แชร์ประสบการณ์ตรง โรคจิต PANIC PanicDisorder โรคแพนิค OCD ย้ำคิดย้ำทำ เพื่อความเข้าใจ รู้จักตนเอง และผู้อื่น

สวัสดีครับ กระทู้นี้ผมขอนำเรื่องจากประสบการณ์ตรงของเพื่อนผมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นความต้องการของเพื่อนเอง ที่อยากจะเผยแพร่เรื่องนี้ให้ทุกคนได้รู้จักกับโรคนี้มากขึ้น แต่ขออณุญาตไม่เปิดเผยชื่อ และชื่อคุณหมอ เพราะอาจมีผลกระทบก็เป็นได้ จึงขอป้องกันไว้ก่อน และขอให้ท่านได้รับฟังแต่เรื่องราวเอาไว้เป็นความรู้พื้นฐาน โดยไม่ต้องคิดว่าเป็นผู้ใดจะดีกว่า แต่ผมนั้นขอรับรองว่าเป็นความจริง เพราะก็อยู่ร่วมเหตุการณ์ในหลายครั้ง 

ส่วนตัวผมนั้นได้รู้ว่าเพื่อนคนนี้เป็นครั้งแรกก็ตกใจ และคิดว่ามันเป็นกันได้ขนาดนี้เลยหรอ ฟังดูน่ากลัว และคิดจินตนาการแทนไม่ออก และบางคนที่ได้ยินผิวเผินอาจนึกว่า เพื่อนผมเป็นบ้า อย่างที่คนเราชอบเหมารวมกันด้วยคำง่ายๆ แต่ความหมายมันทำลายล้างสูงมาก และมีผลต่ออาชีพการงาน ทั้งๆ ที่มันเป็นความผิดปกติของระบบบางอย่างในสมอง ซึ่งมันรักษาได้ เหมือนเราป่วยปกตินี่แหละ แต่แค่อาการมันน่ากลัว และเราไม่คุ้นชิน หากเราไม่รู้จัก หรือคุมสติไม่ดี ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้เลย ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องเศร้าของคนรอบข้างที่ยากจะลืมเลือน

ด้านล่างคือคำค้นหาของเพื่อน ตอนที่ต้องการความรู้ ความเข้าใจกับตัวเอง เลยขอแปะเอาไว้ด้วย เผื่อใครค้น จะได้มาเจอข้อมูลนี้บ้าง
#PANIC #PanicDisorder #โรคแพนิค #OCD #ย้ำคิดย้ำทำ #ObsessiveCompulsiveDisorder #โรคติกส์ #Tics
#จิตแพทย์ #โรคจิต #สารสื่อประสาทผิดปกติ #ขี้กังวล #กลัวแปลกๆ

เอาล่ะ ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ ด้วยบทความจากตัวเพื่อนผมเอง ดังนี้ (ด้านล่างต่อไปนี้ คือคำจากเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยครับ)

------------
 
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ เขียนขึ้น เพราะอยากให้เป็นวิทยาทาน ช่วยคนที่กำลังมีอาการคล้ายๆ กัน กำลังสับสนอยู่ว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะเข้าใจผิดว่า การไปพบจิตแพทย์ แปลว่า เป็นบ้า ได้ตระหนักว่าที่จริงแล้ว ขอเพียงเรารู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งมีทางรักษา และเข้าไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา ในที่สุดก็สามารถหาย และใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้

ก่อนจะเริ่มเล่าถึงอาการ คงต้องเกริ่นก่อนว่า ที่บ้านของเราทั้งญาติทางฝั่งพ่อและฝั่งแม่ มีประวัติเป็นโรคจิตเภท (เช่น หูแว่ว ระแวง พูดคนเดียว ซึ่งหมอบอกมาว่าเป็นโรคจิตเภท) โดยทางฝั่งของพ่อ ก็มีทั้งปู่ทวด และคุณอาที่เป็น ส่วนฝั่งของแม่ก็มีน้องชายของตาที่เป็นโรคประสาท ส่วนการใช้ชีวิตของเรานั้นก็ไม่ได้ทำให้คิดว่าเราจะป่วยเป็นโรคนี้ 
 
