[เกร็ดประวัติศาสตร์จีน] แฟชั่นสตรีในราชสำนักต้าชิง

อารมณ์หลังดูซีรีส์เรื่องตำนานเจินหวน (甄嬛传) และตำนานหรูอี้ (如懿传) ยังคงคุกรุ่นอยู่ แม้จะผ่านมาเป็นปีสองปีแล้วตั้งแต่หลังดูตำนานเจินหวนจบ ข้อมูลในการเขียนบทความนี้ ผ่านการเก็บเล็กผสมน้อยมานานมาก บางเรื่อง บางอย่างอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ต้องหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม เสร็จแล้วต้องเขียนเค้าโครงกระทู้แบ่งสัดส่วนไม่ให้งง พอดูตำนานหรูอี้จบ กอปรกับหาข้อมูลไปด้วย เลยได้เห็นทั้งชุด ทรงผม บางอย่างไม่เห็นในสองเรื่องนี้ แต่อยู่ในเรื่อง Story of Yanxi Palace 《延禧攻略》ก็มี ตอนนี้ คิดว่าได้ฤกษ์งามยามดีสักที 

ตำนานเจินหวน หรือ Empresses in the Palace 《甄嬛传》
ตำนานหรูอี้ หรือ Ruyi's Royal Love in the Palace 《如懿传》

Story of Yanxi Palace 《延禧攻略》
เริ่มต้นก็มาดูพัสตราภรณ์กันก่อน รูปแบบพัสตราภรณ์ราชสำนักฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากพัฒนาการมาจากเสื้อผ้าของชาวแมนจูก่อนเข้าสู่แผ่นดินจีน เมื่อจักรพรรดิหวางไท่จี๋สถาปนาราชวงศ์และประทับ ณ พระราชวังหลวงนครปักกิ่งก็ค่อย ๆ ผสมผสานวัฒนธรรมชาวฮั่นเจ้าของแผ่นดินบางประการและเผยแพร่วัฒนธรรมนอกด่านจนกลายเป็นรูปแบบการแต่งกายที่แสดงถึงตัวตนชาวแมนจู
โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ชุดเฉาฝู (朝服) , ชุดจี๋ฝู (吉服) , ชุดเปี้ยนฝู (便服) และชุดฉางฝู (常服)

สมเด็จพระพันปีหลวงฉงชิ่ง ตระกูลหนิ่วฮู่ลู่ (崇庆皇太后钮祜禄氏) ในชุดพระราชพิธี - ชุดเฉาฝู
ชุดพระราชพิธี – ชุดเฉาฝู (朝服)

อยู่ในประเภทชุดพิธีการ หรือ “หลี่ฝู” (礼服) คู่กันกับชุดบวงสรวง – ชุดจี้ฝู (祭服) ซึ่งมีเพียงหนึ่งสำรับสำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิ ชุดเฉาฝูเป็นฉลองพระองค์ในพระราชพิธีต่าง ๆ ของสมเด็จพระพันปีหลวง , สมเด็จพระมเหสีและพระสนมชั้นผินขึ้นไปในพระราชสำนักฝ่ายใน ถือเป็นชุดที่อยู่ลำดับสูงที่สุดในบรรดาชุดต่าง ๆ โดยมีรูปแบบและเครื่องประดับซับซ้อน หลานชิ้นหลายส่วน แบ่งเป็นชุดเฉาฝูสำหรับไทเฮา-ฮองเฮา และชุดเฉาฝูสำหรับพระสนม รายละเอียดแบ่งตามอิสริยยศของผู้สวมใส่ ชุดเฉาฝูแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเครื่องประดับ และส่วนของฉลองพระองค์

สมเด็จพระอัครเทวีลิ่งอี๋ ตระกูลเว่ยเจีย (令懿皇贵妃魏佳氏) จากซีรีส์เรื่อง Story of Yanxi Palace 《延禧攻略》

