JJNY : อนุสรณ์จี้เยียวยาครอบคลุมก่อนปชช.อดตาย/โรมหวั่นกอ.รมน.ทำโพล/องอาจแนะตู่ทำโพล/ตร.สั่งหามือฉายข้อความ ตามหาความจริง

“อนุสรณ์”จี้รัฐเร่งเยียวยาให้ครอบคลุมก่อนปชช.จะอดตาย
https://www.innnews.co.th/politics/news_671108/
 

 
"อนุสรณ์" มอง "บิ๊กตู่" สั่ง กอ.รมน.จัดทำโพล เป็นเพียงการซื้อเวลา ชี้ควรให้สถาบันทางวิชาการที่มีมาตรฐานเป็นผู้จัดทำ เพื่อความโปร่งใส
 
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะให้กอ.รมน.ทำโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ว่า 
 
ไม่แน่ใจว่าใครเขียนบทให้ พล.อ. ประยุทธ์ พูด ลำพังได้ยินว่าจะให้กอ.รมน.ทำโพล ก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะให้กอ.รมน.มาทำโพลหรือทำไอโอกับประชาชนกันแน่ ที่ผ่านมากอ.รมน.ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เป็นการกระชับอำนาจ ตัดตอนรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล ป้องกันไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยิ่งคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้นานเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งได้ประโยชน์ การให้กอ.รมน.ทำโพล จึงเป็นเพียงการซื้อเวลา กลบปัญหาการเยียวยาล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ กลบปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องหลบข้างหลังจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงจากความร่วมมือของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และพื้นฐานระบบสาธารณสุขที่ดีของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จะเอากรณีโควิด มาปกปิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจโดยการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ตลอดไปไม่ได้
  
ทั้งนี้ ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆจำนวนมากว่าต้องการให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการทำโพลให้เป็นที่ยอมรับ ควรทำโดยสถาบันทางวิชาการที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้
 
นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ห้ามนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างนัดหยุดงานทั่วราชอาณาจักร ว่า ดูเหมือนรัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาผิด ยึดเอาความมั่นคงของรัฐบาล ก่อนความอยู่รอดของประชาชน ความจริงก่อนจะออกประกาศห้ามนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างนัดหยุดงาน รัฐบาลควรเยียวยาประชาชนภาคแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการล็อกดาวน์ที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทำอย่างไรที่จะให้ภาคแรงงานเข้าถึงการเยียวยาอย่างครอบคลุมทั่วถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะปล่อยลอยแพประชาชนไม่ได้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องตอบคำถามว่าจะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาเยียวยาผู้ประกันตนอย่างไร การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 62 ที่มีการเสนอให้เพิ่มเป็นร้อยละ 75 นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ ลำพังการโทษระบบคอมพิวเตอร์เก่า โทษนายจ้างไม่รับรองสิทธิ์ฟังไม่ได้ เพราะมีผู้ประกันตนจำนวนมากที่นายจ้างรับรองสิทธิ์ส่งเรื่องไปตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน
 
ทั้งนี้ รัฐบาลจะยึดเอาความมั่นคงของตัวเองเป็นหลัก แล้วละทิ้งผู้ประกันตนไม่ได้ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาให้ถูก เร่งเยียวยาให้ครอบคลุม ทั่วถึง ก่อนที่ประชาชนจะอดตาย



"โรม" หวั่น รัฐบาลให้กอ.รมน.ทำโพล หวังใช้เป็นข้ออ้าง คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ
https://www.matichon.co.th/politics/news_2180480

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่อง โพล กอ.รมน. เพื่อถามความเห็นประชาชน หรือเพื่ออ้างใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป? ระบุว่า

จากข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า ศบค. สั่งการให้ กอ.รมน. เตรียมจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่าสมควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือไม่นั้น

