เอาใจสายลุยกันเต็มๆ เมื่อ คาวาซากิ มอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) ส่งสารเชิญสื่อมวลชนชั้นนำของเมืองไทยไปร่วมงานเปิดตัว และทดสอบรถรุ่นใหม่ ณ สนามอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง สังเวียนแห่งความสนุก และลานประลองความเร็วสำหรับชาวโมโตครอส
ถึงวันนัด ทีมงาน MotoWish จัดหนักตามเคย เท้าเหยียบสนามถึงกับตกใจเมื่อพบกับโดมผ้าใบขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านข้างสนามโมโตครอส งานนี้มีสนุกแน่นอน… ภายในพื้นที่โดมเป็นสถานที่เปิดตัวรถรุ่นใหม่ ซึ่งเตรียมไว้รองรับสื่อมวลชน และผู้แทนจำหน่ายคาวาซากิทั่วประเทศ ส่วนสนามภายนอกเป็นพื้นที่ทดสอบ และงานกิจกรรม Kawasaki Enduro 3 Hour สนาม 2 ที่จัดขึ้นพร้อมๆกัน
ทันทีที่ถึงเวลาเปิดตัว ผู้บริหาร “คาวาซากิ” เปิดผ้าคลุมทำเอาทีมงานใจระรัว เมื่อเห็นรถสไตส์เอ็นดูโร่โฉมใหม่ถึง 4 รุ่น ได่แก่ KLX230, KLX230 ABS SE, KLX230R และ KLX300R ทั้ง 4 รุ่นนี้นับเป็นโมเดลใหม่ที่ทำมาเอาใจสายลุย สายโดดโดยเฉพาะ และก่อนอื่นขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า KLX230 และ KLX230 ABS SE เป็นรถจักรยานยนต์ที่ทำมาสำหรับใช้งานบนท้องถนน ซื้อแล้วจดทะเบียนได้ ส่วน KLX230R และ KLX300R เป็นรถจักรยานยนต์ที่ทำมาสำหรับใช้ในสนาม หรือเพื่อการแข่งขันเท่านั้น ไม่สามารถจดทะเบียนได้
หลังจากการเปิดตัว เป็นช่วงที่คาวาซากิเปิดให้ทดสอบกันเต็มที่ เมื่อถึงคิวทีมงาน MotoWish ไม่รอช้ากระโดดขึ้นรถทดสอบครบทุกรุ่น ให้มั่นใจกันไปเลยว่าดีอย่างไร ถึงช่วงแรกจะถูกจำกัดเวลา แต่ช่วงหลังๆปล่อยทดสอบกันเต็มที่
โปรแกรมนี้มี “ติ๊งโน๊ต” ฐิติพงศ์ วโรกร และ “ซีเค” ชัยวิชิต นิสกุล 2 นักแข่งจาก คาวาซากิ ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม มาร่วมทดสอบด้วย อาการของ “ติ๊งโน๊ต” ดีขึ้นมากหลังจากได้รับบาดเจ็บในการแข่งขัน เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อเดือนมีนาคม การขี่ครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย เพื่อจะไปแข่ง BRIC 2019 และ FIM Asia Road Racing 2019 ในปีนี้
Kawasaki KLX230 & KLX230 ABS SE : แรงดี นั่งสบาย บังคับง่าย
เริ่มที่ Kawasaki KLX230 และ Kawasaki KLX230 ABS SE กันก่อน สำหรับ KLX230 เป็นรถจักรยานยนต์แบบดูอัล เพอร์โพส (Dual Purpose) ก็คือรถแบบเอนกประสงค์ จะใช้ในเมือง นอกเมือง ทางฝุ่น ทางดำ สายถนน สายวิบาก ท่องเที่ยวเดินทางไกลไปได้หมด
KLX230 และ KLX230 ABS SE รถทั้ง 2 รุ่นมีพื้นฐานเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ออฟชั่น และสเป็คบางส่วน KLX230 และ KLX230 ABS ได้รับการออกแบบใหม่หมดตั้งแต่หัวจรดท้าย เครื่องยนต์ใหม่ เฟรมใหม่ ทำมาให้ตอบโจทย์การใช้งานทางฝุ่นมากขึ้น รูปโฉมภายนอกได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถตระกูล KX โมโตครอสสายพันธุ์แข่ง
