สรุปแล้วกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 ในปี2107 (สงครามช้างเผือก) หรือปี 2112 กันแน่ครับ

แบบเรียนส่วนใหญ่ระบุว่าเราเสียกรุงในปี 2112 รัชสมัยพระมหินทร์ แต่พอมาอ่านประวัติศาสตร์จริงทั้งฝั่งไทยและพม่า ผมกลับมองว่าเราน่าจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่1ตั้งแต่ปี 2107 ตอนสงครามช้างเผือกรึเปล่าครับ เพราะปี2112 เหมือนเป็นสงครามที่พม่ายกมาเพื่อปราบกบฏอยุธยาเท่านั้น
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
แล้วแต่ว่าใครจะเขียนครับ

ถ้าพงศวดานของพม่าจะถือว่า เราเสียกรุงตั้งแต่สงครามช้างเผือก เพราะเขียนเลยเถิดถึงขั้นพม่าจับพระมหาจักรพรรดิ์ไปหงสาวดีได้ พระมหาจักรพรรดิ์บวชที่หงสาแล้วแกล้งเดินธุดงหนีกลับมากรุงศรีอยุธยา

ส่วนของไทย จะถือว่าเสียกรุงตอน พ.ศ. 2112 เพราะตอนสงครามช้างเผือกนั้นเป็นการเจรจายอมเสียผลประโยชน์ให้พม่ายกทัพกลับไปเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ยึดตามพงศาวดานไทย สำหรับสงครามช้างเผือกนั้นอยุธยาก็คล้ายๆจะเสียเอกราชกลายๆแล้วครับ เพราะต้องส่งพระราเมศวรไปให้บุเรงนองคล้ายๆกับการส่งองประกัน แล้วดูเหมือนกษัตริย์อยุธยาคนใหม่อย่างพระมหินก็ถูกลดพระเกียรติยศลงจนดูเหมือนจะเป็นรองพระมหาธรรมราชาแห่งสุโขทัยเสียอีก เสริม: อีกอย่างการยอมให้ช้างเผือกก็คล้ายๆกับบรรณาการดีๆนี่เองครับ ผมไม่ได้ว่าเราต้องส่งบรรณาการรายปีให้หงสาด้วยรึเปล่า
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 7
อันที่จริงไม่ว่าตามพงศาวดารไทยหรือพงศาวดารพม่าเมื่อพิจารณาจากเนื้อหา บ่งชี้ว่าโดยพฤตินัยอยุทธยาได้สูญเสียสถานะความเป็น "รัฐเอกราช" และกลายเป็น "รัฐประเทศราช" ของหงสาวดีไปในสงครามช้างเผือกแล้วครับ

เนื่องจากกษัตริย์อยุทธยาคือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้สูญเสียสถานะความเป็น "เอกราช" (ราชาผู้เป็นเอก ไม่ใช่ independence ตามความหมายปัจจุบัน) หรือ "จักรพรรดิราช" ให้กับพระเจ้าหงสาวดีไปแล้ว เพราะต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของหงสาวดีโดยหงสาวดีได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่อยุทธยามีแต่เสียผลประโยชน์ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของช้างเผือก องค์ประกัน ภาษีเมืองมะริด ไม่ต่างอะไรกับตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีอยู่กลายๆ แม้ว่าจะไม่ได้ถูกโจมตีจนกรุงแตกก็ตาม

ทั้งนี้ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ซึ่งเก่าที่สุดที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้จะใช้คำว่า "ครั้งนั้นฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยาออกเป็นพระราชไมตรี และสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าทั้งสองฝ่ายเสด็จมาทำสัตยาธิษฐานหลั่งน้ำษิโณฑก ตำบลวัดพระเมรุ แล้วจึงพระเจ้าหงสาขอเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวรเจ้าและช้างเผือก ๔ ช้างไปเมืองหงสา"

การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ "ออกเป็นพระราชไมตรี" ตามพงศาวดารไทยพิจารณาแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับ "ยอมแพ้" เพื่อขอสงบศึกเพื่อเป็น "ไมตรี"  หรือเป็น "สุวรรณปัฐพีเดียวกัน" คือยอมเป็นหนึ่งในเครือข่ายปริมณฑลทางอำนาจที่มีความผูกพันกับหงสาวดีที่มีบารมีสูงกว่า  ดังตัวอย่างตอนสมเด็จพระนเรศแข็งเมืองต่อหงสาวดีตอนประกาศอิสรภาพ พงศาวดารยังใช้คำว่า "อันแผ่นดินพระมหานครศรีอยุธยา กับแผ่นดินเมืองหงสาวดี ขาดจากทางพระราชไมตรีกัน" หรือ "มิได้เป็นสุวรรณปัฐพีเดียวดุจหนึ่งแต่ก่อน ขาดจากกันแต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน"

