การแพทย์และสาธารณสุขไทยเจริญกว่าอเมริกา จริงหรือเปล่า ผมขอลองอธิบาย

ตอนนี้มีกระแสเยอะ เรื่องการแพทย์และสาธารณสุขไทย เจริญกว่าอเมริกาจริงหรือเปล่า
บางท่านถึงกับจะลงทุนขายบ้านในอเมริกาย้ายมาอยู่ไทยเลยทีเดียว

ผมจะพยายามเล่าสิ่งต่างๆเท่าที่ผมนึกออก ในฐานะที่เคยทำทั้งงานรักษาและป้องกันโรค
อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ใช่กูรู และก็ไม่เคยอยู่อเมริกา เพียงแต่สัมผัสกับอาจารย์ที่เป็นฝรั่งบ้าง
อาจารย์ไทยบ้าง
ขอเล่าเรื่องวงการแพทย์ก่อน ไทยดีกว่าอเมริกาจริงไหม

การศึกษา
ตอนผมเรียนที่รามาฯ อาจารย์ส่วนใหญ่ก็จบบอร์ดจากอเมริกา ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าเก่งมาก
เช่นบอร์ดศัลยศาสตร์ แพทย์ประจำบ้านของอเมริกาที่มีสิทธิสอบมีเพียงคนเดียว คือหัวหน้า
แพทย์ประจำบ้าน บางคนต้องเรียนอยู่จนอายุ 45 ส่วนแพทย์ไทยนั้นเก่งแน่
ขึ้นปีสามก็ได้เป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน
และสอบได้ที่หนึ่งทีเดียวเพราะเก่งกว่าฝรั่งมาก
ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าแพทย์ไทยตอนสอบเอนทรานซ์ก็มีคะแนนอันดับหนึ่ง คือเก่งสุด ส่วนอเมริกามักเลือกคนเรียนแพทย์
จากคนที่มีประสบการณ์มาก เช่นเป็นนักเคมี วิศวะ นักกฎหมาย อาจไม่เก่งอันดับหนึ่ง แต่เอาความรู้เดิมทำวิจัยได้สุดยอด
อย่างไรก็ตามอาจารย์ไทยของเราบอกเองว่า ท่านไม่ได้เก่งกว่าอาจารย์ที่อเมริกา
อาจารย์ที่จบจากอเมริกา วิธีการสอนก็มักอเมริกัน เช่นเน้นการโต้เถียง การไม่นิ่งเงียบเพราะวุฒิต่ำกว่า 
เช่นนักศึกษาแพทย์ก็เถียงกับแพทย์ประจำบ้านได้ หรือบลัฟอาจารย์ได้ด้วยซ้ำ
ในการผ่าตัด
หมออเมริกาเก่งทั้ง
- เชิงอาร์ต เช่นผ่าตัดยากๆที่ต้องสร้างจินตนาการในใจ เช่นผ้าตัดสร้างใบหน้าใหม่ในคนที่ถูกตัดออก
- เชิงวิชาการ เช่นมีความซน เอากล้องส่องทางเดินปัสสาวะ มาส่องจมูก กลายเป็นสาขาที่ก้าวหน้ามาก
- งานวิจัย เช่นคนเดียวทั้งผ่าตัด ตรวจ OPD และทำแลบระดับโมเลกุล (ของไทยมักแยกกัน)
งานวิจัย
สมัยก่อน เวลาเราโต้เถียงกันเชิงวิชาการ
ถ้าเป็นอายุรศาสตร์ ก็ต้องอ้างงานวิจัยใน New England Journal of Medicine 
ถ้าเป็นหู คอ จมูก ก็อ้าง Clinic North America
ฯลฯ
ไม่เคยอ้างวารสารทางยุโรปด้วยซ้ำ เพราะยุโรปก็ไม่เหมือนอเมริกา
สรุปว่างานวิจัยใหม่ๆ เราตามอเมริกามาตลอด

ปัจจุบัน หมอไทยที่หนุ่มๆ มีจบเป็น research fellow ในอเมริกามากมายไม่ว่าเรื่องสเตมเซลล์
พันธุศาสตร์ ฯลฯ ก็รู้เท่าฝรั่งทีเดียว
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือแม้รู้เยอะ แต่เราก็ไม่ค่อยมีงานวิจัยที่เป็น break through เท่าไหร่
หรือว่าลึกๆ เราคอยตามฝรั่งไปเรื่อยๆก็พอ

