“ตุ๊กตุ๊ก” รถแห่งสยาม ขวัญใจชาวญี่ปุ่น

เมื่อคุณอาซูโอะ คิมูระ เป็นนักศึกษา เขามักจะแบกเป้เดินทางไปท่องเที่ยวทั่วเอเชีย และได้นั่งรถตุ๊กตุ๊กหลายครั้ง แต่หลังจากทำงานประจำเขาก็ได้ท่องเที่ยวน้อยลง แต่ก็ยังไม่ลืมความประทับใจต่อรถตุ๊กตุ๊ก ทำให้เขาซื้อรถตุ๊กตุ๊กมาขับเที่ยวเล่นในญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน
 
 
เขาบอกว่า รถตุ๊กตุ๊กนั่งแล้วลมโกรกเย็นสบาย และยังได้สัมผัสทิวทัศน์ เสียง สายลม แสงแดดรอบ ๆ ตัวอีกด้วย เขาได้ขับรถตุ๊กตุ๊กไปท่องเที่ยวในหลายที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น

รถโดยสาร 3 ล้อ พบได้ในหลายประเทศเอเชีย ทั้งไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย อินเดียและปากีสถาน แต่ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือ ตุ๊กตุ๊กของประเทศไทย
ในญี่ปุ่น รถตุ๊กตุ๊กเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งจากรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และความรู้สึกแบบการท่องเที่ยวอิสระ หลายคนบอกว่าชอบสายลมที่พัดกระทบใบหน้ายามที่ขับรถ

  
คุณคิมูระได้รวบรวมผู้ที่ชื่นชอบรถตุ๊กตุ๊กในญี่ปุ่น นัดหมายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อออกไปท่องเที่ยวโดยกัน เมื่อเดือนกรกฎาคม คนรักรถตุ๊กตุ๊กพร้อมด้วยรถ 8 คันออกเดินทางจากทางหลวงในจังหวัดไอจิ ขับรถท่องเที่ยวไปตามชายหาดในคาบสมุทรชิตะ เพลิดเพลินกับสายลมแสงแดด แวะพักกินอาหารทะเล และสังสรรค์ปิดการเดินทางในยามค่ำ

รถตุ๊กตุ๊กมีตัวแทนจำหน่ายหลายรายทั่วประเทศญี่ปุ่น รายที่เก่าแก่ที่สุดคือบริษัทในเมืองโคมากิ จังหวัดไอจิ ที่นำเข้ารถตุ๊กตุ๊กคันแรกในปี 2002 โดยต้องปรับปรุงเบรก ท่อไอเสีย และส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่น และมีราคาขายราว 1.5 ล้านเยน หรือราว 5 แสนบาท ต้องใช้เวลาราว 3-4 เดือนจึงจะส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อได้

ทางบริษัทระบุว่ามีชาวญี่ปุ่นซื้อรถตุ๊กตุ๊ก 30-40 คันในแต่ละปี และน่าจะมีรถตุ๊กตุ๊กอยู่ในญี่ปุ่นมากกว่า 500 คัน
  

รถประจำชาติ เอกลักษณ์สยาม

ถึงแม้รถตุ๊กตุ๊กจะมีในหลายประเทศ แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่ารถตุ๊กตุ๊กเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ในเทศกาล “ไทย เฟสติวัล” ของทุกปี จะต้องมีการนำรถตุ๊กตุ๊กมาแสดง และขายได้ราว 20 คันในงาน

ผู้ที่ซื้อรถตุ๊กตุ๊กส่วนใหญ่คือชาวญี่ปุ่นที่เคยนั่งรถแบบนี้ในประเทศไทย รวมทั้งคนที่เคยเห็นผ่านทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ และชื่นชอบรูปลักษณ์ และสีสันสดใสที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากรถยนต์ทั่ว ๆ ไป

ตามกฎหมายของญี่ปุ่น รถตุ๊กตุ๊กที่มีเครื่องยนต์ขนาด 660 ซีซีถือเป็นรถขนาดเล็ก สามารถขับได้โดยใช้ใบขับขี่ทั่วไป โดยมีคนขับรถ 1 คน และผู้โดยสาร 3 คนที่ด้านหลัง ตุ๊กตุ๊กสามารถทำความเร็วได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงขับบนทางด่วนได้

ความแตกต่างระหว่างตุ๊กตุ๊กกับรถยนต์ทั่วไป คือ ตุ๊กตุ๊กถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกับรถจักรยานยนต์พ่วง โดยใช้เกณฑ์การตรวจสอบความปลอดภัยเดียวกัน ทำให้ภาษีและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบมาตรฐานตามกฎหมายบังคับราคาถูกกว่ารถยนต์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้งานและบำรุงรักษา
  
 
นอกจาก คนทั่วไปที่ชื่นชอบตุ๊กตุ๊กแล้ว ธุรกิจหลายแห่งในญี่ปุ่นก็หันมาใช้ตุ๊กตุ๊ก ทั้งร้านอาหารไทย รีสอร์ต และในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาเซียน
คาโชเอน เรียวกัง โรงแรมแบบญี่ปุ่นในเมืองเกียวโต ได้นำรถตุ๊กตุ๊กมาใช้ตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน เพื่อรับส่งลูกค้าจากที่พักไปชายหาดที่อยู่ใกล้เคียงในช่วงฤดูร้อน

รถตุ๊กตุ๊กของเรียวกังแห่งนี้เป็นที่กล่าวขานในหมู่แขกที่เข้าพัก และได้รับความนิยมมาก จนต้องสั่งซื้อคันที่ 2 เมื่อ 6 ปีก่อน เมื่อทางเรียวกังโฆษณาผ่านทางนิตยสารต่าง ๆ ก็จะใช้ภาพรถตุ๊กตุ๊กเป็นหนึ่งในสิ่งดึงดูดใจเสมอ จนเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของทางเรียวกัง ลูกค้าหลายคนกลับมาพักที่เรียวกังซ้ำอีกก็เพราะอยากจะนั่งรถตุ๊กตุ๊ก

 
รถตุ๊กตุ๊กที่ไม่มีการออกทะเบียนใหม่ในประเทศไทยอีกแล้ว และกำลังจะเลือนหายไปจากท้องถนนในไม่ช้า ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังญี่ปุ่น และกลายเป็นขวัญใจของผู้คนจำนวนมาก.

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
เครดิตคลิปจาก 朝日新聞社
 

ข่าวจาก : MGR Online

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่