การใช้ ‘สินค้าแบรนด์เนมปลอม’ อาจส่งผล ‘ทำให้เศรษฐกิจประเทศพัง’ โดยที่คุณไม่รู้ตัว

 คนไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีฐานะระดับปานกลาง แต่มีรสนิยมและไลฟ์สไตล์สูงราวกับคนชนชั้นสูง นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะใครๆ ก็อยากเท่ ดูดี มีสไตล์ หรือชอบที่จะรักสวยรักงาม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจทางสังคมที่ทำให้ทุกคนมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน หลายคนก็อยากดูดีจนเกินไป และดูดีจนเกินตัว จนต้อง เลือกใช้สินค้าแบรนด์เนมที่เป็น ‘ของก็อป’ จนลืมไปว่าสิ่งที่คุณกำลังทำ มันคือการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ที่คิดค้นสินค้าต้นฉบับนั้นๆ โดยไม่ทันคิดหน้าคิดหลังอยู่หรือเปล่า? และที่ยิ่งไปกว่านั้น คุณคงไม่รู้ว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอาจทำให้ประเทศเสียดุลทางการค้า ถึงขนาดที่เป็นสาเหตุให้ต่างชาติไม่อยากมาลงทุนกับประเทศเรา ด้วย คนที่ใช้ของปลอมอาจจะคิดแค่ว่า ซื้อของเอาถูกและดีเข้าไว้ ซึ่งมันอาจจะดีสำหรับคุณจริงๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการที่คุณทำแบบนี้ คุณกำลังทำไม่ดีกับประเทศตัวเองอยู่ เพราะนี่คือการทำลายอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศโดยที่คุณไม่รู้ตัว
เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพย์สินของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์มากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยประเทศที่มีการส่งออกสินค้าปลอมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ฮ่องกง ตุรกี สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งส่งผลให้ประเทศผู้เป็นต้นแบบของสินค้าแบรนด์เนมส่งออกอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอิตาลี ได้รับความเสียหายมากที่สุด โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมที่ถูกปลอมแปลงและละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุด ก็เป็นสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกาย ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องหนัง และตามด้วยแก็ดเจ็ต เป็นต้น

หากพูดถึงเรื่อง ‘รสนิยม’ และ ‘กำลังซื้อ’ สินค้าแบรนด์เนม นี่คือเครื่องชี้วัดที่บ่งบอก ‘สถานะทางสังคม’ ของคุณได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมี ‘รสนิยม’ ถ้าคุณเลือกไม่เป็น และแน่นอนว่ามูลค่าของสินค้าแบรนด์เนมย่อมต่างจากสินค้าโนเนมเป็นธรรมดา


Photo: INTERNATIONAL TRAVELLER

ในประเทศไทย ช่องโหว่ทางกฎหมายของสินค้าแบรนด์เนมที่เป็นของก็อปนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายจริงในกรณีที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าปลอมในประเทศและใช้ภายในประเทศเท่านั้น แต่หากคุณซื้อสินค้าปลอมจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย หรือคุณเป็นผู้ส่งออกสินค้าปลอมไปยังต่างประเทศเอง คุณจึงจะมีความผิดตามกฎหมาย
ซึ่งทั้งสองกรณีจะมีความผิดดังนี้ กรณีแรก ในพระราชบัญญัติศุลกากร ปี 2469 หมวด 4 ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร ตามมาตรา 27 ที่ห้ามนำของต้องห้ามที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรส่งออกนอกประเทศ หรือนำเข้ามาในประเทศ มิเช่นนั้นจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่า และจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำและปรับ/ กรณีที่สอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ผู้ใดนำเข้าสินค้าปลอมแปลงจะต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ปี 2534 ตามมาตรา 110 อีกด้วย

ทั้งนี้ หากพูดถึงผลกระทบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจระดับประเทศจากการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมปลอมนั้น ถ้าจะพูดให้เข้าใจโดยง่าย หากคนนิยมซื้อสินค้าของก็อปมากกว่าสินค้าของแท้ แล้วเม็ดเงินจะเข้าสู่นักลงทุนได้อย่างไร แน่นอนล่ะว่า หากสินค้าของแท้ไม่ทำกำไรให้กับบริษัทแม่แล้ว ประเทศเราก็ต้องเสียดุลทางการค้าแน่นอน เพราะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจ แล้วใครจะอยากเข้ามาลงทุนกับประเทศเราจริงไหม? และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องจับกุมสินค้าเหล่านี้และทำลายให้มันหายไป


โดยเหตุที่จำเป็นต้องทำลายสินค้าปลอมก็เพื่อป้องกันมิให้สินค้าเหล่านี้กลับหวนสู่ตลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก และเพื่อไม่ให้เกิดความกังวลกับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง
และแม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการการจัดการกับปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีพอ

จนประเทศสหรัฐอเมริกาจัดให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเวลากว่า 10 ปี
การใช้สินค้าของปลอม ไม่ว่าจะก๊อปเกรดเอ เกรดบี หรือเกรดอะไรก็ตามแต่ หากคุณก้าวขาเข้าต่างประเทศแล้วถูกสงสัย ก็จะโดนเรียกสุ่มตรวจ ต้องเจอกับค่าปรับถึงหลักแสน หรือถูกจำคุกอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่นในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นต้นแบบของสินค้าแบรนด์เนมมากมาย หากใครนำของปลอมเข้าประเทศของเขา จะโดนปรับเป็นเงินไทยโดยประมาณ 10 ล้านกว่าบาท และในประเทศอิตาลี ก็มีโทษปรับเป็นเงินจำนวนราวๆ 3 แสนบาท เป็นต้น

ประเด็นเรื่องการใช้สินค้าปลอมนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนลึกถึงโครงสร้างระดับประเทศ สหภาพยุโรปอาจลดทอนความน่าเชื่อถือและความน่าจะเป็นไปได้ในการลงทุนกับประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนั่นอาจทำให้เศรษฐกิจพังได้โดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยจริงๆ ดังนั้นแล้วคุณจึงไม่ควรสนับสนุนสินค้าที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะแม้ว่า คุณอาจจะมีภาพลักษณ์ที่ดูดี (แบบปลอมๆ) ในราคาที่ได้มาอย่างถูกๆ (แต่คุณคิดว่าดีกับตัวเอง) แต่การกระทำของคุณอาจไม่ได้ดีต่อประเทศที่คุณอยู่อย่างที่คิด และราคาที่คุณต้องจ่ายมันอาจเป็นตัวบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างแสนสาหัส โดยที่คุณไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย

ที่มา : https://www.gqthailand.com/talk/article/how-counterfeit-goods-have-an-effect-on-country-economy
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่