[ประวัติศาสตร์จีน] ชะตากรรมโอรสองค์โตของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง

พระราชโอรสของจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ชิง ตามขนบธรรมเนียมให้ความสำคัญกับพระราชโอรสอยู่ 2 ประเภท หนึ่ง คือ "ตี๋จื่อ" (嫡子) หมายถึง พระราชโอรสอันเกิดจากสมเด็จพระมเหสี (ฮองเฮา) ซึ่งเป็นพระภรรยาเจ้าขั้นเอก ถือเป็นภรรยาหลวง อีกประเภท คือ "จ๋างจื่อ" (长子) หมายถึง พระราชโอรสองค์โตของจักรพรรดิที่ประสูติกับพระมารดาตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระมเหสีลงมาจนถึงพระสนม โดยทั่วไป หากพระสนมองค์ใดมีประสูติกาลจ๋างจื่อก็มักจะได้เลื่อนพระยศเป็นพระภรรยาเจ้า (ตั้งแต่ชั้นผินขึ้นไป) จนกระทั้งถึงสมเด็จพระอัครเทวี (หวงกุ้ยเฟย) เลยทีเดียว และหากโอรสองค์โตนั้นประสูติจากสมเด็จพระมเหสีก็จะเรียกว่า "ตี๋จ๋างจื่อ" (嫡长子) อันหมายถึง โอรสองค์โตที่ประสูติจากพระภรรยาหลวงของจักรพรรดิ จะยิ่งมีพระสถานะในราชสำนักสูงกว่าโอรสองค์อื่น ๆ วันนี้ จึงนำรายพระนามของ "จ๋างจื่อ" และ "ตี๋จ๋างจื่อ" มาให้อ่านกันเล่น ๆ ครับ

จักรพรรดินูร์ฮาชี
อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ฉู่อิง (爱新觉罗·褚英) โอรสองค์โตของจักรพรรดินูร์ฮาชีกับพระชายาเอก ตระกูลถงเจีย ในประวัติศาสตร์เรียกกันว่า “พระชายาหยวนเฟยของชิงไท่จู่” (清太祖元妃)***(1) หมายถึงพระชายาองค์ที่ 1 ชื่อว่า ฮาฮาน่าจาชิง ตระกูลถงเจีย (佟佳·哈哈纳扎青) องค์ชายฉู่อิง ประสูติเมื่อปี ค.ศ.1580 เมื่ออายุได้ 18 ชันษารับคำสั่งพระบิดายกทัพไปยึดครองดินแดนอันฉู่ลาคู่ (安楚拉库) ได้สำเร็จ จึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “เป้ยเล่อ” (贝勒)***(2) เรียกกันว่า “กว่างเลวี่ยเป้ยเล่อ (广略贝勒)” ด้วยผลงานและความสามารถทางการรบ จึงทำให้พระองค์เป็นที่หมายมั่นวางไว้ในตำแหน่งพระทายาทของบัลลังก์ข่านแห่งอาณาจักรโฮ่วจิน แต่ทว่าการศึกที่เมืองเหลียวหยาง ความกระหายในอำนาจและความเย่อหยิ่งทระนงตัวกลับทำให้พระองค์ล่วงเกิน กระทำพิธีสาปแช่ง “ห้าขุนนางตั้งแผ่นดิน” และบรรดาเจ้าพี่เจ้าน้อง ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านและนำมาสู่บทลงโทษจำขังในพระราชวัง รัชศกว่านลี่ปีที่ 43 (ค.ศ.1615) กว่างเลวี่ยเป้ยเล่อสิ้นพระชนม์ในที่คุมขังด้วยชันษาเพียง 36 ปี พระศพฝังที่สุสานตงจิงหลิง