สมัยเด็กๆ เราเคยมีพฤติกรรม คือ เวลาปิดน้ำแล้ว ก็ต้องเดินกลับไปดูอีกทีว่าปิดหรือยัง มีความเชื่อแปลกๆ เช่น ถ้าเดินเข้าประตูไหน จะต้องเดินออกทางประตูนั้น รวมทั้ง ถือเคล็ดเรื่องตัวเลข จะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นลงตัวด้วยเลขนี้ที่เราเชื่อว่าเป็นเลขนำโชค ซึ่งก็มีพฤติกรรมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่อยู่ขั้นประถม จนกระทั่งโตขึ้น ความเชื่อเรื่องโชคลางถือเคล็ดตัวเลขก็ยังมีอยู่ เช่น ถ้าไปออนเซ็น จะต้องดำน้ำลงไป 3 รอบ แล้วจะโชคดี ซึ่งตัวเลขความเชื่อแบบนี้ เป็นสิ่งที่ตัวเรากำหนดเองทั้งหมด ถือเคล็ดเอาเองว่าถ้าลงด้วยเลขนี้แล้วถึงจะดี ซึ่งเราคิดว่าอาการเหล่านี้น่าจะเป็นอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder หรือ OCD)

อ่านอาการมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน ไม่ได้มีผลอะไรไม่ดีกับชีวิต ก็ปล่อยผ่านไปได้ 
(จากการสอบถามเพื่อนที่เป็นจิตแพทย์ในภายหลัง ก็ได้รับคำอธิบายว่า แพทย์จะวินิจฉัยว่าเราต้องรับการรักษา ก็ต่อเมื่อ อาการที่เกิดขึ้นกระทบสิ่งที่เรียกว่า ฟังก์ชั่น หรือก็คือ ความสามารถในการทำอะไรตามวัย เช่น ในวัยเรียน ถ้าอาการที่เกิดขึ้นกระทบการเรียนก็ต้องรักษา ในวัยทำงานถ้ากระทบการทำงานก็รักษา แต่ถ้าความเชื่อที่มี อาการที่เป็นบางอย่างไม่ได้กระทบฟังก์ชันก็ไม่มีปัญหาอะไร เช่น ถ้ารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างถึงจะไปเรียนได้ แต่ความคิดนี้ไม่ได้ทำให้ขาดเรียน ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีความเชื่อว่าต้องทำอะไรบางอย่างถึงจะไปเรียนได้ แล้วก็พยายามทำสิ่งนั้นจนไปโรงเรียนไม่ทันเวลาเข้าเรียน ก็ถือว่าเริ่มเป็นปัญหากระทบฟังก์ชั่นที่ควรรักษา)

ดูๆ ไปแล้ว สิ่งที่เป็นก็ยังอยู่ไม่น่ากังวลอะไร เพราะไม่ได้กระเทือนการใช้ชีวิตตามวัย แต่เรื่องที่จะเล่าต่อจากนี้ คือพัฒนาการของอาการ ที่ทำให้เราไปถึงขั้นที่รู้สึกว่า “เป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิต”  
อาการนี้เกิดขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมา ต้องบอกก่อนว่า โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่คิดมาก ขี้กังวล และชอบทำอะไรวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงปีที่แล้วชีวิตก็วุ่นวายจริงๆ มีเรื่องให้เครียดมากมาย ไหนจะกำลังทำบ้านใหม่  ไหนจะมีปัญหาเรื่องงานวุ่นวาย มิหนำซ้ำทางบ้านก็มีปัญหาให้ปวดหัวไม่ขาด เรียกว่าเจอศึกรอบด้าน ทั้งนอกบ้านในบ้าน เหมือนหลายสิ่งหลายอย่างกระหน่ำเข้ามาในชีวิต ซึ่งในตอนแรก ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเครียดหนัก หรือเริ่มมีปัญหา จนกระทั่งเริ่มมีอาการแปลกๆ ตามมา 

อาการที่ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่สร้างบ้านอยู่ เลยต้องย้ายไปนอนที่คอนโดมิเนียมชั้น 15 ในช่วงที่เข้านอน ก็เกิดความคิดผุดขึ้นมาเองในหัวว่า กลัวตัวเองจะกระโดดตึก ทั้งที่ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่จะทำ แต่ก็กลัวจะควบคุมตัวเองไม่ให้กระโดดไม่ได้ พอเป็นแบบนี้ก็เลยนอนไม่หลับเพราะความกลัว เป็นอย่างนี้อยู่หลายวันจนพอตกกลางคืนเมื่อไหร่ต้องเป็นกังวลเรื่องนี้เสมอ   