ผมอ่านข่าวแล้วก็ได้แต่สงสัย สงสัยว่าแล้ว ศบค. ไม่มีข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลยหรือว่าสมควรเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหรือยัง?
เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเป็นการบังคับใช้ “สภาวะยกเว้น” ที่ซึ่งการใช้สิทธิเสรีภาพถูกจำกัดลง การดำเนินชีวิตตามปรกติถูกรบกวนหรือสกัดขัดขวาง ความเดือดร้อนเสียหายย่อมเกิดกับผู้คนไม่มากก็น้อย ประชาชนไม่สมควรอยู่ภายใต้สภาวะเช่นนี้ตลอดไปหรือยาวนานเกินความจำเป็น เราจึงควรกลับสู่สภาวะปรกติโดยเร็วที่สุดเมื่อเหตุของสภาวะยกเว้นได้หมดไปแล้ว

ซึ่งสิ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าเหตุของสภาวะยกเว้นยังมีอยู่หรือไม่ก็คือข้อมูล ในที่นี้หมายถึงข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ภายในประเทศ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อตามแถลงของ ศบค. ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์หลังสุดมีเพียง 2 วันที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันถึงหลักสิบแต่ก็ไม่เกิน 20 คน ในแง่พื้นที่ล่าสุดก็มีถึง 55 จังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อหรือไม่พบมาแล้ว 28 วัน ข้อมูลเหล่านี้ล้วนชี้ว่าสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ด้วยศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยและความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกท่าน

และในขณะที่ ศบค. แถลงข้อมูลเหล่านี้ออกมาด้วยความภาคภูมิใจ (พร้อมกับย้ำตลอดว่าการ์ดอย่าตกๆ) ศบค. ได้เคยเก็บข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาพิจารณาบ้างหรือไม่ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นจำนวนเท่าไร มีร้านค้าต้องปิดตัวกี่ร้าน? มีคนต้องตกงานกี่คน? มีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าชาวบ้านโดยเฉลี่ยกี่บาท? มีการฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจแล้วกี่ราย? และจะต้องมีผู้ได้รับความเสียหายอีกกี่คนอีกกี่บาทหากรัฐบาลยังดึงดันที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป?

มากไปกว่านั้น ผมยังสงสัยอีกว่าทำไมเจ้าภาพในการทำโพลต้องเป็น กอ.รมน.? ทำไมหน่วยงานที่รับภารกิจปฏิบัติการมวลชนเพื่อตอบสนองเป้าหมายของกองทัพจึงสมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?
สุดท้ายแล้วโพลนี้จะเป็นเพียงสิ่งที่รัฐบาลจะใช้อ้างเพื่อคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ต่อไป ใช่หรือไม่?

สุดท้ายแล้วที่ยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป ไม่ใช่ด้วยเหตุผลด้านการควบคุมโรคเป็นหลัก แต่เพราะกลัวการรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม กลัวรอยร้าวภายในพรรคของตัวเอง กลัวกระแส Mob From Home จะเติบโตจนเกินการควบคุม ใช่หรือไม่?

ผมเห็นว่ารัฐบาลจะต้องพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้แล้ว แม้การกลับสู่สภาวะปรกติโดยสมบูรณ์จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากไม่รีบทำเสียแต่เนิ่นๆ ความเสียหายจะยิ่งหนักขึ้นไปอีก และแม้ว่าจะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว แต่มาตรการควบคุมโรคก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองผู้เข้าออกประเทศโดยละเอียด การพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวัง หรือการตรวจเชิงรุกที่พยายามทำกันอยู่ เหล่านี้สามารถทำได้หากรัฐบาลจริงจังมากพอ

และโปรดอย่าได้เอาการสำรวจความคิดเห็นมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อคงอำนาจของตัวเองไว้ต่อไป เพราะคนเขาดูออก การถามประชาชนว่าอยากอยู่ใต้สภาวะยกเว้นต่อไปหรือไม่ก็เหมือนกับถามประชาชนว่าอยากเป็นทาสต่อไปหรือไม่ อยากอยู่ใต้อำนาจ [เผล่ะจัง] ต่อไปหรือไม่ เราไม่พึงถามประชาชนในคำถามเหล่านี้ เพราะเราต่างรู้กันดีว่าประชาชนไม่สมควรตกอยู่ในสภาพแบบนั้น หรือหากยังอยู่ก็ต้องหลุดพ้นออกมาโดยเร็วที่สุด

https://www.facebook.com/rangsimanrome/photos/a.212055616217760/479466282810024/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่