ห้องสมุดอาเซียนที่ภูเก็ต  : การเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนไทยต้องไม่หยุดนิ่ง ASEAN Library

ห้องสมุดอาเซียน : การเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนไทยต้องไม่หยุดนิ่ง
โดย ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  

          เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมกับคณะของท่านชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการไปมอบ “ห้องสมุดอาเซียน” ให้กับทางโรงเรียนกะทู้วิทยา จังหวัดภูเก็ต ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ไปเยือนโรงเรียนท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะที่น่าสนใจคือช่วงนี้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการเดินทางและการท่องเที่ยว ซึ่งในสภาวะปกติเกาะทางภาคใต้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมากมายมหาศาล
          นโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ “การทูตเพื่อประชาชน (People’s Foreign Affairs)” ซึ่งหมายถึงการที่กระทรวงการต่างประเทศมีปฏิสัมพันธ์กับพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศในทุกจังหวัด เพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้เรื่องการต่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพของเยาวชนไทยให้มีโลกทัศน์ที่ก้าวไกลขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประธานอาเซียนตลอดทั้งปี มีการประชุมสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดขึ้นที่ภูเก็ต ดังนั้น ชาวภูเก็ตจึงได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้แทนที่มาร่วมประชุมจำนวนมากและทีมเจ้าภาพที่จัดการประชุมในกรอบอาเซียน 
          ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเที่ยวภูเก็ตจำนวน 9 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์
ที่เยอะมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทยทั้งหมด ในขณะที่การดำเนินการทูตเพื่อประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2542 หรือ 21 ปีที่แล้ว ซึ่งโครงการนี้เรียกว่า “บัวแก้วสัญจร” จุดประสงค์คือเพื่อที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนให้คนไทยได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการต่างประเทศ เพราะเรื่องการต่างประเทศเป็นมิติที่โยงกับทุก ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การทำงาน การไปเรียน การเดินทางไปต่างประเทศ แม้กระทั่งผลกระทบจากประเด็นเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น 



   การเยือนของท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ในวันนั้นมีพิธีการมอบห้องสมุดอาเซียนให้กับโรงเรียนกะทู้วิทยาเป็นแห่งที่ 51 และโรงเรียนทุ่งโพธิ์วิทยา จังหวัดพังงา เป็นแห่งที่ 52 โดยโครงการ "1 จังหวัด 1 โรงเรียน 1 ห้องสมุดอาเซียน เพื่อประชาชนและเยาวชนไทย" ซึ่งได้ดำเนินมา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2558 โดยกระทรวงการต่างประเทศมุ่งหวังที่จะให้มีห้องสมุดอาเซียนในทุก ๆ จังหวัด เหลืออีกประมาณ 25 จังหวัด ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าประโยชน์ที่นักศึกษาและนักเรียนจะได้คือ ได้เปิดโลกทัศน์ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน ไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น แต่คือข้อมูลที่จะสร้างความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้น มากกว่าการรู้เรื่องอาหารการกิน หรือคำทักทาย แต่เป็นเรื่ององค์ประกอบของสังคม ความแตกต่างของประเพณีวัฒนธรรม และโอกาสทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งนักเรียนที่ได้มาศึกษาข้อมูลในห้องสมุดนี้จะได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือและมัลติมีเดีย เพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเพิ่มเติม นอกจากนี้ จะเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความผูกพันระหว่างกัน โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ที่อยู่ในภาคใต้ของไทยและไม่ห่างไกลจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน คือประเทศมาเลเซีย



                 จากการที่ผมได้มาร่วมคณะในวันนี้ ก็ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่ามีนักเรียนในหลายจังหวัดที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการต่างประเทศของไทย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องของเวลาและบุคลากรจึงทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศมุ่งที่จะดำเนินการสร้าง “ห้องสมุดอาเซียน” ได้ครบทุกโรงเรียนในทุกจังหวัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่า ปีงบประมาณหน้าจะมีการเปิดห้องสมุดอาเซียนเพิ่มอีกถึง 6 แห่ง
                 จากประสบการณ์ที่ติดตามไปในวันนั้น ถึงแม้ว่าสนามบินนานาชาติภูเก็ตจะเงียบเหงาลงนิดหน่อย แต่ร้านค้าและสถานที่ท่องเที่ยวยังมีคนพอสมควร การที่เราขยายศักยภาพ (capacity-building) ให้กับคนไทยในต่างจังหวัดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถึงแม้ว่าเราจะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ขณะนี้ ก็ต้องมองระยะยาว มองภาพใหญ่ และไม่ละเลยที่จะเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เช่น เมื่อเรื่องโควิด-19 จบลง เศรษฐกิจจะต้องถูกกระตุ้นและ jump-start ขึ้นมาได้โดยเร็วที่สุด  ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมีโครงสร้างทางด้านการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเจอภัยวิกฤตโควิด-19 ซึ่งทำให้ชะงักงันเป็นการชั่วคราวก็ตาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่