จริงอยู่ที่สมัยนั้นมีคติการทำสงครามเพื่อประกาศบุญบารมีของกษัตริย์ และช้างเผือกก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงบารมีของกษัตริย์เปรียบได้กับ "ช้างแก้ว" ของพระเจ้าจักรพรรดิราชตามคติพุทธ แต่ในความเป็นจริงหงสาวดีไม่น่าจะมาทำสงครามเพียงแค่เพื่อเอาช้างเผือกตามที่พงศาวดารไทยสมัยรัตนโกสินทร์ระบุแต่ประการเดียว แต่น่าจะหวังผลประโยชน์อื่นมากกว่านั้น  ตามพงศาวดารพม่าเองก็กล่าวว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงปรารถนาจะพิชิตกรุงศรีอยุทธยาได้ตั้งแต่ทรงครองราชย์ใหม่ๆแต่เพราะทรงเห็นว่ายังไม่พร้อมเลยไปตีล้านนาและไทใหญ่ก่อน ช้างเผือกจึงน่าจะเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น

ถ้าอิงตามพงศาวดารพม่ากล่าวว่าสงครามครั้งนี้ก็จะต่างจากพงศาวดารไทยคือหงสาวดีได้อยุทธยาเป็นประเทศราช พระมหาจักรพรรดิถูกพาไปหงสาวดีพร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ได้ช้างเผือกทั้งหมดบวกภาษีเมืองมะริด ได้กวาดต้อนผู้คนไปหงสาวดีจำนวนมาก แล้วตั้งพระมหินทราธิราชเป็นกษัตริย์สืบต่อ มีการกล่าวว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงปลูกปราสาทขาวในหงสาวดีให้พระมหาจักรพรรดิประทับอยู่เหมือนกับเจ้าประเทศราชองค์อื่นเช่น พระเมกุฏิมหาราชเชียงใหม่ พระเจ้านรปติอดีตกษัตริย์อังวะ เป็นต้น ส่วนสงคราม พ.ศ.๒๑๑๒ เกิดเพราะพระมหาจักรพรรดิออกผนวชแล้วเสด็จหนีกลับอยุทธยามาก่อกบฏร่วมกับพระมหินทร์

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์หลายท่านตั้งแต่ยุคบุกเบิกเช่นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (จากเดิมที่ไม่ทรงเชื่อ) ก็ทรงเชื่อว่าเหตุการณ์สงครามช้างเผือกน่าจะเป็นตามพงศาวดารพม่ามากกว่า คืออยุทธยาตกอยู่ใต้อำนาจหงสาวดีแล้ว ส่วนตัวผมเองก็เห็นว่าดูสมเหตุสมผลมากกว่าพงศาวดารไทยที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ในขณะที่พงศาวดารของไทยเท่าที่พบในปัจจุบันที่กล่าวถึงสงครามช้างเผือกล้วนชำระหลังเหตุการณ์ (เก่าสุดสมัยสมเด็จพระนารายณ์) แต่สงครามนี้รวมถึงเหตุการณ์ที่พระมหาจักรพรรดิยอมแพ้มีระบุอย่างละเอียดใน "หานตาวดี ฉิ่งผยูชิง อะแยด่อโบง" (Hanthawaddy Hsinbyushin Ayedawbon) วรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบุเรงนองที่แต่งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๒๒ รัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง จัดได้ว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยชิ้นสำคัญ จึงน่าจะมีน้ำหนักพอสมควรครับ