พอเป็นแบบนี้ ในหัวก็คิดว่า “กูเป็นอะไรวะ” แล้วก็เริ่มจากการแก้ไขเองที่ปลายเหตุ พยายามหนีความคิดที่เรากลัว ด้วยการเอากุญแจมาล็อคไม่ให้ออกไปนอกระเบียง ซึ่งก็ทำให้หายกังวลใจเรื่องที่ตัวเองจะกระโดดตึกไป เพราะล็อคกุญแจแล้วออกไปนอกระเบียงไม่ได้แน่นอน แต่กลายเป็นว่ามีอาการแปลกอื่นๆ มาแทนที่ นั่นก็คือ อยู่ดีๆ ก็อยากเอามีดมาแทงตาตัวเอง อยากควักลูกตาตัวเอง พอเป็นแบบนี้ก็เลยรู้สึกว่าชีวิตเริ่มอยู่ยากขึ้นแล้ว เพราะไอ้ของพวกนี้อยู่ใกล้ตัวทั้งนั้น 

ด้วยความที่มีเพื่อนเป็นจิตแพทย์ เราก็เลยลองปรึกษากับเพื่อน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้ไปปรึกษากับหมออีกคน เพราะกังวลเรื่อง Doctor-Patient Relationship  (การรักษาควรจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหมอและผู้ป่วยมากกว่าการรักษาแบบเพื่อนกับเพื่อน เช่น อาจจะมีบางเรื่องที่ผู้ป่วยไม่กล้าเล่าให้เพื่อนฟังเพราะความรู้จักกันเป็นส่วนตัว ซึ่งจะส่งผลต่อการวินิจฉัยได้ เป็นต้น)

หลังจากที่ไปพบจิตแพทย์ เล่าเรื่องทุกอย่างให้ฟัง ก็พบว่า สิ่งที่เป็นอยู่เรียกว่า โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder หรือ OCD) ซึ่งเกิดจากการที่สารสื่อประสาทบางอย่างทำงานผิดปกติ เลยทำให้เรามีอาการประหลาดๆ ขึ้นมา  

ในตอนแรกก็เริ่มการรักษาอาการแปลกๆ เหล่านี้ ด้วยการใช้วิธีบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (connective behavior therapy) ซึ่งก็คือการรักษาแบบไม่ใช้ยา แต่เป็นการใช้วิธีฝึกจิต โดยเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกกลัวอะไร ต้องไม่หนีสิ่งนั้น แต่ให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว 
ช่วงแรกที่เริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีฝึกจิต ก็รู้สึกว่า ได้ผล เช่น พอหยิบส้อมขึ้นมาแล้วกลัวตัวเองจะเอามาแทงลูกตา ก็จ้องไปที่ส้อม จนความกลัวไปถึงจุดสูงสุดแล้วก็คลายไปเอง แต่สิ่งที่ตามมาคือ พอเรารู้วิธีการสู้กับอาการ ก็พบว่าอาการเปลี่ยนไปอีก เช่น จากเดิมเคยมีอาการแบบนี้ตอนกลางคืน คราวนี้อาการก็เกิดขึ้นตอนกลางวัน และพอเริ่มกังวลกับสิ่งที่เป็นมากๆ ก็มีอาการอื่นตามมา นั่นก็คือ เริ่มควบคุมอวัยวะของตัวเองไม่ได้ เช่น การขยับมือ การเลิกตา(คล้ายการเหลือกตามองบน) จนเริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้วกับสิ่งที่เป็นเพราะอาการถาโถมเข้ามาหนักมาก ทั้งขับรถอยู่ แล้วอยู่ดีๆ ก็รู้สึกอยากจะขวางทางรถไฟ ไม่ให้รถไฟไป หรือเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ อยู่ดีๆ ก็รู้สึกแสบตา กระวนกระวายจนอยู่ในโรงภาพยนตร์ไม่ได้  ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่เราชอบมาก หรือกินน้ำในตอนกลางคืน ก็รู้สึกหายใจไม่ออก นอนหลับก็กลัวหลับไปแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีก พออาการหนักเข้า ก็เริ่มอยู่ในที่คนเยอะๆ ไม่ได้ ใจสั่นเหมือนหัวใจจะวาย กลัว ไม่อยากกิน ไม่อยากทำอะไร

พอเป็นหนักขนาดนี้ เลยรู้สึกว่าชีวิตจะมาถึงจุดจบแล้วหรอ ในที่สุดจึงกลับไปพบจิตแพทย์อีกครั้ง ซึ่งอาการที่เป็นในครั้งนี้ ก็เรียกว่าเป็นอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ OCD แบบเดิมที่เคยเป็น ผสมกับอาการของโรคติกส์ (Tics) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ที่ส่งผลให้เรามีอาการกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำๆ ควบคุมอวัยวะเหล่านี้ไม่ได้ เมื่อบวกรวมกับความเครียดที่สะสมในตัวด้วยแล้ว ทำให้มีอาการของโรคแพนิค (Panic)  

