ทำความเข้าใจคำว่า "เรียนพระอภิธรรม" กับ "ศึกษา(พระอภิ)ธรรม"

เนื่องจากมีสมาชิกหลายท่าน ให้ความสำคัญกับการ "เรียนพระอภิธรรม" ซึ่งตามความเข้าใจของผม รวมถึงเท่าที่เคยสนทนากัน ความหมายของการเรียนพระอภิธรรม (ตามความหมายของท่านสมาชิก) หมายถึงการที่เอาธรรมะของพระพุทธเจ้า มาทำเป็นหลักสูตร ทำเป็นแบบเรียน แยกเป็นบทๆ

หรือถ้าเป็นพระภิกษุ นอกจากจะเป็นการเรียนการสอนแล้ว จะมีแบบทดสอบหรือข้อสอบ มีการสอบแข่งขัน มีลำดับชั้นของการเรียน เช่น เปรียญธรรมชั้นต่างๆ หรือนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เป็นต้น

ซึ่งการที่ผมเข้าใจแบบนี้ ถูกต้องหรือไม่?

เราทราบดีว่า "พระไตรปิฏก" คำว่า ไตร แปลว่า 3 นั่นหมายถึงประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พระวินัยปิฏก เป็นพระวินัยที่พระภิกษุต้องปฏิบัติ พระสุตตันตปิฏก เป็นเรื่องเล่าต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าแสดงให้กับคนทั่วไป เวลาที่พระองค์ไปเทศนาตามที่ต่างๆ

และสุดท้าย คือ พระอภิธรรมปิฏก เป็นส่วนของธรรมะล้วนๆ เช่น อริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ 5 และวิธีการปฏิบัติต่างๆ

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ชาวพุทธ "จำเป็น" ต้องศึกษา คือส่วนของพระอภิธรรมปิฏก ดังนั้น เวลาที่เราบอกว่า "ศึกษาธรรมะ" ก็คือการศึกษาส่วนของพระอภิธรรม อาจจะศึกษาด้วยตัวเอง หรือฟังจากครูบาอาจารย์ก็ตาม

คนที่บอกว่าเรียนพระอภิธรรม (ในความหมายแรก) จะต้องเข้าใจด้วยว่า คนที่ไม่เรียนพระอภิธรรม ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมกังวลในส่วนของการเรียนพระอภิธรรม (หมายถึงที่ทำเป็นหลักสูตร) อาจารย์ที่สอนเท่าที่ผมสังเกต (คาดเดา) ส่วนใหญ่ก็เป็นปุถุชนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวัง และใช้โยนิโสมนสิการ หรือใคร่ครวญ พิจารณา

เพราะผมมั่นใจว่า หากเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านบรรลุธรรมแล้ว แม้ท่านจะศึกษาพระไตรปิฏกมาเป็นอย่างดี หรือจบเปรียญธรรม 9 ประโยคก็ตาม (เช่น ท่านเจ้าคุณโชดก) ท่านจะไม่สอนอะไรที่ละเอียดขนาดนี้

ก็ฝากไว้เป็นของสังเกตครับ แต่ยังไงผมก็ไม่ได้คัดค้าน และสนับสนุนด้วยซ้ำหากสามารถศึกษาได้ (หมายถึงเรียนพระอภิธรรม) เพียงแต่เราต้องรู้ว่าศึกษาไปเพื่ออะไร ได้อะไรจากการศึกษาตำรา

เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่