โหนกระแส Decommissioning ของ Chevron มีอะไรบ้างหลักเกณฑ์ดำเนินงานรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

เดือนสองเดือนมานี่มีข่าวคราวที่เกี่ยวเนื่องกับการรื้อถอนแท่นผลิตของเชฟรอนก่อนส่งคืนพื้นที่สัมปะทาน คิดว่าน่าจะประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ในวงกว้างเสียหน่อยว่าอะไรเป็นอะไร เพื่อความเข้าใจของผู้ที่อยู่นอกวงการ

อุ้ม 4 ยักษ์พลังงาน ‘สนธิรัตน์’ปลดล็อกค่าโง่รื้อแท่นขุดเจาะแสนล้าน
บทพิสูจน์ 6 ปี ปะการังเทียมขาแท่น ชาวพะงัน ได้ประโยชน์จริงหรือ?
รื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม รัฐและ เอกชน ต้องเจรจาบนหลักของความเป็นธรรม
เชฟรอนรื้อถอน แท่นปิโตรเลียม ความท้าทาย และ โอกาสครั้งใหม่ของประเทศ

ไม่ต้องวางหลักประกัน การรื้อถอน … ผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

ก่อนอื่นเรามารู้จัก กันก่อนว่า decommissioning คืออะไร

เพื่อนๆพีน้องที่ทราบดีแล้วก็เลื่อนผ่านไปได้ครับ ผมปูพื้นสั้นๆสำหรับท่านที่ยังไม่เข้าใจดีนัก

Commissioning เป็นศัพท์แสงทางวิศวกรรม แปลง่ายๆว่า ประกอบ ติดตั้ง ทดสอบ แล้วทำให้ใช้งานได้ โดยมากใช้กับ โรงงาน เครื่องจักร โครงการทางวิศวกรรมใหญ่ๆ เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า แท่นผลิตน้ำมันกลางทะเล

Decommissioning ก็เป็นอะไรที่ตรงกันข้าม ผมไม่รู้จะแปลว่าอะไร เปิดดิกฯออนไลน์ แปลว่ารื้อถอน ก็ใกล้เคียง

แต่ก็ไม่ใช่เพียงรื้อถอน เพราะในบางงานนั้นหมายความรวมไปถึง ปรับสภาพหน้างานตรงที่เคยมีเครื่องจักร โรงงาน อยู่ให้เหมือนหรือใกล้เคียงกับสิ่งแวดล้อม เดิมให้ได้มากที่สุด หรือ ตามแต่สัญญาจะตกลงกัน

จะเห็นว่า มีมิติเรื่องสิ่งแวดล้อม สารพิษตกค้าง สังคม ชุมชน กฏหมาย และ การดูแลผู้มีส่วนได้เสีย เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่เพียงแต่รื้อถอนออกไปแล้วจบกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่งานวิศวกรรมล้วนๆสักเท่าไร มีหลายๆวิชาชีพที่ต้องมาช่วยๆกัน

ถ้าจะบอกว่า ไม่เห็นต้องเรียนต้องสนใจเลย แบบว่าถ้าติดตั้งเป็นก็ต้องรื้อถอนได้

อืม … มันก็จริงแหละ แต่ถ้าเป็นอะไรที่ใหญ่ๆ เยอะๆ และ มีกฏกติกาอะไรมากมาย จะทำอย่างไร เช่น จะต้องรื้อถอนแท่นผลิตที่มีเป็นพันๆแท่นในอ่าวไทย จะทำอย่างไร กฏหมายต่างๆ สิ่งแวดล้อม ชุมชน สารพิษตกค้าง จะเอาอะไรไปไว้ไหน logistic อีกล่ะ เหล็กเป็นแสนๆตัน ท่อส่งก๊าซปนเปื้อนสารปรอทที่วางอยู่ก้นทะเลเป็นร้อยๆกิโลเมตรล่ะ จะทำไงกับมัน ยังมีแบบอ่าวไทยนี้ทั่วโลก ทั้งบนบกและในทะเล

เอาล่ะ ที่นี้เราไปดูกันว่า รัฐได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างไรบ้าง

