เรื่องเล่าสามก๊ก EP29 เบื้องหลังคดีประหาร (การตายของซุยเหยี่ยนกับเอียวสิ้ว)

EP29 เบื้องหลังคดีประหาร (การตายของซุยเหยี่ยนกับเอียวสิ้ว)
มีคลิปเสียงเล่าให้ฟังครับ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
https://youtu.be/--roI5jyk20


ในตอนที่แล้วเราทิ้งท้ายไว้ที่ นอกจากการตายของ ขงหยงแล้ว ยังมีอีกสองคนอย่าง ซุยเหยียนและเอียวสิ้วที่โจโฉนั้นเป็นต้นเหตุ โดยซุยเหยียนนั้นเป็นบัณฑิตที่มีคุณธรรมสูงส่ง และเอียวสิ้วนั้นมีปัญญาที่หลักแหลม แล้วเหตุใดโจโฉจึงจำเป็นของฆ่าทั้งสองคนนี้

อ.อี้จงเทียน อธิบายว่า การตายของซุยเหยียนเป็น การตายที่ “อยุติธรรมที่สุด” ซึ่งเฉินโซว์ได้บันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุสามก๊กว่า” การตายของซุยเหยี่ยนนั้น คือ “เรื่องสุดเศร้าของปฐพี จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เป็นธรรม” 
แล้วทำไมจึงไร้ความเป็นธรรม จึงขออธิบายเพิ่มเติม เพื่อทำความรู้จักกับซุนเยี่ยนกันก่อน ว่าซุนเยี่ยนเป็นคนเช่นไรและการตายของเขาเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร
ข้อแรก ซุยเหยี่ยนเป็นคนเช่นไร อ.อี้จงเทียน สรุปไว้ก็คือ “บุ๋นบู๊ครบด้าน  ขุนนางยิ่งใหญ่ สุภาพบุรุษตัวจริง  คุณธรรมสูงส่ง” ซุยเหยี่ยนนั้นเป็นบัญฑิตมีความรู้มาก เรียกได้ว่าเป็น “ปราชญ์มีชื่อเสียงในสมัยนั้น” ตอนเด็กร่ำเรียนตำรา และเก่งกาจในการใช้กระบี่ แรกเริ่มแต่เดิมติดตามอ้วนสี้ยว จากนั้นก็ติดตามโจโฉมาโดยตลอด เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญคนนึงของโจโฉ
ในปีเจี้ยนอันศกที่ 13 โจโฉรื้อฟื้นระบบสมุหนายก ซึ่งระบบนี้โจโฉสามารถจัดตั้งหน่วยงานต่างๆได้เป็นของตนเอง และซุยเหยี่ยนก็ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าคอยสรรหาคนเก่งให้เข้ามาช่วยงาน ตามแนวทางของโจโฉ ก็คือ “ขอเพียงเก่งยินดีอุ้มชู” ซึ่งซุยเหยี่ยนนั้นเรียกได้ว่า ทำงานในตำแหน่งนี้ได้เป็นอย่างดี จนมีผู้คนให้ความเคารพ นับถือในความสามารถของซุยเหยี่ยนอย่างยิ่ง
นอกจากซุยเยี่ยนจะเก่งรอบด้านมากความสามารถแล้ว อีกอย่างนึงก็คือ รูปร่างน่าตาดี มีสง่าราศรี เมื่อครั้งโจโฉขี้นเป็นเว่ยอ๋อง ต้องต้อนรับคณะทูตจากเผ่าซงหนู โจโฉคิดว่าตัวเอง ตัวเตี้ยรูปร่างไม่สง่า จึงให้ซุยเหยี่ยนสวมชุดอ๋องเว่ยแทน ดังนั้นก็พอจะมองออกได้ว่า ซุยเหยี่ยนนั้นทั้งเก่งทั้งดูดีรอีกด้วย ในจดหมายเหตุบันทึกในประวัติของซุยเหยี่ยนไว้ว่า “บูรพกษัติย์ยำเกรงนัก” ซึ่งบูรพกษัติย์ก็คือโจโฉ แล้วทำไมคนอย่างซุยเหยี่ยนนี้ถึงถูกโจโฉฆ่าและฆ่าอย่างไร้ความเป็นธรรม

