

ในทางกลับกัน คดีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ทางการเมือง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และการยุบสภา เป็นต้น กระบวนการสอบสวน การขออนุมัติศาลออกหมายจับ ดูเหมือนเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความแตกต่างกับการดำเนินการในคดีของนายบอส สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในการบังคับใช้กฎหมาย

โดยหลักแล้ว ประเทศที่มีความโปร่งใส มีระบบการเมืองที่ดี การบังคับใช้กฎหมายก็มีแนวโน้มที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน ประเทศไหนที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส การบังคับใช้กฎหมายก็ดูเหมือนจะเป็นไปตามทิศทางที่ผู้มีอำนาจต้องการ
 
กรณีสังคมตั้งคำถามว่า “คุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือไม่” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถิติการเกิดอาชญากรรม และสถิติผู้ต้องขังในเรือนจำ 4-5 ปีต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พบว่า จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดประมาณเกือบ 4 แสนคน พบว่ามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้กระทำความผิดที่มีฐานะยากจน มาจากคนรากหญ้า และชนชั้นกลาง สะท้อนให้เห็นว่าคนที่มีการศึกษาสูง ฐานะร่ำรวย กระทำความผิดน้อยหรือไม่ หรือเป็นเพราะว่าปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หรือผู้กระทำความผิดเหล่านั้นขาดโอกาสในการต่อสู่คดีอย่างยุติธรรม
 
จากข้อมูลของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (2562) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก The World Justice Project (WJP) เกี่ยวกับชุดรายงานประจำปีที่ใช้วัดหลักนิติธรรมในหลายประเทศทั่วโลก โดยวัดจากประสบการณ์และการรับรู้ของสาธารณชน โดยเก็บข้อมูลมากกว่า 120,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญอีก 3,800 คน ในประเทศนั้นๆ จากข้อมูลปีล่าสุดที่มีการสำรวจหลักนิติธรรม พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 126 ประเทศ ขณะที่ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในลำดับที่ 80
 
นอกจากนี้ ข้อมูลจากธนาคารโลก (2563) พบว่า ระหว่างปี 2558- 2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 ส่งผลให้จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คนเป็นมากกว่า 6,700,000 คน
 
กรณีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย และความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อฟื้นฟูความเชี่อมั่นและศรัทธาของประชาชน


 
ฟู้ดแพนด้า ประกาศถอนโฆษณา เนชั่นทีวี
https://www.matichon.co.th/economy/news_2317902

บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ไทยแลนด์) จำกัด ออกแถลงการณ์ถึงกรณีสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาทางสำนักข่าวเนชั่นทีวี โดยระบุว่า หลังจากการพิจารณาและทบทวนการปรับแผนการตลาดของ ฟู้ดแพนด้า ในช่องทางต่างๆ แล้ว ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย ได้ตัดสินใจระงับการโฆษณาทางสำนักข่าวเนชั่น ทีวี และกำลังปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการตลาดของบริษัทฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่ทางฟู้ดแพนด้า กระทำอยู่อย่างต่อเนื่อง
 
ฟู้ดแพนด้า ยืนยันว่า เราให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและการปรับปรุงการให้บริการและมอบการบริการที่ดีที่สุด เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยของทุกท่าน ซึ่งฟู้ดแพนด้า ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เสมอมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่