ตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวดะยอร์กยาการ์ตาและบาหลี ตอนที่ 3







            กลับมารีวิวอีกครั้งกับทริปตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวดะยอร์กยาการ์ตาและบาหลี  ตอนที่  3   หลังจากห่างหายไปนานเป็นแรมปี  เนื่องจากงานที่พันรัดตัวบวกกับเดินสายเที่ยวดะทั้งในประเทศและต่างประเทศในทริปใหม่ ๆ  อยู่เสมอ    ช่วงนี้ว่าง ๆ ออกทริปใหม่ไม่ได้เพราะการระบาดของโรคโควิท - 19  เลยว่างมาเขียนตอนใหม่ของกระทู้นี้ต่อ   เห็นว่ากระทู้รีวิวเที่ยวอินโดนีเซียไม่ค่อยมีใครจะมารีวิวสถานที่ท่องเที่ยวอื่นในเมืองยอร์กยาการ์ตากันสักเท่าไหร่  ส่วนใหญ่ก็วน ๆ มีแค่บุโรพุทโธ  ปรัมบานัน  ภูเขาไฟเมราปี  กับพระราชวังน้ำทามันส่าหรีเท่านั้น    กระทู้นี้จึงเป็นการเปิดเผยสถานที่ท่องเที่ยวนอกสายตาของเมืองยอร์กยาการ์ตาที่คนไทยไม่เคยรับรู้  แต่เป็นที่นิยมของคนท้องถิ่นเสียมากกว่ามาแนะนำกันนะครับ   เผื่อมีท่านใดสนใจอยากตามรอยเที่ยวดะแบบผมบ้าง  
 
             กระทู้นี้อาจไม่ถูกใจใครบ้างก็ได้เพราะสไตล์การเที่ยวของผมจะเน้นอยู่ที่เมืองนั้น ๆ นานหน่อยแล้วเจาะลึกชมสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองนั้นจนเกือบทั่วนะครับ  โดยในตอนนี้จะเป็นการเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวในวันที่  4 - 6  ของทริปที่เน้นชมโบราณสถานกลุ่มจันทิที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองยอร์กยากาตาร์ต่อจากกลุ่มปรัมบานันที่เคยเที่ยวเก็บมาแล้วในวันที่ 2     รวมทั้งชายหาดและน้ำตกนอกเมืองทางใต้ของยอร์กยาการ์ตา และเที่ยวโซนเดียงพลาโตกันนะครับ
            
             ถ้าพร้อมออกเดินทางแล้ว  มาทำความรู้กับทริปตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวดะยอร์กยาการ์ตาและบาหลี  13  วันของผมก่อนนะครับ
                     วันแรก    :   เดินทางจากกรุงเทพฯ - กัวลาลัมเปอร์ - ยอร์กยากาตาร์  และเที่ยวถนนมาลิโอโบโร่ยามค่ำคืน
                     วันที่  2   :   เที่ยวโซนตะวันออกของย็อกยา  (กลุ่มจันทิปรัมบานัน)
                     วันที่  3   :   เที่ยวโซนตอนเหนือของย็อกยา  (กลุ่มจันทิบุโรพุทโธ)
                     วันที่  4   :   เที่ยวโซนตะวันออกเฉียงใต้ของย็อกยา  (กลุ่มจันทิอิโจ + น้ำตก)
                     วันที่  5   :   เที่ยวโซนตอนใต้ของย็อกยา  (ชายหาด + น้ำตก)
                     วันที่  6   :   เที่ยวโซนเดียงพลาโต  (กลุ่มจันทิอรชุน)
                     วันที่  7   :   เที่ยวในเมืองย็อกยา  (วังสุลต่าน)  และเดินทางไปเกาะบาหลี เดินเที่ยวถนนเลเกียนยามค่ำคืน
                     วันที่  8   :   เที่ยวโซนตอนเหนือของบาหลี  (กลุ่มปุระในเมืองสิงคราช)
                     วันที่  9   :   เล่นน้ำชายหาดกูตา  และเดินเที่ยวย่านอูบุด    
                     วันที่ 10  :   เที่ยวโซนตะวันออกของบาหลี  (เมืองสีมาระปุระ และอัมละปุระ)
                     วันที่ 11  :   เที่ยวโซนตอนกลางของบาหลี  (กลุ่มปุระเบซากีห์)
                     วันที่ 12  :   เที่ยวโซนตอนใต้ของบาหลี   (เมืองเดนปาซาร์ + ปุระทานาลอค)
                     วันที่ 13  :   เดินทางกลับกรุงเทพฯ  

