การรักษาและการออกกำลังกายในผู้ที่มีข้อไหล่เสื่อม

โรคข้อไหล่เสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
                    1. ข้อไหล่เสื่อมตามอายุการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบการเสื่อมในคนไข้อายุมากกว่า 60 ปี
                        ที่เคยใช้งานข้อไหล่หนักมาก่อน
                    2. ภาวะข้ออักเสบชนิดต่างๆ เช่น รูมาตอย์, โรคเกาท์, โรคลูบัส, ฯลฯ จะเกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ
                        ทำให้เยื้อหุ้มข้อหนาตัวขึ้นแล้วไปเกาะติดกระดูกอ่อนผิวข้อ จนทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมกลายเป็น
                        ภาวะข้อไหล่เสื่อมในที่สุด ซึ่งโรคข้ออักเสบที่ทำให้เกิดภาวะข้อไหล่เสื่อมมากที่สุดคือ
                        โรครูมาตอย์  (Rheumatoid Arthritis)
                   3.  ภาวการณ์บาดเจ็บต่อข้อไหล่ชนิดต่างๆ ไม่ว่าเป็นกระดูกหัก ผิวข้อแตกยุบ หรือข้อไหล่หลุด ก็จะเป็นเหตุ
                        ทำให้เกิดข้อไหล่เสื่อมได้เร็วกว่าปกติ
                   4. กรณีที่เอ็นหมุนรอบข้อไหล่ (Rotator Cuff tendon) ฉีกขาดรุนแรงเป็นเวลานานก็จะเป็นเหตุทำให้เกิดข้อไหล่เสื่อม
                       เนื่องจากเมื่อเอ็นรอบข้อไหล่ขาดขนาดใหญ่ หัวกระดูกก็จะเลื่อนขึ้นด้านบนและไม่ได้อยู่กลางเบ้า
                       เวลามีการเคลื่อนไหวข้อไหล่ก็จะเกิดการขบกันของหัวกระดูกกับขอบเบ้าด้านบน ทำให้ผิวข้อเสื่อม
                       อีกทั้งน้ำไขข้อก็จะรั่วออกนอกข้อ เมื่อขาดน้ำเลี้ยงในข้อก็จะทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมได้เร็ว
                       จึงเป็นเหตุเร่งให้เกิดข้อไหล่เสื่อมในที่สุด

            อาการของข้อไหล่เสื่อม (Symptoms)
                     1. อาการปวด (Pain) เป็นอาการที่พบได้ชัดเจนที่สุด คนไข้มักมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อไหล่
                         เช่น ยกแขน, กางแขนเอื้อมหยิบของ, หมุนแขน เป็นต้น และเมื่อข้อเสื่อมเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการปวดได้
                         แม้จะอยู่นิ่งๆ เช่น เวลานอนก็ปวด นอนทับไหล่ก็ปวด
                     2. เคลื่อนไหวข้อได้ลดลง (Limited Motion) หรือไหล่ติดยึด คนไข้จะไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนไปได้สุดเหมือนคนปกติ
                         เช่น ไม่สามารถหวีผมเอง,ไม่สามาถเอื่อมไปหยิบของที่ชั้นวางของ อาการไหล่ติดยึดจะเป็นมากโดยเฉพาะ
                         หลังจากที่ไม่ได้เคลื่อนไหวไหล่เป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่นพึ่งตื่นนอนไหล่จะติดยึดมาก
                     3. กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Weakness) เมื่อมีข้อเสื่อมการเคลื่อนไหวลดลง กล้ามเนื้อโดยรอบก็จะลีบและอ่อนแรง
                         หรือกรณีที่ข้อไหล่เสื่อมจากเอ็นหมุนรอบข้อไหล่ฉีกขาดรุนแรงเรื้อรัง ก็จะมีอาการอ่อนแรงอย่างชัดเจน
                     4. มีเสียงในข้อ (Crepitus) อาจจะมีเสียงในข้อเวลาเคลื่อนไหวข้อ