ส่วนเครื่องประดับ ประกอบด้วย 6 ส่วน คือ มงกุฎเฉากว้าน (朝冠) , จินเยา (金約) , กุณฑล - ต่างหู (耳饰) , หลิ่งเยา (领約) , มงกุฎจี๋ฝูกว้าน (吉服冠) และประคำไข่มุกเฉาจู (朝珠)

มงกุฎเฉากว้าน (朝冠) ส่วนของเครื่องประดับศีรษะชิ้นบนสุด ฐานทรงกลม แล้วต่อด้วยยอดมงกุฎ สำหรับฮองเฮา – ฮองไทเฮา - ไทฮองไทเฮา ส่วนยอดจะแบ่งเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยไข่มุกตงจู ชั้นละ 1 เม็ด ทุกชั้นทำเป็นรูปหงส์ด้วยทองคำ ไข่มุกตงจูประดับหงส์ชั้นละ 3 เม็ด และไข่มุกธรรมดาอีกชั้นละ 17 เม็ด ยอดบนสุดติดไข่มุกตงจูเม็ดใหญ่ 1 เม็ด ส่วนฐานมงกุฎบุผ้าสีแดงคือมงกุฎจี๋ฝูกว้าน ประดับหงส์ทองและนกตี๋ทองคำ 8 ตัว แบ่งเป็นหงส์ทองคำ 7 ตัว แต่ละตัวติดไข่มุกตงจู 9 เม็ด , เพชรตาแมว 1 เม็ด และติดไข่มุกธรรมดาที่หางหงส์ตัวละ 21 เม็ด ส่วนหลังสุดของฐานหมวกประดับนกตี๋ (翟) ทำด้วยทองคำ 1 ตัว ติดเพชรตาแมว 1 เม็ดและส่วนหางติดไข่มุก 16 เม็ด ส่วนมงกุฎเฉากว้านของพระสนมชั้นกุ้ยเฟย - หวางกุ้ยเฟย ลักษณะเหมือนกับของฮองเฮา แต่หงส์ทองบนฐานหมวกไม่ติดเพชรตาแมว สำหรับมงกุฎเฉากว้านของพระสนมชั้นเฟย - ผิน จะมีเพียง 2 ชั้น รายละเอียดการประดับนอกจากนั้นเหมือนกับของพระสนมชั้นกุ้ยเฟย - หวางกุ้ยเฟย แต่จำนวนไข่มุกความน้อยกว่าในบางประการ

จินเยวีย (金约) เป็นเครื่องประดับที่ใช้คาดหน้าผากทรงกลมรอบศีรษะ ด้านนอกทำจากทองประดับหยกและไข่มุก ด้านในบุด้วยผ้าเนื้อดี ด้านหน้าตรงกับหน้าผากของผู้สวมใส่ ทำเป็นรูปโค้งรับกับหน้าผากด้วยผ้าสีดำ ตกแต่งอย่างงดงาม ด้านหลังประดับด้วยเส้นไข่มุกร้อย หากเป็นของฮองเฮา - ฮองไทเฮา – ไทฮองไทเฮา เรียกว่า “อู่หังเอ้อร์จิ้ว” (五行二就) ประกอบด้วยไข่มุก 5 เส้น เส้นละ 64 เม็ด ตรงกลางประดับด้วยอัญมณีทรงกลม 2 ชิ้น ส่วนของพระสนมตั้งแต่ชั้นหวางกุ้ยเฟยและชั้นกุ้ยเฟย เรียกว่า “ซานหังซานจิ้ว” (三行三就) ประกอบด้วยไข่มุก 3 เส้น ใช้ไข่มุก 192 เม็ด ส่วนพระสนมชั้นเฟยและผิน เรียกว่า “ซานหังเอ้อร์จิ้ว” (三行二就) ประกอบด้วยไข่มุก 3 เส้น พระสนมชั้นเฟยใช้ไข่มุก 188 เม็ด ส่วนพระสนมชั้นผินใช้ไข่มุก 172 เม็ด รายละเอียดและความประณีตต่างกันไปตามอิสริยยศของผู้สวมใส่

