●● เรื่องแปลก! คนไทยถามทำไมไม่คุมโควิดแบบต่างชาติ ...แต่ต่างชาติถามทำไมไม่ทำเหมือนไทย ●●

●●เรื่องแปลก! คนไทยถามทำไมไม่คุมโควิดแบบต่างชาติ... แต่ต่างชาติถามทำไมไม่ทำเหมือนไทย ●●
  
               

หมอตอบชัดถึงคนไทยที่ถามประเทศทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้...

ชี้ ไทยประสบความสำเร็จควบคุมโควิด-19 ด้วยหลากมาตรการที่ประเทศอื่นก็ลอกเลียนไม่ได้

เผย คนชาติอื่นก็ถามประเทศตัวเอง ทำไมไม่ทำอย่างไทย

ทั้งมี อสม.ล้านคน คนใส่หน้ากากผ้าจำนวนมาก วางเจลแอลกอฮอล์ทั่วถึง คนอยู่บ้านทั้งที่ไม่มีคำสั่งห้าม
คนมีน้ำใจออกมาช่วยเหลือกัน ย้ำ แต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามต้นทุน

วันนี้ (19 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า
ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการเดียวในการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 อย่างการปิดเมือง ปิดสถานที่เสี่ยง

แต่เราใช้มาตรการจำนวนมากหลากหลายควบคู่กันไป

ทั้งมาตรการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ
มาตรการทางสาธารณสุข
มาตรการด้านการแพทย์
มาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล
มาตรการบังคับปิดกิจการและสถานที่เสี่ยง
มาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว)
มาตรการจำกัดการเดินทาง
และ มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม

ทั้งนี้ ไม่มีประเทศไหนเหมือนกันทุกประการ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราทำงานประสบความสำเร็จด้วยวิธีการที่ผสมผสาน
หลายวิธี ประเทศไทยประสบความสำเร็จไม่เหมือนประเทศอื่นๆ แต่จำนวนผู้ป่วยของเราตอนนี้ ก็เริ่มชะลอตัวลง
และลดลงได้ดีระดับหนึ่ง
 
“ขณะที่เราตั้งคำถามถามประเทศว่า ทำไมตรวจน้อย ทำไมไม่ใช้แอปพลิเคชัน หรือเทคโนโลยีขั้นสูง มาทำโน่นนี่ 
ทำไมไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ 

ขณะที่ถามคำถามเหล่านี้ก็มีประชากรประเทศอื่นตั้งคำถามประเทศเขาเหมือนกันว่า...
- ทำไมไม่มี อสม.ล้านคน
- ทำไมไม่มีนักระบาดวิทยาที่มีความรู้ความสามารถ มีนักปฏิบัติการทางแล็บที่มีความสามารถและทุ่มเทการทำงาน
  ที่เพียงพอ
- ทำไมคนของเขาไม่ใส่หน้ากากผ้ามากเท่าประเทศเรา
- ทำไมคนของเขายังออกนอกบ้านทั้งที่มีการประกาศห้าม ขณะที่คนของเราอยู่ในบ้านทั้งที่ไม่มีประกาศห้าม
- ทำไมบ้านเขาไม่มีเจลแอลกอฮอล์วางอยู่อย่างทั่วถึง
- ทำไมคนบ้านเขาไม่มีคนมีน้ำใจออกมาแจกข้าวของจำเป็น

ดังนั้น ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน ความสำเร็จของเราก็เป็นความสำเร็จที่ประเทศอื่นก็ลอกเลียนไม่ได้

เพราะฉะนั้น อยากให้เข้าใจว่า มาตรการแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะต้นทุนของแต่ละประเทศแตกต่างกัน”
นพ.ธนรักษ์ กล่าว 
 
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิด-19 ขณะนี้ได้มีการปรับจำนวนผู้ติดเชื้อ
เพราะบุคลากรทางการแพทย์ของเดิมที่ลงไป บางคนอาจไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงๆ เช่น บางคน
ทำหน้าที่ธุรการใน รพ. ก็มีการปรับเรื่องอาชีพออกให้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น

จนถึงเมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 101 คน โดยเป็นพยาบาล 40% แพทย์ 19%
โดย 74%มีความเสี่ยงเนื่องจากเป้นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง 15% ติดเชื้อจากผู้ร่วมงาน
10% ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน

Cr.   :  https://mgronline.com/qol/detail/9630000040908

ป.ล. มีการแก้ไขการจัดเรียงบรรทัดใหม่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่