หมอคนสุดท้ายที่ปลายทาง ตอน วางแผนกับการเสียชีวิตอย่างไรดีเมื่อเวลามาถึง

ความตายเป็นความไม่แน่นอนที่แน่นอน
แม้ว่าในตอนที่แล้วเราได้พูดคุยกันแล้วว่าคนเราไปสู่ปลายทางของชีวิตได้แบบไหนบ้าง ซึ่งบางกรณีที่มันอาจเกิดขึ้นแบบปุบปับ หลายคนอาจหวังให้เป็นเช่นนี้เพื่อที่จะได้ไม่ทรมาน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังอาจเกิดปัญหาอะไรได้มากมาย และแม้แต่ในคนที่เป็นโรคที่ร้ายแรงมีแนวทางมีขั้นตอนที่ค่อนข้างแน่ชัดรู้แน่ว่าปลายทางต้องเข้ามาถึง แต่ก็จะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่า เวลา จะมาถึงเมื่อไร 

หลายคนมักจะเลือกที่จะปล่อยผ่านประเด็นนี้ไป จนกระทั่งวันหนึ่งมันเข้ามาถึง ซึ่งบ่อยครั้งตัวเราเองไม่ได้มีความสามารถในการตัดสินใจนั้น มันคงจะเป็นการดีกว่าที่เราจะได้เลือกในอย่างที่เราต้องการเอง

ทางเลือกที่ปลายทางมีอะไรบ้าง
ในหนังในละครเรามักจะชินกับภาพจำที่ว่าคนไข้หมดลมหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น หมอและพยาบาลก็จะเข้ามาทำการกู้ชีพด้วยการกดหน้าอกปั๊มหัวใจบ้าง กระตุกไฟฟ้าบ้าง ซึ่งผลลัพธ์ก็ขึ้นกับบทละคร แต่มีการศึกษาไว้ครับว่า ในหนังในละครอัตราการกู้ชีพสำเร็จสูงกว่าความเป็นจริงมากทำให้มุมมองของประชาชนเข้าใจว่าการกู้ชีพตรงนี้มีโอกาสสูงพอสมควร ยังไม่นับว่าในความเป็นจริงมันมีทางเลือกอื่นๆอีก

๑ สู้เต็มที่
ทางเลือกนี้มักเป็นทางเลือกที่มักจะได้ยินเสมออาจเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและค่านิยม โดยทางเลือกนี้คือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีโอกาสรอดชีวิตจากสถานการณ์ตรงหน้ามากที่สุด เช่น หายใจไม่ไหวก็ใส่ท่อช่วยหายใจ หัวใจหยุดเต้นก็ปั๊มหัวใจ กินไม่ได้ก็ใส่สายยางให้อาหารเป็นต้น อันที่จริงทางเลือกเหล่านี้คือสิ่งที่หมอจะทำโดยไม่ต้องร้องขอเสมอ เหมาะสมมากกับการที่ต้องยื้อเวลาให้ผ่านวิกฤติไปแล้วร่างกายหรือการรักษาอื่นๆที่ให้ออกฤทธิ์จนหายป่วย แต่ในคนไข้หลายคนสถานการณ์มันไม่เป็นเช่นนั้น เขากำลังเผชิญปัญหาที่ไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้อีกแล้ว การสู้หรือยื้อต่อไปกลับสร้างความทรมานมากกว่า

๒ ไม่ทำอะไรเลย
ในคนไข้บางคนเมื่อโรคมันหมดหนทางรักษาหรือโรคได้สร้างความทุกข์ทรมานอย่างมากโดยมีโอกาสน้อยมากที่จะดีขึ้น ก็อาจจะไม่ต้องการที่จะยื้อสังขารอันป่วยไข้อีกต่อไป ในความเข้าใจของคนส่วนหนึ่งจะเชื่อว่าทางเลือกของการไม่สู้คือ ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งมันอาจจะทรมานเพราะมีอาการรบกวนไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อย อาการปวดทรมาน จึงเป้นหนึ่งในเหตุที่มักจะเลือก สู้ มากกว่าปล่อย ทางเลือกนี้เองทางการแพทย์ก็ไม่สนับสนุนนะครับ เพราะเรามีทางออกที่ดีกว่าคือทางเลือกที่สาม

