JJNY : ธนาธรชง3มาตรการสู้โควิด/ปธ.สภาเกษตรกรฯกระทุ้งรบ./ปิดร้านค้าชี้ทำไมไม่ออกมาเร็วกว่านี้/ทั่วโลกป่วยโควิดตาย4.7หมื่น

'ธนาธร' ชง 3 มาตรการสู้โควิด-19 คาดมีแพ็กเกจใหญ่ฟื้นฟูประเทศ
https://voicetv.co.th/read/WrHJjZdiY
 

 
'ธนาธร' ชี้ 3 มาตรการรับมือ 'โควิด-19' สาธารณสุข-Social Distancing-การคลัง ต้องออกแบบใช้อย่างสอดประสานจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมแนะผู้ประกอบการถือเงินสดอย่างน้อย 6 เดือนเลี้ยงธุรกิจ เชื่อเงินมหาศาลจะเข้าสู่ระบบ - รัฐบาลผุดบิ๊กแพ็กเกจที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
 
เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 1 เม.ย.2563 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในรายการ Mission To The Moon ซึ่งเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 การรับมือ และการเอาตัวรอดและเดินหน้าต่อไปของธุรกิจต่างๆ ตอนหนึ่งว่า ถ้าดูจากการระบาดแล้ว คิดว่ายังไม่ถึงจุดแย่ที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่พอเวลาเคลื่อนผ่านมา จุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดย้ายมาอยู่ที่ยุโรป และสัปดาห์นี้มาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
 
"แต่อย่าลืมว่ายังมีประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งตัวเลขยังไม่สูง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย หรือแถบอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ศักยภาพรับรองทางการแพทย์น้อยกว่าประเทศที่ระบาดไปแล้วเสียอีก ซึ่งถ้าไปประเทศเหล่านี้เมื่อไหร่ ความเลวร้ายน่าจะมากขึ้น เพราะลักษณะการแพร่ระบาดนั้น แค่เหตุการณ์เดียวก็แพร่กระจายไปไกล แต่อาจให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เหตุผลที่การแพร่ระบาดในประเทศเหล่านี้ช้ากว่า คือการที่ประเทศตั้งอยู่เขตเส้นศูนย์สูตร เป็นเขตร้อนชื้น ไม่เหมือนประเทศติดอยู่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำซึ่งไวรัสกระจายไปได้เร็วกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ระบาด"
 
"มาตรการที่จะใช้รับมือกับไวรัสโควิด-19 ต้องมีอยู่ 3 ส่วน ซึ่งถูกออกแบบทำงานอย่างสอดประสานกันไป ได้แก่ 
1. มาตรการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 
2. มาตรการ Social Distancing หลีกเลี่ยงเดินทางพบปะกัน 
และ 3. มาตรการเยียวยาด้วยวิธีการทางการคลัง 
ทั้งหมดนี้ต้องไปด้วยกันถึงจะมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาที่ผ่านมา รวมถึงในเมืองไทยด้วย ทั้ง 3 มาตรการนี้ถูกออกแบบมาใช้คนละเวลา ทำให้เกิดประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น เราเรียกร้องให้มี Social Distancing แต่ขณะเดียวกันไม่มีมาตรการรองรับกลุ่มคนที่เปราะบางสุดในสังคมอย่างแรงงานนอกระบบ
  
คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานรับเหมารายวัน คือ คนที่ค้ำจุนกรุงเทพฯ ให้อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ขับรถส่งของ คนเก็บขยะ ผู้ช่วยพยาบาลต่างๆ แต่กลับเป็นคนไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ เป็นต้น มาตรการที่ว่าถ้าไม่ออกพร้อมเพรียงกัน จะทำให้การรับมือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงต้องออกแบบด้วยกัน คิดอย่างเป็นระบบ และประสานงานกัน" นายธนาธร กล่าว 
 
นายธนาธร กล่าวอีกว่า สำหรับคำแนะนำผู้ประกอบธุกิจในวิกฤตตอนนี้ สิ่งสำคัญคือสายป่านต้องยาวขึ้น คือ ควรมีเงินสดถือไว้สำหรับรองรับต้นทุนคงที่ของบริษัทตนเองอย่างน้อย 6 เดือน ต้องอยู่ให้ได้สำหรับค่าใช้จ่ายคงที่ ธนาคารที่ให้กู้ช่วงนี้ต้องรีบกู้เงินออกมาถือไว้ก่อน เพราะถ้าสถานการณ์หนักกว่านี้ ธนาคารย่อมต้องไม่ให้กู้ แต่สำหรับบริษัทที่มีเงินสดในมือ มองว่านี่คือโอกาสที่จะซื้อเทคโนโลยี เพราะจะถูกมาก หรืออาจเป็นการซื้อคู่แข่งที่มีฐานลูกค้าซึ่งเราไม่มี เช่น บริษัทเราฐานลูกค้าในกรุงเทพฯ แต่คู่แข่งมีฐานในต่างจังหวัด อย่างนี้สามารถเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเองได้ หรือต่างประเทศ ญี่ปุ่น อเมริกา หรือเยอรมัน มีทรัพย์สินราคาถูกและน่าลงทุนอยู่เยอะมาก เชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเกิดมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการขยายงบดุลธนาคารแห่งประเทศอย่างมโหฬาร ทั่วโลกพร้อมกัน น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อีกไม่นานเงินจะท่วมตลาด และทรัพย์สินราคาจะไล่ต่อไป ถ้าเรามีเงินสดเหลือมากกว่า 6 เดือนนี่คือโอกาส
 
"เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีแพ็กเกจมาตรการที่ใหญ่กว่า ทั้งรับมือในช่วงนี้และรับมือช่วงฟื้นฟูประเทศ เงินมหาศาลจะเข้าสู่ระบบ นี่จะเป็นมาตรฐานใหม่ เราจะเห็นแพ็กเกจที่ใหญ่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน รวมถึงหลังจากนี้จะมีโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง ระบบเวชทะเบียนแบบกระดาษที่ใช้ในโรงพยาบาลต้องเลิกได้แล้ว ควรทำข้อมูลเวชระเบียนดิจิทัลที่ง่ายต่อสืบค้น มีการเก็บข้อมูลแบบบิ๊กดาต้า ใช้เอไอวิเคราะห์ และต้องเชื่อมโยงกับบัตรประชาชน ไม่ควรต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน เช่น การลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ตอนนี้ ใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักก็น่าจะเพียงพอ เชื่อว่าในอนาคตด้านการแพทย์จะมียาสำหรับแต่ละคน นาโนเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้"
 
"ที่ผ่านมาเรานำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์เยอะมาก อาจต้องกลับมาคิดเรื่องนี้เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดในอนาคต ตัวอย่างเช่นการผลิตเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงตัวกรองอากาศ HEPA Fillter ที่ใช้ในห้องความดันอากาศของผู้ป่วย ซี่งเทคโนโลยีไม่ได้ซับซ้อน แต่ทว่าต้องนำเข้า เราคงต้องคิดผลิตในประเทศ" นายธนาธร กล่าว
 

 
ประธานสภาเกษตรกรฯ กระทุ้งรัฐบาลอย่าทิ้งภาคชนบทที่อ่อนแรง
https://www.prachachat.net/economy/news-442578
 
วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ประธานสภาเกษตรกรฯ กระทุ้งรัฐบาลอย่าทิ้งภาคชนบทที่อ่อนแรง วิกฤตทุกครั้งเป็นเบาะคอยรองรับ
 
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการประชุมทางไกลออนไลน์วานนี้ (1 เม.ย.63) เพื่อรับทราบการดำเนินงานของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และสื่อสารถึงรัฐบาลด้านความเดือดร้อนของเกษตรกรในภาคชนบท ว่าขณะนี้อ่อนแอและอ่อนแรงมากจนจะล่มสลาย การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลในภาคชนบทขาดความชัดเจนไม่เป็นรูปธรรม
  
ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายมิติมาก เช่น ปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน 2 ปี ยังผลให้ภาคการผลิตยากมาก, ปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดส่งผลให้แม้ผลิตสินค้าเกษตรได้ก็ขายยากมาก, ปัญหาที่ทำกินรุนแรงเรื้อรัง, ราคาพืชผลตกต่ำต่อเนื่องหลายปี เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาคการเกษตรในชนบทเปรียบเป็นเบาะที่รองรับปัญหาทั้งประเทศในยามที่ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งมาก ในทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตผู้คนจะหลั่งไหลกลับสู่ชนบท อาทิ วิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 แต่ด้วยช่วงนั้นประเทศไทยฝนตกต่อเนื่องตลอด 2 ปี จึงทำให้ภาคชนบทสามารถเป็นเบาะรองรับปัญหาต่างๆ ได้และฟื้นประเทศชาติได้เร็ว แต่ครั้งนี้แตกต่าง เพราะภาคชนบทถูกดูดซับความมั่งคั่งจนอ่อนแรงที่สุด ด้วยสาเหตุหนึ่ง
 
ฝนก็ไม่ดี น้ำในห้วยก็ไม่มี น้ำในเขื่อนก็เหลือน้อยเต็มที หากรัฐบาลไม่มีมาตรการฟื้นฟูภาคชนบทให้กลับมาเข้มแข็งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่รองรับสังคมไทยในยามเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ศักยภาพในการรองรับจะนับได้อีกกี่ครั้ง
 
อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีการเตรียมการมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น การลงไปค้นหาศักยภาพของเกษตรกรในชนบท, การทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลในทุกตำบล, การค้นหาพืชหรือสัตว์เศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีให้เกษตรกรในชนบท เป็นต้น
 
ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาฟื้นฟูภาคชนบทด้วยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการทำการเกษตรบนพื้นฐานศักยภาพ ภูมิปัญญาของเกษตรกรเอง ให้โอกาสเกษตรกรภาคชนบท ผมเชื่อมั่นว่าเราจะเข้มแข็ง แข็งแกร่งมากขึ้น เป็นฐานรากทางสังคมที่เข้มแข็งสามารถที่จะเป็นเบาะรองรับวิกฤตเศรษฐกิจของชาติได้ในระยะยาวต่อๆ ไป” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่