(หนังไทย) บันทึกกาลเวลาผ่านภาพยนตร์ของผู้กำกับมากฝีมือ ‘คงเดช’ (Where We Belong, Snap แค่ได้คิดถึง)

(Busan Film Festival 2019 / FB : Where We Belong)

     เผอิญช่วงนี้ผมเห็น Quote จากหนังเรื่อง 'เฉิ่ม' ก็ปิ๊งไอเดียอยากจะมาชวนพูดคุยถึงหนังของคุณ 'คงเดช จาตุรันต์รัศมี' เพราะด้วยวิสัยทัศน์ คุณภาพหนัง รวมถึงสไตล์หนังของแก ทำให้ผมคิดว่าแกเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่โดดเด่นมากคนนึงในเมืองไทย... บางคนอาจจะสงสัยว่าแกคือใคร ถ้าพูดถึงผลงานที่ตอนนี้น่าจะคุ้นเคยกันก็ผลงานอย่าง Where We Belong (2019) และ Snap แค่ได้คิดถึง (2015) นั่นเอง

พูดถึงประวัติสั้นๆ
- คุณ คงเดช จาตุรันต์รัศมี จบมัธยมจาก รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัย เรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยเป็นก็อปปี้ไรท์เตอร์ในงานโฆษณา อ่านสปอตโฆษณาวิทยุ ทำเพลงโฆษณาและเพลงประกอบภาพยนตร์ เริ่มกำกับภาพยนตร์จากโครงการประกวดภาพยนตร์สั้น 'ส่งฝันสู่ฟิล์ม' ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารซีเนแมก กำกับร่วมกับเกียรติ ศงสนันทน์ ที่เป็นเพื่อนตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม...

(อ่อ อ่านเจอว่าเป็นนักร้องนำวงสี่เต่าเธอด้วย - แต่อันนี้ผมไม่ทัน 555)

Reference : Wikipedia

สไตล์หนังของ 'คงเดช' 
- พูดถึงสไตล์หนัง... จากที่สังเกตเห็น ‘สไตล์หนัง’ ของคุณคงเดชจะเรียบง่ายแต่แน่นด้วยความรู้สึก อารมณ์หนังจะค่อยๆ ซึมลึกลงไปในจิตใจ (ปนตลกร้าย) เป็นลายเซ็นต์หนังแกเลย

- เนื่องจากมีความนิ่งเรียบสูงที่ผมเห็นชัดก็เรื่องการแช่กล้อง เพื่อใช้อธิบายความรู้สึกของตัวละคร บางครั้งก็ไม่ใช้ไดอะล็อก แต่ใช้การเล่าผ่านสีหน้า ท่าทาง ซิมโบล รวมไปถึงเล่าด้วยบรรยากาศของตัวหนังเอง เรียกได้ว่า หนังของแกมีความเป็นศิลปะสูงเลยทีเดียว อารมณ์ประมาณว่า ‘เล่าให้น้อย เล่าให้เรียบ และต้องสื่อออกมาอย่างทรงพลัง’

- ดังนั้นหนังแกเลยอาจไม่ใช่หนังดูง่าย (กึ่งๆ ไปหนังอินดี้นะแหละ) รายได้บางเรื่องอาจไม่สูงสักเท่าไหร่ แต่ผลตอบรับในแง่คำวิจารณ์ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี

- อีกอย่างที่สังเกตเห็นบ่อยๆ ในหนังของแกคือ การบันทึกถึงความรู้สึก / บรรยากาศ / เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น เสมือนเป็นจดหมายเหตุทางสังคมไปในตัว พร้อมกับแทรกสาระสำคัญที่มีนัยยะบางอย่างที่น่าขบคิดในสังคมถึงผู้ชมอีกด้วย (ส่วนใหญ่ผมจะคิดไปได้ในทางการเมือง)

สยิว (2003)
ช่วงเวลา : ปี 2535 กทม. / เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 
- ภาพยนตร์เรื่องแรกของคุณคงเดช / เรื่องราวของทอมบอยที่ใฝ่ฝันอยากเป็นยอดฝีมือนักเขียนเรื่องเสียวในยุคสมัยอันรุ่งโรจน์ของหนังสือแนวปลุกใจเสือป่า ก่อนที่จะซบเซาลงและหายไปจากสังคมไทยยุคปัจจุบัน

- ตัวเรื่องถูกเซ็ตให้อยู่ในยุคปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่าง พฤษภาทมิฬ (ถ้านับจากตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบจะ 30 ปี แล้ว!) 

- ในยุคแรกเหมือนสไตล์หนังของแกยังไม่ชัดเจนมาก (อาจจะเพราะเป็นหนังกำกับร่วมด้วย) โทนของเรื่องนี้เป็นไปในทางคอมเมดี้ซะส่วนใหญ่ แต่แฝงประเด็นแนว Comming of age เอาไว้ ที่ชอบที่สุดคือ การเล่าช่วงหนังในช่วงเวลาราวปี 2535 ซึ่งพอมาดูตอนนี้ ก็อดขำไม่ได้ว่า ‘ความนิยมหรือยุคสมัย ณ ช่วงเวลานั้น มันเปลี่ยนไปขนาดนี้เลยหรอเนี่ย ?’ 