องค์ชายฉู่อิง จากซีรีส์ เรื่อง 《独步天下》 หรือ Rule the World


จักรพรรดิหวงไท่จี๋
อ้ายซินเจวี๋ยหลัว หาวเก๋อ (爱新觉罗·豪格) โอรสองค์โตของจักรพรรดิหวงไท่จี๋กับพระชายาเอก ตระกูลอูลาน่าลา ในประวัติศาสตร์เรียกกัน “พระชายาจี้เฟยของชิงไท่จง” (清太宗继妃) เพราะพระนางเป็นพระชายาเอกองค์ที่ 2 ของหวงไท่จี๋ รัชศกเทียนชงปีที่ 6 (ค.ศ.1632) หวงไท่จี๋สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น “เหอซั่วเป้ยเล่อ” (和硕贝勒)***(3) เมื่อสถาปนาราชวงศ์ชิง รัชศกฉงเต๋อปีที่ 1 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น “เหอซั่วซู่ชินอ๋อง” (和硕肃亲王) กำกับกรมพระคลังและออกว่าราชการพร้อมกันกับจักรพรรดิหวงไท่จี๋ พระราชบิดา รัชศกฉงเต๋อปีที่ 3 ติดตามตัวเอ่อร์กุ่น (多尔衮) บุกโจมตีอาณาจักรจงหยวนของราชวงศ์หมิง รัชศกฉงเต๋อปีที่ 8 เดือน 8 จักรพรรดิหวงไท่จี๋สวรรคตโดยไม่ได้แต่งตั้งพระรัชทายาทและไม่มีพระบรมราชโองการกำหนดตัวผู้สืบทอดราชบัลลังก์ จึงเกิดการแย่งชิงกันขึ้นในราชสำนัก โดยผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในขณะนั้นคือซู่ชินอ๋องและตัวเอ่อร์กุ่น (พระราชโอรสจักรพรรดินูร์ฮาชี พระราชอนุชาจักรพรรดิหวงไท่จี๋) ซึ่งตัวเอ่อร์กุ่นมีทั้งผลงานและความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ข้อขัดแย้งไม่สามารถคลี่คลายได้อยู่นาน จนสุดท้ายตัวเอ่อร์กุ่นก็เสนอให้ยกองค์ชายฝูหลิน พระราชโอรสองค์ที่ 9 ของหวงไท่จี๋ขึ้นครองบัลลังก์โดยมีเจิ้งชินอ๋อง จี้เอ่อร์ฮาหล่าง (郑亲王济尔哈朗) และ รุ่ยชินอ๋อง ตัวเอ่อร์กุ่น (睿亲王多尔衮) เป็นผู้สำเร็จราชการให้องค์ชายน้อยซึ่งมีพระชันษาเพียง 6 ปี เจิ้งชินอ๋องเป็นพระราชนัดดาในจักรพรรดินูร์ฮาชีและเป็น 1 ในผู้สนับสนุนซู่ชินอ๋อง ซู่ชินอ๋องจึงได้รับข้อเสนอนี้ไว้ ทว่าความขัดแย้งของทั้งสองก็ยังคงมีอยู่เนือง ๆ รัชศกซุ่นจื้อปีที่ 5 ตัวเอ่อร์กุ่น ในฐานะผู้สำเร็จราชการและมีอำนาจล้นฟ้าก็ได้สั่งขังซู่ชินอ๋องและสิ้นพระชนม์ในคุกนั่นเอง

องค์ชายหาวเก๋อ จากซีรีส์ เรื่อง 《独步天下》 หรือ Rule the World
จักรพรรดิซุ่นจื้อ
อ้ายซินเจวี๋ยหลัว หนิวหนิ่ว (爱新觉罗·牛钮) โอรสองค์โตของจักรพรรดิซุ่นจื้อกับพระชายา ตระกูลปา (巴福晋) มีพระขนิษฐาร่วมพระมารดาอีก 2 องค์ คือ องค์หญิงสามและองค์หญิงห้า (ไม่ทราบพระนาม) ในพระราชพงศาวดารชิงสื่อเก่า กล่าวถึงองค์ชายหนิวหนิ่วว่า “หนิวหนิ่วประสูติเมื่อรัชศกซุ่นจื้อปีที่ 8 วันที่ 1 เดือน 11 ตามจันทรคติ รัชศกซุนจื้อปีที่ 9 วันที่ 30 เดือน 3 ยามเฉิน สิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา 83 วัน” นั่นเท่ากับองค์ชายองค์นี้ประสูติเมื่อพระราชบิดาพระชนมายุได้เพียง 14 พรรษาเท่านั้น ทว่า นอกจากบันทึกในพงศาวดารที่กล่าวไว้เพียงหนึ่งบรรทัดนี้ กลับมีเรื่องเล่านอกกระแส ความว่า “ปาฝูจิ้น” หรือพระชายาปา ชาติกำเนิดต่ำต้อยแต่กลับประสูติโอรสองค์โตให้กับราชวงศ์ นางหวั่นเกรงถึงภัยที่จะมาถึงตัวและลูกน้อย จึงลอบหลบหนีออกจากวังหลวง พงศาวดารนี้ก็เขียนขึ้นเพื่อไว้หน้าจักรพรรดิซุ่นจื้อนั่นเอง