การสนับสนุนจากบริษัทยา
ความก้าวหน้าทางวิชาการ ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนจากบริษัทยา 
ที่อเมริกาจะทำไม่ได้ แต่ในไทยไม่ค่อยถือ เช่นหมออาจได้ทุนไปดูงานต่างประเทศ หรือประชุมวิชาการตามโรงแรม
ต่างจังหวัด ซึ่งตามระเบียบราชการมักทำไม่ได้

เรื่องสาธารณสุข(การป้องกันโรค)
ในทางวิชาการ ก็เช่นเดียวกับการรักษาพยาบาล
คือเราตามอเมริกาตลอด เช่นทางระบาดวิทยาก็ต้องตาม CDC และ
มหาวิทยาลัยดังๆอย่างใกล้ชิด
แต่สิ่งที่ไทยเด่นคือ
อาจารย์ทางระบาดรุ่นเก่าๆ วางพื้นฐานไว้ดี มีการอบรมแพทย์ประจำบ้านในกระทรวงสาธารณสุข
เลย ทำให้มีเครือข่ายกว้างขวาง มีกองทุน มีคนที่เป็นลูกศิษย์หมอในกระทรวงกระจายไปทั่วประเทศ

การมี อสม.
ตรงนี้แหละดีกว่าอเมริกามาก อสม.คือเสาหลักของงานสาธารณสุข
เบื้องหลังของการเกิด อสม. คือมาจากกลุ่มแพทย์ชนบท ซึ่งหลายคนเคยเข้าป่าตอน 6 ตุลา
ทำให้ได้แนวทางหมอเท้าเปล่าของจีนติดตัวมา 
และ อสม.ยังเป็นเหมือนการปลุกศักยภาพของเหล่าแม่บ้านออกมา
จากหญิงที่เดิมแค่ทำกับข้าวอยู่กับบ้าน ได้ออกมาทำงานที่สำคัญระดับความเป็นความตายของชุมชน
ได้ออกดูงาน สร้างเครือข่ายรู้จักกันทั้งประเทศ

ระบบสามสิบบาท
การมีสามสิบบาทรักษาทุกโรค คือระบบที่ดีกว่าของชาติอื่นๆ อย่างแท้จริง เช่น  
รักษาฟรี เบิกยาเท่าไหร่ก็ได้ ไปได้ทุกเวลา  แบบที่คนไทยในต่างประเทศฝันหา
เมื่อก่อนคนไทยมักกลัวไม่มีเงินจ่ายเวลาไปโรงพยาบาล
เวลาราวนด์คนไข้ คนไข้มักบอกว่า "หมออย่างเพิ่งเก็บตังค์เด้อ กำลังให้ลูกไปขายที่นาอยู่"
เพราะคนไข้มักเกรงใจหมอ บางคนเข้าใจว่าเวลาหมอรักษาโรคแล้วเงินเข้าหมอทั้งหมด
การเกิดระบบสามสิบบาท เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย ณ เวลานั้น ได้เท่านั้น
อาจเกิดขึ้นที่อื่นในโลก หรือเวลาอื่นไม่ได้เพราะ
- ต้องมีนายกฯ ที่เข้มแข็งมาก
- มีระบบการเมืองที่เข้มแข็ง
- มีรัฐมนตรีที่เข้าใจวัฒนธรรมของพวกหมอดี
- มีวัฒนธรรมชอบบริจาคเงินให้โรงพยาบาล เพราะตอนแรก
ระบบสามสิบบาทไม่มีเงินพอทั้งซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งจ่ายเงินเดือนบุคลากร 
ในเวลาเดียวกัน

สรุป
ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยน่าจะดีจริง คือเข้าใกล้
อเมริกาที่เป็นโกลด์สแตนดาร์ดมากที่สุด บางอย่างอาจดีกว่า
เช่นความง่ายในการพบแพทย์
แต่
ถ้าจะเปรียบอเมริกา เป็นหัวรถจักรขบวนโอเรียนท์เอกเพรส
ประเทศไทยเป็นโบกี้สุดหรูในขบวน 
เมื่อผู้โดยสารเดินไปที่หัวรถจักรก็พบว่าเต็มไปด้วยน้ำมันเครื่อง
สกปรก และเสียงดังรบกวน
ผู้โดยสารจึงคิดว่าที่จริงโบกี้สำคัญกว่าหัวรถจักร และขอให้ตัดหัวรถจักรออก!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่