อย่าสับสน! ความเครียด - ความวิตกกังวล ไม่เหมือนกัน

หลายคนใช้คำสลับกันระหว่างความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้สื่อความหมายผิดพลาด สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันและไม่สามารถใช้แทนกันได้ สองอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกัน สองอย่างนี้มีสาเหตุและวิธีแก้แตกต่างกัน

ความเครียด (stress) คือภาวะของร่างกายและจิตใจที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า ส่งผลร่างกายและจิตใจมีการเตรียมพร้อมรับมือและแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น อาการที่ปรากฏเมื่อมีการเตรียมพร้อมรับมือ เช่น การตื่นตัว รูม่านตาขยาย อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น กล้ามเนื้อพร้อมทำงาน การแสดงพฤติกรรมต่อสิ่งเร้าสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบได้แก่ การเพิกเฉย การหนี และการต่อสู้ การเพิกเฉยคือการไม่สนใจสิ่งเร้านั้นและไม่คิดว่าสิ่งเร้านั้นเป็นปัญหาของตัวเอง เมื่อไม่สามารถเพิกเฉยปัญหานั้นได้จะเข้าสู่อีกสองทางเลือก การหนีคือการยอมรับว่าปัญหาได้เกิดขึ้นจริงและเป็นปัญหาของตัวเอง แต่ตนเองไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหานั้น การต่อสู้คือการยอมรับว่าปัญหาได้เกิดขึ้นจริงและเป็นปัญหาของตัวเอง ตนเองอยากแก้ไขปัญหานั้น

ความวิตกกังวล (anxiety) คือภาวะของร่างกายและจิตใจที่รู้สึกกลัว ไม่มั่นคง หรือไม่ปลอดภัยจากสิ่งเร้า ความวิตกกังวลเกิดขึ้นกับความคิดที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต กลัวว่าอนาคตจะไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่คิดไว้

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างความเครียดกับความวิตกกังวลคือ ช่วงเวลาของสิ่งเร้า ถ้าความรู้สึกนั้นมาจากเรื่องเกี่ยวกับอนาคตเรียกว่าความวิตกกังวล ส่วนความเครียดจะเกิดเฉพาะสิ่งเร้าจากปัจจุบันเท่านั้น หรือกล่าวได้อีกอย่างว่า ความเครียดเกิดจากสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนั้น (แสดงว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง) ความวิตกกังวลเกิดมาจากความคิดของตนเอง (แสดงว่าคิดเองว่าน่าจะเป็นแบบนั้น) สิ่งเร้าหนึ่งเมื่ออยู่ในเวลาที่แตกต่างกันก็ส่งผลออกมาแตกต่างกันดังตัวอย่างข้างล่าง

ตัวอย่างที่ 1 สมมติว่าสัปดาห์นี้มีการเรียนเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเทอม สัปดาห์หน้าเป็นสัปดาห์สอบปลายภาค แสดงว่าปัจจุบันยังไม่ได้สอบปลายภาค ความเครียดจากการสอบปลายภาคยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือความวิตกกังวล เช่น กลัวว่าจะสอบตก กลัวว่าตัวเองจะทบทวนเนื้อหาไม่ทัน กลัวว่าครูจะออกข้อสอบยาก สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดของตนเองที่คาดการณ์ว่าอนาคตน่าจะเป็นอย่างไร พอผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ตอนนี้เป็นกำลังทำข้อสอบปลายภาคอยู่ในห้องสอบ ความเครียดจากการสอบปลายภาคเกิดขึ้นแล้ว เช่น อาการตื่นตัวเพื่อคิดเลขวิชาคณิตศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง อาการหัวใจเต้นแรงเพื่อรีบทำข้อสอบให้เสร็จตอนใกล้หมดเวลา แม้ว่าผลจากสิ่งเร้าในปัจจุบันจะเป็นความเครียด แต่ก็สามารถมีความวิตกกังวลร่วมด้วยได้ ซึ่งความจริงเกิดจากสิ่งเร้าในอนาคตที่เกิดจากสิ่งเร้าในปัจจุบันอีกที เช่น กำลังคิดเลขคณิตศาสตร์ข้อหนึ่งอยู่ตั้งนานแต่หาคำตอบไม่ได้สักที (การคิดเลขเป็นเรื่องในปัจจุบัน) แล้วขณะนั้นคิดว่าข้อนี้ไม่ได้คะแนนแน่เลย จะสอบตกไหมเนี่ย (ผลสอบเป็นเรื่องในอนาคต) แบบนี้มีทั้งความเครียดและความวิตกกังวลเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่เกิดจากสิ่งเร้าคนละตัวกัน (การคิดเลขกับผลสอบ)