 
จักรพรรดิคังซี
อ้ายซินเจวี๋ยหลัว อิ้นถี (爱新觉罗·胤禔) โอรสองค์โตของจักรพรรดิคังซีและพระนางฮุ่ยเฟย ตระกูลอูลาน่าลา (惠妃乌拉那拉氏) เดิมพระนามว่า เป่าชิง (保清) และเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 5 ของคังซี แต่เพราะโอรสองค์ที่ 1-4 ล้วนสิ้นพระชนม์หลังประสูติ องค์ชายเป่าชิงจึงอยู่ในฐานะองค์ชายใหญ่ เมื่อคังซีเสวยราชย์จึงเปลี่ยนพระนามพระราชโอรสว่า “อิ้นถี” องค์ชายอิ้นถีมีความสามารถทั้งบุ๋นบู๊ พระราชบิดาจึงโปรดปรานมาก อีกทั้งยังมีผลงานด้านการศึก รัชศกคังซีปีที่ 37 (ค.ศ.1698) จักรพรรดิคังซีสถาปนาขึ้นเป็น “จื๋อจวิ้นอ๋อง” (直郡王) ถึงรัชศกคังซีปีที่ 47 จักรพรรดิคังซีเสด็จประพาสนอกด่าน บรรดาองค์ชายต่าง ๆ ก็โดยเสด็จในครั้งนี้ด้วย ทว่าจักรพรรดิคังซีและองค์ชายอิ้นเหริง (胤礽) พระราชโอรสองค์รอง ซึ่งเป็นองค์ชายรัชทายาท กลับขัดแย้งกันจนนำไปสู่พระบรมราชโองการปลดรัชทายาทในปีเดียวกัน โดยมีเหตุผลว่า องค์ชายอิ้นเหริงไม่ประพฤติตามหลักจริยธรรม ฝ่าฝืนพระราชดำรัสของจักรพรรดิคังซี รวมทั้งมัวเมาในสุรานารี และมอบหมายให้จื๋อจวิ้นอ๋อง หรือองค์ชายอิ้นถีควบคุมการคุมขัง องค์ชายอิ้นถีเห็นพระอนุชามีจุดจบเช่นนี้ก็คิดว่าโอกาสมาถึงตนแล้ว จึงเข้าไปยุยงพระราชบิดาให้มีคำสั่งประหารองค์ชายอิ้นเหริง จักรพรรดิคังซีเห็นพระราชโอรสองค์โตจิตใจอำมหิต พิโรธถึงกับบริภาษด่าองค์ชายอิ้นถี ต่อมา องค์ชายสาม อิ้นจื่อ (胤祉) เข้าไปกราบทูลพระราชบิดาว่าองค์ชายใหญ่ทำพิธีสาปแช่งองค์ชายอิ้นเหริงพร้อมพยานหลักฐานในพิธี จักรพรรดิคังซีจึงสั่งคุมขังองค์ชายใหญ่ไว้ในจวนอ๋อง พร้อมทั้งปลดตำแหน่งจวิ้นอ๋องลง ขณะนั้นพระองค์พระชันษาเพียง 37 ปี
องค์ชายอิ้นถีถูกขังอยู่จนสิ้นรัชกาล เมื่อองค์ชายสี่ อิ้นเจิน (胤禛) ขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นจักรพรรดิยงเจิ้ง ก็มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนอักษร “อิ้น” (胤) หน้านามพระเชษฐาอนุชาทุกองค์เป็นอักษร “อวิ่น” (允)
องค์ชายอวิ่นถีถูกคุมขังกระทั่งรัชศกยงเจิ้งปีที่ 12 จึงสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา 63 ปี จัดพิธีพระศพเสมอบรรดาศักดิ์ “เป้ยจื่อ” (贝子)

องค์ชายอิ้นถี จาก ซีรีส์ เรื่อง 《花落宫廷错流年》



จักรพรรดิยงเจิ้ง
อ้ายซินเจวี๋ยหลัว หงฮุย (爱新觉罗·弘晖) โอรสองค์โตของจักรพรรดิยงเจิ้งและสมเด็จพระมเหสีเซี่ยวจิ้งเซี่ยน ตระกูลอูลาน่าลา (孝敬宪皇后乌拉那拉氏) ประสูติตั้งแต่พระราชบิดายังไม่ขึ้นครองราชบัลลังก์ คือรัชศกคังซีปีที่ 36 ขณะนั้นพระมารดาดำรงตำแหน่งเป็นพระชายาเอก จึงได้ชื่อว่าเป็น “ตี๋จ๋างจื่อ” (嫡长子) หมายถึงโอรสองค์โตซึ่งประสูติจากพระมารดาที่เป็นภรรยาหลวง ทว่า พระองค์มีชีวิตที่ไม่ยืนยาวนัก สิ้นพระชนม์เสียเมื่อพระชันษาได้เพียง 8 ปี รัชกาลเฉียนหลง ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอนุชา จึงได้สถาปนาย้อนหลังขึ้นเป็น “ตวนชินอ๋อง” (端亲王)
 