     "ครั้งนั้นพระเธียรราชา กษัตริย์โยธยา จึงทรงนำช้างเผือก ๔ เชือก ทั้งช้างศึกมีชื่ออีกมาก รวมทั้งพระราชธิดาและพระราชบุตรเขย จัดเป็นบรรณาการเข้าถวายเบื้องพระบาท เพื่อขอไว้ซึ่งชีวิต ครั้นกษัตริย์โยธยาทงนามพระเธียรราชาเข้ามาเฝ้าเช่นนั้น ราชกิจก็เป็นอันสุดสิ้นแลซ้ำได้มาซึ่งชัยชนะ ข้างพระมหาธรรมราชาพระเจ้าช้างเผือก (บุเรงนอง - ผู้เขียน) จึงรับสั่งให้พระเธียรราชากษัตริย์อยุธยา กับพระมหินทร์ ราชโอรสเจ้าวังหน้า และออกญาราม เจ้าเมืองพิษณุโลก ผู้ราชบุตรเขย ตลอดจนมหาอำมาตย์ทั้งหลาย กระทำสัตย์อธิษฐานต่อพระมหาธรรมราชา ณ เบื้องหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าจะสละซึ่งชีวิตถวายงานรับใช้โดยมิคิดคดทรยศตราบชั่วลูกหลาน ครั้นให้คำสัตย์ปฏิญญาแล้ว ก็พระราชทานกรุงศรีอยุธยาคืนให้ แล้วทรงมีรับสั่งให้นำเหล่าอำมาตย์ผู้ไม่ซื่อสัตย์อันมีในพระนครศรีอยุธยานั้น มาเฝ้าแทบเบื้องพระยุคลบาท และยังมีรับสั่งให้ริบเอาเหล่าพวกเศรษฐีคหบดี ด้วยขึ้นชื่อว่าผู้มีคุณวิทยา อันมีช่างทอง ช่งเหล็ก ช่างทองแดง ช่างแกะ ช่างวาด ช่างปั้น ช่างวางอิฐ ช่างเจาะ ช่างร้อยมาลัย ช่างฟ้อน นักดีดสีตีเป่า/นักรำ หมอยา ช่างเย็บ ช่างปูน ช่างไม้ ก็มีรับสั่งให้คุมเป็นกลุ่มเป็นเหล่าแลนำมายังเบื้องพระยุคลบาทด้วย แลพระภิกษุอันมีในพระนครศรีอยุทธยานั้น ก็ทรงถวายภัตตาหารและเครื่องอัฏฐบริขาร (จีวร สบง ผ้าสังฆาฎิ กล่องเข็ม ผ้ากรองน้ำ บาตร) แม้สังฆีกวัตถุ (ของสงฆ์) ก็ทรงพิจารณาแลถวาย แลสถูป พระพุทธรูป คูหา อารามากมีอันเสียหายไป ก็โปรดให้สร้างขึ้นใหม่ทั้งสิ้น โปรดให้ยุบพานพระศรีและเครื่องทรงอาภรณ์พรรณทั้งหลาย แล้วทรงใช้ทองนั้นหุ้มบูชาพระสถูปอันบรรจุไว้ซึ่งพระเกศธาตุนับแต่ฐานถึงยอดปักฉัตรจนเต็มองค์ ทรงอุปสมบท (พระภิกษุ) เท่าพระชนมายุ ส่วนที่ประทับอันมีนามว่าครอบครองไปทั้ง ๔ ทวีป ก็ทรงสร้างขึ้นเป็นวัด พร้อมศาลารายล้อมรอบ ๒๐ หลัง แลถวายแก่อรัญวาสีบุคคล (พระฝ่ายอรัญวาสี) ด้านพระไตรปิฎก ก็โปรดให้สร้างขึ้นเป็น ๑๑๘ กอง แลให้ประดิษฐานไว้คู่ฟ้าดิน ทรงจัดพระโอรสถแก่เหล่าพระภิกษุสงฆ์ผู้อาพาธ ทรงสร้างอาศรมและถวายไว้คู่ฟ้าดิน พระมหาธรรมราชาผู้เป็นเจ้าแห่งช้างเผือก บ่อทอง บ่อเงิน บ่อแก้วมณี เป็นเจ้าแผ่นดินแลแผ่นน้ำนั้น (หมายถึงพระเจ้าบุเรงนอง - ผู้เขียน) ครั้นทรงจัดแจงส่วนสังสารวัฏทั้งนั้นแล้วเสร็จ เพื่อยังประโยชน์ในปัจจุบันสมัย (พระองค์) จึงทรงแต่งตั้งนายทหารขึ้นไว้ในพระนครศรีอยุธยา แล้วทรงตั้งระบบชั่ง ระบบเงินตรา ระบบการตวง เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน ทรงจัดวาง (ระบบ) เงินตราให้ใช้เป็นสัดส่วน โดยให้รับรู้เป็นมาตรฐานแบบอย่างเดียวกัน เหล่าประชาชนที่หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา ก็ให้เรียกหามายังเบื้องพระยุคลบาท แลตำบลต่อแดนนับแต่อาณาจักรโยธยาต่อแดนล้านช้าง (แล) ต่อแดนละไว อาณาจักรขอม แลแดนเย้า แลต่อแดนตานี ได้ทรงให้ตั้งกองช้าง กองม้า แลค่ายสั้น ยาว (เป็นระยะ) ครั้นจัดแต่งการทั้งหลายนี้แล้ว พระมหาธรรมราชาพระเจ้าช้างเผือก เจ้าแห่งบ่อทอง บ่อเงิน แลบ่อแก้วมณี ก็ริบเอาช้างเผือก ๔ เชือก แลพระราชธิดากษัตริย์อยุธยา แล้วแวดล้อมด้วยพระราชโอรสเจ้าวังหน้า พระอนุชาพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าอังวะ เป็นต้น (แลมี) มหาอำมาตย์ตะเลง พม่า แลฉานทั้งหลาย ทั้งกวาดต้อนเอาอาณาประชาราษฎร์ที่เป็นเชลยจำนวนมากกลับคืนสู่หงสาวดีราชธานี เปรียบประดุจพระเจ้าจักรพรรดิทรงเสด็จเวียนไปทั้ง ๔ ทวีป แล้วเสด็จคืนสู่ที่ประทับเดิมแห่งพระองค์"