กุณฑล - ต่างหู (耳饰) ชาวแมนจูมีธรรมเนียมเจาะหูข้างละ 3 รู ยามสวมชุดเฉาฝูจะใส่ต่างหูข้างละ 3 ชิ้น (一耳三钳) ลวดลายแตกต่างกันไปตามอิสริยยศ ส่วนยามปกติใส่ตามใจชอบ

หลิ่งเยวีย (领约) เรียกอีกอย่างว่า “เซี่ยงเชวียน” (项圈) เป็นเครื่องประดับของอิสตรีสมัยราชวงศ์ชิง ลักษณะเป็นเครื่องประดับทรงกลมใช้สวมคอ ทำจากโลหะประดับแผ่นทอง ไข่มุกตงจู และอัญมณีล้ำค่าต่าง ๆ 

มงกุฎจี๋ฝูกว้าน (吉服冠) ลักษณะเป็นหมวกทรงกลมมียอด โดยรอบทำด้วยด้วยของตัวเตียว (貂) สีดำ ในชุดเฉาฝูจะสวมทับจินเยวีย แล้วค่อยสวมมงกุฎเฉากว้านทับ นอกจากนี้ยังสามารถสวมเดี่ยว ๆ คู่กับชุดจี๋ฝูได้อีกด้วย ส่วนยอด หากเป็นของพระสนม พระมเหสีและพระราชวงศ์จะประดับด้วยไข่มุกตงจู 1 เม็ด แต่หากเป็นของพระชายา พระชายารองของเชื้อพระวงศ์จะประดับทับทิม ส่วนของสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์อื่น ๆ จะประดับด้วยหินปะการังสีแดง

ประคำไข่มุกเฉาจู (朝珠) เป็นเครื่องประดับที่มีที่มาจากประคำของศาสนาพุทธ เนื่องจากความเลื่อมใสศรัทธาของจักรพรรดิและบรรดาเชื้อพระวงศ์ ชุดประคำมี 3 เส้น สำหรับฮองเฮา - ฮองไทเฮา - ไทฮองไทเฮา เส้นกลางร้อยด้วยไข่มุกตงจู เส้นข้างสองเส้นทำด้วยหินปะการังสีแดง ส่วนชุดประคำของพระสนมตั้งแต่ชั้นหวางกุ้ยเฟยลงมา เส้นกลางทำด้วยอำพัน เส้นข้างสองเส้นทำด้วยหินปะการังสีแดงเช่นเดียวกับของฮองเฮา
 
*************************************************************
ส่วนของฉลองพระองค์ ประกอบด้วย ฉลองพระองค์ตัวใน - เฉาเผา (朝袍) , ชุดเสื้อกั๊ก - เฉากว้า (朝褂) , กระโปรง - เฉาฉวิน (朝裙) และผ้าห้อยหน้า - ไฉ่ซุ่ย (彩帨) 

ฉลองพระองค์ตัวใน - เฉาเผา (朝袍) เป็นชุดคลุมยาว คอกลม มีปกเสื้อขนาดใหญ่ แขนยาว ปลายแขนเรียวเล็ก เรียกรูปแบบแขนเสื้อจำพวกนี้ว่า “แขนเสื้อทรงกีบม้า” (马蹄袖) เห็นได้ในชุดทั่วไปสมัยราชวงศ์ชิง ปักลายมงคลทั้ง 12 (十二章纹饰) ทั่วทั้งตัว สีของตัวฉลองพระองค์สำหรับฮองเฮา - หวางกุ้ยเฟย ใช้สีเหลืองสว่าง แต่สีสำหรับกุ้ยเฟยลงมาจะใช้สีเหลืองเข้ม หากเป็นชุดทรงฤดูหนาวจะประดับเพิ่มด้วยหนังของตัวเตียวสีดำ (貂)

ชุดเสื้อกั๊ก - เฉากว้า (朝褂) เป็นเสื้อกั๊กตัวยาว แขนกุด ผ่าหน้า ยาวเสมอกันกับฉลองพระองค์ตัวใน สวมไว้ด้านนอกชุดเฉาเผา พื้นชุดสีคราม ปักลวดลายมงคลต่าง ๆ