ตัวอย่างที่ 2 นายคนหนึ่งเป็นนักออกแบบสินค้าในบริษัทเอกชน ผู้บริหารมอบหมายให้เขาออกแบบสินค้าชนิดใหม่ กำหนดวันส่งงานคือสองสัปดาห์ข้างหน้า ในกรณีนี้ถือว่าการออกแบบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัจจุบันเขามีหน้าที่ออกแบบสินค้าใหม่ แม้ว่าเขาจะผัดวันประกันพรุ่ง เก็บงานเอาไว้ทำในวันสุดท้าย แต่ความเครียดจากการออกแบบสินค้าใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว การออกแบบสินค้าใหม่ไม่ใช่เรื่องในอนาคต เพราะผู้บริหารได้มอบหมายงานให้เขาเริ่มทำได้ตั้งแต่ปัจจุบันแล้ว

ตัวอย่างที่ 3 สัปดาห์หน้านายคนหนึ่งจะพาครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัด ทุกคนดีใจและตื่นเต้นมากกับการไปเที่ยวครั้งนี้ แต่เขากลับมีลางสังหรณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการไปเที่ยวครั้งนี้ เขาจึงพยายามวางแผนต่าง ๆ ให้รัดกุม มีแผนสำรองเผื่อติดขัดหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ความคิดเหล่านี้เกิดมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต เมื่อถึงวันที่ไปเที่ยวจริงพบว่าไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้น ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เขาจึงไม่มีความเครียดจากการไปเที่ยว มีเพียงแต่ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นก่อนการไปเที่ยวเท่านั้น

จากตัวอย่างเหล่านี้คุณน่าจะพอเห็นความแตกต่างระหว่างความเครียดกับความวิตกกังวลแล้ว สองอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เมื่อเกิดอย่างหนึ่งแล้วไม่จำเป็นต้องมีอีกอย่างหนึ่งเสมอไป ทั้งความเครียดและความวิตกกังวลไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือสิ่งที่ดีในตัวของมันเอง มันเป็นเพียงภาวะหนึ่งของร่างกายและจิตใจเท่านั้น ความเครียดทำให้เราพร้อมรับมือกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ความวิตกกังวลทำให้เราเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในอนาคต สองอย่างนี้ทำให้เรามีชีวิตอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ถ้ามีสองอย่างนี้น้อยเกินไปตอนนี้เราอาจตายไปแล้วก็ได้ ถ้ามีสองอย่างนี้มากเกินไปก็เกิดเป็นโรคเรื้อรังตามมา การจัดการความเครียดและความวิตกกังวลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ความเครียดกับความวิตกกังวลมีสาเหตุแตกต่างกัน การจัดการความเครียดกับการจัดการความวิตกกังวลจึงแตกต่างกันด้วย

ความเครียดเกิดจากสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ การจัดการความเครียดจึงมุ่งเน้นไปที่การจัดการตัวปัญหานั้นโดยตรงหรือการจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากปัญหานั้น เช่น การค้นหาวิธีแก้ปัญหา การลงมือแก้ปัญหา การลดความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นจากปัญหา ส่วนความวิตกกังวลเกิดจากสิ่งที่คิดไปเอง เป็นความกลัวต่อความไม่แน่นอนในอนาคต การจัดการความวิตกกังวลจึงมุ่งเน้นไปที่การลดความรู้สึกไม่แน่นอนในอนาคต เช่น การวางแผนให้รัดกุม การมีแผนสำรอง การลดความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยง บทความนี้มีจุดประสงค์คือเพื่อให้ผู้อ่านสามารถบอกความแตกต่างระหว่างความเครียดและความวิตกกังวลได้ ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องการจัดการความเครียดและการจัดการความวิตกกังวลโดยตรง คุณสามารถศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่