ร้อนใน ปัญหากวนใจที่ป้องกันได้

อาการร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิด โดยแพทย์ได้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เพิ่มความเสี่ยง หรือโอกาสเกิดอาการร้อนใน เช่น ฮอร์โมน หรือเชื้อไวรัส ถึงแม้ว่าอาการดังกล่าวจะสามารถหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่ระหว่างนั้นหากเกิดภาวะลุกลามหรืออาการไม่ดีขึ้นให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
 
ร้อนในเกิดจากอะไร
 
ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าร้อนในเกิดจากสาเหตุใด โดยเบื้องต้นอาจเกิดจากปัจจัยต่าง  ๆ หลายปัจจัย ได้แก่

- พันธุกรรม
- เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
- การแพ้อาหาร หรือการขาดสารอาหาร
- ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง
- ความเครียด
- พักผ่อนน้อย

หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอกเองก็สามารถทำให้เกิดการกระตุ้นจนก่อให้เกิดอาการร้อนใน เช่น อาหารที่รับประทาน หรือแม้แต่การเกิดจากลักษณะเฉพาะของร่างกายสตรี คือ ประจำเดือน เป็นต้น
 

อาการของร้อนใน
 
อาการโดยทั่วไปของภาวะนี้จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ มีลักษณะบวมแดง และเจ็บตามจุดต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ที่ริมฝีปากด้านใน ลิ้น แก้ม ในบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อาการไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นต้น แต่ก็ใช่ว่าภาวะร้อนในจะไม่มีอันตราย เนื่องจากยังมีอาการที่ควรเฝ้าระวัง และเมื่อหากเกิดขึ้นควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ได้แก่
- แผลที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากกว่าจุดเดียว และเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าแผลเก่าจะยังไม่หาย
- แผลที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าปกติ หรือลุกลามไปยังบริเวณอื่น
- มีอาการไข้สูงร่วมด้วยขณะมีแผลร้อนใน
- เป็นแผลร้อนในอย่างต่อเนื่อง และไม่มีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
- ผู้ที่มีปัญหา หรือมีอุปกรณ์ด้านทันตกรรมในช่องปากจนเป็นเหตุให้แผลหายช้า
 

เป็นร้อนในรักษาอย่างไร
 
หากเป็นแผลร้อนในโดยทั่วไปจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

- ภายใต้การดูแลสุขภาพของช่องปากอยู่เสมอ ๆ เช่น การแปรงฟันโดยไม่ใช้แปรงที่มีขนแข็งจนเกินไป
- การใช้ย้ำยาบ้วนปากอ่อน ๆ เป็นต้น นอกจากนี้การคอยดูแลไม่ให้แผลมีอาการรุนแรงก็ยังสำคัญเช่นเดียวกัน
- การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด
- หรือจะเลือกการซื้อยามาทานเองแต่ก็ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ด้วย

นอกจากนี้แผลร้อนในยังสามารถรักษากับแพทย์ได้โดยตรงหากไม่สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยแพทย์จะแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนช่วยในการต่อต้านแบคทีเรีย เพื่อลดอาการอักเสบ และอาจต้องรับยาตามที่แพทย์สั่งด้วย
 

ร้อนในป้องกันอย่างไร
 
อาการดังกล่าวนี้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่สามารถลดความเสี่ยงให้เกิดได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดที่ทำให้เกิดการระคายเคือง หมั่นทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มวิตามินที่จำเป็นให้แก่ร่างกาย
ดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากด้วยการแปรงฟันหลังรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดแผลภายในช่องปาก โดยเฉพาะผู้ที่จัดฟัน

 
แผลร้อนในถึงแม้ว่าจะหายได้เองเสียเป็นส่วนมาก แต่อาการที่เกิดขึ้นสามารถสร้างความรำคาญ และความลำบากในการใช้ชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรรักษาสุขอนามัยของช่องปาก และเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคนี้ให้มากที่สุด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่