ที่มา http://www.dmf.go.th//file/QA_EPThai.pdf (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ)

Decommissioning

ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมต้องรับผิดชอบในการดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยในการจะจัดทำแนวทางปฏิบัติในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับประเทศไทย (Thailand Decommissioning Guideline) ให้เป็นแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้จริง ได้มาตรฐานสากล เป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายในประเทศ

นั้นมีความจำเป็นที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องทำการศึกษาข้อกฎหมายระหว่างประเทศ และวิธีการกำกับดูแลและดำเนินงาน รื้อถอนฯ ของต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำแนวทางของต่างประเทศมาวิเคราะห์ ข้อดีข้อจำกัดในการดำเนินงานเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยให้เหมาะสม

1. กฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง

ในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญา (Global convention) และหลักปฏิบัติสากล เกี่ยวกับการ รื้อถอนสิ่งติดตั้ง ในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้มีการเขียนกำหนดและใช้มาแล้วกว่า 50 ปี โดยในที่นี้จะหมายถึงสิ่งติดตั้ง ในทะเลเท่านั้นเพราะถ้าเป็นกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญในการร่างข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ในเรื่องการรื้อถอนฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง ออกจากพื้นที่เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งานแล้ว เพื่อเป็นการคืนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทะเลบริเวณนั้น โดยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ จะพิจารณาให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ความปลอดภัยในการดำเนินงาน และความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง

สนธิสัญญาสากล และหลักปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนฯ ได้แก่

- 1958 Geneva Convention on the Continental Shelf

- 1982 Convention on the Law of the Sea (UNCLOS)

- 1989 International Maritime Organization (IMO) Guidelines andStandards

- 1972 London Convention (LC)

- 1996 Protocol to the London Convention

สนธิสัญญาและหลักปฏิบัติสากลเหล่านี้ ได้กำหนดขอบเขต และเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า สิ่งติดตั้ง ในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเล ประเภทใด ระดับความลึกน้ำเท่าไร ที่ควรทำการรื้อถอนเมื่อเสร็จสิ้นการใช้งาน และประเภทใดสามารถปล่อยไว้ที่เดิมได้ หรือมีวิธีการพิจารณาหากจะต้องนำไปจมไว้ในทะเลที่กำหนดไว้เป็นที่เฉพาะ (Marine dumping)

2. หลักการรื้อถอนอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศ

ปัจจุบันนับว่าภูมิภาคที่มีประสบการณ์งานรื้อถอนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากได้แก่ประเทศ สหรัฐอเมริกาในบริเวณอ่าวเม็กซิโก นอกจากนี้ก็จะเป็นพื้นที่ในเขตทะเลเหนือ แต่พื้นที่ในเขตทะเลเหนือมีลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ต่างจากประเทศไทยคือการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งส่วนมากจะเป็นเขตน่านน้ำลึกทำให้ค่าใช้จ่าย เทคโนโลยีที่ใช้ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่สามารถเทียบเคียงได้กับประเทศไทย

แต่หลักการรื้อถอนโดยรวมแล้วลักษณะที่คล้ายกันคือขั้นตอนการรื้อถอน กล่าวคือจะเริ่มต้นด้วย

1) การปิดและสละหลุม (Plug and Abandonment)
2) การรื้อถอนท่อส่งปิโตรเลียม หรืออุปกรณ์เสริม
3) การรื้อถอนแท่นหรือสถานีผลิต และ
4) การตรวจสอบติดตามประเมินผลหลังจากการดำเนินการรื้อถอน

ทั้งนี้ทุกขั้นตอนต้องมีการระบุไว้ในแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ในบางประเทศมีข้อระบุให้ยื่นแผนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ก่อนเริ่มดำเนินงานรื้อถอนเพื่อการตรวจสอบและอนุมัติงานดังกล่าว

3. แนวทางการจัดการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

จากผลการศึกษาแนวทางการจัดการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนฯ ของหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบสัมปทานเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ เป็นต้น ได้ยอมให้ผู้รับสัมปทานวางหลักประกันทางการเงินสำหรับการรื้อถอน และ นำไปหักค่าใช้จ่ายได้ โดยมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการให้ ค่าใช้จ่ายคืนตามระยะเวลาที่กำหนด(Carried Back) หรือในบางประเทศมีการอนุญาตให้นำประมาณการค่าใช้จ่ายมาใช้หักภาษีล่วงหน้าได้

ทั้งนี้การวางหลักประกันอาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น Parental Guarantee, Bank Guarantee, พันธบัตรรัฐบาล จนถึงการวางเงินประกันในขณะที่ประเทศที่ใช้ระบบ Production Sharing Contract (PSC) ส่วนใหญ่จะใช้ระบบการเก็บเงินเข้าเป็นกองทุน

ดังนั้น สำหรับประเทศไทยซึ่งใช้ระบบสัมปทาน (Concession System) รัฐต้องการหลักประกันเพื่อความมั่นใจว่าผู้รับสัมปทานจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อทำการรื้อถอนได้ หรือกรณีผู้รับสัมปทานไม่ทำการรื้อถอนรัฐก็สามารถเรียกหลักประกันดังกล่าวเพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และควรให้มีการนำหลักประกันไปหักภาษีได้

สรุปประเด็นที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย

1. ในระหว่างที่ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมนั้น สิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการประกอบกิจการเป็นของผู้รับสัมปทาน กล่าวคือ สามารถดำเนินการใช้ประโยชน์ในการผลิตปิโตรเลียมได้ และ ต้องดูแลรักษาให้อยู่ในความปลอดภัยและเหมาะสม โดยการควบคุมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

2. ตามกฎหมายปิโตรเลียม เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วทุกอย่าง ทั้งสิ่งปลูกสร้างอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆตกเป็นของรัฐทั้งหมด

3. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีสิทธิในการสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด โดยใช้เงินของผู้รับสัมปทานเอง หรืออาจจะให้วางวงเงินไว้เพื่อดำเนินการรื้อถอนเองโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในอนาคตก็เป็นได้

4. ถ้ามีความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือประชาชน ที่เกิดจากสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ในอนาคตหลังจากหมดสัมปทาน ผู้รับสัมปทานยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย

เป็นไงบ้างครับ จะว่าไปรัฐก็ควบคุมไว้แบบกว้างๆไว้ในทุกๆแง่มุม ผมก็ว่าครบนะ แต่ปัญหาของบ้านเราอย่างที่ทราบๆกันไม่ใช่เรื่องการวางหลักเกณฑ์เท่าไร แต่อยู่ที่การบังคับใช้ พวกเราก็ต้องดูกันต่อไปครับว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรกับเผือกร้อนชิ้นนี้

ส่วนเพื่อนๆพี่น้องที่ต้องการทราบเรื่องราวละเอียดกว่านี้ ว่างๆก็ไปแวะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้

เช่น บุตรหลานที่กำลังจะเรียนต่อ อาจจะสงสัยว่า มีหลักสูตรที่ไหนสอนเฉพาะทางบ้าง อนาคตงานการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทางการผลิตปิโตรเลียมฯเป็นอย่างไร มีงานรองรับมากน้อยแค่ไหน ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ที่ไหนมีสอนบ้าง
Decom คืออะไร – มารู้จัก Offshore decommissioning Masters degree กัน
Decommissioning Master Degree + Cert. of completion แนะนำที่เรียน

มีวิศวกรรมนอกชายฝั่งของ มจธ. แวะไปดูหลักสูตรซิว่ามีสอนไหม
วิศวกรรมนอกชายฝั่ง มจธ. (Offshore Engineering KMUTT)

ตลาดงานในอนาคตเป็นอย่างไร จะมีงานทำไหม ทำที่ไหน
รื้อถอนแท่นผลิต โอกาส หรือ อุปสรรค Offshore installation decommissioning

หลักประกันการรื้อถอน จำเป็นไหม ใครจ่าย?
ไม่ต้องวางหลักประกัน การรื้อถอน … ผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

อึ่งน้อย ณ.อ่าวไทย
http://www.nongferndaddy.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่