ความผิดของซุยเหยี่ยนที่ถูกกล่าวหาก็คือ “ใจคิดใส่ร้าย” อะไรคือ ใจคิดใส่ร้าย อ.อี้จงเทียน อธิบายเพิ่มเติมว่า “ในใจคิดใส่ร้าย” หรือ “การใส่ร้ายอยู่ในใจ” ซึ่งเป็นข้อหาที่เรียกได้ว่าไร้เหตุผลสิ้นดี
โดยเริ่มต้นที่เรื่องของ “หยางสวิ้น” เขียนฎีกาให้กับฮ่องเต้ หลังจากที่โจโฉได้รับการแต่งตั้งเป็นเว่ยอ๋อง ซึ่งฎีกาฉบบับนี้ “หยางสวิ้น” เขียนชื่นชมยกย่องความสามารถของโจโฉเป็นอย่างมาก จนทำให้ขุนนางคนอื่นๆ ต่างมองว่า “หยางสวิ้น” ผู้นี้ว่าเป็นพวกสอพอ ประจบประแจง และเมื่อมากเข้าจึงโยงไปหาซุยเหยี่ยน เพราะเหตุว่า ซุยเหยี่ยนนั้นเป็นคนคัดสรรรับ “หยางสวิ้น”เข้ามารับราชการ พอซุยเหยี่ยนอ่านเนื้อหาในฎีกาของ “หยางสวิ้น” จึงได้เขียนจดหมายตอบกลับไปว่า “ตรวจแล้ว ดูพอไหว เวลาหนอ เวลา ย่อมจะมีเปลี่ยนแปลง” เนื้อหาตอบกลับมีแค่นี้ ในจดหมายเหตุ เฉินโซว่ ตีความในเนื้อหานี้ว่า “ซุยเหยี่ยน สนับสนุน หยางสวิ้น” ว่าการสรรเสริญโจโฉในฎีกานั้น เรื่องนี้ก็พอไหว เมื่อเวลาผ่านไป อะไรๆก็จะเปลี่ยนแปลงเอง แม้ตอนนี้มีผู้คนวิจารณ์ อีกหน่อยคนเขาก็จะเข้าใจเอง” นี่คือความเห็นของ “เฉินโซว่” ในจดหมายเหตุสามก๊ก
แต่เมื่อถึงมีอของโจโฉกลับไม่เป็นอย่างนี้ ว่ากันว่ามีคนให้ร้ายซุยเหยี่ยน ตีความหมายแตกต่างออกไปว่า “การสรรเสริญสิ่งที่โจโฉทำนั้นก็พอไหว เมื่อเวลาผ่านไป ความเป็นโจโฉนั้นจะเปลี่ยนไปได้อย่างไรล่ะ” ความหมายต่างกัน ซึ่งโจโฉได้ฟังก็โกรธจัด บอกว่า “ตัวข้าเอง ก็พอไหวเพียงแค่นี้หรือ” จึงมองว่าซุยเหยี่ยนไม่เคารพตนเอง ตัดสินให้ “โกนหัวใช้แรงงาน” 
โทษนี้สำหรับคนอย่าง ซุยเยี่ยนนั้น ถือได้ว่าร้ายแรงมาก เพราะว่าซุยเหยี่ยนนั้นเป็นบัญฑิต สง่างามมีภาพลักษณ์ที่ดี เอาคนแบบนี้มาโกนหัวแล้วให้ไปใช้แรงงาน ถือว่าลบหลู่อย่างมาก แต่ซุยเหยี่ยนก็ไม่ได้แสดงท่าทีอะไร ทำตัวเป็นปกติ ไม่มีอาการโกรษแค้นหรือว่าเสียใจ ไม่มีการแสดงความรู้สึกแม้แต่น้อย ผ่านไปสามวัน โจโฉส่งคนไปดู ซุยเหยี่ยนก็ยังไม่แสดงอาการอะไร ตามเนื้อหาในเชิงอรรถสามก๊กของเผยซงจือบันทึกไว้ว่า โจโฉได้ฝากคำพูดไปถึงซุยเหยี่ยนว่า “เจ้าอยากจะให้ข้าเป็นคนลงมือเองหรือ” เมื่อซุยเหยี่ยนได้ฟังก็เข้าใจ สุดท้ายจึงฆ่าตัวตาย
ว่ากันว่าเมื่อโจโฉอายุเกิน 60 ปี โจโฉก็จะแสดงให้เห็นถึงนิสัยหวาดระแวงมากขึ้น มักจะคุ้มดีคุ้มร้าย และการตายของซุยเหยี่ยนก็นเป็นตัวอย่าง บ่งบอกถึงโจโฉในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเรื่องนี้นั้นใครๆ ก็มองออกได้ว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสีซุยเยี่ยน ซึ่งการตายของซุยเหยี่ยนนี้ได้สรุปไว้ใน “จดหมายเหตุสามก๊ก” ของเฉินโซว่ว่า “คบนานไร้เห็นใจ” ซึ่งก็เหมือนกับซุนฮกและขงหย่งก็ไม่ต่างกัน อ.อี้จงเทียนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การตายของซุยเหยี่ยนนั้น อาจมีสาเหตุอยู่ 3 ข้อ
