หมอคนสุดท้ายที่ปลายทาง ตอน คนเราจะตายกันแบบไหนบ้าง

วิถีแห่งความตาย มี ๕ แบบ
- แม้ว่าความตายจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อความตายนั้นใกล้เข้ามาก็เป็นธรรมดาเช่นกันที่ปุถุชนคนธรรมดาจะมีความกลัวหรือกังวล แพทย์ที่ดูแลรักษาแม้ว่าจะไม่สามารถบอกได้ว่าคนไข้ของเราคนไหนจะตายอย่างไรเมื่อไร แต่เราพบว่าวิถีแห่งความตายหรือการเปลี่ยนแปลงจากปกติไปสู่ความตายมีลักษณะคล้ายๆกันแบ่งเป็น ๕ ประการซึ่งจะกล่าวต่อไปด้านล่าง  

รู้ไปทำไม
- การรู้จักวิถีแห่งความตายจะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของโลกคือความเจ็บป่วยและความตายได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้หลายคนได้ฉุกคิดว่าความตายนั้นแท้จริงอาจใกล้เข้ามาสู่คนที่เรารัก อาจช่วยให้เขาเหล่านั้นเลือกที่จะใช้เวลาต่างๆอย่างคุ้มค่า หรือ เลือกที่จะจัดการธุระที่อาจค้างคาแต่เนิ่น รวมทั้ง ยังอาจช่วยให้ได้มีโอกาสวางแผนการตายด้วยตนเอง การรู้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ปลายทางเช่นในคนไข้โรคมะเร็งนั้นพบว่าจะช่วยให้ผู้ที่ดูแลมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงและลดความวิตกกังวลกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

วิถีที่ ๑ ปัจจุบันทันด่วน

วิถีแรกนี้มักจะคุ้นเคยกันดีในกรณีอุบัติเหตุร้ายแรงที่เสียชีวิตในทันที แต่ในความเป็นจริงแล้วมีโรคมากมายที่สามารถเปลี่ยนแปลงเฉียบพลันจากคุยกันอยู่ดีๆก็จากไปในเวลาไม่ถึงชั่วโมงเช่นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองและแตก เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันและมีภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาแต่ผู้ที่อยู่ต่อก็จะเจอปัญหาที่ต้องรับมือกับการสูญเสีย สิ่งที่เราทุกคนควรทำคือ ทำในทุกๆวันทุกชั่วขณะให้ดีที่สุด มีความตายเป็นเพื่อนคือพร้อมที่จะตายหากต้องตาย ไม่มีภาระพันธะใดๆที่คนข้างหลังต้องลำบาก เช่นการมีพินัยกรรม การมีประกันชีวิตเป็นต้น และหากเป็นไปได้ควรมีการทำพินัยกรรมชีวิตไว้ด้วยว่าหากความตายมาถึงจะต้องการให้ทำอะไรแค่ไหน ยื้อไว้มากน้อยแค่ไหน 

วิถีที่ ๒ โรคมะเร็ง

วิถีนี้มีโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายเป็นตัวแทนแต่ในความเป็นจริงก็จะมีโรคร้ายแรงบางอย่างด้วยที่จะพบการเสื่อมถอยของร่างกายอย่างต่อเนื่อง ลักษณะสำคัญคือมีการลดลงของสภาพร่างกายอย่างต่อเนื่องและการลดลงนั้นเป็นอัตราเร่งกล่าวคือยิ่งเวลานานไปยิ่งทรุดลงเร็วมากขึ้นเหมือนกับการกลิ้งตกหน้าผาที่ความเร็วจะยิ่งทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ผู้ดูแลจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ จนบางคนมักบอกหมอว่า ทำไม ช่วงหลังมานี้ถดถอยเร็วเหลือเกิน 

สิ่งสำคัญของวิถีนี้คือการดูแลแบบประคับประคองควรเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกเลยแม้ว่าร่างกายจะแข็งแรงอยู่โดยเน้นที่การเตรียมพร้อม การจัดการธุระที่ค้างคา และการเตรียมพินัยกรรมชีวิตไว้ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าระยะจนถึงขอบหน้าผามันอีกนานแค่ไหน แต่มันคงมาแน่ๆ 

อีกสิ่งที่มักจะสังเกตกันได้คือ ระดับของการถดถอยนั้นมักเป็นไปในทางเดียวกันกล่าวคือ จากแข็งแรงดี เริ่มมีการงดเว้นบางกิจกกรมเช่นการออกกำลังกาย การทำงาน ต่อมาก้อจะเริ่มช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงต้องมีคนคอยช่วยเหลือ ต่อมาก้อจะเริ่มติดเตียงเดินไม่ไหวแทบจะมีคนช่วยเหลือตอลอดเวลา จากนั้นก็จะนอนติดเตียงตลอดแต่ยังรู้ตัวดี ในจุดนี้เวลามักเหลือในหลักสัปดาห์ถึงเดือน แต่ถ้าถดถอยลงจนเหลือเพียงนอนอย่างอย่างเดียว ไม่กิน ไม่ตื่น เวลาก้อมักจะเหลือในหลักวันถึงสัปดาห์ และเมื่อวันท้ายๆมาถึงก็มักจะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการหยุดทำงานของอวัยวะต่างๆเช่น ปัสสาวะออกน้อยลงมาก ไม่ตื่น ไม่มีการตอบสนอง หายใจเฮือก มีเสียงเสมหะในลำคอเหมือนจมน้ำ แต่บางคนอาจมีปรากฏการณ์ที่เหมือนเปลวเทียนวูบสุดท้ายคือ จู่ๆตื่นขึ้นดูแข็งแรงแล้ววูบจากไปเหมือนแสงสุดท้ายของเปลวเทียน
 

