เมื่อเป็น..” โรคธาลัสซีเมีย ”แล้วอันตรายหรือไม่?




เมื่อเป็น..” โรคธาลัสซีเมีย ”แล้วอันตรายหรือไม่?




“ธาลัสซีเมีย” เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้น เปราะ แตก ถูกทำลายง่าย และถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย จากการที่เกิดจากความผิดปกติของยีนในการควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินซึ่งเป็นสารสำคัญในเม็ดเลือดแดง
 
จากสถิติพบว่ามีคนไทยที่มียีนผิดปกติประมาณ 24 ล้านคน หรือร้อยละ 40 ผู้ที่มียีนผิดปกติชนิดนี้อยู่ในร่างกายโดยไม่มีอาการ เรียกว่า "พาหะ" ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพาหะ และผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียมีประมาณ 600,000 คน หรือร้อยละ 1 



ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะได้รับยีนผิดปกติมาจากพ่อและแม่ ส่วนคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจะได้รับยีนผิดปกติหรือโลหิตจางเล็กน้อยมาจากพ่อหรือจากแม่คนใดคนหนึ่ง โดยคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจะมีสุขภาพดีเหมือนคนทั่วไป (หรือปัจจุบันเรียกว่าธาลัสซีเมียแฝง) แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติให้ลูกได้



คนที่ไม่มีอาการจะรู้ว่าเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่นั้น จากการไปตรวจสุขภาพ แล้วแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด โดยดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ร่วมกับการตรวจเลือดด้วยวิธีพิเศษ Hb typing และการตรวจวิเคราะห์ DNA

ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย สามารถใช้ชีวิตได้ปกติไม่จำเป็นต้องทานยาส่วนผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียแล้วการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิด อาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะต้องรับการดูแลรักษา และติดตามอาการจากแพทย์อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ซึ่งการจะรักษาให้หายขาดทำได้วิธีเดียว คือการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก

โรคธาลัสซีเมียป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองผู้ที่มียีนแฝงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งคู่สมรสที่อยากมีลูก ควรตรวจหาภาวะนี้ที่อาจมีซ่อนอยู่ในตัว เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีลูก


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่