[CR] รีวิวกาแฟ 28 ยี่ห้อของปี 2019

กระทู้รีวิว


ต่อจากกระทู้รีวิวกาแฟ 39 ยี่ห้อที่เคยทำไว้เมื่อปีที่แล้วครับ https://ppantip.com/topic/38275431  
มาจนถึงปลายปี 2019 นี้ผมมีเพิ่มเติมมาอีกนิดหน่อย ขออัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมก่อนสิ้นปีไว้เป็นกระทู้ใหม่อีกสักกระทู้ครับ แต่ว่าปลายปีผมย้ายที่อยู่ที่ทำงานเลยชงกาแฟสะดวกขึ้นมาหน่อย วิธีชงก็เลยเปลี่ยนเป็น drip แทนที่จะเป็น cold percolating 





1. White Stone Coffee: Chiyaphum 100% Arabica Catimor, Medium Roast

เป็นกาแฟ single origin แหล่งหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ มิตรสหายส่งทางไปรษณีย์มาให้ชิม
กาแฟมันหอมตั้งแต่แกะออกจากกล่องไปรษณีย์แล้ว เอาไปวางไว้หน้าคอมพิวเตอร์ก็มีกลิ่นฟุ้งออกมาให้นั่งดมอยู่ตั้งหลายวันกว่าจะได้แกะซองเพราะยังมีกาแฟที่ชิมค้างไว้อยู่อีกหลายซอง ถ้าหอมตั้งแต่ยังไม่แกะซองทรงนี้เดาได้เลยว่าตอนทำเสร็จนี่หอมแน่นอน

และก็ไม่ผิดคาดครับเป็นกาแฟสายอโรม่าที่หอมจริงจังมาก ไม่ถึงขนาดติดปากติดจมูกเป็นชั่วโมง แต่ก็ชื่นใจละ

บอดี้หนากว่าดอยช้างนิดหน่อย กลิ่นรสซับซ้อนมากจนไม่คิดว่ากาแฟไทยมีแบบนี้ ออกแนวหอมหวาน ไม่มีเปรี้ยวไม่ออกทางผลไม้หรือถั่วเท่าไหร่ ไปทางกลิ่นเครื่องเทศ เปลือกไม้ ดอกไม้ ขมปนหวานนิดๆ นุ่มๆ กลมๆ อยู่ในปาก มีชุ่มคอท้ายๆ
โดยรวมเป็นกาแฟครบกลิ่นรส น้ำหนักค่อนข้างมากไม่ใช่กาแฟเบาเหมือนดอยช้าง ดื่มแล้วให้ความสะใจแก่คอกาแฟยิ่งนัก

http://www.whitestonecoffeeth.com/
https://www.facebook.com/whitestonecoffee



2. Plieu Café: Ethiopia

ร้านพริ้วคาเฟ่ แถวๆ ถนนสนามบินน้ำ มีกาแฟให้ลองอยู่ 5-6 อย่างทั้งเบลนด์และซิงเกิ้ลออริจิน ผมจิ้มเอาอย่างแรกในลิสต์มาเลย เป็นกาแฟดริปรสชาติโอเค กลิ่นรสได้อย่างที่คาดหวังจากกาแฟเอธิโอเปีย fruity มีคาราเมลนิดนึง

เป็นกาแฟดีแม้จะไม่ถึงขนาดที่ต้องขับรถมาไกลๆ เพื่อมาชิม แต่ถ้าอยู่ใกล้ๆ หรือผ่านทางอยู่แล้วก็แวะได้ไม่เสียดายเวลา แต่อาจจะเสียอารมณ์เรื่องที่จอดรถนิดหน่อยเพราะหายาก



3. Plieu Café: Cold Brew Orange Tonic

มันคือกาแฟสกัดเย็นผสมน้ำส้มกับโทนิค รสก็จะเปรี้ยวๆ ขมๆ จะว่าอร่อยหรือไม่อร่อยก็ขึ้นอยู่กับว่าโอเคกับความขมของโทนิคหรือเปล่า ถ้าไม่ชอบโทนิคขมๆ ก็ไม่น่าจะชอบสูตรนี้ คอกาแฟก็น่าจะไม่ชอบเท่าไหร่เพราะรสกาแฟมันน้อย แต่ผมว่ามันก็เป็นสูตรเครื่องดื่มที่ดื่มได้สดชื่นดีนะ ถึงจะแปลกๆ ไปหน่อย