กระโปรง - เฉาฉวิน (朝裙) สวมไว้ด้านในฉลองพระองค์เฉาเผา ทำด้วยผ้าพื้นสีแดง ริมสีน้ำเงินปักด้วยไหมทอง เป็นลวดลายมงคลต่าง ๆ

ผ้าห้อยหน้า - ไฉ่ซุ่ย (彩帨) ลักษณะเป็นผ้าห้อยยาวสีแดง คล้ายเนคไท ปักลวดลายมงคลต่าง ๆ เช่น ลายค้างคาว , ลายหลิงจือ , ลายของวิเศษแปดเซียน , ลายเมฆ , ลายเบญจธัญพืช เป็นต้น

ภาพถ่ายสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์สมัยราชวงศ์ชิงสวมชุดพระราชพิธี

ภาพจากซีรีส์เรื่อง ตำนานหรูอี้ (如懿传)
แก้ไขข้อความเมื่อ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 1
ชุดจี๋ฝู (吉服)


ภาพจากซีรีส์เรื่อง ตำนานหรูอี้ (如懿传)


เป็นชุดทางการอีกประเภทหนึ่ง รองลงมาจากชุดเฉาฝู ใช้ในงานสำคัญ ๆ เป็นต้นว่างานเทศกาลในพระราชฐานชั้นใน งานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระจักรพรรดิ สมเด็จพระมเหสี หรือสมเด็จพระพันปีหลวง งานขึ้นปีใหม่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ชุดจี๋ฝูเผา (吉服袍) และชุดจี๋ฝูกว้า (吉服褂)







ชุดจี๋ฝูเผาแบบแขนเสื้อทรงกีบม้า ช่วงต้นถึงกลางราชวงศ์ชิง








ชุดจี๋ฝูเผาแบบแขนเสื้อกว้าง ช่วงกลางถึงปลายราชวงศ์ชิง


ชุดจี๋ฝูเผา (吉服袍) ลักษณะคล้ายกันกับชุดฉลองพระองค์ตัวใน – เฉาเผา คอปกทรงกลม แขนเสื้อและตัวชุดยาว มีสีต่าง ๆ กัน ปักลวดลายมงคล โดยทั่วไปจะปักลายมงคลทรงกลม 8 ตำแหน่ง คือด้านหน้า 3 จุด ด้านหลัง 3 จุด และตรงไหล่เสื้อข้างละ 1 จุด โดยมากเป็นลายมังกรหรือดอกไม้ ก่อนรัชสมัยจักรพรรดิเต้ากวาง แขนเสื้อเรียวเล็กตามรูปแบบ “แขนเสื้อทรงกีบม้า” (马蹄袖) หลังจากนั้นมาจนถึงช่วงสิ้นราชวงศ์ แขนเสื้อทรงกว้าง สตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ฝ่ายในใช้ได้ทุกระดับชั้น แต่ลวดลายและสีสันแล้วแต่ความสูงต่ำของตำแหน่ง





ชุดจี๋ฝูกว้า


ชุดจี๋ฝูกว้า (吉服褂) หรือเรียกอีกอย่างว่า “ชุดหลงกว้า” (龙褂) ใช้สำหรับพระสนมระดับผินขึ้นไปจนถึงสมเด็จพระมเหสี ตัวชุดสีครามเข้มหรือสีดำ คอทรงกลม ผ่าหน้า ตัวชุดยาว ปักลายมงคลทรงกลม 8 ตำแหน่งเหมือนกับชุดจี๋ฝูเผา ใช้สวมทับชุดจี๋ฝูเผา
ก่อนสวมชุดจี๋ฝู จะสวม “คอเสื้อปลอม” (领衣) ไว้ด้านใน เป็นลักษณะคอเสื้อทรงจีนปกตั้ง

ความคิดเห็นที่ 2
ชุดเปี้ยนฝู (便服)



คือ ชุดที่สวมใส่ในยามปกติ ของสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ภายในพระราชฐานชั้นใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ชุดเชิ่นอี (衬衣) และชุดฉ่างอี (氅衣)







