ทำไมหลังยุคฮ่องเต้เฉียน ฮ่องเต้คนต่อๆ อย่าง เจียชิ่ง เต้ากวัง ถึงไม่สามารถแก้ไขได้ครับ

อ่านจากสองกระทู้นี้ครับ
ฮ่องเต้เฉียนหลงคือบ่อเกิดความหายนะของต้าชิงหรอครับ? https://ppantip.com/topic/36238323/comment2

ระหว่างคังซีกับเฉียนหลง ใครปล่อยปะละเลยขุนนางมากกว่ากันครับ https://ppantip.com/topic/36931101/comment2

จักรพรรดิคังซีช่วงปลายก็ละเลยขุนนางเหมือนกัน แต่ในยุคของจักรพรรดิหย่งเจิ้นก็จัดการแก้ไขได้ แต่ไหนจักรพรรดิต่อจากเฉียนหลงอย่าง จักรพรรดิเจียชิ่ง จักรพรรดิเต้ากวัง กลับไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ หรือ คังซียังหลงเหลือสิ่งดีๆ ให้แก่ หย่งเจิ้น รึเปล่า ในขณะที่เฉียนหลงไม่เหลืออะไรดีๆ ให้แก่ฮ่องเต้คนต่อมาเลย นอกจากท้องพระคลังที่ว่างเปล่า

อันนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัวของผมนะครับ หากผิดประการใดขออภัยอย่างสูง
เท่าที่สังเกตฮ่องเต้ต้องกวดขัดขุนนางตลอดว่าคนไหนเอาการเอางานบ้าง คนไหนกังฉิน แต่พื้นที่ในพระราชวังต้องห้ามใหญ่โต ขุนนางก็มีจำนวนมหาศาลการกวดขันอาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด กับในสมัยราชวงศ์ชิงแผ่นดินจีนขยายใหญ่โตมากยิ่งยากแก่การกวดขัน ตรวจสอบเหล่าขุนนางท้องถิ่นตามมณฑลต่างๆ เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น แถมหากฮ่องเต้ปล่อยปละการกวดขัดขุนนางสักคนหนึ่งก็เละเทะ ขุนนางเล่นพรรคเล่นพวก ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วเหมือนกับไฟลามทุ่งอะไรทำนองนั้นเลย
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ราชสำนักชิงก็ดำเนินนโยบายคล้ายๆต้าหมิงครับ คือพยายามลดภาษีที่เก็บจากชาวนาลงให้ต่ำมากๆ เพื่อหวังว่าชาวนาจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่การทำอย่างนี้ก็เป็นดาบสองคม กล่าวคือในยามบ้านเมืองดี ชาวบ้านก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีเพราะจ่ายภาษีน้อย แต่พอบ้านเมืองไม่สงบสุขเกิดภัยธรรมชาติหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐกลับไม่มีเงินคงคลังเหลือมากพอจะไปช่วยเหลือประชาชนที่ลำบากได้ เพราะภาษีที่มีในแต่ละปีก็แค่พองบดุลหรือเกินดุลนิดหน่อยเท่านั้น

นอกจากนี้ พวกเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ชาวกองธง และบัณฑิตก็ไม่ต้องจ่ายภาษี ทำให้พวกเขาสะสมความมั่งคั่งกันอย่างล้นปรี่ (พวกนี้ดูดความมั่งคั่งของระบบเศรษฐกิจไปเป็นของส่วนตัวได้มากมาย เพราะไม่ต้องจ่ายส่วนต่างหรือค่าดำเนินการในรูปของเงินให้กับรัฐ)

ต้าชิงมีรายจ่ายมหาศาลครับ เมื่อจักรพรรดิหย่งเจิ้งทรงเพิ่มเบี้ยหวัดให้ขุนนางมากถึง 3 เท่าในยุคของพระองค์เพื่อหวังว่าพวกเขาจะลดการคอรัปชั่นลงได้บ้าง และการเพิ่มขึ้นของปริมาณชาวกองธงกับเชื้อพระวงศ์ที่กลายเป็นล้านคนในยุคปลายเฉียนหลง ที่ทำให้รายจ่ายของต้าชิงนั้นกลายเป็นจ่ายให้กับเบี้ยหวัดเสียหมด

นอกจากนี้การทำศึกสิบศึกใหญ่ในรัชกาลเฉียนหลงก็ทำให้การคลังของต้าชิงย่ำแย่ลง การปล่อยปละละเลยขุนนางและทำให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนัก ทำให้การคลังของประเทศแย่ลงไปอีก

เมื่อการคลังในรัชกาลเต้ากวงย่ำแย่ พร้อมๆกับการที่ประชากรล้นประเทศ ค่าเงินตกต่ำ ค่าแรงตกต่ำ แต่ค่าครองชีพแพงขึ้น ประกอบกับภัยธรรมชาติและความไม่สงบต่างๆ ก็ทำให้เริ่มเกิดการพังทลายด้านเศรษฐกิจของต้าชิง ซึ่งราชสำนักไม่มีเงินจะมากอบกู้สถานการณ์ทั้งในรูปแบบความช่วยเหลือทางตรง และทางอ้อมในเรื่องการรักษาระบบสาธารณูปโภคอย่างถนน ลำน้ำ หรือเขื่อน

มันเลยสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดกบฏ ซึ่งพอราชสำนักส่งกองทัพมาปราบก็ต้องใช้เงินและต้องไปรีดเงินจากชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆวนไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่