ในครั้งนี้ หมอจึงให้ยารักษากลับมา 1 ตัว และด้วยความที่เป็นคนไม่ศึกษาอะไรเกี่ยวกับยาเลย ไม่ได้สนใจรับฟังในรายละเอียดว่ายามีผลข้างเคียงอย่างไร ทั้งที่หมอก็บอกแล้วว่ากินยาแล้วมีผลข้างเคียง  ซึ่งเนื่องจากช่วงที่เริ่มกินยาเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ใครๆ ก็หยุดยาว รวมถึงคุณหมอด้วย คราวนี้ก็เลยงานเข้า เพราะพอกินยาไปวันแรก ก็มีผลข้างเคียงคือ กินข้าวไม่ลง จนเรารู้สึกกังวลเรื่องการกินยา แต่หมอไม่อยู่ ไม่รู้จะปรึกษาใคร ก็เลยลองโทรไปหาเพื่อนที่เป็นจิตแพทย์ดู ซึ่งก็นับว่ายังมีบุญอยู่บ้าง ที่เพื่อนเป็นจิตแพทย์ เลยทำให้มีคนมาอธิบายรายละเอียดผลข้างเคียงของยาให้ฟัง 

ด้วยความที่กังวลกับผลข้างเคียง ในที่สุดก็เลยตัดสินใจหยุดกินยาเองดื้อๆ แล้วในช่วงระหว่าง 2 สัปดาห์ หลังสงกรานต์ก็เดินสายเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรม เพราะหวังว่าอาจจะช่วยให้ดีขึ้น แต่ผลก็คือ ไม่ได้ช่วยอะไร 

พอเป็นแบบนี้ก็เลยอยากจะฝากไปถึงคนที่ชอบแนะนำคนที่เป็นโรคจิตเวช ไม่ว่าจะซึมเศร้า หรือจิตเภทให้เข้าวัดเข้าวา ว่า การเข้าวัดอาจจะให้ผลดีทางจิตใจได้บ้างในบางกรณี แต่สำหรับคนที่มีอาการหนักๆ เข้าวัดอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากสารสื่อประสาทในสมอง เป็นเรื่องทางประสาทวิทยา ไม่ใช่ทางจิตใจ หลอน หรือคิดจินตนาการไปเอง ฉะนั้นก็ต้องรักษาที่ต้นเหตุ โดยการพบจิตแพทย์และทานยา

ตอนนั้นนอกจากหาพระแล้ว อีกสิ่งที่ทำก็คือ ท่องโลกอินเทอร์เน็ต หาข้อมูลมากมาย ซึ่งข้อมูลที่มีก็มากมายจริงๆ มีคำแนะนำให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้แล้วจะดีขึ้น หรือมีคนที่เขียนว่า อาการแบบนี้เป็นแล้วไม่หาย จะเป็นทั้งชีวิต กลายเป็นว่ายิ่งอ่านไปก็ยิ่งรู้สึกหลอน รู้สึกกังวลหนักขึ้นไปอีก พอกังวลมากๆ เข้า ก็เลยรู้สึกว่า อยู่บ้านเองคงไม่ไหวแล้ว เลยไปหาเพื่อน และถือเป็นโชคดีที่อยู่ดีๆ เพื่อนคนนั้นก็แนะนำว่า หน้าปากซอยบ้านของเขามีโรงพยาบาลมนารมย์อยู่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของเอกชน ก็เลยได้ความรู้ใหม่ว่าโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชไม่ได้มีแค่ศรีธัญญาของรัฐบาล แต่ยังมีที่นี่ด้วย ที่สำคัญคือ มีจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็เลยไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งก็ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมมาอีกว่า ถ้ารู้สึกไม่ไหวแล้วกับอาการที่เป็นให้โทรไปปรึกษาแพทย์ได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ของกรมสุขภาพจิต ซึ่งพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่โรงพยาบาลมนารมย์เอง ถ้าไปพบหมอแล้ว พอกลับบ้านรู้สึกว่าอาการไม่ดี แต่ก็ยังไม่ได้เป็นอะไรหนักมาก ก็สามารถโทรไปที่โรงพยาบาลเพื่อให้คุณหมอโทรกลับได้  

------ พิมพ์ไม่จบ ยาวเกิน มีต่ออีกนิดหน่อยในคอมเม้นท์1ครับ -------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่