อะไรๆก็โทษแต่กรรมเก่า ใช่สิ่งที่พระคถาคตสอนหรือ?

พูดถึงเรื่องกรรม กรรมนั้นคือการกระทำ  ปัจจุบันผมเห็นมีคนเข้าใจผิดหรือทำความเข้าใจผิดไปมาก  โดยบางส่วนไปเน้นที่กรรมเก่า  คืออะไรๆก็เกิดเพราะกรรมเก่า เจ็บป่วยก็เพราะกรรมเก่า  เป็นต้น   

ซึ่งแม้บางทีวิบากกรรม(ผลกรรม)อาจเกิดเพราะกรรมในอดีตให้ผลก็จริง      !!แต่พระพุทธองค์ไม่ได้ไปเน้นตรงนั้น ท่านไม่ได้ให้ไปแก้ไขกรรมเก่าเพราะมันทำไม่ได้ มันย้อนไปแก้ไม่ได้ หรือมัวนั่งรอให้ผลกรรมหมดเอง

พระพุทธศาสนานั้นเน้นไปที่กรรมปัจจุบัน คือทำปัจจุบันให้ดี คิดดี ทำดี พูดดี อยู่เสมอๆ เมื่อทำได้ดังนี้ กรรมนั้นเมื่อผ่านไปก็จะเป็นกรรมดีทั้งอดีต และอนาคต  

อันที่จริงแล้ว การที่ไปยึดแต่กรรมเก่เพียงอย่างเดียวและไม่เน้นทำกรรมปัจจุบัน คืออะไรๆก็กรรมเก่า เมื่อป่วยก็ไม่ไปหาหมอ เมื่อจนก็ไม่ขวนขวายทำงาน เมื่อโง่ก็ไม่แสวงหาความฉลาด เป็นต้น นั่งรอเวลให้วิบากกรรมนั้นหมดผลอย่างเดียว     ใครเป็นดังนี้ขอให้ท่านทั้งหลายพึงรู้ตัวว่าได้ตกขอบพระพุทธศาสนาไปเสียแล้ว   แต่ไปเข้าลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3 อย่าง แทน  โดยที่ไม่รู้ตัว   ลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3 มีดังนี้ 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
 
 
[101] ลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3 (บาลีเรียกว่า ติตถายตนะ แปลว่า แดนเกิดลัทธิ, ชุมนุมหรือประมวลแห่งลัทธิ — beliefs of other sects; grounds of sectarian tenets; spheres of wrong views; non-Buddhist beliefs)
       1. ปุพเพตกเหตุวาท (ลัทธิกรรมเก่า คือ พวกที่ถือว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบจะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน — a determinist theory that whatever is experienced)
       2. อิสสรนิมมานเหตุวาท (ลัทธิพระเป็นเจ้า คือ พวกที่ถือว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบ จะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม ล้วนเป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้ยิ่งใหญ่ — a determinist theory that whatever is experienced is due to the creation of a Supreme Being; theistic determinism) เรียกสั้นๆ ว่า อิศวกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท
       3. อเหตุอปัจจัยวาท (ลัทธิเสี่ยงโชค คือ พวกที่ถือว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบ จะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม ล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ คือ ถึงคราวก็เป็นไปเอง — an indeterminist theory that whatever is experienced is uncaused and unconditioned; accidentalism) เรียกสั้นๆ ว่า อเหตุวาท
       ทั้งสามลัทธินี้ ไม่ชอบด้วยเหตุผล ถูกยันเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา เป็นลัทธิประเภท อกิริยา (traditional doctrines of inaction) หากยึดมั่นถือตามเข้าแล้ว ย่อมให้เกิดโทษ คือ ไม่เกิดฉันทะ และความพยายาม ที่จะทำการที่ควรทำและเว้นการที่ไม่ควรทำ

ตามข้อ 1 นั้นท่านไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เชื่อกรรมเก่า แต่ท่านหมายถึงประเภทที่ไม่ทำอะไรเลย แต่โทษว่าเกิดจากกรรมเก่าอย่างเดียว รอให้ผลกรรมหมดอย่างเดียว 

ดังนี้จะเห็นว่ากรรมที่ท่านเน้นคือกรรมปัจจุบันนี้เอง สุดท้ายก็ ขอให้ คิดดี ทำดี พูดดี ในปัจจุบันกันนะครับ

ขอให้เจริญในธรรม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่