ชุดเชิ่นอี


ชุดเชิ่นอี (衬衣) ชุดตัวยาว คอเสื้อกลมไม่มีปกเสื้อ ผ่าข้าง สีสันและปักลวดลายต่าง ๆ ตามสถานของผู้สวมใส่ แขนเสื้อกว้าง มีขอบด้านขวาของตัวชุด ด้านล่างขอบต่อยาวรอบตัว ไม่มีขอบด้านซ้าย







ชุดฉ่างอี


ชุดฉ่างอี (氅衣) ชุดตัวยาวลักษณะเช่นเดียวกับเชิ่นอี ต่างกันที่ขอบชุด โดยมีขอบด้านขวาและด้านซ้ายรูปคทาหรูอี้ (如意) ใช้สวมทับชุดเชิ่นอี
ความคิดเห็นที่ 3
ชุดฉางฝู (常服)




ชุดฉางฝูเผา




ชุดฉางฝูกว้า


คือ ชุดสีพื้นปกติไม่มีลวดลาย แต่อาจทอลายนูนเป็นคำมงคลต่าง ๆ ใช้สวมไว้ข้างในชุดเปี้ยนฝูหรือใส่ในยามไว้ทุกข์ ลักษณะคอเสื้อกลม แขนยาวทรงกีบม้า ความยาวถึงเท้า ลักษณะนี้จะเรียกว่าชุดฉางฝูเผา (常服袍) อีกประเภทหนึ่งลักษณะเดียวกันกับข้างต้น แต่ผ่าหน้า เรียกว่า “ชุดฉางฝูกว้า” (常服褂) ส่วนชุดฉางฝูหากใช้ในพิธีศพ (丧服) ผ้าพื้นสีขาวขลิบดำ ชุดฉางฝูที่ว่าทั้งหมดนี้ จะสวมทับ “คอเสื้อปลอม” (领衣)

นอกจากชุดที่ว่ามาข้างต้นนี้ยังมีชุดอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า “ชุดเสียเพ่ย” (霞帔) ซึ่งเป็นชุดพิธีการสำหรับเข้าวังของสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ อาทิ มารดาหรือภรรยาเชื้อพระวงศ์ระดับล่างหรือภรรยาขุนนางในราชสำนัก ตลอดจนข้าราชสำนักฝ่ายในผู้มีบรรดาศักดิ์ มีที่มาจากชุดเสียเพ่ยที่ใช้คู่กับชุดหม่างเผา (蟒袍) สีแดง ชุดพระราชพิธีของสตรีในราชสำนักราชวงศ์หมิง โดยในสมัยราชวงศ์ชิง ได้ปรับลักษณะของตัวชุด ปักลายมงคลตามศักดิ์ฐานะ และประดับพู่ระย้าปลายชุด มีลักษณะคล้ายเสื้อกั๊ก สวมทับชุดลำลองสีน้ำเงิน


ชุดเสียเพ่ยสมัยราชวงศ์หมิง




ชุดเสียเพ่ยสมัยราชวงศ์ชิง
ความคิดเห็นที่ 4
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเครื่องประดับชุดที่สวมใส่ในราชสำนักอีก ได้แก่


ผ้าพันคอ - หลิ่งจิน (领巾) เป็นผ้าพื้นสีขาว ชายด้านหนึ่งเหน็บไว้ในสาบเสื้อตรงอกด้านขวา ชายอีกด้านปล่อยทิ้งไว้ ใช้คู่กับชุดเชิ่นอีและชุดฉ่างอี


เสื้อกั๊ก – หมากว้า (马褂) ลักษณะเป็นเสื้อแขนกุด คอปกตั้งขึ้น ความยาวแค่ครึ่งตัวของผู้สวมใส่ มีทั้งแบบที่เป็นสาบเสื้อด้านขวาของตัว และแบบผ่าหน้า ลวดลาย สีสันแล้วแต่สถานะของผู้สวมใส่


