การสร้างทานบารมี เป็นการทำบุญที่ง่ายที่สุด ขั้นพื้นฐานที่สุด จริงหรือไม่

คนจำนวนมากมักจะถูกปลูกฝังให้คิดกันว่า การทำทานเป็นการสร้างบารมีที่ง่ายที่สุด เป็นการสร้างบารมีแบบพื้นๆ ใครก็ทำได้ง่ายๆ
   คนจำนวนมากก็เชื่อเช่นนั้นด้วย มองว่าการทำทานคือ การสร้างบุญที่ง่ายที่สุด ทั้งๆที่ตัวเองทำได้จริงหรือทำได้อย่างถูกต้องหรือเปล่าไม่รู้ 

   มีหลายคนที่ไม่ชอบทำทาน เพราะเหตุที่ตระหนี่ถี่เหนียว แต่ก็กลับพูดกับคนอื่นได้ว่า ทาน คือการสร้างบารมีที่ง่ายที่สุด หมูที่สุด ทั้งที่ตัวเองทำไม่ได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการหลอกตัวเองนั่นแหละ
   ที่จริงควรจะเรียนรู้และปรับวิธีคิดกันใหม่ว่าสิ่งไหนที่ตัวเองยังไม่สามารถทำได้จริง สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอยู่
สิ่งไหนสามารถกระทำได้จริง ทำได้บ่อยเสมอต้นเสมอปลาย ถีงเรียกได้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย

   เพราะฉะนั้นคำพูดที่บอกว่า การทำทาน เป็นการทำบุญที่ง่ายสุด และการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นบุญที่ทำได้ยากสุด จึงควรดูเป็นบุคคลไปว่า ใครทำอย่างไหนได้จริง ไม่ได้จริงมากกว่า

   นักปฏิบัติธรรมบางคนที่ชอบเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ได้ชอบทำทาน ด้วยเพราะยังตระหนี่ถี่เหนียวอยู่ อย่างนี้เรียกว่าเจริญสติปัฏฐาน 4 ได้ง่าย แต่ทำทานได้ยาก
   ผู้ที่ชอบทำบุญบางคนก็เอาแต่ทำทานอย่างเดียว ไม่ชอบนั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน อย่างนี้เรียกว่า ทำทานได้ง่าย เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้ยาก
   แต่คนบางกลุ่มก็ทำได้ทั้งเจริญวิปัสสนาอย่างสม่ำเสมอ และทำทานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คนเช่นนี้สร้างบุญได้รอบด้านและเป็นผู้ที่เรียกได้ว่า เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน 4 ง่ายและทำทานได้ง่าย

   ซึ่งทั้งทานและภาวนา ถ้าทำได้ทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปยิ่งได้ผลดี เพราะทานช่วยละความโลภ ภาวนาช่วยละกิเลสทุกตัวและหลุดพ้น ส่วนการรักษาศีลในที่นี้ไม่ขอกล่าวถึง เพราะการภาวนาที่ก้าวหน้าได้ ต้องมีศีลที่ดีอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ

   หากคน 2 คนที่มีอินทรีย์ 5 เท่ากัน มีกิเลสเท่ากัน มีอะไรต่างๆที่เท่ากันหมด คนแรกเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว คนที่สองทำทั้งเจริญวิปัสสนาและทำทานควบคู่ไปด้วยกัน คนที่สองจะชำระกิเลสความโลภจากใจได้เร็วกว่า มีความเจริญในทางธรรมได้มากกว่า เร็วกว่า

   เพราะฉะนั้นการทำทานกับการภาวนาทั้ง 2 อย่างนี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำร่วมกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีหลายคนที่เน้นการเจริญภาวนาไปอย่างเดียว แล้วละทิ้งการทำทาน หรือทำทานน้อยมาก เรียกได้ว่ามองข้ามความสำคัญของทานบารมีไป