4. กาแฟเจ้าถิ่น

เราควรคาดหวังอะไรกับกาแฟ 29 บาท

บูทกาแฟเจ้าถิ่นอยู่แถวทางเชื่อม MRT-ARL โผล่ขึ้นมาจากใต้ดินก็เจอเลย
สไตล์กาแฟโบราณใส่นม รสชาติไม่แย่เลยนะ ค่อนข้างดีเลยแหละเมื่อเทียบกับราคา คั่วเข้มขมมากหน่อยแต่หอมดี ปรุงออกมากล่มกล่อมเข้มข้นใช้ได้ มีซีลพลาสติกปิดแก้วด้วย ทำแพ็กเกจทันสมัยยังกะชาไข่มุก
กาแฟนมโอเคแต่กาแฟดำยังไม่ได้ลอง สงสัยว่าไม่น่าดีนะมันไม่มีอะไรกลบรสขมจัดๆ ได้ เอาไว้ทำใจได้จะไปลองอีกที

หากมีอะไรจะติก็แค่น้อยไปหน่อย น้ำแข็งแน่นๆ กาแฟพอท่วมตามสไตล์บูทขายกาแฟสดแบบบ้านๆ

แต่ 29 บาทไง (ราคาตอนชิมคือปลายปี 2018 นะครับ ไม่ใช่ 2019)

ผมว่าขึ้นราคานิดแล้วลดน้ำแข็งลงหน่อยผมก็ยังโอเคนะ ใครผ่านไปมาช่วยอัพเดตราคาล่าสุดให้ด้วยครับ ผมไม่ได้ไปนานแล้ว



5. Chiang Rai Coffee: Typica

ถ้าเทียบกับดาวคอฟฟี่ทิปิกา อันนี้หอมน้อยกว่าแต่รสชาติดีกว่าบาล้านซ์ดีบอดี้ดีกว่า กลิ่นดอกไม้น้อยกว่าหน่อยมีกลิ่นเปลือกไม้กับคาราเมลหอมหวาน ไม่บางไปเหมือนดาวทิปิก้า เป็นกาแฟที่ดื่มได้ลื่นคอดีจริงๆ ซดโฮกๆ เพลินเชียว

ไม่ถึงสองร้อย คุ้มเลยอันนี้



6. Jario Coffee: Medium classical blend

อันนี้ก็กาแฟดีนะ ดีกว่า Chiang Rai Coffee: Typica นิดๆ เป็นกาแฟเบาๆ บางๆ กลิ่นหอมหวานคาราเมลน้ำผึ้ง ฟิลลิ่งแห้งๆ เกรียมๆ นิดหน่อย มีขมอมเปรี้ยวอยู่แถวๆ กระพุ้งแก้มพอให้ชุ่มคอหน่อยนึง กลิ่นไม่แรงรสชาติไม่ซับซ้อนอะไรมาก บอดี้บางๆ บางเฉียบเลย
คาแร็คเตอร์เด่นคือความโปร่งโล่งเบาสบายหายใจโล่ง น่าจะเป็นกาแฟที่ดื่มแล้วเบาโล่งที่สุดในปีนี้ แต่ถ้าชงด้วยเครื่องเอสเปรสโซ่อาจจะหนักขึ้น แล้วแต่ใครชอบสไตล์ไหนนะ
ทำกาแฟร้อนดี กาแฟเย็นก็ได้ แต่ไม่น่าทนกับนมน้ำตาลหรือปรุงหนักๆ ไหว เป็นกาแฟดีมีเอกลักษณ์น่าลองครับ ดื่มง่ายแม้ไม่ใช่คอกาแฟ
กลิ่นรสโดนรวมดีกว่า แต่ยังไม่ลื่นคอเท่า Chiang Rai Coffee: Typica



7. Aroma: Champion Blend By Barista Archalerttrakool
Created By: Athip Archalerttrakool Thailand Indy Barista 2016 Winner

เป็นกาแฟแหล่งบ้านแม่จันหลวง จ.เชียงราย ไม่ใช่กาแฟแนวอโรม่าหอมแรงๆ แต่หอมกลมกล่อมบาล้านซ์ดี อมเปรี้ยวอมหวาน ผมว่าเปรี้ยวไปหน่อยสำหรับรสนิยมของผม แต่คอกาแฟน่าจะโอเคกับรสชาตินี้ แต่ส่วนหวานมันก็หวานนุ่มๆ อุ่นๆ ดี ทำกาแฟร้อนโอเคมาก ไม่ควรเพิ่มนมน้ำตาลให้เสียรสชาติ
อ้อ.. คาเฟอีนเพียบ



