วรรณกรรมอมตะของอินเดีย Thirukkural : Pearls of Inspiration
ธิรุกกุรัล : สร้อยมุกแห่งแรงบันดาลใจ
ฉบับแปลเป็นภาษาไทยเล่มแรก
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สมาคมทมิฬแห่งประเทศไทย และ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาว่าด้วยหนังสืออมตะของอินเดีย (Seminar on the Indian Classic Book: Thirukkural: Pearls of Inspiration) ธิรุกกุรัล : สร้อยมุกแห่งแรงบันดาลใจ ฉบับแปลเป็นภาษาไทยเล่มแรก วิทยากรโดย ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ (ผู้แปล) : อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ , แม่ชีวิมุตติยา (รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง) : ประธานหอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ , รศ.ดร.โสภนา ศรีจำปา : ประธานศูนย์ภารตะศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณพีระวัฒน์ อัฐนาค (คิงส์) ผู้ประกาศข่าวช่อง ONE 31 ดำเนินรายการ ที่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จามจุรีสแควร์ ชั้น 4 เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
ธิรุกกุรัล : สร้อยมุกแห่งแรงบันดาลใจ (Thirukkural: Pearls of Inspiration) แปลอังกฤษโดย ดร.เอ็ม ราชาราม แปลไทยโดย ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ เป็นบทกวีคำสอนเกี่ยวกับศิลปะการดำเนินชีวิตของอินเดีย เขียนขึ้นเมื่อ 2,000 ปีก่อน เป็นที่ยอมรับทุกยุคทุกสมัย แม้ปัจจุบันก็ยังคงความร่วมสมัยเป็นสากล ประพันธ์โดยนักปราชญ์ "ธิรุวัลลุวาร์" ได้รับการตีพิมพ์กว่า 40 ภาษาทั่วโลก มหาตมะ คานธี เรียกหนังสือเล่มนี้ว่า “เป็นทรัพย์สมบัติแห่งปัญญา” ดร.เอพีเจ อับดุล กาลัม ยกย่องว่า “เป็นพวงมาลัยแห่งความรู้ โดดเด่นเรียบง่ายสง่างามไพเราะ”
(บน) นายกสมาคมทมิฬแห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ
เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน
(ล่าง) คุณวิมลพรรณ คำประชา กรรมการผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯ
มอบของที่ระลึกให้แก่วิทยากรผู้ร่วมเสวนาและแขกผู้มีเกียรติ
(บน) ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ผู้แปล
ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ กล่าวว่า ธิรุกกุรัล เป็นหนังสือที่แปลมาจากภาษาทมิฬ มาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตัวต้นฉบับมีอายุ 2,000 ปีก่อน พบว่า มีการแปลให้เข้าใจง่ายเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ชาวตะวันตกอ่านได้เข้าใจง่ายมากขึ้น คำว่า “ธิรุก” แปลว่า ประเสริฐ ส่วนคำว่า “กุรัล” แปลว่า กลอน เมื่อรวมกันกลายเป็นคำว่า “กลอนประเสริฐ” ใครอยากมีชีวิตประเสริฐ หนังสือเล่มนี้ควรต้องมีอยู่ในมือ ซึ่งในเล่มจะเป็นกลอนสั้น 2 บรรทัด ฉบับภาษาอังกฤษได้มีการแปลสลับบรรทัดกับภาษาทมิฬ ผมเลยได้เข้าไปศึกษากับผู้เชี่ยวชาญภาษาทมิฬ เพื่อจะได้แปลจากต้นฉบับภาษาทมิฬ ข้อความที่ได้จะได้ตรงกับภาษาทมิฬร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่ออรรถรสในการอ่าน
นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวถึงบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจในการแปลเล่มนี้ คือ ดร.เอพีเจ อับดุล กาลัม อดีตประธานาธิบดีอินเดีย คนที่ 11 เพราะว่าในขณะที่ผมแปลหนังสือเล่มที่ 3 ของท่านคือ เรื่อง indomitable spirit จิตวิญญานมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ มีอยู่บทหนึ่งที่กล่าวว่ามนุษย์เรา ทำอะไรต้องมีความมุ่งมั่น ไม่อย่างนั้นจะทำอะไรไม่สำเร็จ ท่านได้คำคมประโยคนี้จาก หนังสือธิรุกกุรัล ซึ่งมาจากกลอนสองบท ที่กล่าวว่า "ความยาวของสายบัวนั้นขึ้นอยู่กับระดับน้ำ คนยิ่งใหญ่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น"
"ผู้นำที่ประสบความสำเร็จคือผู้นำที่จะไม่มีทางยอมแพ้ต่อปัญหา เขาจะเอาชนะปัญหาและกลายเป็นนายของสถานการณ์นั้น ผมก็ประทับใจมากและคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของ ดร.เอพีเจ อับดุล กาลัม ว่าหนังสือธิรุกกุรัล เป็นหนังสือ 1 ใน 3 เล่มที่ท่านชอบอ่านและคิดว่ามีประโยชน์มากที่สุด ถือว่าเป็นคู่มือในการดำเนินชีวิต ผมเลยสนใจแปลหนังสือเล่มนี้จากฉบับภาษาอังกฤษ และต่อมาก็ได้รับการติดต่อจากสมาคมทมิฬแห่งประเทศไทย ที่สนใจจะเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียผ่านหนังสือธิรุกกุรัล ผมขอขอบคุณสำนักพิมพ์จุฬาฯ และศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งมั่นทำให้การเผยแพร่หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจริง"
(บน) แม่ชีวิมุตติยา (รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง)
แม่ชีวิมุตติยา (รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง) กล่าวว่าก่อนที่จะตอบว่าอ่านแล้วเป็นอย่างไร อาจารย์ขอตอบก่อนว่าในเล่มนี้มีอะไรบ้าง ทั้งเล่ม มี 133 บท แต่พบว่า 4 บทแรก คือหัวใจหลักของเล่ม และบทอื่นๆเป็นส่วนขยายเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในรูปแบบต่างๆ บทแรก เกี่ยวกับพระเกียรติคุณของพระเจ้า บทที่สอง ความพิเศษของฝน บทที่สาม ความยิ่งใหญ่ผู้ทรงศีล และบทที่สี่ คือ การยืนหยัดในคุณธรรม สำหรับคนไทยเราที่เป็นชาวพุทธเมื่อเห็นบทแรกเกี่ยวกับพระเจ้าอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยวกับเรา แต่ในเล่มทุกศาสนาอ่านได้ เพราะอาจารย์มองว่า การที่กล่าวถึงว่าพระเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นของโลกแปลความหมายได้ว่า สภาวะความดีงาม ความบริสุทธิ์และประเสริฐในทุกสิ่งทุกอย่าง พออ่านเรื่อยๆจะพบว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติแบบมีเหตุมีผลว่าทำอะไร ได้ผลอย่างไร และควรจะทำอะไรบ้าง ในหนังสือมีใจความสำคัญที่ว่า การมุ่งไปสู่ความดีงาม และนำไปศึกษาปฏิบัติ ในที่สุดก็จะเข้าสู่การบูชา หมายความว่าใจเราตั้งมั่นอยู่ในความดีงามของชีวิตต่อตัวเองและต่อผู้อื่น แต่ถ้าใจเราไม่มีสิ่งที่ตั้งมั่นเลย เราก็ไหลไปตามกระแส มีบทที่สี่ที่น่าสนใจคือ กล่าวว่าความทุกข์ย่อมไม่เกิด ก็กล่าวถึงว่าทำไมทุกข์ถึงไม่เกิด และต่อเนื่องไปบทที่ห้าคือพ้นจากความหลงใหล และต่อไปอีกว่า พ้นเพราะสามารถแยกดีชั่วได้ อันนี้สำคัญมากเลยในการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้เรายังเจอประโยคหนึ่งในหลายๆ บทเลย คือประโยค ที่บอกว่า ให้เราพึงสังวรณ์ในอินทรีย์ห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย บางคนสงสัยว่าทำไมไม่มีใจด้วย จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดในสิ่งที่จับต้องได้ และถ้าเราไม่ปฏิบัติตั้งมั่น ในความดี ในหนังสือก็จะมีบอกไปต่ออีกว่า ยากยิ่งนักจะขับไล่ความโศกเศร้าให้หมดไป ยากจะว่ายข้ามทะเลแห่งบาปทุกข์ เมื่ออ่านต่อไปจะพบว่าบทสรุปของเล่มคืออีกส่วนที่สำคัญ ที่กล่าวว่า จะมาถึงห้วงทะเลมหรรณพก็จะข้ามไปอีกฝั่งได้ หมายความว่าข้ามไปสู่ความปราศจากทุกข์ รวมทั้งในเล่มไม่ได้สอนเฉพาะปัจเจกบุคคลแต่จะสอนถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะในบทที่สองที่กล่าวถึงความพิเศษของฝนจะพูดถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
