คุณอาจจะไม่เชื่อ แต่อเมริกาและเยอรมันเคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันใน WW2

            "จริงดิ๊?" คือคำคำแรกที่ผมอุทานออกมาเมื่อได้รู้เรื่องนี้ อเมริกา-เยอรมัน มันเป็นศัตรูกันใน WW2 ไม่ใช่หรอ? ไหงถึงมารวมหัวจมท้ายร่วมรบด้วยกันซะงั้น? "อิหยังวะ"

            ผมต้องขอเกริ่นความเป็นมาก่อนซักนิดเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจบริบทในเหตุการณ์เมื่อตอนนั้น เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม คศ.1945 เกิดหลังจากเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์ 5 วัน และก่อนที่เยอรมันจะยอมเซ็นสัญญายอมจำนน 2 วัน โดยเหตุการณ์นี้ถูกขนานนามว่าสมรภูมิปราสาทอิตเตอร์(ฺBattle for Castle Itter)

            ณ ตอนนั้นปราสาทอิตเตอร์มีสถานะเป็นคุกไว้ขังนักโทษ มีหน่วยSSดูแลพร้อม และมีนักโทษอยู่จำนวนนึง นักโทษทั้งหมดได้แก่ ผู้ต่อต้านชาวยูโกสลาเวียชื่อ Čučković, อดีตนายกฝรั่งเศสชื่อ Édouard Daladier, นักเทนนิสชื่อดังชาวฝรั่งเศสชื่อ Jean Borotra และเหล่าพวกนายพลและทหารยศใหญ่ๆของฝรั่งเศส

             เรื่องมันเกิดขึ้นจากการที่เหล่านักโทษทั้งหลายคิดจะแหกคุก เมื่อวางแผนกันเสร็จแล้วก็เริ่มแผนในวันที่ 3 พฤษภาคม เหล่านักโทษได้ส่งนาย Čučković ที่ตอนนั้นทำหน้าที่ใช้แรงงานต่างๆอยู่นอกกรง ให้แอบลักลอบนำจดหมายภาษาอังกฤษไปขอความช่วยเหลือจากมิตรที่อยู่ใกล้ที่สุด นาย Čučković จึงโกหกผู้คุมไปว่า ต้องไปทำธุระในเมืองให้อดีตผู้บังคับการค่ายกักกันดาเคา ผู้คุมเห็นว่านายนี่ประพฤติดีมาตลอดเลยไม่ได้เอะใจอะไร ก็เลยปล่อยไป เมื่อนาย Čučković ออกมาข้างนอกแล้วก็แอบชิ่งไปขอความช่วยเหลือ แผนดำเนินไปได้ด้วยดี จดหมายได้ไปถึงมือทหารอเมริกาที่อยู่ห่างออกไป 40 ไมล์ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือได้เพราะระหว่างทางมีหน่วยSSตามรายทางเต็มไปหมดและอยู่ระหว่างการรับศึกหนักอยู่
เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อเหล่าผู้คุมไม่เห็นนาย Čučković กลับมาและอดีตผู้บังคับการค่ายกักกันดาเคาเสียชีวิตอย่างปริศนา ทำให้นาย Sebastian Wimmer ที่เป็นผู้บังคับการคุกอิตเตอร์ ณ ตอนนั้นกลัวว่าอเมริกาได้รุกคืบใกล้เข้ามาถึงปราสาทแล้ว จึงตัดสินใจทิ้งปราสาทและหนีไป ปล่อยให้ปราสาทอิตเตอร์ร้างและไร้ผู้คุม เหล่านักโทษจึงฉวยโอกาศแหกคุกและรวบรวมอาวุธที่หลงเหลืออยู่ในปราสาทและยึดปราสาทอิตเตอร์เป็นฐานที่มันไว้พร้อมทั้งแต่งตั้งอดีตเจ้าหน้าที่หน่วย SS นายนึงที่บังเอิญไปสนิทกันตอนรักษาพยาบาลด้วยกัน ให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม

              เมื่อนาย Čučković ไม่ได้กลับมา เหล่านักโทษก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ จนกระทั่งพ่อครัวชาวเช็กเสนอตนอาสาออกไปติดต่อขอความช่วยเหลือ เขาปั่นจักรยานลงไปที่เมือง Wörgl ซึ่งเมื่อก่อนมีทหารเยอรมันคุมอยู่ แต่ได้รับคำสั่งให้ถอยทัพและให้หน่วย SS มาคุมแทน พ่อครัวคนนี้ทำได้สำเร็จ เขาสามารถติดต่อเหล่าผู้ต่อต้านชาวออสเตรียได้ ซึ่งมีพันตรีชื่อ Major Josef Gangl ของกองทัพเยอรมันเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ต่อต้าน
พันตรีท่านนี้ได้ขัดคำสั่งถอยทัพและพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อปกป้องชาวเมืองWörgl จากน้ำมือหน่วย SS ที่ฆ่าไม่เลือกเพียงแค่พบว่ามีพิรุธ ตุณก็อาจจะโดนยิงเป้าได้ง่ายๆ ในตอนแรกพันตรี Gangl วางแผนไว้ว่าจะยอมจำนนเป็นเชลยศึกต่อทหารอเมริกันเมื่อพวกเขารุกคืบมาถึงเมือง แต่แล้วเขาก็ต้องเปลี่ยนแผน เขาตัดสินใจชูธงขาวแล้วขับรถไปหาทหารอเมริกันเพื่อขอความช่วยเหลือหลังจากที่ได้รู้ว่ามีนักโทษติดอยู่ที่ปราสาทอิตเตอร์
พันตรี Gangl ได้ไปเจอกับหน่วยลาดตระเวนอเมริกันที่อยู่ไม่ห่างออกไปมากนักหน่วยลาดตระเวนนี้มีร้อยเอก Lee เป็นผู้นำ Lee ไม่รอช้า เขาเริ่มปฏิบัติการช่วยเหลือนักโทษทันที โดยมีร.อ. Lee, ทหารอเมริกัน 14 นายและรถถัง Sherman 1 คัน พร้อมทั้งพันตรี Gangl และทหารเยอรมันอีก 11 นาย พวกเขาทั้งหมดได้ฟันฝ่าหน่วย SS ตามรายทางไปจนถึงปราสาทได้สำเร็จ ณ ตอนนั้นเหล่านักโทษได้ไว้วางใจให้อดีตเจ้าหน้าที่ SS เป็นหัวหน้าคอยสั่งการและวางกำลังป้องกันปราสาทไว้

