อยากรู้ว่าภาพวาดร.1,2,3 วาดจากจินตนาการของใครฮะ (มีอีก)

คือผมขอถามนะฮะว่า
1. ภาพวาดร.1,2,3 ใครวาดครับ เเล้วเค้ารู้ได้ไงว่ากษัตริย์พวกนี้หน้าตาอย่างนี้
2. ภาพวาดกษัตริย์ตากสินสร้างจากจินตนาการของใครฮะ นิมิต รึว่ามีฝรั่งมาวาด
3. สมัยอยุธยาเค้ามีภาพวาดกษัตริย์มั้ย คือเหมือนผมเคยเห็นภาพวาดพระนารายณ์มีหนวดนุ่งชุดเเขก เลยรู้สึกเเปลกว่า เอ๊ะ!! ทำไมพระนารายณ์ถึงได้เเต่งตัวเเบบงั้น
4. เเล้วถ้าเป็นภาพจริงมันเชื่อถือได้มั้ยอะ  ประมาณว่าวาดเเล้วเหมือนกันทุกภาพ ไม่ใช่บางภาพเหมือน อีกภาพนึงหน้าต่างกัน ทั้งๆ ที่คนๆ เดียวกัน เเล้วถ้าเราวิเคราะห์เราควรเชื่อภาพไหนที่สุดถ้าหากว่าหน้าต่างกัน
5. ภาพวาดกษัตริย์กับชนชั้นสูงในยุโรป มันเชื่อถือได้มั้ยครับ เพราะผมก็ไม่รู้ว่าช่างเค้าต้องวาดให้ชนชั้นสูงดูหลอ สวยรึป่าว ผมไม่เคยเห็นคนหน้าตาน่ารังเกียจในภาพวาดยุคโบราณเลย
6. เเล้วทำไมคนไทยไม่จ้างช่างฝรั่งมาวาดรูปให้เเตเเรกครับ ผมรู้สึกเเปลกว่าเเทนที่ ร.3 จะทำรูปหล่อกษัตริย์สมัยอยุธยา 32 องค์ไปเลย กลับทำเป็นพระพุทธรูปเเทนซะงั้น
(ถามเเค่นี้พอฮะ ถามเยอะมันจะดูไม่ดีไปหน่อย)
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
1. พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 1-3 เข้าใจว่าอ้างอิงจากพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวังอีกต่อหนึ่งครับ

พระบรมรูปเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้อำนวยการ โดยปั้นรูปขึ้นตามคำให้การของบุคคลที่เคยเห็นพระพักตร์ของรัชกาลที่ 1-4 ซึ่งในเวลานั้นช่วยกันบอกช่างให้ปรับแก้ไป สำหรับรัชกาลที่ 4 ไม่มีปัญหาเพราะมีทั้งพระบรมฉายาลักษณ์และรูปหล่อ ส่วนรัชกาลที่ 2 และ 3 ในเวลานั้นก็ยังมีผู้ทันเห็นอยู่มาก ส่วนรัชกาลที่ 1 มีผู้ทันเห็นอยู่เพียง 4 ท่าน


อ้างอิงจาก ความทรงจำ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า

        "การสร้างพระบรมรูป ๔ พระองค์นั้น โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างอย่างดีในพระองค์เองด้วย เป็นผู้อำนวยการ เมื่อปั้นหุ่นนั้นรู้พระลักษณะได้แน่แต่ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด เพราะมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่เป็นหลัก แต่ส่วนพระรูปโฉมนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมรูปปั้นอยู่แล้ว ต้องอาศัยไต่ถามผู้ที่ได้เคยเห็นพระองค์ให้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไขไปแต่แรกจนแล้ว ก็ในเวลานั้นผู้ที่เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีอยู่มาก แต่ผู้เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หาได้แต่ ๔ คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ พระองค์ ๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังองค์ ๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน ๑ กับเจ้าพระยาธรรมาฯ (ลมั่ง สนธิรัตน) คน ๑ ปั้นพระรูปสำเร็จได้หล่อเมื่อเดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ที่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในชั้นแรก"


ผมเคยอ่านเจอที่ไหนสักแห่งว่า กล่าวกันว่ารัชกาลที่ 3 มีพระพักตร์คล้ายรัชกาลที่ 1 แต่ทรงพีกว่า และรัชกาลที่ 4 ทรงจำได้ว่ารัชกาลที่ 1 ทรงมีพระฉวีคล้ำมาก เข้าใจว่าตอนปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 คงใช้จากพระบรมรูปรัชกาลที่ 3 เป็นแบบแล้วค่อยให้ผู้ที่เคยพบเห็นปรับแก้กันไปจนคิดว่าเหมือนที่สุดครับ

พระบรมรูปรัชกาลที่ 1


พระบรมรูปรัชกาลที่ 2 กับ รัชกาลที่ 4


พระบรมรูปรัชกาลที่ 3



2. จินตนาการทั้งหมดครับ  พระพักตร์พระเจ้ากรุงธนบุรีที่ไว้พระมัสสุ (หนวด) แบบที่คุ้นเคยกันเข้าใจว่ามีที่มาจากพระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ออกแบบใช้ใบหน้าของ อ.ทวี นันทขว้าง และ อ.จำรัส เกียรติก้อง เป็นแบบครับ https://www.silpa-mag.com/history/article_9277



