ความหงุดหงิดกับการทำงานกับคนไทยหลังผ่านประสบการณ์การทำงานที่ญี่ปุ่นมา

ดิฉันเป็นคนที่เคยทำงานในไทยมาก่อน 1 ปี หลังจากนั้นได้มีโอกาสไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นมาประมาณ 3ปีซึ่งสามปีนี้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่ดีหลายๆอย่างแต่เพราะได้สิ่งเหล่านั้นติดตัวกลับมา ทำให้ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดและทรมานใจกับการทำงานกับคนไทยกันเองเมื่อกลับมาไทยแล้วค่ะ
※คำเตือน กระทู้นี้ไม่ได้เขียนเพื่อต้องการจะดราม่าคนไทยนะคะ เพียงแต่เล่าประสบการณ์ที่เจอกับบางไทยคนเท่านั้น ขอพื้นที่ระบายความในใจนิดนึงค่ะ 

1.ไม่แยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว

การทำงานในบริษัทญี่ปุ่นนั้นจะแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันไม่มาปะปนกันค่ะ ส่วนตัวเคยมีเพื่อนร่วมงานญป.ที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับงานไม่ตรงกันก็จะคุยกันชัดเจนค่ะว่าเพราะอะไรถึงคิดแบบนั้น แล้วคุณมีเหตุผลอะไรก็ว่ากันไปตามนั้น แต่อารมณ์ก็จบกันไปค่ะ ถึงเวลาหลังเลิกงานก็เข้าร้านเหล้า เมามายด้วยกัน ร้องเกะกันเป็นปกติ แต่ที่เจอ ณ ปัจจุบันที่ไทย คือถ้าเหม็นหน้ากัน เห็นหน้าได้ยินเสียงก็เกลียดกันแล้ว ทีนี้ล่ะ พอต้องทำงานด้วยกันก็หน้าบูดบึ้ง พูดจาไม่ดี ทำงานขาดๆเกินๆเพราะสื่อสารกันไม่ดี แล้วก็โทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายเป็นสาเหตุที่ทำให้งานไม่ดี หรืองานล่าช้า คือเข้าใจนะว่าคนมันไม่ถูกกัน ทำอะไรก็ผิดไปหมด แต่ที่นี่ที่ทำงานค่ะ อยากให้รู้ด้วยว่าความดราม่าส่วนตัวมันมีผลกับบริษัท แล้วมันก็มีผลกับผลงานของตัวเองนั่นแหล่ะ งานไม่ดีมันก็คือคุณทำไม่ดี เข้าใจป่ะ 

2.ไม่รู้จักคิดก่อนพูด

การทำงานที่ญี่ปุ่น ดิฉันมักจะได้รับการอบรมจากรุ่นพี่และหัวหน้าอยู่เสมอว่า การจะสอบถามอะไรกับหัวหน้าหรือรุ่นพี่ควรจะลองคิดด้วยตัวเองก่อน
แล้วจึงถามพร้อมทั้งนำเสนอความคิดของตัวเองไปด้วย เป็นการฝึกคิดไปด้วยเพื่อเติบโตไปเป็นคนที่ใช้"มันสมอง"ในการทำงาน ไม่เช่นนั้นตัวเองก็จะเป็นได้แค่"คนทำงานตามสั่ง" ตลอดไป แต่สิ่งที่ดิฉันตกใจคือไม่เฉพาะพนักงานระดับล่างที่เห็นพฤติกรรมแบบนี้ แม้แต่พนักงานระดับหัวหน้างานซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานที่ได้รับมอบหมายมาแล้ว ดิฉันก็ยังเจอที่มาถามว่า "ให้ทำยังไงต่อดี" เมื่อต้องไปส่งของด่วนให้ลูกค้า (ก็ต้องขอเบอร์โทรลูกค้ากับที่อยู่ลูกค้า ติดต่อเค้า แล้วไปส่งงัยย)แย่ไปกว่านั้นคือไม่รู้และไม่ถามอีกต่างหาก! ปล่อยไว้จนงานบางอย่างล่าช้า หรือผิดพลาดไปจนเกินแก้ แบบนี้อาการหนักจริงๆ เพลียจะเยียวยา