8. Niche Coffee Roasters: Specialty Select

นิช คอฟฟี่ โรสเตอร์ เป็นแบรนด์พรีเมียมจาก The Coffee Bean Roasting ผสมกาแฟจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้ได้กลิ่นรสสัมผัสที่ดีกว่ากาแฟรุ่นปกติสักหน่อย
กลิ่นรสออกนุ่มนวลหอมหวานตามระบุไว้หน้าซองแหละครับ แต่ผมสกัดเย็นเลยไม่ค่อยได้ acid เท่าไหร่ ได้แต่คาเฟอีน เป็นกาแฟที่ไม่ขมจัดหอมหวานดื่มง่ายแม้แต่คนไม่ใช่คอกาแฟ คอกาแฟก็ไม่น่าจะผิดหวังกับคุณภาพส่วนจะชอบสไตล์นี้หรือเปล่าก็แล้วแต่คน
คาเฟอีนดุเดือดเอาการ

ข้อดีของกาแฟแบรนด์นิชคอฟฟี่คือเป็นการผลิตแบบ made by order ต้องมีการพรีออเดอร์กันก่อนถึงจะคั่วและส่งของสัปดาห์ละครั้ง ทำให้ได้กาแฟที่สดใหม่ไม่เก่าเก็บ
สั่งได้ในลาซาด้านั่นแหละ 300 บาท ไม่มีโปรโมชั่นอะไร



9. Acaba Coffee: เมล็ดกาแฟคั่วเข้ม

เห็นราคา 150 บาทรวมค่าส่งจากลาซาด้า ผมนี่ไม่มีความคาดหวังอย่างใดทั้งสิ้น ราคานี้ดูทรงแล้วรสชาติไม่น่ารอด

ได้ชิมจริงๆ แล้วผิดคาด เป็นกาแฟที่ดีกว่าที่คิดเยอะเลย หรือมันอาจจะเข้ากันได้ดีกับวิธีสกัดกาแฟของผมก็ได้ ไม่ใช่กาแฟที่ดีเลิศจนต้องให้รางวัล แต่กินได้สบายๆ ไม่มีอะไรต้องให้ตำหนิ
ฟิลลิ่งแห้งๆ อุ่นๆ ไม่ขมจัด หอมกรุ่นๆ มีกลิ่นโทสต์ เกรียมๆ โล่งๆ หวานๆ มันๆ บอดี้บางดื่มง่ายลื่นคอ

เป็นกาแฟพื้นๆ ที่คุณภาพต่อราคาคุ้มค่าจริง



10. Suzuki Coffee: Swiss Blend Medium Dark Roast ซองเขียว

ซองเขียวของซูซุกิมันมีหลายรสนะครับ แต่รสไหนก็ใช้ซองเขียวเหมือนกันหมดสงสัยเพื่อประหยัดต้นทุนค่าซอง จะซื้อรสไหนต้องดูสติ๊กเกอร์เอาเอง
สวิสเบลนด์ เป็นกาแฟสายอโรม่า สกัดกาแฟทีนึงหอมฟุ้งไปทั้งบ้าน ออกเกรียมๆ นิดนึง รสชาติมาตรฐานแบบกาแฟดีๆ ที่เราคุ้นๆ กัน แต่ขมกว่าแบบที่ผมชอบนิดหน่อย
กลิ่นรสสมดุลย์ดี บอดี้บางๆ เหมาะกับการทำเป็นกาแฟร้อนดื่มตอนเช้าๆ หรือจะทำเป็นกาแฟดำเย็นหวานเบาๆ ดื่มตอนบ่ายก็ได้ ถ้านึกอะไรไม่ออกมันก็เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยตัวเลือกหนึ่งเลยเวลาหาซื้อกาแฟในซูเปอร์มาร์เก็ต



11. Huskyman: กาแฟอราบิกา 100%

ซื้อกาแฟที่ fail สุดในรอบปี 2019 ก็อันนี้แหละครับ ไม่สามารถบอกได้ว่าคาแร็คเตอร์อย่างไร เพราะไม่ค่อยมีกลิ่น ไม่ค่อยมีรสอะไรเลยครับ น่าจะเป็นกาแฟเก่าเก็บ

ร้านในลาซาด้า ช็อปปี้ที่ไม่ใช่ร้านยอดนิยมนี่ไว้ใจไม่ค่อยได้ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ

กาแฟอินโดเมื่อต้นเดือนนั่นเลวร้ายถึงขนาดต้องเททิ้งทั้งลิตร เพราะแหลกไม่ลงจริงๆ แต่ว่าไม่ได้จ่ายตังค์เองไง เลยข้ามๆ ไป ไม่พูดถึง
กาแฟเวียตอันนี้ยังอยู่ในระดับดื่มได้ ถึงจะจืดชืดไปนิดหน่อย แต่ไม่มีกลิ่นรสเลวร้ายปนมาเหมือนกาแฟอินโดฯ อันที่แล้ว

ต้นเดือนเมษายนฯ 2019 เพิ่งโดนกาแฟเก่าจากอินโดฯ อีกยี่ห้อนึงมา กลางเดือนเจอกาแฟเวียดนามเก่ายี่ห้อนี้อีก ปลายเดือนเลยสั่งกาแฟดอยช้างของชัวร์มาละ หลังจากไม่ได้ซื้อกาแฟดอยช้างมาครึ่งปี ผมว่าอย่างน้อยคุณภาพกาแฟดอยช้างแต่ละยี่ห้อยังค่อนข้างวางใจได้อยู่ไม่ค่อยมีอะไรประหลาดๆ ให้ผิดคาด



12. & 13. White Stone Coffee: PTB & Myanmar Shan

มิตรสหายให้มาสองซอง ผมกลัวกินไม่ทันเลยแกะมาชิมอย่างละหน่อยนึงก่อน เป็นกาแฟบอดี้บางๆ เบาๆ ออกแนวแห้งๆ สะอาดๆ ทั้งคู่ กลิ่นรสไม่แรง

PTB เข้มกว่าขมแหลมๆ มีกลิ่นคั่วนิดนึง มีเปรี้ยวซีทรัสแทรกหน่อย ลองใช้น้ำแข็ง brew ผ่านๆ เร็วๆให้รสบางๆ โล่งๆ หน่อย เอาไว้ทำกาแฟเย็นกินตอนบ่ายๆ

Myanmar Shan รสชาติซับซ้อนกว่ามีอมหวานอมเปรี้ยวแทบไม่ขมเลย ผมชอบอันนี้มากกว่า มันดีตรงความเปรี้ยวอมหวานแทรกในรสกาแฟของมันนี่แหละ ควรชงแบบดริปผ่านกระดาษกรองดื่มตอนร้อนๆ สดชื่นดี
เอาไปทำ cold brew แล้วรสอร่อยของมันไม่ค่อยออก ผมลองทำแล้วทั้งสองวิธีตัดสินใจยอมยุ่งยากชงร้อนเป็นแก้วๆ ดีกว่า จะได้ไม่เสียของ

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเทียบกันแล้ว Chiyaphum ของ White Stone ดีกว่าสองอันนี้อยู่เยอะครับ



14. ดอยช้าง โปรเฟสชันแนล: 100% Arabica, Vienna

กาแฟดอยช้างถุงสีทอง เป็นกาแฟดอยช้างยี่ห้อขายดีในช็อปปี้ลาซาด้า เป็นกาแฟดอยช้างรสชาติมาตรฐานดอยช้าง หอมกรุ่น บอดี้บางๆ เบาๆ ดื่มแล้วให้ความรู้สึกโล่งๆ สะอาดสดชื่น กาแฟดอยช้างเจ้าไหนๆ ก็มักจะได้ฟิลลิ่งเป็นเอกลักษณ์แบบนี้แหละ
ผมเลือกระดับการคั่วแบบเวียนนา เข้มกว่าที่ผมชอบไปนิดนึงแต่ก็ยังให้กลิ่นรสที่ดีอยู่ แต่จะขมกว่าที่อยากได้ไปหน่อย ไม่มีกลิ่นช็อกโกแลตออกมาเท่าไหร่ซึ่งก็ดีสำหรับการสกัดเย็นที่มักจะมีกลิ่นช็อกโกแลตล้นๆ
การแฟยี่ห้อนี้ดูเหมือนจะทำมาเพื่อผู้ประกอบการร้านกาแฟชงขายลูกค้าเสียมากกว่า เห็นมีขายเป็นแพกเกจใหญ่ได้ราคาถูกมากๆ มีซัพพลายพอให้ลูกค้าที่ซื้อทีละเยอะๆ

ถ้านึกอะไรไม่ออก เลือกกาแฟไทยแหล่งดอยช้างไม่ว่าแบรนด์ไหนๆ ก็เป็นกาแฟที่วางใจได้ในระดับหนึ่งแหละครับ ยี่ห้อนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
ชื่อสินค้า:   กาแฟ
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่