วันที่  4   :   เที่ยวโซนตะวันออกเฉียงใต้ของย็อกยา  (กลุ่มจันทิอิโจ + น้ำตก)

                     วันนี้ผมขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกจากที่พักราว  8.30  น.  กะว่าจะเก็บแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มจันทิอิโจ (Candi  Ijo)  ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองยอร์กยาการ์ตา    โดยใช้ถนนเส้นเดียวกับที่ไปปรัมบานันในวันที่ 2  ที่ไปมา    ซึ่งเป้าหมายแรกแวะเก็บตกจันทิแถบนี้ที่ยังไม่ได้ชมก่อนคือ  จันทิสัมบิสาหรี (Candi  Sambisari)  ที่อยู่ห่างจากที่พักไปราว  12  ก.ม.


                      ผมไปชมจันทินี้ช่วงสายก็เพิ่งเริ่มมีนักเรียนจากโรงเรียนมาทัศนศึกษากัน  สงสัยคุณครูพามาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันนอกห้องเรียน   และมีนักท่องเที่ยวท้องถิ่นมาชมบ้างปะปรายไม่มากนัก  


                      จริง ๆ การเข้าชมจันทิแต่ละแห่งเขาจะเก็บค่าจอดรถ และค่าเข้าชมนะครับ  พอดีผมมาจอดก่อนที่ชาวบ้านที่เก็บค่าจอดรถจะมา  เลยไม่ได้เสียเงิน   ส่วนค่าเข้าชมจันทิจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตรงป้อมหน้าทางเข้าจันทิคอยเก็บเงินอยู่แล้ว  ค่าเข้าชมก็ไม่แพงอะไรประมาณ 10,000 Rp.  (20 บาท)   



                       จันทิสัมบิสาหรีเป็นจันทิที่มีขนาดเล็กมาก  เรียกว่าจันทิหนูก็ได้  แตกต่างไปจากจันทิอื่น ๆ ในศิลปะชวาภาคกลางที่ผมได้ไปชมมา 2 วันแรกเป็นอย่างมาก   ตัวจันทิตั้งอยู่ในแอ่งต่ำกว่าระดับกับพื้นดินปัจจุบันถึง  6.5  เมตร   คาดว่าคงเป็นชั้นดินเดิมในช่วงเวลาสมัยที่สร้างจันทินั่นเอง  และต่อมาจันทิถูกฝังกลบจากลาวาของภูเขาไฟเมราปีที่ปะทุตัวในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16  ที่มีการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ 


                         จันทิแห่งนี้วัดถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14  โดยสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1355 - 1381  ในสมัยของ  Rakai Garung   ของอาณาจักรมะตะรัม ตามจารึกแผ่นทองคำ middle  Wanua lll ที่ถูกค้นพบในบริเวณนี้   จันทิแห่งนี้ได้ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2509  โดยชาวบ้านในแถบนี้ และได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2529    




                         จันทิแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยกำแพงหินที่มีขนาด 50 เมตร x 48 เมตรที่มีความซับซ้อน   บนผนังด้านนอกทางทิศเหนือของจันทิมีช่องที่ประดิษฐานมีรูปเคารพของนางทุรคามหิษาสุรมรรทินี  (พระนางอุมาเทวีในภาคนางทุรคาปราบอสูรควาย)   ส่วนผนังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประดิษฐานรูปเคารพพระพิฆเนศวร   ส่วนรูปปั้นของอคัสยะ หรือพระศิวะปางมหาโยคีประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้ของผนังจันทิ  ภายในจันทิพบฐานโยนีที่ประดิษฐานศิวลึงค์   ซึ่งแสดงว่าจันทิแห่งนี้สร้างถวายแด่พระศิวะในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู  ลัทธิไศวนิกายนั่นเอง





