"ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นอกาลิโก อยู่เหนือกาลเวลา"


คติธรรมจากภาพ "ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นอกาลิโก อยู่เหนือกาลเวลา"

บุญ ที่ถูกต้อง คืออย่าหลงบุญ ชาวพุทธเราส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องของ “บุญ” …คิดว่าการทำบุญก็คือเฉพาะ การตักบาตร, การถวายทรัพย์, ปัจจัย, การถวายสังฆทาน ฯลฯ เพียงเท่านี้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดีและควรทำอยู่เสมอก็จริงในฐานะชาวพุทธ แต่การสร้างบุญนั้นยังมีมากกว่านี้ เพราะเมื่อสร้างบุญเบื้องต้นพื้นฐานแล้ว ก็ต้องรู้จักต่อยอดสร้างบุญที่ละเอียดยิ่งขึ้น โดยไม่หลงอยู่กับบุญเพียงบางประเภทโดยไม่รู้จักต่อยอดจากฐานที่ควรทำประจำขึ้นไปเลย ยิ่งบางพุทธพาณิชย์ เน้นสอนให้บริจาคทรัพย์ หรือร่วมสร้างความยิ่งใหญ่อลังการเข้าวัดจนเกินตัว มียอดบริจาคมากเท่าไหร่ถือว่ายิ่งได้บุญหนักศักดิ์ใหญ่ รวยล้นฟ้าไม่รู้เรื่อง…

แท้จริงแล้ว “บุญ” หรือ “ปุญญ” แปลว่า “ชำระ” หมายถึง การทำให้หมดจดจากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ โลภะ โทสะ และ โมหะ

ตามพระไตรปิฎก เราสามารถสร้าง “บุญ” ได้ ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา

๑. ทาน คือ การให้ เช่นที่กล่าวมาแล้ว คือ การตักบาตร บริจาคทรัพย์ ถวายสังฆทาน สร้างวิหาร หล่อพระ เป็นต้น ถือเป็น จาคะ หรือ การให้นับเป็น บุญอย่างหนึ่ง นับเป็นบุญที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะส่งเสริมบารมีบุญด้านอื่นๆไปด้วยกัน แต่มีการให้บางประการที่ไม่นับเป็นบุญ เช่น สุรา มหรสพ ให้สิ่งเพื่อกามคุณ เป็นต้น
๒. ศีล คือ ความประพฤติที่ไม่ละเมิด หรือรักษาความสำรวมทางกาย วาจา การรักษาศีลสำหรับฆราวาส ได้แก่ ศีล ๕ และอุโบสถศีล (มี ๘ ข้อ)
๓. ภาวนา คือ การอบรมจิตทางสมถะและทางวิปัสสนา การนั่งสมาธิ เรียกว่า สมถะภาวนา ส่วนการนั่งวิปัสสนา (สติรู้ถึงรูป–นาม) เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา

“บุญ” ยังมีอีก ๗ อย่าง ตามคัมภีร์อรรถกถา หรือข้อปลีกย่อยที่อธิบายความจากพระไตรปิฎก นับถัดไปเป็นลำดับที่ ๔ ดังนี้

๔. อปจายนะ ความเป็นผู้นอบน้อม ต่อผู้ที่ควรนอบน้อม
๕. เวยยาวัจจะ ความขวนขวายในกิจ หรืองานที่ควรกระทำ
๖. ปัตติทาน การให้บุญที่ตนถึงแล้วแก่คนอื่น
เช่น การอุทิศส่วนกุศล การกรวดน้ำ
๗. ปัตตานุโมทนา คือการยินดีในบุญที่ผู้อื่นถึงพร้อมแล้ว เช่น เห็นผู้อื่นทำบุญตักบาตร เมื่อเราพลอยปลื้มปิติยินดี กล่าวอนุโมทนา
เพียงเท่านี้ ก็ได้บุญแล้ว
๘. ธัมมัสสวนะ หรือการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังธรรมโดยตรง
หรือจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ
๙. ธัมมเทศนา หรือการแสดงธรรมเมื่อได้ศึกษาธรรมะ
แล้วถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น นับเป็นบุญประการหนึ่งด้วย
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม คือการกระทำความเห็นให้ตรง
หรือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง (เช่น เชื่อว่า บาป-บุญมี ,นรก-สวรรค์มี ,ชาตินี้-ชาติหน้ามี , เชื่อหลักไตรลักษณ์ อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา)

บุญทั้ง ๑๐ ประการนี้ บางที่เรียกกันว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” จะเห็นว่าบุญทำได้ถึง ๑๐ อย่าง มีเพียงข้อแรกเท่านั้นที่ต้องใช้ทรัพย์ อีก ๙ ข้อล้วนไม่ต้องใช้ทรัพย์ . . .

ขอบคุณข้อคิดธรรมะดีๆ จาก  เว็บพุทธภูมิ
http://buddhapoom.com/index.php?topic=410.0
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่