รองเท้าส้นกระถาง (旗鞋) ตัวรองเท้าทำด้วยผ้าปักลวดลาย ประดับด้วยพู่เชือกหรือพู่ลูกปัด สีสัน ลวดลายตามสถานะของผู้สวมใส่ ตัวส้นทรงสูง ทำด้วยไม้แข็งอย่างหน้า ขนาดใหญ่พอสมควร อยู่กลางตัวรองเท้าเพื่อรับน้ำหนักของผู้สวมใส่ให้สมดุล


เล็บปลอม - ฮู่เจี่ยท่าว (护甲套) ทำด้วยแผ่นทองหรือแผ่นเงินขึ้นรูปทรงแหลม ประดับด้วยอัญมณีล้ำค่าตามสถานะของผู้สวมใส่ มักจะสวมนิ้วนางและนิ้วก้อยทั้งซ้าย-ขวา เนื่องจากสตรีสูงศักดิ์ชาวแมนจูมักจะไว้เล็บยาว จึงต้องสวมฮู่เจี่ยท่าวเพื่อป้องกันเล็บไม่ให้หัก



กรองคอ - อวิ๋นเจียน (云肩) เป็นคนละชิ้นกันกับตัวเสื้อ สตรีสมัยราชวงศ์ชิงนิยมสวมกับชุดพิธีแต่งงาน มีที่มาจากการที่สตรีต้องใส่น้ำมันที่ผมก่อนทำเป็นทรงต่าง ๆ จึงประดิษฐ์กรองคอขึ้นมาใช้สวมทับเสื้อผ้าไว้ ไม่ให้เสื้อผ้าเปื้อนจากน้ำมันใส่ผม โดยทั่วไปไม่ใช้กรองคอกับชุดแมนจู ต่อมาภายหลัง ปลายยุคราชวงศ์ชิงจึงเริ่มนำเอากรองคอปักเข้าไปในตัวชุดแมนจูโดยไม่แยกชิ้น แต่พบเห็นได้น้อยมาก ซึ่งตัวละครหญิงในซีรีส์จีน เรื่อง Story of Yanxi Palace 《延禧攻略》 มักจะสวมชุดแมนจูที่ประดับด้วยกรองคอ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่ากรองคอสวมคู่กันชุดแมนจูเป็นปกติ


เสื้อคลุม - อี้โข่วจง (一口钟) เสื้อคลุมประเภทหนึ่ง ไม่มีแขนเสื้อ มีทั้งแบบมีปกเสื้อและไม่มีปกเสื้อ หากเป็นเสื้อคลุมสำหรับฤดูหนาวมักจะประดับขนสัตว์เพิ่มความอบอุ่น
ความคิดเห็นที่ 5
เอกลักษณ์ของแฟชั่นสตรีฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ทรงผม” ซึ่งอย่างที่เห็นไปข้างต้นว่า แฟชั่นสมัยราชวงศ์ชิงต่างจากสมัยราชวงศ์หมิง เพราะมีที่มาจากนอกด่าน เนื่องด้วยราชวงศ์ชิงสถาปนาโดยกลุ่มคนชาวแมนจู ไม่ใช่ชาวฮั่นที่เป็นเจ้าของแผ่นดินจีน ทรงผมจึงเป็นอีกอย่างที่สืบทอดมาจากนอกด่าน และผสมผสานกับวัฒนธรรมชาวฮั่นได้อย่างลงตัว

ช่วงต้นราชวงศ์ชิง สตรีในราชสำนักยังได้คงรักษารูปแบบของการทำทรงผมของนอกด่านไว้อย่างดี เน้นความเรียบง่าย เนื่องจากวิถีชีวิตก่อนตั้งราชวงศ์ชิง เป็นชนเผ่าเร่ร่อน ไม่ได้ตั้งบ้านเมืองเป็นหลักแหล่ง จวบจนจักรพรรดิหวางไท่จี๋เข้ายึดครองแผ่นดินจีน และสถาปนาราชวงศ์พร้อมตั้งเมืองหลวง ณ กรุงปักกิ่ง จึงเริ่มสลัดความเป็นชนเผ่าเร่ร่อนทิ้งไป