วิถีที่ ๓ อวัยวะล้มเหลว

วิถีนี้สามารถพบได้บ่อยในแผนกอายุรกรรมเช่น ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคไตเสื่อม ลักษณะสำคัญคือมีการถดถอยอย่างต่อเนื่องของร่างกาย จะช้าจะเร็วขึ้นกับโรค ขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกาย และในบางขณะจะมีอาการรุนแรงแทรกซ้อนซึ่งเมื่อรักษาก็จะมีอาการดีขึ้น แต่มักไม่กลับมาเหมือนเดิม เช่นผู้ป่วยถุงลมโป่งพองมีอาการหอบกำเริบรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจหลังเอาท่อออกได้สำเร็จกลับบ้านไปก็จะเห็นว่าร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิมอีก การกำเริบเหล่านี้มักเกิดขึ้นซ้ำๆและถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น (ตามกราฟ)

แต่สิ่งที่ผู้ดูแลมักจะมองคือ เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นได้เหมือนเดิม เดี๋ยวหมอก็รักษาได้ จนลืมไปว่าบางครั้งรอบนี้อาจไม่เหมือนเดิมก้อได้ ทำให้มักพลาดโอกาสที่จะได้วางแผนชีวิตเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้นได้ รอบที่แล้วยังผ่านมาได้เลย แพทย์เองก็มักจะปล่อยโอกาสเมื่อผู้ป่วยดีขึ้นซึ่งเป็นจุดที่ดีที่สุดที่จะได้พูดคุยกับผู้ป่วยว่าเขาต้องการให้หมอช่วยอย่างไรหากมีปัญหาอีกในอนาคตแต่มันไม่ตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งในความเป็นจริงพบว่าผู้ป่วยหลายรายอยากจะบอกว่า พอแล้ว หากมีอาการอีกเขาขอไม่ทรมานในการยื้อแบบนี้อีกแล้ว

วิถีที่ ๔ ชราภาพ

วิถีนี้พบเจอบ่อยมากในปัจจุบันที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ลักษณะเด่นคือสภาพร่างกายเสื่อมถอยลงมาตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่ค่อยแน่ชัด แต่ในตอนนี้มันเสื่อมถอยมากจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้แล้ว มักพบเจอในครอบครัวที่ลูกหลานไม่ได้อยู่ด้วยประจำ กลับมาเจอทีก็เป็นอีกคนไปเสียแล้ว หรืออย่างในกรณีโรคสมองเสื่อมที่อาการช่วงแรกอาจไม่ชัดเจนแค่ขี้หลงขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิถีนี้ความยากคือ โอกาสดีๆที่จะได้วางแผนชีวิตมักผ่านไปแล้ว คนที่จะต้องมาวางแผนปลายทางให้ผู้ป่วยคือคนดูแลซึ่งบ่อยครั้งก็จะไม่กล้าตัดสินใจ "ปล่อย" เมื่อเวลาอันสมควรมาถึง ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยมักถูกกระทำการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือทรมาน สิ่งที่ทีมประคับประคองมักจะนำมาใช้คือการที่ให้ผู้ดูแลคิดแทนในฐานะผู้ป่วยไม่ใช่ผู้ดูแล คิดทบทวนถึงแนวคิดและความต้องการของตัวผู้ป่วยเองว่าเขามีความต้องการหรือไม่ต้องการสิ่งใด 

วิถีที่ ๕ เจ็บป่วยร้ายแรง

วิถีนี้คล้ายวิถีที่ ๑ และ ๔ รวมกัน กล่าวคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เฉียบพลันรวดเร็ว แต่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ลงเอยที่การเสียชีวิต แต่เข้าสู่ระยะที่ร่างกายได้ถดถอยไปสู่จุดที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือ ไม่มีสติรู้ตัวอีกต่อไป สิ่งที่ยากเมื่อเทียบกับวิถีที่ ๑ คือมันมีปัญหาของการดูแลตามมาซึ่งในบางครั้งอาจยาวนานเป็นสิบๆปี และต่างจากวิถีที่ ๔ คือ มันเกิดขึ้นจากจุดที่ผู้ป่วยเคยแข็งแรง มันก็อาจมีความหวังเล็กๆว่าจะกลับมาได้ ดังนั้นผู้ดูแลมักจะลงเอยด้วยการยื้อไปตลอดกาลแม้ว่าจะไม่ใช่ความต้องการของตัวผู้ป่วยเองก็ตาม

บทส่งท้าย
- วิถีสู่ปลายทางทั้ง ๕ นั้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นเพราะในความเป็นจริงผู้ป่วยหนึ่งคนอาจมีมากกว่าหนึ่งปัญหา แต่ทุกวิถีได้สะท้อนปัญหาต่างๆให้เห็นแล้ว ในตอนต่อไปจะพูดถึง การวางแผนปลายทางล่วงหน้าและพินัยกรรมชีวิตครับ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมไว้กับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ปล. ซีรีย์หมอคนสุดท้ายที่ปลายทางจะหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประคับประคองเข้ามานำเสนอ เรื่องนี้เหมือนโรคมะเร็งคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะรู้และเข้าใจดี แม้แต่หมอด้วยกันเองบางคนก็ไม่เข้าใจหรือต่อต้านด้วยซ้ำไป หวังว่าบทความซีรีย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่ทุกคนที่ได้เข้ามาอ่านครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่