+++ ทำไมประเทศไทยยอดผู้ติดเชื้อยืนยันน้อยกว่าหลายๆ ประเทศ +++

ผมคิดว่าหลายๆ ท่าน ทั้งคนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์ทั่วไป หรือแม้แต่กรมควบคุมโรคเอง คงแปลกใจไม่น้อย ที่เห็นว่าบ้านเรามีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำมากอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าย้อนไปเดือน ม.ค. คงไม่มีใครคาดคิดว่าประเทศที่คนจากอู่ฮั่นเดินทางมามากที่สุดไม่นับประเทศจีน แถมยังเป็นประเทศแรกในโลกที่มีผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีน จะมีคนติดเชื้อน้อยขนาดนี้ มันเป็นไปได้อย่างไรกัน

ผมจึงลองไล่สาเหตุที่เป็นไปได้ โดยจะไล่สมมติฐานที่เป็นไปได้ทีละข้อนะครับ โดยขอออกตัวก่อน ว่า จขกท. เป็นแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้ทำงานด้านควบคุมการระบาด เพียงสนใจงานด้านนี้มาตลอด (ผู้ที่ทำงานจริงคงยุ่งจนไม่มีเวลามานั่งเขียนบทความแบบนี้ได้หรอก) ข้อมูลที่ใช้จากหลักฐานสาธารณะ ไม่ใช้ข้อมูลปกปิดแต่อย่างใด ดังนั้น หากมีใครมีข้อมูลหลักฐานเบื้องลึก จะมาขอแย้งตรงไหน ก็สามารถบอกได้เลยนะครับ

1. ความรู้พื้นฐานของการแพร่ระบาดไวรัสระบบหายใจทั่วไป และ COVID-19 ขณะนี้

1.1 การติดต่อ 

ติดทางการหายใจฝอยละออง (droplet) และการสัมผัส ส่วนการติดต่อทางอากาศ (airborne) เกิดขึ้นได้ในบางกรณี เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจทางการแพทย์ หรือ ห้องปิดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งเจอได้น้อย เชื้อกลุ่มนี้เหมือนกันหมดครับ ต่อให้ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์นี้จะใหม่แค่ไหน แต่มันก็ยังเป็นโคโรน่าที่มีขนาด รูปร่าง และการติดต่อเหมือนเดิม1 

โรคไวรัสกลุ่มนี้ทั้งหมด จะตรวจพบเชื้อเมื่อมีเชื้อในจมูก น้ำมูก เสมหะและลำคอ ซึ่งจะเป็นช่วงที่แพร่เชื้อได้ ดังนั้นการตรวจไม่พบเชื้อ แม้ว่าผู้ป่วยจะติดเชื้อไปแล้ว อยู่ในระยะฟักตัว หรือแม้แต่ติดเชื้อลงปอดไปแล้ว แต่ไม่พบในระบบหายใจ ก็แปลได้ว่าผู้ป่วยจะไม่แพร่เชื้อในขณะที่ตรวจนั้น 

การแพร่เชื้อจะเกิดจากผู้ป่วยมีอาการ ในกรณีไข้หวัดทั่วไป มีรายงานพบการแพร่เชื้อโดยไม่มีอาการได้บ้าง แต่มักเป็นในกรณีจากคนแข็งแรง ไปยังผู้ป่วยภูมิคุ้มกับบกพร่อง เช่น ได้ยากดภูมิ หรือเคมีบำบัดรักษามะเร็ง2  ส่วนโรค COVID-19 จนปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนของการแพร่เชื้อขณะไม่มีอาการ มีกรณีเดียวที่จีน ที่รายงานว่าอาจจะเป็นไปได้3 แต่ถ้าเทียบกับผู้ป่วยทั้งหมดหกหมื่นกว่าราย ก็ถือว่าน้อยมาก นอกจากนี้ ผู้ไม่แสดงอาการ จะไม่มีทางเกิดเป็น superspreader ได้ จึงไม่น่าจะต้องกังวลคนกลุ่มนี้ (ไปกังวลว่าจะกักคนมีอาการไม่ทัน จะดีกว่า)

ในการจำลองควบคุมโรค พบว่าหากค้นหาผู้ป่วยและกักตัว รวมทั้งตามผู้สัมผัสใกล้ชิดมาตรวจได้เกิน 90% (ไม่ต้องถึง 100%) จะป้องกันโรคไม่ให้แพร่ต่อได้ภายใน 3 เดือน4

1.2 ระยะฟักตัว

เฉลี่ย 5 วัน โดย 95% จะแสดงอาการใน 12 วัน ส่วนตัวเลข 14 วัน คือเกณฑ์ที่ให้จำง่ายๆ และดักจับ 5% ที่เหลือให้ครบ5

1.3 อาการเบื้องต้น

คล้ายไข้หวัดใหญ่ จากข้อมูลที่จีน (ซึ่งนับรวมผู้ที่ไม่มีอาการแต่ตรวจเพราะเสี่ยงด้วย) ราว 90% มีไข้6 ร่วมกับอาการระบบหายใจ เช่น ไอ จาม หอบ หรือน้ำมูก (น้ำมูกจะพบน้อยหน่อย) บางส่วนแม้ไม่มีในวันที่เข้า รพ. แต่สุดท้ายเวลาผ่านไปก็จะไข้7  ส่วนคนที่ไม่มีอาการเลย แต่ตรวจพบเชื้อ พบได้ราว 1% ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมด8 และไม่ถึง 1% ของผู้สัมผัสใกล้ชิดผุ้ป่วยยืนยัน (close contact) ซึ่งก็ใกล้เคียงกับข้อมูลของเรา เช่นกรณีคุณปู่ พบว่าตรวจคนใกล้ชิด 101 คนที่ไม่มีอาการ ก็เจอเพียงหลานเท่านั้นที่มีเชื้อ ส่วนคนที่ติดคนอื่นล้วนแต่มีอาการทั้งสิ้น9

1.4 ความรุนแรง

โรคนี้มีความรุนแรงสูง คือ ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงได้ถึง 20% และตายถึง 2-3%10 ซึ่งอาจดูน้อยเมื่อเทียบกับ SARS หรือ MERS ที่ตาย 10-30% แต่ถ้าเทียบกับไข้หวัดใหญ่ที่ตาย 0.1% ถือว่ารุนแรงกว่ากันมาก 

โดยทั่วไปหากเชื้อมีวิวัฒนาการทำให้มีรุนแรงมาก ก็จะแพร่ได้น้อย เพราะผู้ติดเชื้อจะเข้ารักษา และตายเร็ว ทำให้ไม่แพร่เชื้อต่อ ในขณะที่เชื้อที่รุนแรงน้อยเช่นไข้หวัดจะระบาดได้มาก และควบคุมไม่ได้ เรียกว่า evolution trade-off11

ซึ่งโชคร้ายที่โรค COVID-19 อยู่ตรงกลางพอดี เลยนับว่ามีความท้าทายในการควบคุมมาก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่