เครื่องยนต์ KLX230 และ KLX230 ABS SE ได้รับการออกแบบใหม่หมด ขุมพลัง 1 สูบ 4 จังหวะ ขนาด 233 ซีซี ระบายความร้อนด้วยอากาศ จ่ายน้ำมันด้วยระบบหัวฉีด ทีมวิศวกรคาวาซากิ ตั้งใจปรับปรุงเครื่องยนต์ลูกนี้ให้มีขนาดเล็กกระทัดรัด เหมาะสำหรับการขับขี่บนทางฝุ่นโดยเฉพาะ
ตัวถัง หรือแซสซี ถูกออกแบบใหม่หมดเช่นกัน รูปแบบเฟรม Perimeter ผลิตจากเหล็กที่รับแรงดึงได้สูง โครงสร้างของเฟรมตัวถังมีขนาดเล็ก เมื่อวางเข้ากับเครื่องยนต์ที่มีขนาดกระทัดลัด ทำให้เกิดความสมดุลลงตัว
ล้อที่ใช้เป็นแบบซี่ลวด วงล้ออลูมิเนียมด้านหน้า ขนาด 21 นิ้ว และด้านหลัง 18 นิ้ว โอบรัดมากับยางหนาม ขณะที่ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นโช๊คอัพแบบเทเลสโคปิค ขนาดแกน 37 มม. และด้านหลังใช้โช๊คแก๊สที่ปรับตั้งพรีโหลดได้
KLX230 และ KLX230 ABS SE รุ่นนี้มีไฟหน้า เพราะทำมาสำหรับการใช้บนท้องถนน คาวาซากิบอกว่าความสว่างคือ สิ่งที่วิศวกรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการออกแบบ ฉะนั้นเรื่องระบบส่องสว่างของรถรุ่นนี้ใช้งานบนถนนปลอดภัยแน่นอน ไม่ว่ายามค่ำคืน หรือใช้ลุยในเส้นทางธรรมชาติ
เรือนไมล์จอ LCD เป็นดิจิตอลเต็มรูปแบบ (Full Digital) แสดงผลมาตรวัดต่างๆ เห็นง่ายชัดเจน ตัวเรือนไมล์แสดงผลมาตรวัดความเร็ว, วัดรอบ, ระยะทางสะสม, วัดระยะทางแบบ Dual Trip, วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลง, นาฬิกา และสัญญาณไฟเลี้ยว ข้อมูลมาแบบครบครัน ขาดแต่การแสดงตำแหน่งเกียร์
สิ่งที่ต่างกันระหว่าง KLX230 และ KLX230 ABS SE คือระบบเบรก ทั้งคู่ใช้คาลิเปอร์หน้าแบบ 2 ลูกสูบ แต่มีจานเบรกขนาดต่างกัน KLX230 ใช้จานเบรกหน้าขนาด 265 มม. ส่วน KLX230 ABS SE ใช้จานเบรกหน้าขนาด 240 มม. มาพร้อมระบบ ABS ส่วนเบรกด้านหลัง ใช้คาลิเปอร์ 1 ลูกสูบ จานเบรกขนาด 220 มม. เหมือนกันทั้งคู่
Kawasaki KLX230
Kawasaki KLX230 ABS SE
เทียบมิติรถกันหน่อยซิ ว่าต่างกันตรงไหน!!
ทดสอบคู่พี่น้อง KLX230 และ KLX230 ABS SE
ทันทีที่ทีมงานคาวาซากิส่งสัญญาณให้ทดสอบ เทสไรเดอร์เลือก KLX230 ก่อนเลย แล้วตามด้วย KLX230 ABS SE เพราะเห็นว่าเป็นรถที่เหมาะกับการใช้งานบนท้องถนน และที่สำคัญจดทะเบียนได้ การทดสอบรอบแรก 15 นาที และปล่อยฟรีในรอบท้ายๆ โดดใส่ให้หนำใจ เรื่องสมรรถนะภาพรวมทั้งคู่แทบจะเหมือนกันเพราะใช้ตัวถัง และเครื่องยนต์เดียวกัน จะมีรายละเอียดบางอย่างที่ต่างกันเล็กน้อย มาๆจะเล่าให้ฟัง
จากการทดสอบ KLX230 และ KLX230 ABS SE สามารถให้คำนิยามได้ว่า “แรงดี นั่งสบาย บังคับง่าย คล่องตัว” ตัวถัง และเครื่องยนต์ถือเป็นความได้เปรียบของรถรุ่นนี้ ตัวถังเบา มีขนาดเล็กเหมาะกับขนาดตัวมาตรฐานคนไทยมากๆ ขึ้นไปนั่งแล้ว ไม่สูงไป นั่งสบาย การวางขา การหนีบถัง ถูกสรีระลงตัวไปซะหมด สำหรับเทสไรเดอร์มีส่วนสูงอยู่ที่ 170 ซม. เท้าวางถึงพื้นสบายๆ
