รถไฟฟ้า​ 15​ บาทตลอดสาย

เส้นตาย 1 เดือน ปรับลดค่าโดยสารทั้งระบบ คนใช้ “บีทีเอส-รถไฟใต้ดิน” เตรียมเฮ!

ขีดเส้น 1 เดือน ให้หน่วยงานสังกัด เสนอมาตรการ ปรับลดค่าโดยสาร บรรเทาค่าครองชีพ ประชาชน – ด้าน บีทีเอส เด้งรับพร้อมลดค่าโดยสาร หากรัฐช่วยอุดหนุนค่าโดยสาร –ขร. ระบุ รถไฟมีม่วง-แอร์พอร์ตลิงค์มีลุ้นสุด
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงคมนาคมจะปรับลดค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะว่า หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตนจะเรียกประชุม 23 หน่วยงานในสังกัด เพื่อมอบนโยบายโดยจะมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณาหาแนวทางและมาตรการการปรับลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทางให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน

“แต่ละหน่วยงานต้องกลับไปศึกษาและพิจารณาดูภาระขององค์กรว่าปัจจุบันมีภาระมากน้อยแค่ไหน และยังพอมีช่องว่างเหลือพอที่จะออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพหรือลดค่าโดยสารได้หรือไม่อย่างไร โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องนำเสนอผลการศึกษา และมาตการส่งกลับมาให้ผมพิจารณาภายใน 1 เดือน จึงจะรู้ว่าจะสามารถปรับลดค่าโดยสารอะไรได้บ้าง หรือไม่อย่างไร”

นายอาณัติ อาภาภิรม ประธานที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส เปิดเผยถึง กรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ออกมาระบุว่าจะปรับลดค่าโดยสารรถสาธารณะทั้งระบบ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ที่อาจจะปรับลงใกล้เคียง 15 บาทตลอดสายว่า

นโยบายปรับลดราคาค่าโดยสารรถสาธารณะทั้งระบบถือเป็นเรื่อง ที่ดีบีทีเอสเห็นด้วย และพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลทุกประการ เพี่อช่วยเหลือประชาชนให้มีการระบบขนส่งมวลชนที่ดี โดยหากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่ชัดเจนบีทีเอสก็พร้อมให้ความร่วมมือ

“จะปรับลดค่าโดยสารลงเท่าไหร่ กระทรวงคมนาคม และผู้ให้บริการรถไฟฟ้า คือบีทีเอส และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินจะต้องมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางปรับลดราคา รวมถึงแนวทางการสนับสนุนค่าโดยสารให้ผู้ประกอบการว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนใช้บริการสาธารณะถูกลง ซึ่งก็เป็นนโยบายที่หลายๆ ประเทศทำกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะประชาชนได้ประโยชน์”

ส่วนกรณีที่สังคมออกมาแสดงความเห็นว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าประเทศไทยแพงที่สุดในโลกนั้นไม่สามารถระบุได้ว่าแพงจริงไหม และเอามาตรฐานอะไรมาวัด ว่าแพง หรือ ถูก โดยจะต้องพิจารณากันที่ต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน บางประเทศภาครัฐลงทุนมากกว่า50% หรือรัฐให้การสนับสนุนราคาค่าโดยสารส่วนต่าง ราคาค่าโดยสารจะถูกกว่าต้นทุนที่แท้จริง หรือ หากเอกชนลงทุนมาก และรัฐไม่ได้สนับสนุนผู้ประกอบการก็ต้องเก็บค่าโดยสารที่แพง เป็นต้น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ดี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน แต่ต้องรอฟังนโยบายที่ชัดเจนจาก รมว.คมนาคม ก่อน เบื้องต้นมองว่าการที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะเหลือ 15 บาทตลอดสาย สามารถทำได้ แต่คงเป็นในส่วนที่เดินรถโดยภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

ส่วนการเดินรถในส่วนของเอกชนนั้น เนื่องจากมีการทำสัญญาเดินรถอยู่ คงต้องดูว่าจะมีรูปแบบใดที่จะสามารถทำได้บ้าง ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) มีผู้โดยสารใช้บริการน้อยอยู่ ส่วนตัวมองว่าหากสามารถลดค่าโดยสารให้เหลือ 15 บาทตลอดสายได้ อาจจะดึงดูดให้ประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น หากคนมาใช้มากขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย อาจจะทำให้ไม่ได้เสียรายได้เลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ขร. อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากประชาชนร้องเรียนมามากเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพง โดยเสนอเรื่องผ่านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้เสนอ รมว.คมนาคม พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางรางแล้ว ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม ขร. และกระทรวงการคลัง มีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อพิจารณามาตรการสนับสนุนโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของรัฐบาล และนำไปปฏิบัติต่อไป

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบนโยบายเรื่องการปรับดลค่าโดยสาร ต้องรอให้มีนโยบายที่ชัดเจนก่อนจึงจะตอบได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ โดยหากจะปรับลดต้องไปดูรายละเอียดเรื่องของสัญญาที่ลงนามไว้กับเอกชนด้วยว่าเป็นอย่างไร

ทั้งนี้หากทางเอกชนที่รับสัมปทานมองว่าเป็นผลกระทบก็อาจจะเข้าข่ายลักษณะเดียวกันกับเรื่องของทางพิเศษหรือทางด่วน ที่มีคดีฟ้องร้องกันอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหากเป็นรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะ ที่จ้างเอกชนจ้างเดินรถและส่งรายได้ให้ รัฐ ผลกระทบจะอยู่ที่ รฟม.ซึ่งจะมีรายได้ลดลง ซึ่งก็จะต้องมีการขอรับงบประมาณมาชดเชยกับรายได้ต่อไป

“จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ปรับลดค่าโดยสารตามนโยบายของรัฐบาลเช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ต้องของบประมาณจากภาครัฐมาชดเชยการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกัน”

ข่าวสดออนไลน์
วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562 เวลา 15:51 น.
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2731935
*** ปิดโหวต วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2562 เวลา 19:35:01 น.
1. ความเป็นไปได้ที่รถไฟฟ้าจะคิดราคา​ 15​ บาทตลอดสาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่