[CR] [Review] ดิว ไปด้วยกันนะ (2019)


[ ** โปรดระวังสปอยล์เนื้อหาสำคัญในบทความชิ้นนี้ ]

ไม่ได้ร้องไห้ น้ำหูน้ำตาไหลฟูมฟาย แต่ร้าวรานอย่างเงียบงัน และยังอยู่ในอารมณ์ดิ่งๆ สลับกับอิ่มเอมกับความหอมหวานของความรัก คล้ายๆ กำลังจะเสียสติอย่างไรอย่างนั้น แน่นอนว่า “ดิว ไปด้วยกันนะ” ทำให้เราหวนคิดถึงความรักในช่วงวัยรุ่นแบบเดียวกับตัวละคร แล้วพอสิ่งที่ตัวละครเผชิญมันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด และหล่อหลอมให้เค้ากลายเป็นผู้ใหญ่ที่แสนเปราะบาง มันก็ส่องสะท้อนถึงตัวเราเองด้วยเช่นกัน

.
ย้อนกลับไปในยุค 90 ณ เมืองเล็กๆ อย่าง “ปางน้อย” ภพกับดิวเป็นเพื่อนคนละห้องที่ค่อยๆ สานสัมพันธ์กันอย่างช้าๆ แต่แนบแน่นมากขึ้นทุกที จนถึงจุดหนึ่งทั้งคู่ก็ก้าวข้ามความเป็นเพื่อนไป เรื่องราวคุ้นๆ แบบในหนังเรื่องเก่าก่อนหรือซีรี่ส์วายที่สร้างกันดาษดื่น แต่ “มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” เลือกเติมบรรยากาศและเหตุการณ์ผันแปรบางอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จนทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่แตกสลาย ผ่านไปกว่ายี่สิบปี ภพได้กลับมาเป็นครูในโรงเรียนเดิมอีกครั้ง แล้วเค้าก็ได้พบกับ “หลิว” เด็กนักเรียนสาวในความดูแลที่ทำให้คิดถึงดิวขึ้นมาอีกครั้ง

.
พอหนังแยกเป็นสองพาร์ตอย่างเห็นได้ชัด แล้วมันก็มีมวลบรรยากาศที่ค่อนข้างแตกต่างกัน แถมหนังยังเลือกบทสรุปในแบบที่เราไม่คิดว่าจะ “กล้า” ให้ตัวละครเลือกเดินในทางนี้ เราเลยใช้เวลาตกตะกอนกับมวลอารมณ์อยู่นานมาก แล้วก็ค้นพบว่า เรา “ซื้อ” กับการที่ตัวละครทั้งหลายเลือกจะเห็นแก่ตัว หรือเทิดทูนบูชาความรักมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะอันที่จริง พวกเขาก็พยายามประนีประนอมกับกรอบสังคมต่างๆ มามากพอแล้ว

.
ชอบมากที่หนังเปรียบเทียบสถานการณ์และสร้างข้อจำกัดของสังคมให้เกิดขึ้นทั้งในสองพาร์ต สำหรับภพกับดิว ความเป็นเด็กเกย์ในยุค 90 มันคือสิ่งผิดบาป น่าอับอาย ต้องแก้ไข และปกปิด ส่วนภพกับหลิว ความรักความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน หนุ่มใหญ่กับเด็กสาวก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมกังขา ไม่เข้าใจ รังเกียจ และพร้อมด่าทอ เพราะในขณะที่เราค่อนข้างเข้าอกเข้าใจความเป็นเด็กเกย์ในยุคก่อน (ในฐานะที่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่เด็กตุ๊ดเกย์ในโรงเรียนคือสิ่งผิดบาปมาแล้วเหมือนกัน แล้วไหนจะการต้องเผชิญหน้ากับการร้องห่มร้องไห้ปานจะขาดใจ เมื่อแม่รู้ว่าลูกเป็นเกย์อีก) พอมาถึงเรื่องของภพกับหลิว เราเองก็ต้องปรับตราชั่งวัดความรักกับศีลธรรมในใจตัวเองด้วยเช่นกัน

.
ชอบการเล่นสนุกกับความเป็นหนังโรแมนติกแฟนตาซีเหนือจริงด้วย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเห็นมะเดี่ยวเล่นกับเรื่อง “การกลับมา” หรือ “ตัวตายตัวแทน” เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับตัวละครของ พลอย เฌอมาลย์ ใน “รักแห่งสยาม” แต่พอหนังมันเลือกมาในทางชัดเจนแบบนี้ มันก็เลยทำให้ “ดิว ไปด้วยกันนะ” กลายเป็นหนังชวนเหวอดีเหมือนกัน แต่ที่ทำให้เราเหวอยิ่งกว่าก็คือ การเลือกทางออกของตัวละครในฉากสุดท้าย ... เพราะโลกแห่งความเป็นจริง ความรักของคนสองคนมันเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย และเพราะโลกแห่งความเป็นจริงมันโหดร้าย...เหลือเกิน การที่ตัวละครเลือกจะทำแบบนั้น มันก็เลยทำให้เราทั้งเจ็บปวดและอิ่มเอม ...

.
แต่ ... ที่พีคยิ่งกว่าคือ พอข้อความเครดิตขึ้นมาว่า ด้วยความระลึกถึง พร้อมชื่อคนรักของมะเดี่ยว ผู้จากไป (มะเดี่ยวสูญเสียคนรักไปเมื่อไม่นานมานี้) มวลอารมณ์ทั้งหมดของฉากจบที่เพิ่งผ่านไปเมื่อกี้ ก็เปลี่ยนไปอีกโทนนึงเลย คำพูดของตัวละครว่า “มันมีทางไปต่อแหละ” มันทำให้เรามองเห็นความหวังในความรักของตัวละคร และความหวังของการได้พบเจอกับคนรักที่สำคัญที่สุดในชีวิตอีกครั้ง ณ วันใดวันหนึ่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วมันก็เป็นจดหมายรักที่งดงามเหลือเกิน

** เพิ่มเติม : เราคิดว่า ตัวละครมันเชื่อว่า ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดไปแล้วน่ะ อย่างที่ตัวละครบอกไว้ว่า มันก็แค่เหมือนหลับไปนานๆ แล้วตื่นขึ้นมา ความตายของตัวละครมันก็เลยเหมือน "การเดินทาง" แล้วมันก็ย้อนกลับไปที่ชื่อเรื่อง "ดิว ไปด้วยกันนะ" หรือรายละเอียดระหว่างทาง ที่ตัวละครมันชวนกันเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยกันหลายครั้ง หรือแม้แต่ครั้งสำคัญที่ภพชวนดิวให้เดินทางหนีไปด้วยกัน

เราก็เลยคิดว่าหนังมันเหวอดี ที่เหมือนจะเชิดชูความตาย และบอกกับเราว่า ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และการเลือกที่จะตายก็เป็นสิทธิ์ของคนทุกคน อะไรแบบนั้น

เราว่ามันนานมากแล้วที่ไม่มีหนังไทยที่เชิดชูความรักให้อยู่เหนือสิ่งอื่นใดแบบนี้ อย่างที่บอกแหละว่า มันเป็นความเห็นแก่ตัว และบูชาความรักจนไม่สนใจอะไรอื่นในชีวิตเลย แล้วมันก็โรแมนติกมากขึ้นไปอีก ที่เราได้เห็นว่า มะเดี่ยวกำลังบอกกับคนรักว่า เดี๋ยวเราก็จะได้พบกันอีกนะ

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ เพจ ชีวิตผมก็เหมือนหนัง
ชื่อสินค้า:   ดิว ไปด้วยกันนะ
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่