   เรื่องนี้ขอให้ศึกษากรณีของพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นโสดาบันแล้ว ก็ยังต้องทำบุญถวายอาหารพระเพื่ออุทิศให้แก่ญาติเปรตผู้หิวโหยได้พ้นจากทุกข์ยากลำบากทั้งปวง เนื่องจากทานและภาวนาให้ผลคนละทางกัน
การทำทานที่สมบูรณ์แบบให้ดูรูปแบบที่พระเจ้าพิมพิสารถวายทานต่อพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกเพื่ออุทิศบุญให้ญาติของตน ที่มีเครื่องสังฆทานครบ มีการถวายอาหารสด ผ้าไตรจีวร ที่นั่ง ที่นอน แล้วกรวดน้ำอุทิศบุญให้
   ซึ่งอาหารที่ถวายไปก็ทำให้เปรตรู้สึกอิ่มหนำสำราญและเปลี่ยนร่างเป็นเทวดา ผ้าไตรที่ถวายไปก็กลายเป็นเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ ที่นั่งที่นอน คันธงกุฎีที่ถวายไปก็กลายเป็นปราสาท เครื่องลาดที่นอนแก่เปรตเหล่านั้น
นี่คือตัวอย่างการทำทานที่ครบเครื่องสมบูรณ์พูนผลและน่าทำตาม หากใครมีกำลังทรัพย์ทำได้ก็ทำไป 

   เห็นสมัยนี้คนส่วนมากเวลาทำทานที ก็ซื้อถังสังฆทานที่มีแต่ของแห้งๆไปถวายพระ เอาตามสะดวกใจตน ซึ่งต้องพิจารณาข้อนึงว่า ทำอย่างไรได้อย่างนั้น
ถ้าทำสมบูรณ์ ก็ได้ผลสมบูรณ์ 
ถ้าทำไม่สมบูรณ์ ก็ได้ผลไม่สมบูรณ์

   การทำทานที่สมบูรณ์ให้ดูตัวอย่างที่พระเจ้าพิมพิสารทำ แต่ทำในกำลังทรัพย์ที่ตนเองทำไหวควบคู่กับการทำให้จิตใจรู้สึกได้ว่าลดละความโลภลงไปได้
หรือให้ศึกษาวิธีการทำทานอย่างถูกต้องในหลักสัปปุริสทาน 5 และสัปปุริสทาน 8

สัปปุริสทานสูตร
[๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดู น่าเลื่อมใสประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล (บังเกิดขึ้น)
   ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงาน เป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
   ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
   ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล
   ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาทในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

[๑๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้ จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑ 
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล. สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่ สะอาด ประณีตตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ใน ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี บริจาคของ มากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ทานผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียนเป็นสุข.

   คนไทยนี่ชอบทำทานก็เยอะ แต่หลายคนก็ทำไปตามความพอใจตน จะถูกหรือผิดไปจากหลักธรรมคำสอนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็เหมือนกับคนเจริญวิปัสสนาบางคนที่เจริญวิปัสสนาอย่างผิดวิธี ไม่มีครูบาอาจารย์ที่รอบรู้และมีประสบการณ์ช่วยชี้นำให้ ก็มักทำวิปัสสนาแบบผิดวิธี ไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีจากการเจริญวิปัสสนา

   ชาวพุทธหลายคนก็ยังทำทานอย่างมีข้อผิดพลาดโดยเฉพาะสัปปุริสทานข้อที่ 5 ทำทานแบบไม่เดือดร้อนตนและคนอื่น มีชาวพุทธทำผิดพลาดกันเป็นจำนวนมากและไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข

   การทำทานที่ดีไม่ใช่สักแต่ให้ ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาด้วย ทำให้มากพอจนรู้สึกได้ว่า การทำทานนี้ได้ช่วยชำระความโลภในจิตใจให้น้อยลงไป แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำมากเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น

   เพราะฉะนั้น การทำทานที่ถูกต้องและให้ได้ผลดี ก็ให้ศึกษาจากพระไตรปิฎกแล้วทำตามนั้น เมื่อคุณทำสิ่งไหนถูกต้องตามหลักธรรมนั้นแล้ว ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ดีงามอย่างมั่นคงแก่ตัวคุณเอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่