๓ ประคับประคอง
ในมุมหนึ่งหลายคนอาจมองว่าประคับประคองคือไม่ทำอะไรเลย ซึ่งอาจจะถูกในหลายกรณีที่มันไม่มีอะไรไปรบกวนปลายทางของคนไข้ เราก็ไม่มีเหตุและผลอะไรที่ต้องไปทำอะไรให้มากมาย แต่เชื่อเถิดว่า การประคับประคองที่ดี มีอะไรให้ทำได้มากมายเสมอ ยกตัวอย่างในด้านความเจ็บป่วยทางกายเราสามารถให้ยาหรือการบำบัดบรรเทาอาการเหล่านั้นโดยไม่ใช้เครื่องมือหรือการกระทำที่เจ็บตัวกับคนไข้ ในด้านจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เราก็จะคอยสนับสนุนในสิ่งที่มีความหมายต่อตัวผู้ป่วย พยายามช่วยให้ความหวังความฝันที่มีโอกาสเป็นจริงได้เกิดขึ้น และในปัจจุบันเรายังมองต่อไปถึงคนข้างหลังของผู้ป่วยเมื่อจากไปว่าเขาสามารถรับมือและก้าวต่อไปได้

ประเด็นที่มักจะต้องตัดสินใจ
ส่วนมากแล้วจะเป็นการรักษาที่มีผลกระทบมากหรือเจ็บปวดมาก จึงต้องคิดและตัดสินใจว่าประโยชน์มันคุ้มค่าความเสี่ยงหรือไม่แค่ไหน ในหลายกรณีเช่นโรคมะเร็งที่ไม่มีการรักษาที่ดีเหลือแล้ว ประโยชน์ของการรักษาเหล่านี้จะลดลงมากจนไม่คุ้มค่าอีกต่อไป แต่ก็ขึ้นกับมุมมองและบริบทของแต่ละครอบครัว

๑ การกดหน้าอกปั๊มหัวใจ หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ CPR หัตถการนี้เป็นการกดหน้าอกให้ลึกพอที่จะเกิดแรงกดลงไปบนหัวใจเพื่อบังคับให้หัวใจยังสูบฉีดเลือดออกไป หากเหตุที่ทำให้มาถึงจุดนี้ไม่สามารถทำให้หมดไปได้การปั๊มขึ้นมาได้ก็จะลงเอยที่จุดเดิมซ้ำๆจนกว่าจะไม่สำเร็จ ทางเลือกของการไม่ทำหัตถการนี้เช่น การปล่อยให้คนไข้ได้เสียชีวิตจากโณคที่เป็นเป็นการยุติความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น

๒ การใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นการใส่ท่อซิลิโคนทางปากเข้าไปที่หลอดลมโดยตรง เพื่อใช้เป็นทางเดินหายใจและสามารถใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วยได้ มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยซึมมากเพื่อป้องกันการสำลักหรือกรณีที่หายใจไม่ไหว ซึ่งหากเกิดขึ้นจากโรคที่รักาาให้ดีขึ้นไม่ได้เช่นมะเร็งก็อาจจะลงเอยที่ใส่ท่อตลอดไป พูดไม่มีเสียงกินทางปากไม่ได้ ทางเลือกของการไม่ทำหัตถการนี้คือ การให้ยาเพื่อช่วยระงับความทรมานจากการหายใจไม่ไหว การให้ออกซิเจนดมผ่านจมูกหากมีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด เป็นต้น

๓ การเจาะคอ ในกรณีที่ต้องใส่ท่อตามข้อสองนานๆหรือมีการอุดตันทางเดินหายใจส่วนต้นหรือไม่มีแรงขับเสมหะออกเอง ก็จะเป็นการสร้างทางผ่านให้หายใจได้หรือดูดเอาสมหะออกได้ หัตถการนี้หากทำในคนไข้ที่ไม่รู้ตัวแล้วและปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้มักจะลงเอยด้วยการที่คนไข้จะอยู่กับการเจาะคอไปตลอด ซึ่งญาติจะต้องมีความพร้อมในการดูแลต่อไปหากรอดชีวิตได้กลับบ้าน ทางเลือกของการไม่เจาะคอเช่น การเอาท่อช่วยหายใจออกเพื่อเป็นการยุติการยื้อความตาย หรือ การใช้ยาที่ช่วยลดเสมหะเป็นต้น

๔ การให้อาหารทางสายยาง
หลายคนมองว่าเรื่องนี้ต้องตัดสินใจด้วยหรือ ไม่ให้ได้ด้วยหรือ อาหารแม้จะเป็นปัจจัยสี่แต่การให้อาหารทางสายยางนั้นไม่นับเป็นอาหารตามปกติ มันอาจจะช่วยยื้อสังขารออกไปได้แต่มันอาจไม่ได้สร้างความสุขสบายเหมือนอาหารจริงๆ ในบางคนกลับทรมานเพราะอาหารที่ให้ผ่านเข้าไป ทรมานกับสายที่มีอยู่ ความจริงอย่างหนึ่งคือเมื่อร่างกายมาสู่ปลายทางความหิวจะน้อยลงมากถึงแม้ไม่กินและการกินใช้พลังงานที่เหลือน้อยนิดจนอาจจะยิ่งแย่ลงได้