เริ่มออกตัวตะลุยแทรค เครื่องยนต์ 230 ซีซี แผลงฤทธิ์ทันที พละกำลังมาสม่ำเสมอ แรงบิดดี มาไว คิดในใจว่าความแรงช่างไม่สัมพันธ์กับบอดี้เลย เพราะอะไรน่ะหรอ… ตัวถังเบามาก มาเจอกับเครื่องยนต์ขนาด 230 ซีซี แรงตัวปลิวเลย ถ้าเป็นมือใหม่ต้องใช้เวลาขี่สักพักจะจับจุด และปรับตัวได้ไม่ยาก
ช่วงล่าง KLX230 ให้ความนุ่มนวลมาก อย่างว่าเป็นรถที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานบนถนน ช่วงล่างทำงาน และตอบสนองได้ยอดเยี่ยม การทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบในสนามปิดรูปแบบโมโตครอส เทสไรเดอร์เลยขอจัดเต็มเพื่อเป็นการให้เกียรติสถานที่ 555…
ช่วงล่างแบบเดิมๆนั้นอาจไม่เพียงพอสำหรับการกระโดดหนักๆสักเท่าไหร่ ต้องปรับเซ็ตเพิ่มสักเล็กน้อยเพื่อป้องกันอาการยวบยาบ แต่ถ้าถ้าขี่ชิลๆ ท่องเที่ยวบนทางดำ หรือลุยทางดินแบบปกติ นุ่มนวลเอาอยู่แน่นอน
การบังคับ การคอนโทรล ทำให้เทสไรเดอร์ทึ่ง!! รถควบคุมง่าย มิติรถ ท่านั่ง ถังน้ำมันต่ำลง ทำให้เคลื่อนตัวง่ายเวลาบังคับ ทุกอย่างเป็นส่วนผสมที่เข้ากันลงตัว ถ้าเป็นมือใหม่ใช้รถประเภทนี้ บอกเลยว่า ดี!! แต่ถ้าเป็นจิ๊กโก๋มากประสบการณ์ใช้งานต้องเซ็ตช่วงล่างกันสักหน่อย
ระบบเบรก คือสิ่งที่แตกต่างของ KLX230 และ KLX230 ABS SE
เบรกของ KLX230 และ KLX230 ABS SE เบรคดีทั้งคู่ การตอบสนองดีเอาอยู่กับสมรรถนะรถ KLX230 เหมาะกับการขี่ในรูปแบบวิบากมากกว่าเพราะไม่มี ABS ความรู้สึกในการคุมเบรกทำได้ไวดั่งใจ ด้าน KLX230 ABS SE จุดเด่นอยู่ที่ระบบ ABS การเบรกทางตรงทำได้ดีตามสไตล์รถ ABS แต่ถ้าขี่ในรูปแบบวิบากอาจไม่เหมาะนัก หากใช้ในการเดินทางท่องเที่ยวบนถนน ระบบเบรกจะช่วยเสริมความปลอดภัยไห้มากขึ้น
เทียบฟิลลิ่งชายใหญ่ KLX 250 กับ ชายกลาง KLX 230
คราวนี้ลองเทียบความรู้สึกกับ KLX 250 ดูบ้าง เรื่องของเครื่องยนต์ถึงแม้จะมีซีซีที่ต่างกัน แต่ KLX 250 ต้องแบกรับน้ำหนักตัวรวมที่มากกว่า นั่นจึงทำให้เวลาขี่จริง ความรู้สึกที่ได้จากเครื่องยนต์ไม่หนีกันมาก แต่สิ่งที่เป็นแต้มต่อของ KLX 230 แบบชัดเจนคือ ตัวถังมีความกระชับ คล่องตัวกว่า เบากว่า พับรถง่าย เลี้ยวง่าย ท่านั่งดีกว่า KLX 250 มาก คิดง่ายๆเหมือนเอาตัวถังของKLX 150 มาใส่เครื่อง 230 ซีซีประมาณนั้น
ส่งผลให้ KLX 230 การคอนโทรลง่ายกว่าเยอะ แต่หากเปรียบในส่วนของช่วงล่าง ต้องบอกว่า KLX 250 เฟิร์มกว่า เพราะสเป็คที่แตกต่างในการแบกรับน้ำหนักตัวรถที่มากกว่านั่นเอง
[SR] รีวิว Kawasaki KLX เปิดโหมดโดด ทดสอบโหดครบ 4 รุ่น (KLX230, KLX230ABS SE, KLX230R, KLX300R)
SR - Sponsored Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ SR โดยที่เจ้าของกระทู้