ไม่มีเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้าฟ้ากุ้ง ณ วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา


     เรื่องนี้ผมได้นำบทความที่ อ.(เจี๊ยบ) วรณัย พงศาชลากร ที่เคยลงไว้เว็บหนึ่งมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ และสอดแทรกความคิดเห็นและข้อสันนิษฐานส่วนตัวบางส่วนเข้าไปในเนื้อหานี้ด้วย ผิดถูกประการใด ต้องขออภัยมา ณ โอกาศนี้ด้วยนะครับ

      เจ้าฟ้ากุ้งคือใคร
ในคำให้การชาวกรุงเก่าให้รายละเอียดดังต่อไปนี้
     พระเจ้าบรมราชา (คือสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ) มีพระมเหษี ๓ พระองค์ 
      คือ (พระองค์ขาว เปนพระชายามาแต่ยังเปนพระบัณฑูรน้อย เมื่อเสวยราชย์ทรงตั้งให้เปน) กรมหลวงอภัยนุชิต (เรียกในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระพรรวษาใหญ่) ๑ 
     (พระ​องค์พลับ ได้เปนพระชายาเมื่อครั้งยังเปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล เมื่อเสวยราชย์ทรงตั้งให้เปน) กรมหลวงพิพิธมนตรีตำหนักเหนือ ๑ (เรียกในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระพรรวษาน้อย พระมเหษีทั้ง ๒ พระองค์นี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ร่วมชนกชนนีกัน เปนธิดานายทรงบาศ ซึ่งยกขึ้นเปนเจ้าพระบำเรอภูธร ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ฝ่ายข้างมารดาเปนเชื้อพราหมณ์ ชาวบ้านสมอปรือเมืองเพ็ชร์บุรี) 
     เจ้าฟ้านวน ตำหนักกลาง ๑ (เรียกในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าฟ้าสังวาล เจ้าฟ้าสังวาลนี้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระองค์เจ้าแก้วลูกเธอ สมเด็จพระเพทราชาเปนพระบิดา เจ้าฟ้าเทพลูกเธอสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเปนพระมารดา จึงเปนเจ้าฟ้าตามศักดิ์ข้างพระมารดา)
 
     มีพระราชโอรสธิดาด้วยกรมหลวงอภัยนุชิต ๗ พระองค์ คือ 
เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์ คือ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ๑ ( ประสูติราว พ.ศ.๒๒๔๘ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ)
เจ้าฟ้าหญิงบรม ๑ 
เจ้าฟ้าหญิงธิดา ๑ 
เจ้าฟ้าหญิงรัศมี ๑ 
เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงษ์ ๑ 
เจ้าฟ้าหญิงอินทรประชาวดี (ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียก เจ้าฟ้าอินทสุดาวดี) ๑ 
เจ้าฟ้าหญิงสุริยา ๑

ได้รับพระราชทานแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง “เจ้าต่างกรม”

     ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) ได้ให้รายละเอียดการพระราชทานการดำรงพระราชอิสริยยศไว้ว่า  ครั้นถึงเดือน ๕ ปีฉลู ศักราช ๑๐๙๔ (พ.ศ.๒๒๗๖)   เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกณพระที่นั่งพิมานรัตยา พระราชวังบวรสถานมงคล แล้วให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง กราบถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒสัจจาตามพระราชประเพณีแล้ว จึงมีพระราชโองการมานพระบันทูลสุรสิงหนาท สั่งให้ขุนชำนาญเป็นเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดี ให้หลวงจ่าแสนยากรนั้นพระยาสุรศรีว่าที่จักรี พระยาราชสงครามซึ่งว่าที่จักรีนั้น ให้เป็นพระยาราชนายก ว่าที่กลาโหม ข้าหลวงเดิมทั้งปวงซึ่งมีความชอบนั้น ทรงพระกรุณาตั้งแต่งตามสมควรสิ้น แลพระพันวษาใหญ่เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต พระพันวษาน้อยให้เป็นกรมหลวงพิพิมนตรี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเดจ้าฟ้าธิเบศร์ ให้เป็นกรมหลวงพิทักษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าเอกทัศ ให้เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี และ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าแขก ให้เป็นกรมหมื่นเทพิพิธ พระองค์ เจ้ารถให้เป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ
 