(บน) รศ.ดร.โสภนา ศรีจำปา
รศ.ดร.โสภนา ศรีจำปา ให้ความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้มีอายุมากกว่า 2,000 ปีแล้ว ถ้าหนังสือไม่ดีจริงคงไม่ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากถึง 40 ภาษาแน่ โดยความคิดของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ที่อยากจะสื่อให้ชาวโลกรู้ว่า จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ก็คือคู่มือในการดำเนินชีวิตของทุกคน คือมนุษย์เราต้องรู้จักรักธรรมชาติและรักผู้อื่นด้วย อยากจะเห็นผู้อื่นดีเสมอ อยากจะเจ็บป่วยแทนผู้อื่นอยู่เสมอ และไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ไม่พูดร้ายให้ผู้อื่นเสียหาย ฯลฯ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันสอดคล้องกับคำสอนที่ท่านผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ ถ้าพวกเราที่เป็นผู้อ่านอยากจะนำคำสอนจากหนังสือเล่มนี้มาประยุกต์ใช้ ก็จะใช้ได้ในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งการจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้นั้นเราต้องมีความรักและความเมตตาเป็นที่ตั้ง และเราต้องประพฤติดีประพฤติชอบ รวมทั้งเราต้องเผื่อแผ่ไปถึงสรรพสิ่งต่างๆ ด้วย ไมใช่เฉพาะแค่มนุษย์แต่ต้องไปถึงสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทั้งหลาย ธรรมชาติก็ต้องดูแลด้วย เพราะว่าถ้าเราไม่รักสรรพสิ่งต่างๆ ด้วย เราจะใช้และบริโภคอย่างเกินความจำเป็น ซึ่งมันคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในโลก ณ วันนี้
(บน) คุณคิงส์ พีระวัฒน์ อัฐนาค
คุณคิงส์ พีระวัฒน์ อัฐนาค ผู้ดำเนินรายการและเป็นหนึ่งในนักอ่านให้ความเห็นว่า สำหรับหนังสือ “ธิรุกกุรัล” เป็นหนังสือที่กล่าวได้ว่า เป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาจริงๆ เป็นสร้อยมุกแห่งแรงบันดาลใจ เป็นสร้อยมุกแห่งแสงสว่าง เป็นเหมือนกับตำราชีวิต ทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้น ทุกคนสามารถอ่านได้ ทางที่ดีคือต้องนำไปใช้ในชีวิตจริงด้วย ทำให้ชีวิตของเรานั้นมีแต่ความสุข เมื่อชีวิตเรามีความสุข สังคม ประเทศชาติก็จะมีความสุขตามไปด้วย นี่คือหนังสือที่อยากจะให้ทุกท่านนั้นได้ลองเปิดอ่าน เปิดใจทำความรู้จัก ที่สำคัญในโอกาสที่ใกล้จะถึงปีใหม่แล้ว อยากจะให้ทุกท่านนำหนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญปีใหม่ มอบให้ทุกคนที่คุณรัก น่าจะเป็นสิ่งที่มีความสุขมากๆ ทั้งผู้ให้และผู้รับ
