EEC - "น้ำ" ปัญหาใหญ่ในพื้นที่อีอีซี

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อส่งเสริมการลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ถือเป็นความหวังใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาว เงินลงทุนจากต่างชาติจะหลั่งไหลเข้ามามหาศาล จะมีอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

ผมเอาใจช่วยให้โครงการอีอีซีประสบความสำเร็จ ดึงนักลงทุนมาได้เต็มศักยภาพ ถึงแม้ที่ผ่านมา ได้ประเคนสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติมากมายจนได้เปรียบคนไทยเจ้าของประเทศก็ตาม แต่นั่นต้องโทษรัฐมนตรียุค คสช.ที่ชั้นเชิงเจรจาอ่อนหัด กลัวต่างชาติไม่มาลงทุน เลยเสนอเงื่อนไขพิเศษให้มากขนาดนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อกำหนดยุทธศาสตร์แล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ หวังว่าการเจรจาเชื้อเชิญนักลงทุนต่อจากนี้ไปจะคำนึงถึงความอยู่รอดของนักธุรกิจไทยด้วย

แผนการลงทุนในอีอีซีต้องใช้งบประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เมื่อวันศุกร์ที่แล้วคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ฯ ในคณะกรรมการอีอีซี เพิ่งมีมติเห็นชอบ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับอีอีซี ใช้งบลงทุน 110,230 ล้านบาท ปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 6 แห่ง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 10 แห่ง ปรับปรุงระบบผันน้ำเดิม 2 ระบบ ก่อสร้างระบบผันน้ำใหม่ 2 ระบบ และพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้เป็นแก้มลิง

เป็นเรื่องดีที่คณะกรรมการอีอีซีเริ่มตื่นตัวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคเอกชนเป็นห่วงกันว่า 3 จังหวัดอีอีซีอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะอุปสงค์การใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 600 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่มีประมาณการใช้อยู่ที่ 1,300 ล้าน ลบ.ม.
 
คุณชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อรัฐบาลบูมโครงการอีอีซี อุตสาหกรรมต่างๆจะเกิดขึ้นเยอะแยะ สิ่งที่น่าห่วงมีหลายเรื่อง เช่น มลภาวะ และที่ห่วงที่สุดคือปัญหาน้ำ กลัวจะเหมือนสิบกว่าปีก่อนที่ภาคตะวันออกเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ ทุกหน่วยงานทุกครัวเรือนต้องวิ่งหาซื้อน้ำมาใช้ แต่ก็หาซื้อไม่ได้ (หนักสุดที่ระยอง ตอนนั้นทุกบ้านต้องมีถังเก็บน้ำ)

แม้ตอนนี้ภาคตะวันออกมีแหล่งน้ำและเขื่อนกักน้ำเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อยากให้ภาครัฐใส่ใจดูแลให้ทั่วถึง โดยเฉพาะ ภาคเกษตร และ ภาคท่องเที่ยวบริการ จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ใช้น้ำเยอะมากในการทำการเกษตร รัฐบาลตั้งเป้าให้ภาคตะวันออกเป็นเมืองผลไม้ ถ้าไม่ดูแลให้ดี หน้าแล้งขาดน้ำ ผลไม้ก็ไม่ได้คุณภาพ

ส่วนภาคท่องเที่ยวและบริการ ที่ภาคตะวันออกมีนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคใต้ เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติมีถึง 10 ล้านคนต่อปี โรงแรมกับสวนน้ำต้องใช้น้ำเยอะมาก และใช้ตลอดเวลา เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงภาคครัวเรือนก็ใช้น้ำปริมาณมากเช่นกัน

ปัญหาของภาคตะวันออกคือ ฤดูฝนมีฝนตกชุก แต่ไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำ ไหลลงทะเลหมด พอหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำ ภาครัฐต้องหาพื้นที่ขุดลอกทำอ่างเก็บน้ำเพิ่ม รวมถึงภาคเอกชนที่มีพื้นที่เยอะๆก็ควรทำแก้มลิงเก็บน้ำไว้ใช้ ทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกันคนละมือ เราต้องมีก๊อก 1 ก๊อก 2 ก๊อก 3 เตรียมพร้อมไว้

คุณชัยรัตน์บอกด้วยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วน 20% ของจีดีพี มูลค่า 3 ล้านล้านบาท และในอนาคตมีแต่จะยิ่งขยายตัว ถ้าไม่เตรียมการรองรับให้ดี เมื่อเกิดปัญหาขึ้นการขับเคลื่อนจะชะงักทันที และเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่

วันนี้ผมนำเสียงสะท้อนจากภาคท่องเที่ยวบริการมาเล่าสู่กันฟัง ในเมื่ออีอีซีเริ่มมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว ก็ทำให้อุ่นใจได้อีกเปลาะหนึ่ง แต่อย่างไรเสียหากเกิดปัญหาขาดน้ำขึ้นมาจริงๆ ขอให้รัฐบาลดูแลภาคท่องเที่ยวและภาคเกษตรด้วย ไม่ใช่ช่วยแต่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว
ลมกรด

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่