- ถือว่าเป็นผลงานที่ใช้ได้เลย ดูสนุก พร้อมกับสะท้อนบรรยากาศยุคปี 35 ได้เป็นอย่างดี

เฉิ่ม (2005) 
ช่วงเวลา : ราวปี 2548 กทม. / ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
- เฉิ่ม (2005) บันทึกถึงบรรยากาศสังคมกรุงเทพฯ ช่วงราวๆ ปี 2548 เรื่องราวความสัมพันธ์ของคนขับรถแท็กซี่กับหญิงขายบริการ (ถ้านับจากปี 2548 / ตอนนี้ก็ผ่านมาจะ 15 ปีแล้ว) 

- การเล่าเรื่องนิ่งกว่าเดิม พร้อมกับประเด็นที่หนักหน่วง ซึ่งมีหนังไทยไม่มากเลยที่เล่าเรื่องด้วยประเด็นเกี่ยวกับชนชั้นแรงงานในสังคม (เห็นที่ประเด็นใกล้เคียงกันก็ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’) แถมเรื่องนี้ยังอาจนับได้ว่าเป็นหนังที่โชว์การแสดงของ ‘หม่ำ’ กับ ‘นุ่น วรนุช ‘ ที่ดีที่สุดอีกเรื่องของทั้งสองคนเลยทีเดียว

ข้อสังเกต: เนื้อเรื่องค่อนข้างคล้ายกับ “Comrades: Almost a Love Story (1996)” / เถียน มี มี่ แต่โดยส่วนตัวก็ถือ เฉิ่ม ว่าเป็นหนังไทยคุณภาพเยี่ยมอีกเรื่องครับ

- เรื่องเฉิ่ม จริงๆ ผมมีรีวิวแบบละเอียดไว้ ใครสนใจก็เข้าไปอ่านได้นะครับ Link: https://ppantip.com/topic/37251231

“จุดที่ดูรุนแรงสุด (และโดนใจที่สุด) ก็คือ การเสียดสีคติที่ว่า "ทำดีต้องได้ดี" ได้เจ็บแสบ เพราะในสังคมแบบนี้ที่ปัญหายังแฝงไว้ในสังคมอยู่ทุกอณู ไม่ว่าสมบัติจะทำดีแค่ไหน เรื่องร้ายๆ มันก็พร้อมเกิดกับเขาตลอดเวลา"

ตั้งวง (2013) 
ช่วงเวลา : ปี 2553 กทม. / เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.
- ตั้งวง (2013) เรื่องราวของกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไปบนศาลเอาไว้ แล้วต้องกลับมาทำภารกิจแก้บนด้วยการรำตามที่ตัวเองสัญญาไว้ หนังเล่าภายใต้บรรยากาศความอลหม่านจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปี 2553 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มนปช. รวมไปถึงการสลายการชุมนุมของรัฐบาล / ตัวหนังได้รับเงินทุนสนับสนุนของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม 

- ถือเป็นหนังที่เล่าประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยได้คมมากเลยทีเดียว ด้วยปัญหาหลายๆ เรื่อง ปัญหาสังคม ปัญหาในโรงเรียน ปัญหาความเชื่อ / วัฒนธรรม ปัญหาการเมือง... ทุกอย่างมันมาอีรุงตุงนังกันหมดในสังคมไทย (โดยเฉพาะกทม.)

- ที่ชอบเรื่องนี้อีกอย่างคือ ตั้งวง เป็นหนังที่โปรดักชั่นไม่ดีเลย ทั้งการถ่ายทำและนักแสดง (คิดว่ามาจากเงินทุนสนับสนุนหนังมันน้อย) แต่พอดูไปแล้ว มันกลับสนุกจนหยุดดูไม่ได้ซะงั้น เพราะ ตัวหนังเปล่งพลังของบทหนังออกมาได้เด่นมาก มันโชว์ให้เห็นว่า

"ถึงจะโปรดักชั่นแย่แค่ไหน นักแสดงไม่ดี ถ้าแก่นเรื่องมันดี / บทหนังดี... สุดท้ายสารที่ต้องการสื่อออกไป มันก็ยังคงกระแทกเข้ายังจิตใจของผู้ชมได้อย่างตรงเป้า"
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ตั้งวง (Official Trailer)

- ที่สำคัญมันขุดลากเอาปัญหาสังคมต่างๆ มาเล่าได้อย่างแยบคาย กระแทกใส่คนดูซะจุกเลย (แทงใจดำ 555)

- ดังนั้นผมเลยคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แสดงศักยภาพการกำกับและการเขียนบทของคุณคงเดชออกมาได้เยี่ยมเลยแหละ