ดังนั้น หนังสือธิรุกกุรัล Thirukkural เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก ในฐานะที่จะเป็นคู่มือของชีวิต ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะมีอายุเมื่อสองพันปีก่อนแล้ว แต่ก็ยังเป็นความรู้ที่ทันสมัย นำมาใช้ในปัจจุบันได้สามารถสอนให้เรามีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมบูรณ์และทำให้เรารู้จักความงดงามของชีวิต และเป็นที่น่ายินดีว่าหนังสือเล่มนี้มีที่เมืองไทยแล้ว ที่ให้เราได้อ่านได้เรียนรู้ อ่านแล้วได้คุณค่าต่อตัวเอง คนในครอบครัว และขยายไปสู่สังคม เน้นเรื่องของการเป็นคนดี มีคุณธรรม และนำไปปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม รวมทั้งหนังสือได้อธิบายหน้าที่ของแต่ละชนชั้นในสังคมว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรให้ดีและมีความสุข ด้วยเช่นกัน
ผู้สนใจหนังสือเล่มนี้ มีจำหน่ายที่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ทุกสาขา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป และที่
เว็บไซต์ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สั่งซื้อหนังสือออนไลน์
งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ธิรุกกุรัล : สร้อยมุกแห่งแรงบันดาลใจ"
ธิรุกกุรัล : สร้อยมุกแห่งแรงบันดาลใจ (Thirukkural: Pearls of Inspiration) แปลอังกฤษโดย ดร.เอ็ม ราชาราม แปลไทยโดย ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ เป็นบทกวีคำสอนเกี่ยวกับศิลปะการดำเนินชีวิตของอินเดีย เขียนขึ้นเมื่อ 2,000 ปีก่อน เป็นที่ยอมรับทุกยุคทุกสมัย แม้ปัจจุบันก็ยังคงความร่วมสมัยเป็นสากล ประพันธ์โดยนักปราชญ์ "ธิรุวัลลุวาร์" ได้รับการตีพิมพ์กว่า 40 ภาษาทั่วโลก มหาตมะ คานธี เรียกหนังสือเล่มนี้ว่า “เป็นทรัพย์สมบัติแห่งปัญญา” ดร.เอพีเจ อับดุล กาลัม ยกย่องว่า “เป็นพวงมาลัยแห่งความรู้ โดดเด่นเรียบง่ายสง่างามไพเราะ”
นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวถึงบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจในการแปลเล่มนี้ คือ ดร.เอพีเจ อับดุล กาลัม อดีตประธานาธิบดีอินเดีย คนที่ 11 เพราะว่าในขณะที่ผมแปลหนังสือเล่มที่ 3 ของท่านคือ เรื่อง indomitable spirit จิตวิญญานมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ มีอยู่บทหนึ่งที่กล่าวว่ามนุษย์เรา ทำอะไรต้องมีความมุ่งมั่น ไม่อย่างนั้นจะทำอะไรไม่สำเร็จ ท่านได้คำคมประโยคนี้จาก หนังสือธิรุกกุรัล ซึ่งมาจากกลอนสองบท ที่กล่าวว่า "ความยาวของสายบัวนั้นขึ้นอยู่กับระดับน้ำ คนยิ่งใหญ่ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น"
"ผู้นำที่ประสบความสำเร็จคือผู้นำที่จะไม่มีทางยอมแพ้ต่อปัญหา เขาจะเอาชนะปัญหาและกลายเป็นนายของสถานการณ์นั้น ผมก็ประทับใจมากและคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของ ดร.เอพีเจ อับดุล กาลัม ว่าหนังสือธิรุกกุรัล เป็นหนังสือ 1 ใน 3 เล่มที่ท่านชอบอ่านและคิดว่ามีประโยชน์มากที่สุด ถือว่าเป็นคู่มือในการดำเนินชีวิต ผมเลยสนใจแปลหนังสือเล่มนี้จากฉบับภาษาอังกฤษ และต่อมาก็ได้รับการติดต่อจากสมาคมทมิฬแห่งประเทศไทย ที่สนใจจะเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียผ่านหนังสือธิรุกกุรัล ผมขอขอบคุณสำนักพิมพ์จุฬาฯ และศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งมั่นทำให้การเผยแพร่หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจริง"
ผู้สนใจหนังสือเล่มนี้ มีจำหน่ายที่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ทุกสาขา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป และที่ เว็บไซต์ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สั่งซื้อหนังสือออนไลน์