ข้อแรก คือ ระแวงเกินเหตุ โดยหลังจากที่โจโฉได้รับตำแหน่งเป็น “เว่ยอ๋อง” แล้ว ไม่ว่าโจโฉจะคิดอย่างไร แต่ทุกคนก็มองว่าโจโฉนั้นจะชิงราชบัลลังก์อยู่ดี ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนเหล่านี้ก็มักจะเป็นพวกนักปราชญ์บัญฑิตที่มีคุณธรรมสูงส่ง และซุยเหยี่ยนสำหรับโจโฉแล้วก็อยู่ในคนจำพวกเหล่านี้ แต่ทำไมซุยเหยี่ยนจึงไม่แก้ตัว ไม่ยอมแก้ต่างให้กับตัวเอง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยเราอาจจะคาดเดาความคิดของซุยเหยี่ยนได้เป็น 2 อย่าง
อย่างแรก ก็คือ ซุยเหยี่ยนคิดว่า ไม่จำเป็นต้องลดตัว เมื่อซุยเหยี่ยนเป็นคนดีมีคุณธรรมสูงส่ง มองว่า ตัวเองนั้นเป็นลูกผู้ชายพอ ก็เลยคิดว่าตนเองนั้นไม่ผิด อยากฆ่าก็ฆ่า ไม่จำเป็นต้องแก้ตัวอะไร
อีกอย่าง ก็คือ ซุยเหยี่ยนรู้ดีว่า ถึงอย่างไรโจโฉก็ไม่ยอมปล่อยเขาแน่ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ตัว ซึ่งแก้ตัวไปก็ไร้ประโยชน์

ข้อสอง คือ “ฆ่าซุยเหยี่ยนเพื่อล้างแค้น” โดยเมื่อครั้งโจโฉได้ตัวซุยเหยี่ยน ในปีเจี้ยนอันศกที่ 9 โจโฉยึดได้เมืองเย่ ของอ้วนเสี้ยว ตั้งตัวเองเป็นเจ้าเมืองจี้โจว โจโฉแสดงอาการดีใจอย่างออกนอกหน้า และพูดในระหว่างงานเลี้ยงว่า “ตนเองนั้นได้ดูทะเบียนราษฏ์เห็นว่าจี้โจวนั้นดินแดนกว้างใหญ่และมีคนมากกว่าสามแสน” ซึ่งซุยเหยี่ยนนั้นลุกขึ้นพูดแย้งโจโฉว่า “ท่านโจโฉ ตอนนี้นั้นบ้านเมืองแตกแยก ผู้คนพลัดพราก ท่านแม่ทัพเคลื่อนทัพเข้ามา ไม่ถามประเพณีดีงาม ไม่ปลอบขวัญประชาราษฎร์ คิดแต่ว่าได้เสบียง ได้คน ได้ทหารมากน้อยเพียงใด เพื่อไปขยายบารมีตนเองได้ นี่หรือสิ่งที่ชาวเมืองจี้โจว คาดหวังว่าท่านโจโฉจะเป็น” สิ้นคำพูดซุยเหยี่ยน ทุกต่างหน้าซีดเสียงเงียบสนิท รวมถึงโจโฉอาการเปลี่ยนในบัดดล และแสดงความนอบน้อมต่อซุยเหยี่ยน ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นแผลอยู่ในใจโจโฉมาโดยตลอด 12 ปี สุดท้ายจึงฆ่าซุยเหยี่ยน
ข้อสาม คือ “เป็นการปูทางให้ลูกหลาน” ซึ่งในช่วงท้ายของชีวิตโจโฉ เรื่องที่เป็นประเด็นขึ้นมาก็คือเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง ซึ่งมีโจผีและโจสิดสองพี่น้อง เปิดศึกแย่งชิงตำแหน่งนี้กันอย่างลับๆ และตอนนั้นโจโฉเองก็สอบถามความเห็นขุนนางอย่างลับๆ อีกด้วย แต่เป็นซุยเหยี่ยนที่ประกาศ สนับสนุนโจผีอย่างเปิดเผย ทั้งๆที่ ภรรยาของโจสิดนั้น เป็นหลานของซุยเหยี่ยนก็ตาม