สรุปสิ่งที่ผมชอบใน Sapiens ใครที่อ่านแล้วมาโพสต์เพิ่มได้เลย

สรุปสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือสุดฮอต Sapiens: A brief history of human kind 
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอล
เวบไซต์ https://www.ynharari.com/about/ บอกว่า
เขาจบจากออกซ์ฟอร์ด และเป็นอาจารย์สอนที่มหาลัยฮิบรูในเยรูซาเลม

หนังสือแปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์
ดร.นำชัย และชาว GMlive เคยไปสัมภาณ์ แฮรารีที่สิงคโปร์ สิ่งน่าสนใจคือ ยูวาล ชอบนั่งสมาธิแบบพุทธ
ซึ่งมีผลต่อการเขียนหนังสือของเขาด้วย (ผมจะอธิบายตอนหลัง)

นักวิชาการส่วนใหญ่ชมว่าเขาเขียนได้ดีมาก มีหลักฐาน แต่บางคนติงว่าเหมือนจะสรุปเร็วเกินไป
ซึ่งผมว่าเป็นธรรมดาของคนที่เขียนเรื่องประวัติศาสตร์

ตอนนี้มาดูสิ่งที่ผมจับความได้ 12 ข้อ ไม่ได้ลอกแบบเป๊ะๆ และเป็นส่วนน้อยๆ ของหนังสือ

1.เรื่องแรกดูไม่สำคัญแต่ผมชอบเรื่องสัตว์เป็นพิเศษ
เมื่อประมาณหมื่นปีมานี้ ดูคล้ายไม่นานมาก มีสัตว์ใหญ่ๆ มากมายในโลก
ซึ่งตอนนี้สูญพันธ์ไปหมดแล้วเช่นเสือเขี้ยวดาบ ช้างแมมมอธ สลอธยักษ์ที่อเมริกา
ส่วนที่ออสเตรเลียมีวอมแบตยักษ์ และสิงโตที่มีกระเป๋าหน้าท้อง
สัตว์พวกนี้สูญพันธุ์ เพราะมนุษย์เป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียว
แม้แต่มนุษย์ด้วยกัน สายพันธุ์ที่ด้อยมากคือมนุษย์ทัสมาเนีย
ก็ถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 10000 ปีมานี้เอง

ภาพสลอธยักษ์และเมกาธีเรียม จาก https://fineartamerica.com/featured/1862-giant-ground-sloth-megatherium-paul-d-stewart.html?product=greeting-card  เป็นภาพเดียวกับในหนังสือ

2.มนุษย์ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างมนุษย์ Sapiens กับมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล? หรือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลจนหมดสิ้น
ดูเหมือนเล่มนี้จะเลือกไปทางการผสมรวมกัน เพราะยังมีการพบยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลในมนุษย์ปัจจุบันอยู่
ผู้เชียนบอกว่านักมนุษยวิทยาเคยพยายามเลี่ยงทฤษฎีที่ว่ามนุษย์ปัจจุบันเป็นการผสานต่างสายพันธุ์กัน เพราะจะส่งเสริมการเหยียดชาติพันธุ์ เหมือนการเปิดกล่อง Pandora นั่นเอง

3.ผู้เขียนไม่เชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ เช่นความคิดแบบมนุษนิยม+เสรีนิยม (ในหนังสือเรียก มนุษยเสรีนิยม)
และก็ไม่เชื่อในจารีตนิยม เช่นผู้เขียนเชื่อว่าแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกิดมาแบบ built in ในตัวมนุษย์ เหมือนที่หลายคนเข้าใจ
แนวคิดเหล่านี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่งที่ทำให้สังคมมนุษย์มีหลักประกันบางอย่าง
ทำให้อยู่เป็นสังคมได้ ความคิดจารีตนิยมก็เห็นได้ชัดว่าถูกประดิษฐ์ขึ้น

ดังนั้นผู้อ่านที่เป็นนักสิทธิฯ หรือนักจารีตฯ ต่างก็รู้สึกว่าความเชื่อตนเองถูกบั่นทอน นักมนุษยเสรีนิยมไม่เสียอะไรมาก
แต่นักจารีตฯจะสูญเสียความสำคัญมากกว่า [ความเห็นผม:  คล้ายกับชายสองคน คนหนึ่งใส่ขาสั้นไม่ใส่เสื้อ
ชายอีกคนใส่ชุดสูทแบรนด์เนม ทั้งสองคนถูกจี้เหลือแต่กางเกงใน ชายแบรนด์แนมจะสูญเสียมากกว่า]