            การวินิจฉัย
                     1. ประวัติ แพทย์จะซักประวัติโรคข้ออักเสบในส่วนอื่นๆซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรครูมาตอย์ ประวัติการบาดเจ็บ
                                  บริเวณข้อไหล่ไม่จะเป็นข้อไหล่หลุดหรือแตกหัก ประวัติการรักษาเอ็นหมุนรอบข้อไหล่อักเสบ
                                  และประวัติการใช้งานข้อไหล่หนัก เช่น ยกของหนัก หรือต้องใช้แรงแขนค่อนข้างมากเป็นเวลานาน เป็นต้น
                     2. การตรวจร่างกาย แพทย์จะประเมินอาการปวดของคนไข้ โดยพิจารณาตำแหน่งที่ปวด อาการปวดจากการเคลื่อนไหว
                                  หรือการกด ประเมินระยะการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ว่ามีไหล่ติดหรือไม่ มีการอ่อนแรงหรือไม่
                                  ประเมินพยาธิสภาพของอวัยวะโดยรอบข้อไหล่ เช่น เอ็นต่างๆโดยรอบข้อไหล่ ข้อและกระดูกที่อยู่โดยรอบ
                    3. เอกซเรย์ จะสามารถบอกระดับความรุนแรงของการเสื่อมได้ โดยทั่วไปจะพบว่าช่องในข้อไหล่แคบลง
                                  ผิวข้อขรุขระ มีกระดูกงอกหรือพบเศษกระดูกหลุดลอยในข้อ เป็นต้น
                    4. การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจเลือด,  ตรวจน้ำไขข้อ, ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (MRI, CT) จะช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุ
                                  ของข้อเสื่อม รวมถึงช่วยประเมินสภาพของกระดูกข้อไหล่ทั้งหัวกระดูกและเบ้า

            การรักษา
            การรักษาข้อไหล่เสื่อมก็คล้ายๆกับข้อเสื่อมอื่นๆ คือ เริ่มจากการรักษาแบบประคับประคอง หรือไม่ผ่าตัด (Nonsurgical Treatment) หากการรักษาไม่ได้ผลจึงจะพิจารณาผ่าตัดซึ่งก็มีหลายวิธีและเหมาะสมกับคนไข้แตกต่างกัน
            
                   การรักษาแบบไม่ผ่าตัด (Nonsurgical Treatment)
                             1. พักการใช้แขนข้างที่มีปัญหา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อไหล่ในชีวิตประจำวัน เช่น
ใส่เสื้อที่เป็นกระดุมหรือซิบทางด้านหน้าแทนการใส่เสื้อแบบสวมหัว เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องยกแขนสูง จัดวางของที่ต้องใช้ประจำ
อยู่ในระดับที่ไม่ต้องเอื้อมแขนสูง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องกางแขนเป็นเวลานาน เช่น ใช้เครื่องเป่าผม, การเอื้อมจับราวบนรถประจำทาง
หรือรถไฟ, หลีกเลี่ยงการหิ้ว ยก ดึง และดันของหนัก และหลีกเลี่ยงกิจกรรมใดๆที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่
                             2. ประคบด้วยความเย็นประมาณ 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ
หากไม่มีอาการ บวม แดง ร้อน ให้ใช้การประคบด้วยความร้อนจะสามารถลดอาการปวดและการตึงยึดของกล้ามเนื้อได้
                             3. การทำกายภาพและบริหารข้อไหล่ตามที่แพทย์แนะนำ โดยจะบริหารทั้งในส่วนของการเพิ่มความยืดหยุ่น
และการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยรอบข้อไหล่ ซึ่งการบริหารต่างๆเหล่านี้จะทำให้เกิดการอ่อนล้า
และตึงบริเวณข้อไหล่และต้นแขน แต่จะต้องไม่ทำให้เกิดอาการปวด
                                      3.1. Stretching and ROM Exercise: ได้แก่
                                                              Pendulum Exercise: โดยการโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย ทิ้งน้ำหนักแขนลง
                                                                      แล้วค่อยๆหมุนแขนเป็นวงกลม จากวงเล็กแล้วค่อยๆขยายเป็นวงใหญ่ขึ้น
                                                                      ทำประมาณ 20 รอบ จากนั้นก็กลับทิศทางการหมุน บางครั้งอาจถือน้ำหนักเบาๆ
                                                                      ที่มือขณะหมุนแขนก็ได้
                                                              Shoulder Circles: โดยการนั่งหรือยืนตรง โน้มไหล่ไปด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง แล้วยกไหล่ขึ้น
                                                                      และหมุนไหล่ไปด้านหลังคล้ายการหมุนเป็นวงกลม ทำประมาณ 20 รอบ
                                                                      จากนั้นก็กลับทิศทางการหมุน
                                     3.2 Strengthening Exercise: เป็นการบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยรอบข้อไหล่
                                                              ในทิศทางต่าง ๆ เช่น หมุนไหล่ออกด้านนอก  หมุนไหล่เข้าข้างใน
                                                              ยกแขนไปด้านหน้า เหยียดแขนไปด้านหลัง และกางแขน
                             4. ทานยาเพื่อลดอาการปวดและอักเสบ
                             5. ฉีดยาลดปวด

โดยฟิสิคอล คลินิกกายภาพบำบัด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่