3.อะไรก็ "ไม่เป็นไร"
คำติดปากของคนไทยเลย ไม่เป็นไรคือไทยแท้ อะไรๆก็ไม่เป็นไร ตัวเองทำผิดเอง ทำงานช้าเอง ก็พูดเองว่า “ไม่เป็นไร” หัวเราะฮ่าๆอีกต่างหากอันนี้แปลกมากจริงๆ และดิฉันทำใจให้ตลกตามคนพูดไม่ได้ค่ะ หากทำอะไรผิดสิ่งแรกที่ต้องทำคือกล่าวคำขอโทษ คำนี้จะทำให้อีกฝ่ายคลายความโกรธ โมโหโกรธาไปได้เยอะนะคะ หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันค่ะ ว่าจะแก้ปัญหากันยังไง มาช่วยกันคิด นี่คือสิ่งที่ได้รับรู้มาจากญี่ปุ่น อยากให้รู้ว่าการพูดว่า “ไม่เป็นไร”ไม่ได้ทำให้คนฟังสบายใจหรือวางใจขึ้นนะคะ กลับมองว่าเป็นการไม่รับผิดชอบต่องาน พยายามกลบเกลื่อนความผิดตัวเองด้วยซ้ำ ภาพลักษณ์แย่ค่ะ อย่างน้อยขอแค่คำพูดขอโทษมาซักคำ คงไม่เสียเกียรติหรือศักดิ์ศรีขนาดนั้น

4.ไม่รู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ค
การทำงานไม่ว่าบริษัทไหนเชื่อว่าต้องเป็นการทำงานที่ต้องการทีมเวิร์คอยู่แล้วค่ะ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการรายงาน การติดต่อ การปรึกษา หรือที่ญี่ปุ่นเรียกกันว่า “Horenso” ดูเหมือนเป็นเรื่องพื้นๆนะคะ แต่ทำให้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน งานลื่นไหลดีทีมทำงานได้มีประสิทธิภาพดีมากๆ เลยค่ะ แต่คนไทยที่เจอมักจะทำงานตามใจฉัน ไม่ได้คุยกันไว้ก่อน ต่างคนต่างทำ บางครั้งนายสั่งงานอย่าง ลูกน้องคิดไปอีกอย่าง สุดท้ายต้องแก้งานไปมาเพราะไม่เคยคุยกันระหว่างทาง หรือต่างคนต่างทำงาน สุดท้ายมีงานที่ไม่มีใครรับผิดชอบบ้าง แล้วก็โทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายต้องเป็นคนรับผิดชอบ เกิดงานไฟไหม้มาอุดรูกันตอนสุดท้ายมั่วๆไปอีก คล้ายๆงานก่อสร้างที่เราเห็นบ่อยๆเดี๋ยวนี้ จะเปิดใช้งานอีกไม่กี่วัน ยังก่อปูน สายไฟระโยงระยาง แต่สุดท้ายเสร็จทันเวลานะคะ
แต่อย่าถามเรื่องคุณภาพค่ะ งานไฟไหม้ที่แท้ทรูดูได้ที่ไทยแลนด์

เหล่านี้คือความหงุดหงิดและความอัดอั้นตันใจของดิฉันที่ได้ประสบมาด้วยตัวเอง จริงๆแล้วประสบการณ์ดีๆที่ได้จากการทำงานกับคนไทยก็มีนะคะ ความยิ้มแย้ม แจ่มใสและสภาพการทำงานที่ไม่เครียดของคนไทยค่ะ แต่สำหรับใครที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นอยู่ ดิฉันคิดว่านายญี่ปุ่นของหลายๆคนอาจจะคิดแบบนี้เหมือนกัน ถ้าเราสามารถนำแนวคิดการทำงานดีๆบางอย่างของญี่ปุ่นมาปรับปรุงวิธีการทำงานของเราได้ก็น่าจะดีต่อตัวเรา มีอนาคตในการทำงานที่ดีต่อๆไป ถ้าใครมีประสบการณ์อะไรกับการทำงานกับคนญี่ปุ่น หรือรู้สึกคับข้องใจคล้ายๆกันก็แสดงความคิดเห็นเข้ามาได้นะคะ จบกระทู้แต่เพียงแค่นี้ otsukaresama!

  
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่