4.ผู้เขียนไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าหรือศาสนาเช่นกันแม้จะสำคัญ เพราะคิดว่าเป็นตัวยืดโยงให้เกิดสังคมเท่านั้น
หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่ง แต่ดูเหมือนผู้เขียนจะแอบสนับสนุนศาสนาพุทธ
และอุทิศข้อเขียนให้ศาสนาพุทธหลายหน้า ซึ่งตรงกับนิสัยผู้เขียนที่ชอบนั่งสมาธิที่กล่าวตอนแรก

ศาสนาส่วนใหญ่จะต้องมีอภิมนุษย์ (super human) เป็นหลัก ศาสนามีเพื่อปกป้องสิ่งสมมุติเช่น ลำดับชั้นทางสังคม
การยืดโยงกับอภิมนุษย์ทำให้ดูว่าลำดับชั้นเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเอง
และมีเพียงหนึ่งสหัสวรรษ (1000 ปี) ก่อนคริสต์กาลเท่านั้น ที่มีความพยายามสร้างศาสนาสากลขึ้น หรือเป็นยุคทองของ
ศาสนาสากล

กฎฟุตบอลไม่ใช่ศาสนา แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์อาจเป็นศาสนา เพราะมี "ธรรม" บางอย่าง เช่นความเชื่อ คำพยากรณ์ต่างๆ

ศาสนาแบบที่มีเทพองค์เดียวจะไม่ค่อยยืดโยงกับชาวโลก กระด้าง แต่ดูเป็นธรรม
ศาสนาพหุเทพนิยม จะมีเทพเฉพาะทางในสาขาต่างๆ และเปิดโอกาสให้ลำเอียงได้นิดหน่อย เช่นบนบานได้

แม้แต่การทำความดีแล้วได้ขึ้นสวรรค์ก็เป็นแนวคิดที่ยังถกเถียงกัน เพราะดูเหมือนเป็นการติดสินบนเพื่อให้ได้ขึ้นสวรรค์!!

ศาสนายังมีแบบทวินิยม คือมีเทพของความดีและซาตานซึ่งมีอำนาจเท่ากัน
ซึ่งอาจตอบคำถามว่าทำไมพระเจ้าจึงยอมให้เหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นโดยไม่ห้าม
[ความเห็นผม เช่นทำไมสวรรค์ต้องให้มีโจร]
ซึ่งที่จริงก็คือซาตานทำให้เกิดต่างหาก

[ผมเข้าใจว่าลัทธิทวินิยมที่ใหญ่มากในสมัยนั้นคือลัทธิมาณีกิ (Manicheanism) หรือลัทธิมารในหนังกำลังภายในนั่นเอง]

เนื่องจากศาสนาแบบเอกเทวนิยมก้าวร้าวกว่า ปัจจุบันจึงมีคนนับถือมากกว่า

5. ผู้เขียนเน้นเรื่องความเชื่อของมนุษย์มักขัดแย้งกันเองในตัวคนเดียว
เช่นอินเดียนแดงมีภาพเป็นนักรบที่ชอบขี้มายิงปืน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ แม้แต่ม้า มาจากพวกฝรั่ง
หรือชาวพุทธที่ชอบบวงสรวงเทพเจ้า หรืออาหารประจำชาติต่างๆ ซึ่งมักยืมมาจากชาติอื่น

6.ผู้เขียนคิดว่าความเจริญไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี แต่เกิดจากความต้องการเป็นจักรวรรดิ
ซึ่งเกิดจากความต้องการรู้จักและเข้าถึงโลกภายนอกของชาวตะวันตก ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นผลพลอยได้

เรือของกัปตันคุ๊กที่ออกสำรวจหมู่เกาะในแปซิฟิกและแสวงหาอาณานิคม
ได้นำนักวิทยาศาสตร์หนุ่มคือชาร์ลส์ ดาวินไปด้วย (ในหนังสือบางเล่มบอกว่าดาร์วินส์ เป็นนักคณิตศาสตร์)
ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งโชคดีอีกอย่างคือกัปตันเรือนั้น ได้แก่
กัปตันคุ๊ก ก็เป็นคนกึ่งๆนักวิทยาศาสตร์ด้วย