เรียกได้ว่า “มีความสัมพันธ์กับโจสิด แต่กลับสนับสนุนโจผี” ซึ่งหากมองเผินๆ ก็คือ ความคิดเห็นตรงกับโจโฉ แต่ในเชิงอรรถของเผยซงจือบอกว่า โจโฉนั้นเป็นคนสั่งฆ่าภรรยาของโจสิด ซึ่งเป็นหลานของซุยเหยี่ยน ซึ่งบันทึกไว้ในประวัติของซุยเหยี่ยน และอาจมองได้ว่าเรื่องนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงตำแหน่งของโจผีและโจสิดก็ได้ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดในข้อนี้

และ “เอียวสิ้ว” ก็เป็นอีกคน ที่ถูกคิดว่าตายเพราะเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอด อ.อี้จงเทียนบอกว่า เอียวสิ้วผู้นี้ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัวมาก อีกทั้งมีความฉลาดเฉลียว และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน รวมทั้งโจผีและโจสิดด้วย ซึ่งเอียวสิ้วก็ไม่เคยผิดใจกับใคร แต่ก็ถูกโจโฉฆ่าอยู่ดี ตามจดหมายเหตุสามก๊กและบันทึกโฮ่วฮั่น ต่างมองว่าการตายของเอียวสิ้วนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการแข่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดต่อจากโจโฉ
แต่ อ.อี้จงเทียนกลับมองว่าการตายของเอียวสิ้วไม่ใช่เกิดจากสาเหตุนี้ เพราะว่า ที่จริงแล้วเอียวสิ้วจะเข้าพวกกับโจผีหรือโจสิดนั้น ไม่ได้มีความชัดเจน เรียกได้ว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามสถานะการณ์ ซึ่งเมื่อโจโฉแต่งตั้งให้โจผีเป็นผู้สืบทอดแล้ว เอียวสิ้วก็คิดตีตัวออกห่างโจสิด แต่ด้วยโจสิดไม่ยอมให้ไป ด้านเอียวสิ้วกลัวจะผิดใจกับโจสิด ก็เลยยังคงไปมาหาสู่กันอยู่
ส่วนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างเอียวสิ้วกับโจผี ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดี เอียวสิ้วเคยมอบกระบี่เล่มนึง ชื่อว่า “หวางเหมา” เรียกตามชื่อคนตีกระบี่เล่มนี้ พอโจผีขึ้นเป็นฮ่องเต้ ครั้นออกจากวังพกกระบี่ติดตัว เห็นกระบี่หวางเหมา ก็นึกถึงเอียวสิ้ว จึงเดินทางไปเยี่ยมเยือน หวางเหมา และมอบของขวัญมากมายเพื่อคายความคิดถึงเอียวสิ้ว
ดังนั้นความสัมพันธ์ของเอียวสิ้วกับโจผี หรือแม้แต่โจสิด อาจเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ดีมาก แล้วทำไมโจโฉต้องฆ่าเอียวสิ้ว  อ.อี้จงเทียนอธิบายว่า เหตุที่โจโฉฆ่าเอียวสิ้วนั้น ก็เพื่อตัวเองเท่านั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องการแย่งชิงตำแหน่ง
ก็คือแม้ว่าหลายคนอาจมองว่าเอียวสิ้วนั้นฉลาด แต่ อ.อี้จงเทียนกลับมองว่า เป็นเพียงฉลาดแกมโกงเท่านั้น เนื่องด้วยใน จดหมายเหตุไม่ได้ทำบันทึกประวัติของเอียวสิ้วไว้ จึงอ้างอิงจากบันทึกโฮ่วฮั่น ในบันทึกบอกไว้ว่า เอียวสิ้วนั้นมีความฉลาดหลักแหลมมาก งานที่ได้รับมอบหมายก็ใช้เวลาเพียงไม่นานก็เสร็จ  