3. เท่าที่มีหลักฐานคือพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์ ส่วนใหญ่วาดออกมาดูเป็นแขกไว้หนวดเคราหมด  ทั้งนี้เข้าใจว่าจิตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเข้ามาเมืองไทยวาดขึ้นตามจินตนาการมีบันทึกของผู้ที่เคยเข้าเฝ้าพระองค์ว่าทรงฉลองพระองค์แบบเปอร์เซีย (เข้าใจว่าคือ 'ฉลองพระองค์อย่างเทศ' ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องต้น) เลยวาดออกมาดูเป็นแขกไป   แต่มีบันทึกของผู้ที่เคยเข้าเฝ้าพระองค์ระบุคือเชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์แบ็ง (Chervalier de Forbin) หรือออกพระศักดิสงคราม  กับ  อ็องเดร เดส์ล็องส์-บูโร (André Deslandes-Boureau) เป็นผู้แทนราชบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส ระบุตรงกันว่าพระองค์ไม่ทรงไว้หนวดเคราครับ    

ทั้งนี้ภาพที่น่าจะใกล้เคียงของจริงที่สุดคือภาพรับพระราชสาส์นจากราชทูตเชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์  ที่ไม่ได้ทรงไว้หนวดเครา ทรงพระชฎายอดแหลมมีเกี้ยวสามชั้นครับ



นอกจากนี้มาภาพสมเด็จพระเพทราชาด้วย แต่พิจารณาแล้วเป็นการเอาภาพเหมือนของโกษาปานมากลับด้าน แล้วดัดแปลงเล็กน้อยเท่านั้นครับ

ภาพพิมพ์สมเด็จพระเพทราชา พระเจ้ากรุงสยาม (PITERA TJAY Rex Siam) ผลงานของ Gaspar Bouttats ช่างพิมพ์และช่างแกะสลักชาวเฟลมิช ในหนังสือภาษาดัตช์ชื่อ Revolutie ofte Staedts Veranderinghe Vooghevallen In Turchyen Cheduerende dese Eeuwe deser 1600. Tot 1690. ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1695 (พ.ศ. 2238)

ภาพพิมพ์ออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) ผลงานของโยฮันน์ ไฮเซลมานน์ (Johann Hainzelman) เมื่อ ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229)



4. คงต้องวิเคราะห์เอาว่าใครเป็นผู้วาด วาดขึ้นในช่วงเวลาใด และบริบทของการวาดนั้นเป็นแบบไหนครับ  เพราะต่างบริบทก็อาจจะทำให้รูปแบบภาพออกมาแตกต่างกันครับ  คนวาดคนละคนฝีมือแตกต่างกันภาพก็ออกมาไม่เหมือนกันได้เพราะภาพวาดไม่ใช่ภาพถ่าย  จิตรกรบางคนอาจได้รับคำสั่งให้วาดหน้าตาให้งดงามกว่าความเป็นจริง  บางคนก็วาดโดยไม่เคยพบผู้เป็นแบบหรือวาดขึ้นหลังผู้เป็นแบบตายไปแล้วโดยอาศัยภาพที่มีอยู่เดิมก็อาจผิดเพี้ยนไปได้  หรือหน้าตาของผู้เป็นแบบก็เปลี่ยนไปตามอายุได้  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าภาพวาดทุกภาพจะต้องมีน่าตาเหมือนกันหมดครับ  



5. ตามที่ คห. บนได้นำเสนอมาแล้วครับ  ภาพกษัตริย์ยุโรปที่หน้าตาไม่ดีมีจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือพระเจ้าการ์โลสที่ 2 (Charles II) แห่งสเปน กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ที่มีขากรรไกรใหญ่ยื่นมากจนพระทนต์สบกันไม่ได้ (แต่บางภาพก็ไม่ได้วาดให้ขากรรไกรยื่นมากนักครับ)



6. คนไทยสมัยโบราณไม่นิยมวาดภาพเหมือนหรือทำรูปเคารพเสมือนจริงในเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ครับ เพราะเชื่อกันว่าไม่เป็นมงคล อาจให้คุณให้โทษต่อผู้เป็นแบบได้ เช่นจะทำให้อายุสั้นหรือทำให้ผู้ไม่หวังดีเอาไปทำคุณไสยกฤตยาคม  เมื่อตายไปแล้วอาจจะมีการปั้นหล่อรูปเหมือนไว้บ้าง แต่อาจมีลักษณะเป็นอุดมคติไม่ได้มีความสมจริงตามหลักกายวิภาคนัก   เพราะจุดประสงค์คือสร้างเป็นรูปเคารพที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์  

สำหรับพระมหากษัตริย์พบว่ามักทำพระบรมรูปเป็นเทวรูปแทน เช่นในสมัยอยุทธยามีเทวรูปของพระเจ้าอู่ทองและสมเด็จพระนเรศวร  ซึ่งอาจจะไม่ได้มีลักษณะเหมือนจริง  ไม่ก็หล่อเป็นพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแทน

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์พบว่ามีการปั้นรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชหรือพระราชาคณะที่สิ้นไปแล้วบ้าง หรือรูปนายเรืองนายนกที่เผาตัวตายเพื่อแสดงศรัทธาในพระศาสนา ซึ่งพบว่าเริ่มมีการพัฒนาลักษณะกายวิภาคให้มีความสมจริงมากขึ้นครับ
https://so01.tci-thaijo.org/index.php/damrong/article/download/21550/18596/

ค่านิยมการทำรูปเสมือนจริง สันนิษฐานว่ามาจากการได้รับกระแสสัจนิยม (Realism) มากขึ้นจากยุโรปในช่วงรัชกาลที่ 3-4 ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่