อย่างไรก็ตาม มีข้อควรสังเกตว่าวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติร่วมสมัยนี้ไม่ได้ระบุว่ามีการพาพระมหาจักรพรรดิไปหงสาวดีด้วย ผิดจากพงศาวดารพม่า ซึ่งเรื่องสำคัญขนาดนี้ไม่ถูกกล่าวถึงก็ประหลาดอยู่


ยังมีข้อสังเกตุอีกประการคือ เมื่อพระมหินทราธิราชได้ครองกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ปรากฏในหลักฐานฝั่งไทยว่าพระมหาธรรมราชา (ตอนนั้นน่าจะมีสถานะคล้ายๆ 'เจ้าสองฝ่ายฟ้า' ขึ้นกับทั้งหงสาวดีและอยุทธยา) ทรงมีอำนาจสิทธิขาดในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ถึงขั้นว่าการแผ่นดินในอยุทธยาเองก็ตามถ้าพระมหาธรรมราชาจะสั่งอะไรพระมหินทราธิราชซึ่งครองอยุทธยาอยู่ต้องทำตาม

"ในขณะนั้น เมืองเหนือทั้งปวงเปนสิทธิ์แก่พระมหาธรรมราชา อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระนครศรีอยุทธยา พระมหาธรรมราชาก็ช่วยบำรุงแลบังคับบัญชาลงมาเปนประการใดไซร้ สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินก็ตรัสให้ทำตามกฎให้ลงมานั้นทุกประการ อยู่มาก็แค้นพระราชหฤไทย"

ซึ่งถ้าพระมหินทร์ยังทรงสถานะเป็น "เจ้าเอกราช" อยู่ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พระมหาธรรมราชาที่เป็นสามนตราชจะทรงสั่งการอะไรต่อพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาได้ จึงสันนิษฐานว่าอำนาจของพระมหาธรรมราชาน่าจะมาจากหงสาวดีอีกต่อหนึ่ง ทำให้กรุงศรีอยุทธยาไม่ได้มีอำนาจเหนือหัวเมืองฝ่ายเหนืออย่างในอดีตแล้ว


ส่วนการคำว่า "เสียกรุง"  อาจต้องแยกเป็นคนละกรณีกับการสูญเสียสถานะรัฐเอกราช  ทั้งนี้เมื่อศึกษาหลักฐานลายลักษณ์อักษรในสมัยโบราณส่วนใหญ่เช่นพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา  พบว่าคำว่า "เสียกรุง" หรือ "เสียเมือง" มักจะใช้กับการถูกข้าศึกรุกรานจนตีเมืองแตกบุกเข้าเมืองได้เป็นหลัก  ซึ่งไม่ใช่ในกรณีสงครามช้างเผือกที่กรุงศรีอยุทธยาเป็นฝ่ายยอมสวามิภักดิ์ก่อน  ด้วยเหตุนี้พงศาวดารจึงเลือกใช้คำว่า "ออกเป็นพระราชไมตรี"

ส่วนการกำหนดว่าเสียกรุงครั้งที่ ๑ ที่ ๒ นั้น เป็นการกำหนดของนักประวัติศาสตร์สมัยหลัง ไม่ปรากฏในเอกสารโบราณ  จึงไม่ควรยึดถือเป็นข้อเท็จจริงตายตัวเสมอไปครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่