และภายหลังได้เลื่อนเป็น กรมขุนเสนาพิทักษ์ 

ชีวิตส่วนพระองค์ ตามคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุ
   
     เจ้าฟ้านราธิเบศร์ราชโอรสพระองค์ใหญ่ (คือเจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งได้เปนพระมหาอุปราชนั้น 
     ได้เจ้าฟ้านุ (เห็นจะเปนเจ้าฟ้านุ่ม) เปนพระอรรคชายา แต่หามีโอรสธิดาด้วยกันไม่ 
      แล้วได้เจ้าฟ้าเส (จะเปนพระองค์ไหน ยังคิดไม่เห็น) เปนชายาอีกพระองค์ ๑ มีพระธิดาทรงพระนาม เจ้าฟ้าศรี
     เจ้าฟ้านราธิเบศร์ พระมหาอุปราช ยังมีพระโอรสธิดาด้วยพระสนมอีกหลายพระองค์ คือ
​๑. พระองค์เจ้าชายอาทิตย์ (ภายหลังได้เปนกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์) มารดาชื่อหม่อมพัน
๒. พระองค์เจ้าฉาบ (ชายหรือหญิงไม่ปรากฎ แต่มีพระนามปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารองค์ ๑ ว่า พระองค์เจ้าเกิดหรือเทิด บางทีจะเปนพระองค์นี้เอง) มารดาชื่อหม่อมเหม
๓. พระองค์เจ้าหญิงมิตร ๑
๔. พระองค์เจ้าหญิงทับ ๑
๕. พระองค์เจ้าหญิงชื่น (ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าพระองค์เจ้าชื่นเปนพระองค์ชาย ต้องสำเร็จโทษคราวทำร้ายเจ้าฟ้านเรนทร์)
ทั้ง ๓ พระองค์นี้ร่วมมารดากัน มารดาเรียกว่า หม่อมเจ้าสวย เห็นจะเปนพระธิดาพระองค์เจ้าปริกที่กล่าวมาแล้ว
๖. พระองค์เจ้าศรีสังข์ มารดาชื่อหม่อมจัน
๗. พระองค์เจ้าหญิงตา มารดาชื่อหม่อมสวย
๘. พระองค์เจ้าชายแม้น มารดาชื่อหม่อมทองแดง

เกือบต้องพระราชอาญาสิ้นพระชนม์
   
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ(เจิม) ให้รายละเอียดไว้ว่า
     ครั้นณเดือน ๗ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๐๙๗ (พ.ศ. ๒๒๗๘ ) ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงพระประชวร ทรงพระผนวชกรมขุนสุเรนทร พิทักษ์คิดว่าจริง จึงเสด็จเข้ามา ให้เสด็จขึ้นหน้าพระชัย เจ้ากรม ขุนเสนาพิทักษ์ ทรงถือพระแสงดาบแอบประตูอยู่ ครั้นเจ้ากรมขุน สุเรนทรพิทักษ์ เสด็จเข้ามาประตูที่เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ๆ ฟันถูกแต่ผ้าจีวรสังฆาฏิขาด หาเข้าไม่ เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เข้าไปข้างใน เจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จกลับลงจากพระชัยมา เสด็จล้นเกล้า ล้นกระหม่อมทอดพระเนตรเห็นจีวรสังฆาฏิจีวรขาด มีพระราชโองการตรัสถามว่า เป็นไรผ้าสังฆาฏิจีวรจึงขาด กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ถวายพระพรว่า เจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เอาพระแสงดาบฟัน จึงทรงพระกรุณาสั่งให้หาเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ไม่พบ ให้ค้นหาในพระ ราชวัง แลเจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตเสด็จออกมาตรัสเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ว่า พ่อมิช่วยก็ตาย แลเจ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ตรัสว่า จะช่วยได้แต่กาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยพระอรหันต์ เจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตได้พระสติขึ้น จึงเสด็จไปขึ้นพระวอ ทั้งเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ด้วย ให้เปิดประตูฉนวนออกไปทรงพระผนวชเจ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ณ วัดโคกแสง ทรงพระกรุณาค้นหาได้แต่พระองค์เจ้าเทิด พระองค์เจ้าชื่นจึงทรงพระกรุณาสั่งให้ประหารเสียด้วยท่อนจันทน์
* เหตุการณ์นี้เจ้าฟ้ากุ้ง ทรงเสียพระราชบุตรไป ๒ พระองค์คือ พระองค์เจ้าชื่น  พระองค์เจ้าเทิด

