เปิดโรดแมป “สภาดิจิทัล” ภารกิจผลักดันทรานส์ฟอร์มประเทศ

ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-383772

          เรียกว่าได้รับการผลักดันใน “จังหวะที่ใช่ เวลาที่ถูก” สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงสามารถออก พ.ร.บ.สภาดิจิทัลฯ และก่อตั้งได้อย่างรวดเร็ว โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตามกฎหมาย คือ “เพื่อประโยชน์ในความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล”
          และได้ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รับหน้าที่เป็นประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) คนแรก พร้อมเริ่มทำงานทันที ด้วยการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (F.T.I) เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์และวางกรอบในการทำงานร่วมกัน
          สร้างระบบนิเวศให้เรียลเซ็กเตอร์ทั้งยังย้ำชัดถึงข้อสงสัยว่า สภาดิจิทัลฯ จะกลายเป็นหน่วยงานที่ทำงานซับซ้อนกับสภาอุตสาหกรรม หรือไม่ โดยประธาน DCT ระบุว่า
          “สภาอุตสาหกรรรมฯ เป็นเรียลเซ็กเตอร์ด้านอุตสาหกรรม ขณะที่สภาดิจิทัลฯ จะเป็นผู้สร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรม ที่ต้องมาขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อช่วยให้เกิดมาตรฐานแพลตฟอร์มกลาง เกิดระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่เอื้อกับเรียลเซ็กเตอร์ของทุกอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีคณะทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ของไทยทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลได้เร็วขึ้น”
          เปิด 5 พันธกิจยุทธศาสตร์
          โดยวิสัยทัศน์ของ DCT คือ การยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศสู่ความเป็นผู้นำในระดับโลกด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อพัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งมีพันธกิจเชิงยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน คือ
          1.กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด ที่จำเป็นต่อการยกระดับอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศสู่ความเป็นดิจิทัล
          2. สร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการกำหนดและใช้นโยบาย
          3.พัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลของทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
          4.พัฒนาความเป็นดิจิทัลในระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงภาคประชาชน
          5. การเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก ที่รวมถึง data center, cloud technology และ AI ซึ่งมีระบบนิเวศที่ดึงดูดทั้งคน (talent) และการลงทุน
          ประธาน DCT กล่าวว่า การจะเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลในอาเซียน จะต้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนา data center และศักยภาพด้านปัญญาประดิษฐ์ AI ซึ่งหมายถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะมาถึง รวมถึงดิจิทัลดิสรัปต์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สำคัญคือ ต้องมี “ข้อมูล” ที่จะนำมาใช้กับ AI โดยเตรียมจะเข้าหารือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยเพื่อตั้ง data center ร่วมกัน
          เสนอมาตรการจูงใจ SMEs
          ขณะเดียวกันจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันเพื่อให้เกิดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ SMEs ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิต กระบวนการทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นการดำเนินการของสภาและสมาคมต่าง ๆ กับส่วนที่จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอให้กับภาครัฐบาล อาทิ การขอให้ช่วยสนับสนุนด้านภาษี และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยี 4.0 การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต การเชื่อมโยงตลาดภายในและต่างประเทศ รวมถึงการปลดล็อกกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายต่าง ๆ
          ที่สำคัญคือ DCT จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรทั้งที่อยู่ในตลาดแรงงานและภาคการศึกษา ด้วยการสร้างทักษะใหม่ และเปลี่ยนทักษะเดิมให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกับแรงงานกลุ่มเสี่ยงจะถูกเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่
          โดยผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือมหาวิทยาลัยออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ด้านดิจิทัลในระดับประเทศและระดับโลก และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีคลาวด์และ AI
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่