โดยทรงผมยุคนอกด่าน สตรีชาวแมนจูจะมวยผมขึ้นไปบนศีรษะ แบ่งเป็น “ผมมวยเดี่ยว” (单髻) และ “ผมมวยคู่” (双髻) โดยสาวแรกรุ่นที่ยังไม่แต่งงาน จะทำผมทรงมวยคู่ โดยเกล้าผมขึ้นเป็นมวยสองข้างซ้ายขวา ส่วนสตรีที่แต่งงานแล้ว จะทำผมมวยเดี่ยวกลางศีรษะ

ผมทรง “ฉีโถวจั้ว” (旗头座) เกล้ามวยสูงแล้วประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับตามฐานันดรศักดิ์


ภาพถ่ายพระนางซูสีไทเฮา ทำผมทรงฉีโถวจั้วแล้วประดับด้วยปิ่นรูปคทาหรูอี้ด้านหน้า


ผมทรง “เฟินหลิ่วซูโถว” (分绺梳头) คือการเกล้าผมแล้วแหวกผมแบ่งซ้ายขวาและตรงกลาง 3 ส่วน ติดเครื่องประดับตามฐานันดรศักดิ์




ผมอีกทรงหนึ่งที่เห็นในซีรีส์เรื่อง ตำนานหรูอี้ (如懿传) คือผมทรง “เกาป่าโถว” (高把头) โดยผู้ทำจะรวบผมขึ้นไป หวีด้วยน้ำมันให้ผมอยู่ทรงแล้วจัดผมให้ตั้งขึ้น ส่วนปลายห้อยไปด้านหลัง เป็นทรงผมที่ทำกันมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ชิง



ต่อมาทรงผมข้างต้น กลายเป็นรูปแบบทรงผมในยุคแรกเมื่อตั้งราชวงศ์ชิง เรียกว่า “เปี้ยนฟ่าผานโถว” (辫发盘头) หรือ “ผานเปี้ยน” (盘辫) โดยจะถักเปียยาวแล้วม้วนเป็นมวยใหญ่ไว้กลางศีรษะ ผมทรงนี้ แต่เดิมไม่ประดับตกแต่งใด ๆ แต่ภายหลังค่อย ๆ เพิ่มเครื่องประดับทีละชิ้นทีละแบบ จนเกิดสวยงาม หรูหราต่างไปจากโบราณ

ความคิดเห็นที่ 7
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับศีรษะที่ควรแก่การกล่าวถึงอีก ได้แก่


ปิ่นปักผม (簪)



ปิ่นสองขา (钗)



ปิ่นดอกไม้ไหว (步摇)



ปิ่นเอ่อร์วาจาน (耳挖簪)




เปี่ยนฟาง (扁方)


เครื่องประดับเหล่านี้มักจะทำด้วยเงิน ทอง หรืออัญมณีล้ำค่าต่าง ๆ แล้วแต่ฐานันดรศักดิ์-อิสริยยศของผู้ประดับ ซึ่งในรูปแบบวิธีการสร้างเครื่องประดับเหล่านี้ มีอยู่ประเภทหนึ่งที่ถือเป็นเครื่องประดับล้ำค่าสำหรับสตรีชั้นสูงในราชสำนัก นั่นก็คือ “เครื่องประดับเตี่ยนชุ่ย” (点翠) โดยทำจากขนของนกกระเต็น ซึ่งมีสีฟ้างดงาม คงทนนับร้อย ๆ ปี ปัจจุบันเนื่องจากการทำเครื่องประดับเตี่ยนชุ่ยมีราคาสูงและต้องแลกมาด้วยชีวิตของเหล่านกกระเต็น จึงเกิดเป็นเครื่องประดับ “เตี่ยนโฉว” (点绸) มาแทนที่ โดยใช้เส้นไหมสีฟ้าแทนขนนกกระเต็น ความล้ำค่าอาจต่างกัน แต่สวยงามพอจะเทียบกันได้



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่