เอียวสิ้วนั้นไม่เพียงทำงานเสร็จ ยังคาดเดาว่าโจโฉจะถามว่าอะไร และก็เขียนคำตอบไว้ให้ลูกน้องตอบตามลำดับเป็นข้อๆ ทำแบบนี้กับโจโฉมาโดยตลอด แล้วก็ออกไปเที่ยวเล่น
แค่นี้ยังไม่พอ หลายต่อหลายครั้ง เอียวสิ้วก็ยังชอบอวดฉลาดแบบไม่เป็นเรื่อง อย่างเช่นการเล่นคำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมประตูทางเดิน ว่ากว้างหรือแคบ ซึ่งในตอนนี้ก็มีอยู่ในซีรีย์สามก๊ก ฉบับ 1994 รวมถึงการกินขนมของโจโฉ เอียวสิ้วก็กินจนหมดและมาแยกตัวอักษรว่า “กินคนละคำ” 
กับเรื่องพวกนี้ก็พอไหว แต่เอียวสิ้วกลับไปคาดเดาเรื่องการทหาร โดยเมื่อครั้งโจโฉกับเล่าปี่ ตรึงกำลังกันอยู่ฮั่นต๋งอยู่นั้น ทหารยามมาถามรหัสลับในคืนนี้ว่าอะไร โจโฉว่า “ซี่โครงไก่” เมื่อเอียวสิ้วได้ฟังก็รีบเก็บของ แล้วบอกกับเหล่าทหารว่า โจโฉกำลังจะสั่งถอยทัพ โดยการตีความจากรหัสลับ “ซี่โครงไก่” ก็เหมือนกับฮั่นต๋งในตอนนี้ คือ “กินไปก็ไร้รส ทิ้งไปก็น่าเสียดาย” กับการอวดฉลาดในเรื่องนี้แล้ว โจโฉสั่งประหารเอียวสิ้ว ด้วยข้อหา “รั่วไหลถ้อยคำ รวมหัวขุนศึก” ก็คือ เปิดเผยความลับชาติ สมคบคิดรวมหัวกัน สร้างข่าวปลุกปั่นผู้คน” 
อ.อี้จงเทียนสรุปในตอนท้ายนี้ว่า หากว่าเอียวสิ้วนั้น ฉลาดเฉลียวจริงก็น่ามองออกว่าโจโฉนั้นเป็นคนเช่นไร ซึ่ง อ.อี้จงเทียนบอกว่า โจโฉนั้นคือเผด็จการ คนอย่างโจโฉนั้นอยากที่จะกุมอำนาจไว้คนเดียว ไม่ว่าคิดจะเป็นฮ่องเต้หรือไม่ก็ตาม แต่ราชสำนักโจโฉนั้นกุมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ แล้วคนอย่างโจโฉนี้ มีหรือจะยอมให้คนอื่นมองออกว่าตนเองนั้นคิดอะไร หรือให้คนอื่นมาเดาใจออกอย่างทะลุปรุโปร่ง ได้อย่างไรกัน แต่เอียวสิ้วไม่ใช่แค่เพียงเดาใจโจโฉออก หนำซ้ำยังป่าวประกาศไปทั่วอีกด้วย แล้วอย่างนี้โจโฉคงไม่เก็บเอียวสิ้วไว้แน่นอน
และก็เป็นไปได้กับการตายของ ซุยเหยี่ยน ก็อาจมาจากสาเหตุนี้ ซึ่งโจโฉนั้น ขอความเห็นเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งอย่างลับๆ ก็แปลว่าโจโฉต้องการคำตอบ ความคิดเห็นอย่างลับด้วยเช่นกัน แต่ซุยเยี่ยนกลับประกาศต่อสาธารณะว่า สนับสนุนโจผี  ดังนั้นการตายของ ซุยเหยี่ยนและเอียวสิ้ว มาจากสาเหตุที่ โจโฉ ไม่ยอมให้คนอื่นรู้ความคิดในใจของตนเอง
ในตอนหน้า กับการแย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอด ในช่วงบั้นปลายชีวิตของโจโฉ เนื้อหาจะเป็นอย่างไร พบกันกับ EP30 ศึกชิงตำแหน่งครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่