กฏหมายว่าไว้อย่างไร
มาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐ ได้กำหนดไว้ว่า
"บุคคล มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียง เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้"

การดำเนินการตามหนังสือแสดง เจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่ง แล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

หมายความว่าทุกคนมีสิทธิ์จะทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะปฏิเสธการรักษาต่างๆได้ หากเป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ปฏิเสธได้หากมันเป็นเพียงการยืดการตายแม้ว่าผลของการปฏิเสธนั้นจะนำมาสู่ความตาย การตายแบบนี้ไม่ใช่การฆ่าตัวตายหรือการช่วยฆ่าให้ตายโดยแพทย์ แต่เป็นเพียงการยินยอมให้ผุ้ป่วยได้มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคที่เป็น อันที่จริงแล้วมันคือสิ่งที่เราปฏิบัติกันมานานแต่เพิ่งมีกฏหมายรองรับได้ไม่นาน (เคยมีการฟ้องร้องทางปกครองอยู่ระยะหนึ่ง) ทำให้การประคับประคองของบ้านเรามีความล่าช้าในการพัฒนาอยู่พอสมควร

สิ่งที่ไม่ต้องกังวลเลยคือ แม้เราจะมีหนังสือแสดงเจตนาแต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ในโรคที่เป็นวาระสุดท้าย แพทย์ก็ยังให้การรักษาต่อไปตามปกติได้

แล้วทำไมต้องตัดสินใจล่วงหน้า
ราวๆ 80% ของคนทั่วไปเมื่อได้เข้าใจข้อดีข้อเสียของหนังสือแสดงเจตนาจะบอกว่ามันมีความสำคัญ มีความสนใจที่อยากจะมี แต่ราวๆ หนึ่งในสี่ เท่านั้นที่นำไปสู่การเตรียมหนังสือแสดงเจตนาไว้ คำถามคือทำไมต้องตัดสินใจล่วงหน้าล่ะ

เพราะความตายคือความไม่แน่นอน 
หลายคนมาถึงจุดปลายทางโดยไม่รู้ตัว ภาระในการตัดสินใจก็จะตกอยู่แก่คนอันเป็นที่รัก(บางที่ก็ที่ชัง) ซึ่งยากจะตัดสินใจแทนได้ง่ายๆ ในการปล่อย จนนำมาสู่การรักษาที่ไม่ต้องการ เช่นการเจาะคอนอนเป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งไม่มีใครบอกได้หรอกครับว่าแต่ละคนต้องการอย่างไร รับได้หรือไม่ ดังนั้นคงดีกว่าหากเราเป้นคนตัดสินใจด้วยตนเอง

บางครั้งไม่มีเวลามากพอให้คิดตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน
อ่านบทความนี้แล้วลองจินตนาการดูว่าถ้าหมอมาให้ข้อมูลเหล่านี้แล้วต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างในไม่กี่นาทีเราคงไม่ได้ ดังนั้นตัดสินใจล่วงหน้าย่อมเป็นการดีที่สุด จะได้มีเวลาคิดและทบทวนกันก่อน

ยังตัดสินใจไม่ได้ทำอย่างไรดี
ไม่ใช่เรื่องแปลกครับที่เราจะตัดสินใจล่วงหน้าไม่ถูก ทางออกหนึ่งที่ผมมองว่าดีมากคือ การกำหนดผู้มีอำนาจตัดสินใจแทน หมายความว่าหากมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ ผู้ป่วยไม่มีสติแล้ว คนๆนั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจแทนเรา การเลือกตัวแทนนี้มีประโยชน์หลายอย่างนอกจากการที่ยังตัดสินใจในบางประเด็นไม่ได้ เช่น ลดปัญหาความขัดแย้งของหมู่ญาติหรือคนที่เรารัก นึกภาพของคนป่วยที่มีลูกหนึ่งคนดูแล คนที่ดูแลรู้ทุกเรื่องรู้ว่าคนไข้ต้องทรมานแค่ไหน รู้ว่าคนไข้ไม่ต้องการยื้อต่อไปหาเวลามาถึง แต่เมื่อถึงเวลาญาติจากแดนไกล ญาติที่แสนกตัญญูแต่ไม่เคยมาดุแลกลับเสียงดังกว่าในการตัดสินใจจนเลือกที่จะยื้อทรมานต่อไปแม้ว่าไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วย หากเรา ได้เลือกไว้ก่อนแล้วปัญหาเหล่านี้ย่อมทุเลาหรือเบาบางไปได้ครับ

อ่านจบแล้วใครมีประสบการณ์อะไร โดยเฉพาะการตัดสินใจเมื่อคนที่รักมาสู่ปลายทางมาแชร์กันได้นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่