จักรพรรดิเฉียนหลง
อ้ายซินเจวี๋ยหลัว หย่งหวง (爱新觉罗·永璜) โอรสองค์โตของจักรพรรดิเฉียนหลงและสมเด็จพระอัครเทวีเจ๋อหมิ่น ตระกูลฟู่ฉา (哲悯皇贵妃富察氏) ประสูติตั้งแต่พระราชบิดายังไม่ขึ้นครองราชย์ ขณะนั้น จักรพรรดิเฉียนหลงยังเป็นเพียงเป่าชินอ๋อง (宝亲王) และพระมารดาเป็นเพียง “เก๋อเก๋อ” (格格) ตำแหน่งภรรยาน้อยของเชื้อพระวงศ์ ขณะที่องค์ชายหย่งหวงชันษาได้เพียง 7 ปี พระมารดาก็เสียชีวิตลง หลังจากจักรพรรดิเฉียนหลงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงสถาปนาย้อนหลังให้เป็น “สมเด็จพระอัครเทวีหวงกุ้ยเฟย” (皇贵妃) รัชศกเฉียนหลงปีที่ 13 (ค.ศ.1748) สมเด็จพระมเหสีเซี่ยวเสียนฉุน ตระกูลฟู่ฉา (孝贤纯皇后富察氏) ซึ่งเป็นพระมเหสีคู่บุญของเฉียนหลงมาตั้งแต่ยังไม่ครองราชย์สิ้นพระชนม์ลง ในระหว่างพิธีศพ องค์ชายหย่งหวงและองค์ชายสี่ หย่งจาง (永璋) ถูกจักรพรรดิเฉียนหลงตรัสบริภาษว่าไม่แสดงอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ ไม่รู้จักจริยธรรม (ภรรยาหลวงของจักรพรรดิถือเป็นมารดาของพระราชโอรสธิดาทุกองค์ของจักรพรรดิ) สั่งถอดองค์ชายทั้งสองออกจากรายนามองค์ชายที่มีสิทธิได้สืบราชบัลลังก์ ขณะนั้นองค์ชายหย่งหวง พระชันษา 20 ปี องค์ชายหย่งจาง พระชันษาราว 13-14 ปี ด้วยวัยเพียงนี้ไหนเลยจะรู้ถึงการเสแสร้งแสดงออก กอปรกับผู้ที่สิ้นพระชนม์ไปยังมิใช่พระมารดาบังเกิดเกล้า ทว่า องค์ชายหย่งหวงก็เสียพระทัยจนประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ในสองปีต่อมา จักรพรรดิเฉียนหลงที่สำนึกได้จึงเสียพระทัยมาก สถาปนาองค์ชายหย่งหวงขึ้นเป็น “ติ้งชินอ๋อง (定亲王)”

องค์ชายหย่งหวง จาก ซีรีส์ เรื่อง 《如懿传》หรือ Ruyi's Royal Love in the Palace
 
จักรพรรดิเจียชิ่ง
มู่จวิ้นอ๋อง (穆郡王) พระนามไม่แน่ชัด โอรสองค์โตของจักรพรรดิเจียชิ่งและสมเด็จพระอัครเทวีเหออวี้ ตระกูลหลิวเจีย (和裕皇贵妃刘佳氏) พระชันษาได้เพียง 2 ปีก็สิ้นพระชนม์ จักรพรรดิเต้ากวงขึ้นครองราชย์แล้วจึงสถาปนาพระเชษฐาให้เป็น “มู่จวิ้นอ๋อง”
 

จักรพรรดิเต้ากวง
อ้ายซิ่นเจวี๋ยหลัว อี้เหว่ย (爱新觉罗·奕纬) โอรสองค์โตของจักรพรรดิเต้ากวงและพระนางเหอเฟย ตระกูลฮุยฟาน่าลา (和妃辉发那拉氏) ประสูติเมื่อรัชศกเจียชิ่งปีที่ 13 (ค.ศ.1808) ขณะนั้นพระมารดายังเป็นเพียง “กวานหนวีจื่อ” (官女子)***(4) จักรพรรดิเจียชิ่งซึ่งเป็นพระอัยกา ทราบข่าวว่าพระราชนัดดาองค์แรกของพระองค์ประสูติแล้วจึงเขียนอักษร “เหว่ย” (纬) พระราชทานเป็นพระนาม พอพระชันษาได้ 11 ปี จักรพรรดิเจียชิ่งก็สถาปนาเป็น “ตัวหลัวเป้ยเล่อ” (多罗贝勒) ทว่า เมื่อชันษาได้ 17 ปี อันเป็นรัชศกเต้ากวงปีที่ 10 จักรพรรดิเต้ากวงขึ้นครองราชย์แล้ว องค์ชายอี้เหว่ยก็ประชวรหนัก พักฟื้นพระวรกายอยู่ที่พระราชวังหยวนหมิงหยวน ได้เพียงปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ ภายหลัง จักรพรรดิเสียนเฟิง ได้สถาปนาพระเชษฐาองค์นี้ขึ้นเป็น “ตัวหลัวจวิ้นอ๋อง” (多罗郡王)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่