- ผลงานได้เข้าชิงรางวัล Glass Bear award (Gläserner Bär) for best children's film - 63rd Berlin International Film Festival 


Snap แค่ได้คิดถึง (2015) 
ช่วงเวลา : หลังรัฐประหารปี 2557 จันทรบุรี / รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- เรื่องราวการย้อนรำลึกความหลังของชายหญิงคู่หนึ่งถึงสมัยยังเป็นนักเรียน ณ จังหวัดจันทบุรี หนังเล่าบรรยากาศเหงาๆ ของชายหญิงที่หวนนึกถึงอดีตที่ผ่านมาสมัยเป็นนักเรียน ทั้งสองต่างก้าวผ่านจุดที่จะย้อนกลับไปได้แล้ว แต่ทว่าในใจลึกๆ แล้วยังคงมีปมบางอย่างที่ยังคงซ่อนไว้อยู่ในใจซึ่งไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา
- สไตล์หนังยังคงสไตล์การเล่าที่นิ่งเหมือนเดิม แต่ลักษณะหนังเฟรนด์ลี่กับคนดูมากกว่าเดิม พอดูจบก็คิดถึงหนังเกาหลีเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า Architect 101 (2012) ด้วยปมเรื่องแนวเดียวกัน คือ 'ความพยายามก้าวผ่านความเจ็บปวดที่ซ่อนลึกในจิตใจ'

- ส่วนตัวค่อนข้างรู้สึกว่าเป็นหนังที่เข้าใจง่ายกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะว่าหนังเล่าด้วยประเด็นที่เบากว่า แต่พอดูจบก็จุกอยู่เหมือนกัน หนังทำออกบาดความรู้สึกได้ลึก ด้วยความรู้สึกที่ว่า "เราเสียดายบางอย่างที่ผ่านมา... แต่มันก็ไม่มีทางย้อนคืนกลับมาได้แล้ว"

- ถ้าเทียบความประทับใจ ผมประทับใจ Snap แค่ได้คิดถึง (2015) ที่สุด ตรงที่มันไม่หนักเกินไป แต่เจ็บลึกดี (แถมทำเอาอยากไปตามรอยหนังที่จันทรบุรีเลย)
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แค่ได้คิดถึง : ญารินดา / เป็น MV ที่ผมชอบมาก

Where We belong (2019) 
ช่วงเวลา : 2561 จันทรบุรี / รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- เรื่องราวของ 'ซู' เด็กเจนใหม่ที่รู้สึกอึดอัดและไม่อยากรับภาระกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวต่อจากรุ่นพ่อแม่ (เจนเก่า) ณ จังหวัดจันทบุรี จนสุดท้ายแล้วซูจึงเกิดความคำถามขึ้นมาในใจว่า 'ถ้าที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา... แล้วที่ไหนๆ คือที่ๆ เป็นของเราอย่างแท้จริง ?'

- หนังเล่าด้วยคอนเซ็ปต์ของความไม่เข้าใจกัน / ความอึดอันของคนทั้งสองเจเนอเรชั่น จนสุดท้ายพอรอยร้าวจากปัญหาต่างๆ ซึมลึกลงไปถึงหัวใจอันเปราะบาง มันก็เกิดภาวะพังทลายของจิตใจ... นี่จึงเป็นหนังไทยอีกเรื่องที่เล่าถึงภาวะการพังทลายของจิตใจอย่างช้าๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม พร้อมกับพ่วงด้วยความคิดของคนเจนใหม่ว่าเขามีความคิดอย่างไรในยุคปี 2019 นี้
(เหมือนยังไม่อัพเดทล่าสุดบน Imdb)

- เทียบกับบรรดาทุกเรื่องที่กล่าวมา ผมยกให้ Where We Belong เป็นเรื่องที่ดีที่สุดของคุณ คงเดช เพราะมันทั้งนิ่งคมคาย แฝงนัยยะไว้เต็มไปหมด มาหมดปัญหาสังคมยุคนี้ ภาระที่เด็กรุ่นใหม่ต้องแบกรับ ซึ่งสามารถเล่าถึงความรู้สึกของเด็กไทยเจนนี้ได้อย่างตรงใจ หนักหน่วง / ตัวหนังชนะการประกวดบทหนังจาก CJ Entertainment Award จึงได้ทุนสนับสนุนการสร้างหนัง

- ดังนั้น Where We Belong (2019) ถือว่าหนังดี บทดี ประเด็นดี โปรดักชั่นดี นักแสดงดี องค์ประกอบดีทุกอย่าง ถ้าให้คะแนนก็คงให้ 9/10 (หักไปส่วนหนึ่งตรงไม่ใช่หนังที่เข้าใจได้ง่ายนัก และต้องใช้พลังสมองในการดูพอสมควร) - นิยามสั้นๆ ว่า "ดีที่สุด / คมที่สุด / หนักหน่วงที่สุด"

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่