7.ผู้เขียนกล่าวถึงการสำรวจโลกของเจิ้งเหอ เหมือนกัน แต่กษัตริย์จีนสมัยนั้นเองก็ไม่เห็นความสำคัญ
เพราะไม่อยากสนใจโลกภายนอก และยังพลาดที่ไม่ได้ไปแสวงหาอาณานิคม
(ผมเข้าใจว่าผู้เขียนมองว่าการแสวงหาอาณานิคม เช่นการพบอเมริกาและออสเตรเลีย
เป็นสาเหตุสำคัญของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์)
ปัญหาสำคัญของจีนที่ทำให้ไม่เจริญ คือมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากยุโรปมากไป
ทำให้เมื่อเกิดความเจริญในยุโรป จีนไม่เกทเลย ทั้งที่สมัยนั้นก็มีการติดต่อกันตลอดเวลา
ปัญหาของจีนอีกอย่างคือการขาดเรื่องเล่า ตำนาน ระบบกฎหมายที่เอื้อต่อความก้าวหน้า
(และน่าจะมีอีกหลายสาเหตุที่ผมอ่านแล้วยังไม่เคลียร์)

8. การเข้าสู่ยุคเกษตร เป็นความผิดพลาด ทำให้มนุษย์ยากจนลง
เพราะระบบเกษตรดีในช่วงแรกเช่นผลิตอาหารได้มาก
ทำให้มีประชากรมนุษย์เกิดขึ้นมากเกินไป
คนจมอยู่กับความทุกข์จากการทำงานหนัก เมื่อเทียบกับการล่าสัตว์ แต่ก็ทำให้โลกเจริญขึ้น

9. แนวคิดเรื่องชาตินิยม ดูคล้ายคนเขียนจะสนับสนุนแนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น
ที่ว่า "ชาตินิยมเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่กระจายไปทั่วโลก ในคริสต์ศตวรรณที่ 19-20
เป็นตัวการทำให้เกิดสงคราม ความปรปักษ์ ความเกลียดชัง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

10.ผู้เขียนสรุปว่า หลักสำคัญของวิทยาศาสตร์อยู่ที่
       1.ความเต็มใจในการยอมรับความไม่รู้ และยอมรับว่าสิ่งที่รู้อาจผิด (เข้าใจว่าชาติใหญ่ในเอเชียคือจีนหรืออินเดีย ขาดตรงนี้ไป)
       2.การถือเอาผลสังเกตการณ์และคณิตศาสตร์เป็นศูนย์กลาง
       3.การได้อำนาจหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ

11. ฟราสซิส เบคอน ในปี 1620 ประกาศว่า "ความรู้คืออำนาจ"
และแบบทดสอบของความรู้ คือไม่ใช่ว่าจริงหรือไม่
แต่ทำให้เกิดอำนาจใหม่ขึ้นหรือเปล่า
(ความเห็นผม: เช่นถ้าความรู้นั้นทำรถไฟได้ก็แสดงว่าความรู้นั้นจริง ไสยศาสตร์อ้างว่าทำให้คนเหาะได้ แต่ทำเป็น serviceไม่ได้จริง)

12.มีอยู่หน้าหนึ่งคือหน้า 417 ที่ดูแปลกคือ
ผู้เขียนพูดถึงการที่พรรคการเมืองแนวนีโอนาซีในยุโรปต่อต้านผู้อพยพจากตะวันออกกลาง
โดยไม่ใช้คำพูดแบบเหยียดตรงๆ แต่เลี่ยงไปใช้คำอธิบายว่า "วัฒนธรรมแบบตะวันออกกลางเน้น
ที่ชนชั้น ความคลั่งไคล้ (fanaticism) และความเกลียดผู้หญิง (Misogyny)" ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่ามันเถียงยาก
แม้ในทางชีววิทยา ดูไม่มีเหตุผลที่จะมีกความแตกต่างจริงระหว่างเชื้อชาติ
นี่คือสิ่งที่ผมสรุปได้

เนื่องจากหนังสือยาวมาก เพื่อนสมาชิกที่อ่านแล้ว มาโพสต์ช่วยผมได้เลย หรือจะแก้ที่ผมเข้าใจผิดก็ได้
ปิดท้ายด้วยรูปของ Harari
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่