                          ลวดลายบางส่วนที่ปรากฏบนผนังอาคารจันทิสิมบิส่าหรี




                          ผมใช้เวลาชมจันทิสัมบิสาหรีประมาณ  45  นาที   แล้วจึงขี่รถไปชมพระราชวังของกษัตริย์แห่งอาณาจักรมะตะรัมต่อ  โดยสถานที่แห่งนี้เป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่บนภูเขาไม่ไกลจากปรัมบานันมากนักมีชื่อว่า   ราทู โบโก  (Ratu  Boko)    


                           การเข้าชม ราทู  โบโก  สามารถไปได้  2  ทางคือ  จอดรถไว้ด้านล่างแล้วเดินขึ้นบันไดไปบนภูเขาที่เตี้ย ๆ  ที่มีสูงเพียง 195 
 เมตรกับขี่รถขึ้นเขาไปจอดใกล้ ๆ กับพระราชวังเลย  

                                                          ทางแยกขวามือของถนนคือ  ทางแยกขึ้นเขาไปราทู  โบโก


                                                                                       ถนนขึ้นเขาไปราทู โบโก

                                                                             (เครดิตภาพจาก  google  Street  View)
                         
                          ด้านบนของภูเขามีที่จอดรถ  เดินไปซื้อตั๋วได้จากจุดนี้  จะมีป้อมตรวจตั๋วเข้าชมตามภาพด้านล่าง


                          ผมเลือกจอดรถด้านล่างแล้วเดินขึ้นบันไดไต่เขามา  เพราะตอนแรกไม่ทราบว่ามีถนนอีกเส้นขี่รถมาถึงด้านบนได้





                          สำหรับตั๋วการเข้าชมที่นี่มีจำหน่ายทั้งแบบชมเฉพาะ Ratu Boko  ที่เดียว  กับซื้อเป็นแพ็คเก็ตเข้าชมปรัมบานันด้วย  โดยจะซื้อที่นี่หรือซื้อที่ปรัมบานันก็มีขายเหมือนกันครับ    ค่าเข้าชมที่นี่จะแพงพอ ๆ กับค่าเข้าชมปรัมมานันและบุโรพุทโธเลย   ค่าเข้าชมจะราว ๆ  13  ดอลลาร์ + ค่าจอดรถมอเตอร์ไซค์อีก 3,000 Rp.  รวมแล้วเป็นเงินไทยก็  365  บาทได้ถ้าจำไม่ผิด   ทั้ง ๆ ที่จุดนี้มีซากสิ่งก่อสร้างที่สมบูรณ์หลงเหลืออยู่น้อยกว่าปรัมบานันและบุโรพุทโธมาก   


                                                                      แผนผังสิ่งก่อสร้างภายใน  Ratu  Boko


                          ตามตำนานท้องถิ่นแถบนี้เล่าว่า  ซากพระราชวัง Ratu  Boko  แห่งนี้สร้างขึ้นโดย โลลาจงกรัง ราทูโบโก  กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ที่นับถือศาสนาพุทธมหายานของอาณาจักรมะตะรัม  สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14  และต่อมากษัตริย์ของราชวงศ์สัญชัยที่นับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูได้เข้ามาครอบครองแทน  


                          แต่จากหลักฐานที่ค้นพบระบุว่า  ผู้สร้างพระราชวัง  Ratu  Boko  คือ Rakai Panangkaran Prasast Abhayagiriwihara   ต่อมามีการแย่งชิงกันระหว่างราชวงศ์ไศเลนทร์และราชสัญชัย  ทำให้  Rakai Walaing Pu Kumbayoni  แห่งราชวงศ์สัญชัยได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นป้อมปราการในการต่อสู้ดังกล่าวและเปลี่ยนมาสร้างสิ่งก่อสร้างในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูแทนตามที่ตนนับถืออยู่  ทำให้พื้นที่บริเวณ Ratu  Boko  จึงได้ค้นพบทั้งซากพระพุทธรูป  รูปเคารพนางทุรคา  พระพิฆเนศวร และฐานโยนี                        


แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่