               เมื่อหน่วยช่วยเหลือไปถึงปราสาท เหล่านักโทษต่างก็ดีใจกันยกใหญ่แต่ก็ต้องกลับมาเสียใจเมื่อรู้ว่ากำลังพลที่มาช่วยนั้นมีน้อยเหลือเกิน ร.อ. Lee ได้จัดวางกำลังพลป้องกันปราสาทไว้ โดยให้รถถังเฝ้าไว้ข้างหน้าประตู เตรียมพร้อมสำหรับการโต้กลับจากหน่วย SS และสั่งให้เหล่านักโทษไปหลบภัยในตัวปราสาทแต่พวกเขายืนหยัดที่จะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารอเมริกันและเยอรมัน และแล้วเวลาก็ผ่านไป จนกลางคืนก็มีเสียงปืนดังสนั่นปราสาท หน่วย SS ประมาณ 150 นายได้มาถึงแล้วและกำลังเตรียมพร้อมบุกโจมตี พวกเขายิงใส่ปราสาทเป็นระยะๆเพื่อคาดคะเนกำลังของฝ่ายตรงข้ามก่อน

               เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อหน่วย SS เห็นว่าศัตรูมีรถถัง ก็ไม่รอช้า นำปืนใหญ่ 88มม. ยิงทำลายรถถัง Sherman เข้าอย่างจัง แต่เคราะห์ดีที่พลวิทยุในรถถังรอดออกมาได้แต่วิทยุเสียหายอย่างหนัก ในจังหวะนั้นพันตรี Gangl ถูกพลซุ่มยิง ยิงใส่ในระหว่างที่เขากำลังช่วยเหลืออดีตนายกฝรั่งเศสให้พ้นภัย กระสุนโดนตัวเขาเข้าอย่างจังและทำให้เขาเสียชีวิตลง ร.อ. Lee เห็นท่าไม่ดีจึงรีบขอความช่วยเหลือไปที่พันตรี John Kramers ด้วยวิทยุที่เสียหายจึงทำให้การสื่อสารติดขัด นาย Jean Borotra นักเทนนิสฝรั่งเศสจึงอาสาออกไปติดต่อหน่วยช่วยเหลือเอง เขาได้โดดกำแพงและวิ่งฝ่ากระสุนที่สาดใส่จากหน่วย SS อย่างไม่รีรอและเขาวิ่งฝ่าหน่วย SS ไปได้ ในระหว่างนั้นกระสุนของแต่ละคนก็เริ่มใกล้หมด หน่วย SS เริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้เข้าทุกทีๆ ร.อ. Lee ตัดสินใจสั่งให้ทุกคนชักมีดและเตรียมพร้อมสู้ประชิดตัว และแล้ว ในขณะที่หน่วย SS กำลังจะบุกเข้าไปในปราสาทนั้น ก็มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นที่แนวหลัง! ข้างหลังของหน่วย SS นั้นเต็มไปด้วยรถถังและทหารอเมริกัน! หน่วยช่วยเหลือมาถึงแล้ว! หน่วย SS นั้นได้แต่แตกตื่นและวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น

              ศึกในครั้งนี้จบลงโดยมีผู้บาดเจ็บหลายคนและเสียชีวิต 1 นาย นั่นก็คือพันตรี Gangl ส่วนหน่วย SS นั้นถูกจับเป็นเชลยศึกกว่าร้อยนาย ทางด้าน ร.อ. Lee ได้รับเหรียญกล้าหาญจากภารกิจนี้ ส่วนพันตรี Gangl ได้ถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติออสเตรีย ชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อถนนที่เมือง Wörgl ส่วนนักโทษชาวฝรั่งเศสทุกคนได้เดินทางกลับปารีสสำเร็จลุล่วง หลังจากนั้น 2 วัน เยอรมันก็ยอมจำนน สงครามจึงจบลง

หากใครชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์แนวแปลกๆหรือบทความที่ผมเขียน ก็สามารถติดตามเรื่องอื่นๆก่อนใครได้ที่เพจ https://www.facebook.com/HistoryEYangWa หรือ ประวัติศาสตร์ฉบับอิหยังวะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่