กรมหลวงอภัยนุชิต ผู้เป็นพระราชมารดาประชวรทรงสั่งเสียขอพระเมตตากับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก่อนจะสิ้นพระชนม์ ว่าหากกรมขุนเสนาพิทักษ์ ก่อเหตุใด ซึ่งไม่ถึงกบฎให้ทรงงดโทษตายล่วงหน้า

โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ(เจิม) ให้รายละเอียดว่า
     ครั้น ณ ปีมะเส็งนพศก (จ.ศ. ๑๐๙๙ พ.ศ.๒๒๘๐) เจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตทรงประชวรหนัก จึงกราบทูลพระกรุณาขอโทษสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมเสนาพิทักษ์ พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการตรัสว่า ถ้าไม่กบฏต่อล้นเกล้าล้นกระหม่อมแล้วไม่พิฆาตเสีย แล้วเจ้ากรมหลวงอภัยนุชิตนิพพาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สั่งอัครมหาเสนาให้ทำพระเมรุหน้าพระศพขนาดน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก ครั้น ณ เดือน ๕ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๐๐ (พ.ศ. ๒๒๘๑ ) ทำพระเมรุแล้ว เชิญพระศพขึ้นบนมหาพิชัยราชรถ แห่แหนเป็นกระบวนเข้าในพระเมรุ พระสงฆ์สดับปกรณ์ ๑๐๐๐๐ คำรบ ๓ วัน ถวายพระเพลิงแล้ว เก็บพระอัฐิใส่พระโกศน้อย แห่แหน เข้าไปบรรจุไว้ท้ายจระนำพระวิหารใหญ่วัดศรีสรรเพ็ชญ์

ดำรงพระราชอิสริยยศ เป็น “สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)”
   
โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ(เจิม) ให้รายละเอียดว่า
     ครั้นเดือน ๕ ปีระกาตรีศก (จ.ศ. ๑๑๐๓ พ.ศ. ๒๒๘๔ ) พระราชโกษาบ้านวัดระฆังกราบทูลว่า จะขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นกรมพระราชวัง จึงดำรัสให้ปรึกษาอัครมหาเสนาทั้งปวง ครั้นพร้อมกันเห็นควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชโดยประเพณี แล้วทรงพระกรุณาสั่งกรมพระราชวัง ให้ปฏิสังขรณ์วัดศรีสรรเพ็ชญ์ ขึ้นใหม่ อนึ่งพระเศียรพระพุทธรูปพระสมุงคลบพิตร ซึ่งหักลงตั้งอยู่นั้นให้ยกขึ้นต่อเสีย พระวิหารนั้น อย่าให้ทำเป็นมณฑปเลย ให้ทำ เป็นหลังคาเหมือนวิหารทั้งปวง ทำอยู่ปีเศษจึงสำเร็จทั้งสองวัด และพระที่นั่งพระวิหารสมเด็จชำรุด ทรงพระกรุณาสั่งกรมพระราชวังให้รื้อลงทำใหม่ ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ วัดพระรามชำรุดให้ปฎิสังขรณ์ ปีเศษจึงสำเร็จ 

งานพระนิพนธ์

ทรงพระนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่อง เช่น กาพย์เห่เรือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง

เหตุอริกันกับเจ้าสามกรมอันเป็นเหตุให้โดนพระราชอาญาโดนถอดเป็นไพร่และดับสูญ
   
โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ(เจิม) ให้รายละเอียดว่า
     ณ เดือน ๖ ปีกุรสัปตศก (จ.ศ. ๑๑๑๗ พ.ศ. ๒๒๙๘ ) ฉลองวัดพระยาคำ อนึ่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประชวรพระโรคสำหรับบุรุษกลายไปเป็นโรคชราค แต่ไม่ได้เสด็จเข้าเฝ้าถึง ๓ ปีเศษ วันหนึ่ง มี พระบันทูลให้มาเอาตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร ปลัดเวร กรมหมื่น จิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี มาถามว่า เจ้ากรม เป็นแต่หมื่น จัดกันในกรมตั้งขึ้นเป็นขุน แล้วทำสูงกว่าศักดิ์ ให้ ลงอาชญาโบยหลังคนละ ๑๕ ทีบ้าง เพลากลางคืนให้คน เข้ามาด้อมมองอยู่ประตูสระแก้ว กรมหมื่นสุนทรเทพเกรงจะทำร้าย เพลาค่ำเสด็จประชุมอยู่ที่ ข้างโรงเตียบ ต่อเพลากลางวันจึงเสด็จไปอยู่ณตำหนักสระแก้ว ได้ ประมาณ ๙ วัน ๑๐ วัน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องราวกราบทูล พระกรุณาเป็นการลับ ว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเข้ามาทำ ชู้ด้วยเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาล ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง ๔๑๘ พระเจ้าอยู่หัวให้ชำระกรมฝ่ายในเป็นสัตย์ แล้วจึงสั่งพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ ให้ไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ กราบทูลว่า เป็นอริอยู่ จะไปเชิญเสด็จมิได้ เจ้าจอมจันท์มารดาพระเจ้าลูกเธอพระองค์กระแหจึงไปเชิญเสด็จ กรมพระราชวังมาจะขึ้นฉนวน วังหน้า มหาดเล็ก ที่ล่วงมารับเสด็จนั้นกราบทูลว่า ประตูเสาธงชัยปิด ก็หาเสด็จ ขึ้นไม่ล่องลงไปประทัพอยู่ที่ฉนวนน้ำประจำท่า ประตูฉนวนก็ปิด เรือพระที่นั่งล่วงลงมาเสด็จขึ้นสะพานใต้ระหัดน้ำ ทรงพระเสลี่ยงมาถึง ศรีสำราญ ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งอยู่ริมศาลาลูกขุนท้ายสระเป็น อันมาก จะให้กลับพระเสลี่ยง หลวงศรีผาวังทูลว่า ขอพระราชทานเสด็จไปเฝ้าจึงจะชอบ ก็เสด็จเข้าไปอยู่ณทิมดาบ จึงมีพระราช โองการสั่งมหาดเล็ก ให้ออกมาเชิญเสด็จไป ณ ตำหนักสองห้องข้าง ทิมสงฆ์ แล้วสั่งพระมหาเทพให้จำห้าประการ แล้วมีกระทู้ถาม กรมพระราชวังรับเป็นสัตย์ วันแรมค่ำหนึ่งเดือน ๕ ให้เฆี่ยน ณ ริมตำหนักสองห้องได้ ๒๐ ที กรมหมื่นสุนทรเทพขึ้นไปกราบทูลว่าจุกนักให้แก้เสีย ทรงพระกรุณาให้ริบ ครั้นแรม ๒ ค่ำเฆี่ยน อีก ยกหนึ่ง ๒๐ นาที แรม ๓ ค่ำอีกยกหนึ่ง ๒๐ ที แล้วให้นาบพระบาทแลให้ต่อว่ากรมพระราชวังว่า อ้ายปิ่น กลาโหม คบหากับมารดา เจ้ามิตร เป็นแต่เมียข้าเฆี่ยนถึง ๗๐๐ จนตายกับคา นี่มาคบหากับเมียเจ้าทั้งสององค์ แล้วก็เกิดพระราชบุตรด้วย ๓ องค์ ๔ องค์ ๗๐๐ จะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ยกเสีย ๒ ส่วน จะให้เฆี่ยนส่วนหนึ่งแต่ ๒๓๐ ที จะว่าประการใด กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า จะขอรับพระราชอาชญาตามจะทรงพระกรุณาโปรด กรมหมื่นเทพพิพิธทูลว่า ได้ลงพระราชอาชญา ๖๐ ทีแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสสั่งว่า ให้เฆี่ยนยก ๓๐ ที ไปกว่าจะครบ ๒๓๐ ที แล้วให้เข้าทูลละอองธุลีพระบาทปรึกษา พร้อมกันว่า โทษถึงตายเป็นหลายข้อ ขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้ แต่ ให้นายพระนลาฎ เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ให้เฆี่ยนยกหนึ่ง ๓๐ ที อยู่ ๓ วันก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวังนั้น เฆี่ยนอีก ๔ ยกเป็น ๑๘๐ ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงให้นำเอาศพไปณวัดชัยวัฒนาราม ทั้งสององค์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่